ภาคธุรกิจไทยกับการปรับตัวภายใต้การเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 - Forbes Thailand

ภาคธุรกิจไทยกับการปรับตัวภายใต้การเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21

คงไม่ผิดนัก หากจะกล่าวว่าโลกในศตวรรษที่ 21 เป็นโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

ศตวรรษที่ 21 เป็นโลกของความสุดโต่ง (Age of Extremity) ไม่ว่าจะเป็นทางธรรมชาติ เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เป็นโลกของความย้อนแย้ง (Age of Paradox) เช่น จากรูปแบบการพัฒนาของโลกที่ทุกประเทศวิ่งไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยแบบทุนนิยม สู่รูปแบบการพัฒนาประเทศที่หลากหลายตามแต่ลักษณะพื้นฐานของประเทศนั้นๆ ที่สำคัญคือ เป็นโลกของการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน (Age of Disruption) เช่น การเกิดขึ้นของระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economy) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและกฎระเบียบของรัฐที่เกี่ยวข้อง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลให้ภาคธุรกิจจะต้องเริ่มปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเพื่อไขว่คว้าโอกาสในช่องว่างทางธุรกิจที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างฉับพลันหรือเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ อย่างเช่นการกระโดดเข้ามาในธุรกิจค้าปลีกของ Amazon ด้วยการเข้าซื้อ Whole Food Market ซึ่งเป็นบริษัทผู้ค้าปลีกสินค้าเพื่อสุขภาพ และได้นำเทคโนโลยีต่างๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligent) มาผนวกกับการขายสินค้าจนเกิดเป็นร้านสะดวกซื้ออัจฉริยะที่ชื่อว่า Amazon Go ที่ลูกค้าไม่ต้องต่อแถวรอชำระเงินอีกต่อไป
ร้าน Amazon Go ร้านสะดวกซื้ออัจฉริยะที่ลูกค้าไม่ต้องต่อแถวชำระเงิน เพียงแค่เดินผ่านประตูออกไปได้เลย ระบบจะตัดเงินสำหรับค่าสินค้าที่หยิบออกไปอัตโนมัติ (Photo Credit: nytimes.com)
เมื่อย้อนกลับมาดูธุรกิจไทย คำถามที่เกิดขึ้นคือ แล้วธุรกิจไทยจะต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อไม่ให้ตกจากขบวนรถไฟของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ คำตอบคือ “วิจัยและนวัตกรรม” ซึ่งเงื่อนไขที่สำคัญในการทำวิจัยและสร้างนวัตกรรมมีอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ “เทคโนโลยี” ในอดีตนั้น ภาคเอกชนไทยยังให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยีน้อยมาก อย่างไรก็ตามในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาต่อจีดีพีของประเทศที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 0.48 ในปี 2557 เป็น 0.78 ในปี 2559 โดยมียอดค่าใช้จ่ายเกิน 1 แสนล้านบาทเป็นครั้งแรก นอกจากนั้นพบว่ามากกว่า 3 ใน 4 ของค่าใช้จ่ายดังกล่าวนั้นมาจากภาคเอกชน อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายของภาคเอกชนส่วนใหญ่ยังมาจากบริษัทขนาดกลางและใหญ่ ดังนั้นหากภาคธุรกิจของไทยจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ธุรกิจทุกระดับจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีเช่นกัน โดยมีแนวทางในการพัฒนาตนเองผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ การร่วมพัฒนาเทคโนโลยีกับต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีจุดแข็งด้วยตนเอง อีกเรื่องที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องของ “คนที่มีทักษะความสามารถสูง” หรือ talent คงปฏิเสธไม่ได้ว่า talent เป็นปัจจัยสำคัญในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง แต่ระบบการศึกษาในปัจจุบันยังไม่เอื้อต่อการสร้าง talent
Smart Visa ของไทยที่อนุญาตให้ talent หรือคนที่มีทักษะเทคโนโลยีและต้องการสร้างสตาร์ทอัพในไทย สามารถอาศัยอยู่ในไทยได้นานกว่าวีซ่าท่องเที่ยวปกติ (Photo Credit: huahintoday.com)
ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงต้องหันมาให้ความสำคัญในการสร้าง talent ด้วยการฝึกอบรมคนในองค์กร รวมถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคนในระบบการศึกษาให้มีทักษะและความคิดที่พร้อมทำงานที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ตัวอย่างของทักษะที่สำคัญ เช่น การสร้างความฉลาดทางสังคม (social intelligence) หรือความร่วมมือในโลกเสมือน (virtual collaboration) เป็นต้น นอกจากการสร้าง talent ในประเทศแล้ว ภาคธุรกิจไทยยังต้องมองเรื่องการดึงดูด talent จากทั้งในประเทศและทั่วโลกให้มาทำงานในภาคธุรกิจเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลน talent ในระยะสั้น และเป็นการสร้าง talent ผ่านการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในระยะยาว ในอดีตมีข้อจำกัดในการดึงดูด talent มาทำงานในภาคเอกชน ซึ่งรัฐบาลมีเครื่องมือต่างๆ ที่สนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าว เช่น talent mobility ที่สนับสนุนให้บุคลากรวิจัยในภาครัฐสามารถมาทำงานให้กับภาคธุรกิจได้ หรือ smart visa ที่จะอำนวยความสะดวกในการนำ talent ต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น สุดท้ายแล้ว การพัฒนาเทคโนโลยีและคนเพื่อสร้างนวัตกรรมนั้นก็อยู่บนหลักสำคัญของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นภายในบริษัทเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นในสิ่งที่ยังมีไม่เพียงพอ และสร้างความร่วมมือกับผู้อื่นเพื่อให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนธุรกิจ ดังเช่น “บันได 3 ขั้น” ของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ “การพึ่งพาตนเอง พึ่งพากันเอง และรวมกันเป็นกลุ่มอย่างมีพลัง”  
สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
 
คลิกอ่านบทความทางธุรกิจอื่นๆ ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ เมษายน 2561 ในรูปแบบ e-Magazine