ข่าวสินบนข้ามชาติที่พัวพันกับรัฐวิสาหกิจชั้นนำของประเทศไทยหลายแห่ง จากการเปิดเผยของสำนักงานปราบปรามการฉ้อฉลร้ายแรงของประเทศอังกฤษ (SFO) และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ เป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการจ่ายสินบนในการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจไทยเกิดขึ้นจริงและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้จ่ายได้สารภาพออกมาหมดไส้หมดพุงแล้วว่าได้จ่ายเงินสินบนจริง เหลือเพียงสิ่งที่ยังต้องพิสูจน์ต่อไปก็คือ “ใครคือผู้รับเงินตัวจริง” และจะมีการนำผู้เกี่ยวข้องมาลงโทษอย่างจริงจังและเด็ดขาดแค่ไหน
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันของปี 2016 ล่าสุดที่ประกาศออกมาเดือนมกราคม คะแนนของประเทศไทยลดลงจาก 38 ในปีก่อนหน้า เหลือเพียง 35 คะแนน ขณะที่อันดับของประเทศไทยก็ร่วงจาก 76 มาอยู่ที่ 101 เท่ากับประเทศไนจีเรีย เปรู ฟิลิปปินส์ แย่กว่าประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย อย่าง อินโดนีเซีย จีน อินเดีย หรือแม้แต่ประเทศที่มีประเด็นอื้อฉาวเรื่องการฟอกเงินอย่างปานามา หรือประเทศที่เคยมีชื่อเสียเรื่องยาเสพติดอย่างโคลัมเบีย
ทั้งดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันที่แย่ลง และข่าวเรื่องสินบนข้ามชาติของรัฐวิสาหกิจระดับแนวหน้าหลายแห่ง ล้วนตอกย้ำว่าปัญหาธรรมาภิบาลในภาครัฐและรัฐวิสาหกิจของประเทศเราเป็นปัญหาใหญ่ จากกระบวนการทำงานที่ไม่โปร่งใส ขาดระบบการตรวจสอบ (check and balance) ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้มีอำนาจสามารถตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญต่างๆ โดยไม่สามารถตรวจสอบได้ ทำให้เกิดการฉ้อฉลและใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้องอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย ผลก็คือ การทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นมากอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้สังคมจำเป็นต้องเอาจริงกับปัญหาคอร์รัปชันที่หมักหมมมานานในระบบราชการ และควรใช้กรณีนี้เป็นโอกาสที่จะจัดการเรื่องคอร์รัปชันอย่างจริงจังเพื่อเป็นตัวอย่าง เพราะหากไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเรื่องการจ่ายสินบนจากองค์กรในต่างประเทศ ก็คงจะเป็นเรื่องยากมากที่จะหาข้อมูลเกี่ยวกับกรณีการจ่ายสินบนในลักษณะนี้จนสามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้ นอกจากนี้ รัฐบาลก็ควรใช้โอกาสนี้เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของรัฐวิสาหกิจไทยไปพร้อมกัน โดยประเด็นสำคัญที่ควรดำเนินการ คือ
หนึ่ง ปรับปรุงระบบการคัดเลือกกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ โดยยึดหลักความโปร่งใส และระบบคุณธรรม เพื่อให้ได้กรรมการและผู้บริหารที่มีความรู้และความสามารถ และมีกระบวนการที่ปิดช่องไม่ให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงด้วยการแต่งตั้งคนใกล้ชิดมารับตำแหน่งเพื่อแสวงประโยชน์จากรัฐวิสาหกิจเหมือนที่เคยมีปัญหามาแล้วในอดีต
สอง ปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยเฉพาะโครงการใหญ่ๆ ที่มีมูลค่าสูงและมีความเสี่ยงที่จะเกิดกรณีทุจริตคอร์รัปชัน โดยพิจารณาใช้เครื่องมือที่มีอยู่แล้ว เช่น โครงการข้อตกลงคุณธรรม (integrity pact) หรือโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (construction sector transparency initiative หรือ CoST) มาช่วยป้องกัน เพื่อให้มีบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างให้เกิดความโปร่งใส ทำให้การแอบทำข้อตกลงแบบ “ลับๆ” อย่างที่ผ่านมาเกิดขึ้นได้ยากขึ้น
สาม ภาครัฐควรออกระเบียบให้บริษัทที่เป็นผู้ขายสินค้าให้กับหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ต้องออกจดหมายยืนยันโดยประธานบริษัทประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) และหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (CFO) ถึงประธานของหน่วยงานที่เป็นผู้ซื้อว่า “จะไม่ให้สินบนในการขายสินค้าดังกล่าว”
พร้อมบังคับให้บริษัทผู้ขายต้องแสดงบัญชีการใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้าดังกล่าว เช่น การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงต่างๆ หลังการซื้อขายได้จบสิ้นลงแก่ประธานของหน่วยงานที่เป็นผู้ซื้อ และบัญชีดังกล่าวนี้ต้องส่งผ่านสำเนาไปให้กับคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งบริษัทที่ให้ข้อมูลบัญชีไม่ถูกต้องจะมีความผิดทางกฎหมาย
นอกจากนี้ ควรบังคับให้มีกระบวนการสอบทานการจัดซื้อจัดจ้างที่ทำไปแล้ว โดยหน่วยงานอิสระจากภายนอก (independent audit) เพื่อตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างและป้องกันการปกปิดข้อมูลโดยผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่การเงินของบริษัท
ทั้งหมดนี้ ถ้าลงมือกระทำจริงจังจะสามารถลดโอกาสการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างลงได้มาก แต่ปัญหาของบ้านเราก็คือ “รู้ดีว่าอะไรควรทำ แต่มักไม่ทำ” ปัญหาคอร์รัปชันจึงไม่ได้รับการแก้ไขจนถึงปัจจุบัน