ยิ่งผ่อนคลายนโยบายเท่าไรก็ยิ่งเป็นผลดีกับเศรษฐกิจเท่านั้น - Forbes Thailand

ยิ่งผ่อนคลายนโยบายเท่าไรก็ยิ่งเป็นผลดีกับเศรษฐกิจเท่านั้น

คำถามสำคัญที่รออยู่ข้างหน้าก็คือ อะไรที่ควรต้องทำเมื่อวิกฤตไวรัสโคโรนาคลี่คลายลงไป และมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มอ่อนลง

การที่เราจะทราบคำตอบได้นั้น เราควรศึกษาบทเรียนจากในอดีตช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปี 1920-1921 โดยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สหรัฐฯ ประสบปัญหาเงินเฟ้ออย่างหนัก แล้วในที่สุดฟองสบู่ก็แตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นอย่างแรงและเร็ว ส่งผลให้เศรษฐกิจพัง และอัตราการว่างงานพุ่งขึ้นถึงเกือบ 20% (การเก็บข้อมูลในสมัยนั้นยังไม่ค่อยละเอียดถี่ถ้วนนัก) ถ้าอย่างนั้นรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ในขณะนั้นรับมืออย่างไรล่ะ?

ถ้าอ่านจากหนังสือบันทึกประวัติศาสตร์เศรษฐกิจในช่วงนั้นของ James Grant เรื่อง The Forgotten Depression-1921: The Crash That Cured Itself ก็จะพบว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ในตอนนั้นทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ยุคปัจจุบันจะแนะนำ นั่นคือตัดงบประมาณรายจ่ายลงจากช่วงสงคราม ปรับลดภาษี ยกเลิกกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่บังคับใช้ในช่วงสงคราม และคืนบริษัทต่างๆ ที่ยึดมาเป็นของรัฐในช่วงสงคราม โดยเฉพาะกิจการรถไฟและโทรศัพท์ กลับไปให้กับเจ้าของเดิม ค่าเงินดอลลาร์ไม่ตก เศรษฐกิจก็กลับฟื้นตัวขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และจากนั้นไม่นานก็กลับไปอยู่ในภาวะจ้างงานเต็มที่อีกครั้ง ช่วงนั้นถือเป็นหนึ่งในยุคที่สหรัฐฯ มีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นมากที่สุดในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว

แต่เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ขึ้นอีกรอบในทศวรรษถัดไป สิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจทำกลับกลายจากหน้ามือเป็นหลังมือ โดยรัฐบาลในขณะนั้นตัดสินใจอัดฉีดงบประมาณรายจ่ายภาครัฐอย่างหนัก ขึ้นภาษี ปรับเพิ่มกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ในเรื่องต่างๆ มากมาย เป็นภาระให้กับภาคธุรกิจ ซึ่งถูกหน่วยงานกำกับดูแลตามรังควานไม่หยุดหย่อน อีกทั้งสภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ดลากยาวต่อเนื่อง และไม่สามารถฟื้นตัวอย่างจริงจังได้อีกเลย จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

อันที่จริงภาวะเศรษฐกิจที่ล่มสลายไปนั้น มีสาเหตุสำคัญมาจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายผิดพลาดอย่างหนัก เริ่มตั้งแต่ปี 1929 เมื่อ Herbert Hoover ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เขาพยายามจะเอาใจกลุ่มเกษตรกรที่ประสบความเดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจ ด้วยการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าเกษตร โดยสภาคองเกรสก็เห็นดีเห็นงามผ่านร่างกฎหมายให้สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าในอัตราสูงลิ่วนับพันรายการ ในตอนนั้นตลาดหุ้นซึ่งตอบสนองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตก็หักหัวลง

และต่อมาเมื่อประธานาธิบดี Hoover ลงนามในกฎหมาย Smoot-Hawley Tariff Act ประเทศอื่นๆ ก็ตอบโต้ด้วยการตั้งกำแพงภาษี และเป็นการจุดชนวนสงครามการค้าระหว่างประเทศทั่วโลกขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งของสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ทั่วโลกพากันหดตัว นอกจาก Hoover จะพยายามพลิกฟื้นเศรษฐกิจด้วยวิธีที่ไม่เคยมีการใช้มาก่อนแล้ว ประธานาธิบดี Franklin Roosevelt ซึ่งรับไม้ต่อจาก Hoover ก็ยิ่งใช้กลไกของรัฐแทรกแซงหนักขึ้นอีก แต่วิกฤตก็ยังดำเนินต่อไป

จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เกิดกระแสความหวาดกลัวว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นขาลงอีกรอบ จึงมีการเรียกร้องให้งัดนโยบายเหมือนกับสมัย Hoover/FDR กลับมาใช้ใหม่ แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ในตอนนั้นตัดสินใจเลือกทำตรงกันข้ามคือตัดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลลงอย่างไม่ปรานีปราศรัย ปรับลดภาษีเงินได้ของคู่สมรสลงครึ่งหนึ่ง เร่งยกเลิกข้อกำหนดต่างๆ ที่บังคับใช้ในช่วงสงคราม ปรับปรุงกฎหมายแรงงานที่เป็นปฏิปักษ์กับการค้า และยังคงตรึงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ไว้กับทองคำ เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะมีทหารผ่านศึกที่กลับมาเป็นกำลังแรงงานนับล้านคน แต่อัตราการว่างงานก็ยังคงต่ำ

เราควรจะเรียนรู้และทำความเข้าใจกับประสบการณ์ทรงคุณค่าในอดีตเหล่านี้ โดยน่าจะมีการปรับลดภาษีทุกประเภทลง และควรเลิกเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าแล้วเปลี่ยนมาใช้อัตราเดียวแทน ในขณะที่ต้องรักษาเสถียรภาพของค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งน่าจะทำได้ด้วยการนำดอลลาร์กลับไปผูกกับทองคำเหมือนในอดีต

นอกจากนี้พวกข้อกำหนดต่างๆ ที่เป็นการทำลายระบบการค้า ซึ่งออกตามกฎหมายพิเศษเพื่อกู้วิกฤตโควิด-19 ก็ต้องยกเลิกให้หมดเมื่อพ้นวิกฤตไปแล้ว และควรกลับมาพยายามลดระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ลง

อันที่จริงมันก็เป็นเรื่องง่ายๆ เหมือนกับที่ Nathan Lewis เขียนไว้ในหนังสือ The Magic Formula ว่า เศรษฐกิจที่มีอัตราภาษีต่ำ และค่าเงินมีเสถียรภาพ มักจะเฟื่องฟูกว่าเศรษฐกิจที่เก็บภาษีในอัตราสูงและค่าเงินแกว่งไปแกว่งมาเสมอ

 

แนะนำหนังสือดีที่น่าอ่าน 3 เล่มเพื่อคลายเครียดในช่วงวิกฤตโควิด-19

The Boy from the Woods โดย Harlan Coben

เขาเป็นนักเขียนหนังสือแนวลึกลับ/ระทึกขวัญ ประเภทเปิดอ่านแล้ววางไม่ลง ตัวละครของเขามีความลุ่มลึกในหลายมิติ เขาเนรมิตตัวละครที่มีลักษณะคล้ายๆ กับ Tarzan ในเวอร์ชั่นที่อยู่ใน New Jersey โดยให้ชื่อว่า Wilde ซึ่งใช้ชีวิตวัยเด็กอยู่ในป่า จำเรื่องราวอดีตของตัวเองไม่ได้เลย และทางการก็บอกไม่ได้ว่าเขามาจากไหน หรือทำไมเขาถึงถูกทิ้งให้อยู่ในป่า

สิ่งที่ Wilde ได้เรียนรู้ขณะที่ดำรงชีวิตตอนเด็กในป่าบวกกับประสบการณ์ในกองทัพ (เขาจบจากโรงเรียนนายร้อย West Point) และหลังปลดประจำการ เขาในฐานะนักสืบเอกชน มีส่วนช่วยในการสืบคดีการหายตัวไปอย่างลึกลับของเด็กสาวมัธยมปลาย และคดีฆาตกรรมในอดีต นอกจากนี้ยังมีตัวเอกอีกตัวในหนังสือเล่มนี้ที่แฟนหนังสือของ Coben คุ้นเคยเป็นอย่างดีคือ Hester Crimstein อัยการผู้ฉลาดเป็นกรด และมีรายการทีวีของตัวเอง ทั้งนี้ เมื่อเรื่องดำเนินไปเรื่อยๆ ก็เกิดเป็นปมขัดแย้งทางศีลธรรมขึ้นมา

