ระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ไม่เคยหยุดนิ่ง ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ ส่งเสริมให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ เป็นโอกาสที่ทำให้ผู้ที่รู้จักคว้าเทคโนโลยีต่อยอด กลายเป็นผู้นำทางธุรกิจในระดับโลกอย่างรวดเร็ว
ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นตัวอย่างหนึ่งของเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยไม่ต้องการการลงทุนมหาศาลเหมือนการสร้างโรงงานผลิตชิปคอมพิวเตอร์ ผู้ที่มีความรู้ความชำนาญด้าน AI จะได้เปรียบในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อยกระดับทางธุรกิจ เห็นได้จากประเทศยักษ์ใหญ่ ทั้งจีนและอเมริกา ได้มีการสร้างนโยบายระดับชาติในการพัฒนาความสามารถของประเทศด้าน AI ซึ่งรัฐมีการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อส่งเสริมการศึกษาและวิจัยในด้านนี้ เพื่อตอบรับกับนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงมีคำถามว่า แล้วการศึกษาไทยได้มีการเตรียมตัวเพื่อตอบรับกับการเกิดนวัตกรรมในอนาคตอย่างไร
ปัจจุบันระบบการศึกษาไทยยังไม่เอื้อต่อการเป็น "ผู้สร้างนวัตกรรม" และยังไม่พร้อมต่อการสร้าง "ผู้ใช้นวัตกรรม" การจะตอบโจทย์การขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีและงานนวัตกรรมที่มั่นคงและยั่งยืน สิ่งแรกที่ควรเน้นคือ ให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้สร้างนวัตกรรม ต่อยอดงานวิจัยออกมาเป็นรูปธรรม ซึ่งจำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานชั้นนำที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาทั้งกับตัวบุคลากรและองค์ความรู้ผ่านการทำงานวิจัยและพัฒนา และต้องมีการปรับโครงสร้างและกลไกด้านกฎหมายและงบประมาณที่เอื้อต่อการทำวิจัยมากกว่านี้
ส่วนการสร้าง "ผู้ใช้นวัตกรรม" สถาบันการศึกษาไทยควรเปลี่ยนมาเน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (life-long learning) มีการผลักดันให้บุคลากรและผู้เรียนตื่นตัวกับการเรียนรู้ทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 เปลี่ยนนิยามของคำว่า "นักเรียน" ให้รวม "ครู" และ "อาจารย์" เปลี่ยนนิยามของ "ห้องเรียน" เป็นสถานที่ลงมือปฏิบัติจริง นำแนวคิด co-working space กับ lifestyle ของคนในยุคดิจิทัล ให้ชั้นเรียนเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้อย่างไร้ขอบเขต พบเพื่อนร่วมงานและแลกเปลี่ยนทักษะ (peer learning) เปลี่ยนจากอาจารย์ผู้บอกตำรา (lecturer) มาเป็นผู้ให้คำปรึกษา (coach) พัฒนาข้อเด่น ปรับปรุงข้อด้อยของผู้เรียน และเปลี่ยนรูปแบบการเรียนจากผู้รับฟัง (passive learner) มาเป็นเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง (self-learner) นอกจากนี้ ต้องปรับทัศนคติว่าความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ และตอบสนองต่อข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในเชิงบวก ต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีวัดผลที่ไม่ใช่การสอบเพื่อได้เกรด แต่เน้นวิธีวัดผลที่ไม่ทำให้คนกลัวความล้มเหลว ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทักษะความรู้
ดังนั้น การพัฒนาคอร์สออนไลน์ (Massively Open Online Course: MOOC) จึงมีบทบาทสำคัญมาก ในปัจจุบันมีผู้เรียนคอร์สออน์ไลน์ทั่วโลกจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากเข้าถึงได้ง่าย แต่การทำเนื้อหาให้เหมาะสมและปรับเปลี่ยนตามความสามารถของผู้เรียนยังถือว่าไม่ง่าย แต่เราก็สามารถนำ AI เข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนเนื้อหาและการวัดระดับให้กับผู้เรียนแต่ละคนอย่างเหมาะสมตามระดับความรู้และความสามารถ กลายเป็น personalized course
ในระดับสถาบันศึกษา แนวคิดเกี่ยวกับหลักสูตรและคณะต้องเปลี่ยน การเรียนยุคใหม่ควรจัดกลุ่มเป็น "เรื่อง" ไม่ใช่แบ่งแยกจาก "สาขาวิชา" เนื่องจากในชีวิตจริงจะแก้ปัญหาในแต่ละเรื่องจำป็นต้องใช้หลายศาสตร์ในการแก้ปัญหา โดยเน้นการลงมือปฏิบัติเป็นหลัก (action-oriented) เพื่อให้ผู้เรียนเห็นถึงความสำคัญในการเรียนเนื้อหาและการประยุกต์ใช้ด้วย เช่น เรื่องเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ต้องมีการบูรณาการความรู้ในศาสตร์ของวิศวกรรม สถาปัตยกรรม วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และนิติศาสตร์เข้าด้วยกัน
ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยไทยมีข้อจำกัดของโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงยาก ขาดความสามารถในการปรับตัว ซึ่งถือเป็นหัวใจของการปฏิรูปการศึกษา มหาวิทยาลัยควรทำลายกำแพงกั้นระหว่างสาขาวิชา ทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ ทำให้มีการต่อยอดการพัฒนาอย่างไม่สิ้นสุด สถานศึกษาที่ดีควรทำให้คนสร้างหรือรู้จักทำงานร่วมกับเทคโนโลยีกับภาคเอกชน ทำให้สามารถดึงจุดแข็งของเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างความได้เปรียบ แต่สิ่งที่จำเป็นมากกว่านั้นคือต้องสอนผู้เรียนกล้าที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่โลกยังไปไม่ถึง
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุด คือ เปลี่ยนทัศนคติ (mindset) ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงสถาบันการศึกษา ผู้สอน และผู้เรียนที่ต้องเปลี่ยน แต่รวมถึงภาครัฐและเอกชนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศด้านการศึกษาและวิจัย ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน เพื่อปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ถ้าทำได้ ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่สามารถสร้างเทคโนโลยีเป็นของตนเองได้ หรือสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม
คลิกอ่านฉบับเต็ม “อีโคซิสเต็มส์” ของ กวิน กาญจนพาสน์ BTS – VGI – Rabbit – KERRY – PlanB – MACO” ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ พฤษภาคม 2562 ได้ที่แผงนิตยสารชั้นนำและในรูปแบบ e-Magazine