เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 เราทุกคนต้องปรับตัวให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โครงสร้างของเศรษฐกิจไทยก็เช่นกัน เราต้องก้าวเข้าสู่การเป็นเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัล ขณะเดียวกัน ผมมองว่าประเทศไทยเองก็มีทุนทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า อัตลักษณ์ท้องถิ่นภูมิปัญญา และความเป็นไทยที่มีไมตรีจิต ความมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งสามารถนำมาใช้สร้างเอกลักษณ์และความแตกต่าง เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและบริการในรูปแบบไทยได้เช่นกัน
แนวคิดไทยเท่เป็นการสร้างเศรษฐกิจจากวัฒนธรรม หรือที่เรียกว่า
“Cultural Economy” ซึ่งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จกันมาแล้ว ญี่ปุ่นได้ประกาศ Cool Japan Strategy อย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2012 โดยส่งเสริมการพัฒนาด้านการออกแบบ แฟชั่น อาหาร และภาพยนตร์ สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และกลุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่ ให้มีความสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ ขณะเดียวกันก็ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาสัมผัสประสบการณ์ตรงในประเทศญี่ปุ่น ช่วยสร้างเศรษฐกิจให้กับท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่ง สำหรับเกาหลีใต้ได้สร้างและสนับสนุน
The Korean Wave ซึ่งตั้งเป้าหมาย Entertaining more than half of the World ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่ในประเทศไทยและอีกหลายประเทศนิยมดนตรี ภาพยนตร์ ละคร และแฟชั่นเกาหลีอย่างแพร่หลาย
การสร้าง Cultural Economy ตามแนวทางไทยเท่ ถือเป็นแนวคิดที่ยังใหม่สำหรับประเทศไทย และเพื่อสร้างให้เกิดกระแส หลายคนคงได้เคยเห็นหรือได้เคยทำท่าที่ผมทำอยู่นี้กันมาบ้างแล้ว ท่านี้เรียกว่าท่า “ไทยเท่” ซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงการสนับสนุน
ความเท่แบบไทยตามแนวคิดไทยเท่ ซึ่งหมายถึงความภูมิใจและกล้าที่จะนำวัฒนธรรมท้องถิ่นของไทยที่ดีงาม มาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี สร้างให้เป็นสินค้าและบริการที่แตกต่าง มีมูลค่าเพิ่ม ให้กับเศรษฐกิจในพื้นที่แต่ละท้องถิ่นทั่วประเทศ ดังนั้น องค์ประกอบที่เป็นหัวใจสำคัญของไทยเท่ก็คือวัฒนธรรม + ความคิดสร้างสรรค์ และ/หรือ นวัตกรรม และ/หรือเทคโนโลยี = มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
ในการขับเคลื่อนแนวคิดไทยเท่ต้องดำเนินการพร้อมกันทั้งคนซื้อ (demand) และคนขาย (supply) โดยกระตุ้น demand สร้างค่านิยมให้ผู้บริโภคภูมิใจเมื่อซื้อสินค้าและบริการที่มีวัฒนธรรมไทย ให้มีความรู้สึกว่า “เท่” ควบคู่กับการพัฒนา supply สร้างสินค้าและบริการที่ “เท่” มีอัตลักษณ์ มีมาตรฐาน และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคด้วย นั่นคือต้องสร้าง demand นิยมเท่แบบไทย และสร้าง supply เท่ๆ ในท้องถิ่นไปพร้อมๆ กัน
“ไทยเท่” จะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจขับเคลื่อนแนวคิดไทยเท่ โดยในขณะนี้ หลายหน่วยงานได้เข้ามาร่วมขับเคลื่อนแนวคิดไทยเท่ ตัวอย่างเช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ดำเนินโครงการ
“เที่ยวไทยเท่” สร้างค่านิยมให้ผู้บริโภคภูมิใจในสินค้าและบริการที่มีวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ปลุกกระแส
“ออกไปเท่…อย่างมีคุณค่า” ด้วยการเดินทางไปสัมผัสและมีส่วนร่วมกับประสบการณ์อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละท้องถิ่น ผ่าน “5 วิถีเท่” อันได้แก่ ชม
ชิม ช็อป ช่วย และแชร์
ในขณะที่หอการค้าไทยได้ร่วมกับองค์กรต่างๆ ขับเคลื่อนโครงการ
“ไทยเท่ทั่วไทย” เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสินค้าและบริการไทยเท่ในท้องถิ่น โดยในปีที่ผ่านมา หอการค้าไทยได้มอบรางวัลชนะเลิศไทยเท่ทั่วไทย 2560 ให้กับผู้ประกอบการจำนวน 5 ราย จากผู้สมัครจำนวนทั้งสิ้น 220 รายจากทั่วประเทศ โดยผู้ประกอบการที่คะแนนผ่านเกณฑ์ 50 ราย จะได้เข้ารับการอบรมเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการ โดย Thailand Smart Center (TSC) ของหอการค้าไทย โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ หอการค้าไทยยังได้ริเริ่มจัดงาน “ไทยเท่ทอล์ค” เพื่อเป็นเวทีที่จะจุดประกาย สร้างแนวคิดและแรงบันดาลใจ ในการสร้างสรรค์ความแปลกใหม่ด้วยการนำวัฒนธรรมไทยผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี สร้างให้เป็นสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้มีโอกาสฟังแนวคิดและมุมมองที่หลากหลายจากบุคคลและผู้ประกอบการต้นแบบไทยเท่การขับเคลื่อนประเทศไทยแบบไทยเท่นั้น ไม่จำกัดอยู่เฉพาะด้านการท่องเที่ยว
แนวคิดไทยเท่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นการค้า การเกษตร หรือการบริการ ก็สามารถเท่ได้ ผมเชื่อว่าการจะขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืนต้องมีการ “เพิ่มมูลค่า” อย่างแตกต่างในแบบฉบับที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ ดังนั้นการสร้างเศรษฐกิจใหม่แบบไทยเท่ ให้สำเร็จได้จึงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจ และการสนับสนุนของคนไทยทุกคน ..เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้...เราจะก้าวเดินไป “เท่” ด้วยกัน