 

A Divided Loyalty โดย Charles Todd

เขาเขียนนิยายเรื่องนี้ร่วมกับ Coroline แม่ของเขา และถือเป็นเรื่องที่ดีที่สุดในซีรี่ส์นิยายนักสืบ Ian Rutledge ด้วยแนวทางการเขียนที่ลื่นไหล และการบรรยายฉากต่างๆ ที่สมจริง สามารถจำลองบรรยากาศที่เศร้าและหดหู่ของประเทศอังกฤษในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ออกมาได้เป็นอย่างดี

ยิ่งไปกว่านั้นยังสร้างบุคลิกที่น่าประทับใจของนักสืบ Rutledge ซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่องได้อย่างน่าสนใจ โดยพระเอกของเรื่องประสบภาวะบาดเจ็บทางจิตอย่างรุนแรงอันเนื่องมาจากสงครามซึ่งตามหลอกหลอนเขาเรื่อยมานับแต่ที่เขาไปร่วมรบในสมรภูมิ Somme ซึ่งในขณะนั้นกองทหารที่เขาสังกัดอยู่ก็ร่อแร่เต็มทีแล้ว แต่ยังได้รับคำสั่งให้บุกทำลายรังปืนกลของเยอรมันให้ได้ ทุกคนต่างรู้ดีว่าการเข้าโจมตีตามคำสั่งไม่มีทางสำเร็จมีแต่จะพากันไปตาย และก็มีผู้บังคับหมู่คนหนึ่งยืนยันที่จะแข็งข้อไม่ยอมทำตามคำสั่ง

ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน Rutledge จึงตัดสินใจยิงเป้าผู้บังคับหมู่คนนั้น ทันใดนั้นเองก็มีระเบิดลงตรงกลางกองร้อยของเขาพอดี ทำให้ทหารคนนั้นตายคาที่ แต่ Rutledge รอด นับแต่นั้นมาเขามักจะได้ยินเสียงของทหารที่ตายไปคนนั้นหลอนอยู่ในหัวของเขา

 

The Museum of Desire โดย Jonathan Kellerman

เมื่อหลายปีก่อน Kellerman นักจิตวิทยาเด็กชื่อดังได้ผันตัวเองมาเป็นนักเขียนเต็มเวลา ซึ่งยอดขายหนังสือหลายสิบล้านเล่มทั่วโลกเป็นสิ่งยืนยันว่าเขามาถูกทางแล้ว

งานเขียนของ Kellerman ม่งุเน้นไปที่มุมมองต่อธรรมชาติของมนุษย์ อาชญากรในนิยายของเขาอาจจะเป็นคนที่ชั่วร้ายมากๆ ซึ่งทำให้นิยายลึกลับแนวสอบสวนของเขามีแง่มุมที่แหลมคม แต่เขาไม่เคยสรุปไปในทำนองว่า ธรรมชาติมนุษย์เลวร้าย เขาวาดภาพตัวละครออกมาได้อย่างแจ่มชัด เดินเรื่องแบบได้อรรถรส นำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจในประเด็นต่างๆ

ตัวเอกของเรื่องคือนักจิตวิทยาชื่อ Alex Delaware และผู้หมวด Milo Sturgis แห่งสำนักงานตำรวจ Los Angeles ซึ่งเป็นตัวละครคู่หูนักไขคดีปริศนาที่ Kellerman ปั้นมาได้อย่างน่าติดตามที่สุด นับตั้งแต่ Sherlock Holmes กับ Dr. Watson เลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Sturgis เป็นตัวละครที่น่าจดจำ เพราะเป็นคนร่างสูงใหญ่ที่น้ำหนักเกินมาตรฐานและหัวดี สามารถถอดรหัสคดีได้อย่างฉับไว

นักสืบสมองใสซึ่งชอบไม้ป่าเดียวกันคนนี้ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรณีพิเศษให้มียศร้อยตำรวจโทโดยไม่ต้องทำงานนั่งโต๊ะแต่ทำงานที่เขาถนัดที่สุดคือ ไขคดีฆาตกรรม เมื่อไรก็ตามที่ Sturgis เจอคดียากๆ ก็ต้องอาศัยการวิเคราะห์ทางจิตวิทยาแบบคิดนอกกรอบ

   
คลิกอ่านบทความทางธุรกิจที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2563 ในรูปแบบ E-Magazine