รัฐบาลอเมริกันที่นำโดยประธานาธิบดี Biden จะใช้มาตรการคุมราคาสินค้ามาใช้สู้กับเงินเฟ้อหรือไม่?
เพื่อเลี่ยงจากการถูกตำหนิเพราะราคาสินค้าแพงขึ้น ประธานาธิบดี Biden และทีมงานของเขาจึงหันไปโทษว่าสาเหตุที่ของแพงเป็นเพราะความโลภของเจ้าของธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจแปรรูปเนื้อสัตว์ น้ำมันและก๊าซ รวมถึงบริษัทยาต่างๆ ทั้งนี้มีการพูดกันอย่างหนาหูมากขึ้นว่า ถ้าอัตราเงินเฟ้อไม่ลดลงในเร็วๆ นี้ก็มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ อาจจะใช้มาตรการคุมราคาสินค้า “ชั่วคราว” กับสินค้าที่อ่อนไหวกับผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง เช่น เนื้อวัว ไก่ น้ำมันเบนซิน น้ำมันให้ความร้อน และยารักษาโรคที่จ่ายตามใบสั่งแพทย์หลายรายการ นี่คือหายนะอย่างแท้จริง เพราะจากประสบการณ์หลายพันปีในหน้าประวัติศาสตร์ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า การคุมราคาสินค้าใช้ไม่ได้ผลและมันยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายหนักขึ้นด้วยซ้ำา เพราะมันมุ่งเป้าไปที่การบรรเทาอาการ แต่ไม่ได้จัดการต้นเหตุที่แท้จริง นั่นคือปัญหาการอ่อนค่าของเงินเหรียญสหรัฐฯ นับแต่อดีตกาลรัฐบาลชุดไหนๆ ต่างก็มองหาแพะรับบาปสำหรับการที่เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นกันทั้งนั้น อย่างสมัยอาณาจักรโรมันก็โทษชาวคริสเตียน สมัยกลางในยุโรปก็โทษแม่มด ยุคของประธานาธิบดี Richard Nixon ก็โทษนักเก็งกำไรค่าเงินและประเทศผลิตน้ำมันในโลกอาหรับว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1970 แต่อันที่จริง Nixon เองนั่นแหละที่เป็นคนเร่งให้เกิดวิกฤตรอบนั้นด้วยการนำสหรัฐฯ ออกจากมาตรฐานทองคำ “ชั่วคราว” ในปี 1971 และใช้นโยบายคุมราคาสินค้าและค่าแรง การกดราคาแบบปลอมๆ และใช้มาตรการควบคุมทำให้อุปสงค์สินค้าเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ทำร้ายภาคการผลิตสินค้าเหล่านั้นไปพร้อมกันด้วย เพราะผู้ผลิตไม่สามารถขึ้นราคาขายสินค้าเพื่อให้สอดรับกับต้นทุนที่แพงขึ้นได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเนื้อสัตว์ กล่าวคือ ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นในช่วงที่เกิดโรคระบาด ซึ่งอุปสงค์ที่เร่งตัวขึ้นผิดคาดนี้ทำให้ราคาเนื้อสัตว์ขยับสูงขึ้นในช่วงแรก และส่งผลให้กำไรของผู้ประกอบการแปรรูปเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นชั่วคราวแต่ก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะต่อมาต้นทุนการผลิตก็เพิ่มขึ้น ต้นทุนอาหารสัตว์แพงขึ้น ต้นทุนค่าขนส่งก็เพิ่มขึ้นเพราะขาดแคลนคนขับรถบรรทุก ในขณะที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงก็แพงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนต้นทุนด้านอื่นๆ อย่างบรรจุภัณฑ์ก็แพงขึ้น แถมยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน และค่าแรงก็แพงขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขึ้น เพราะฉะนั้นกำไรที่เพิ่มขึ้นจึงอยู่ได้เพียงไม่นาน รูปแบบเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับหลายๆ ธุรกิจในช่วงต้นของวัฏจักรเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตามรัฐบาลกำลังพิจารณาออกกฎเกณฑ์ใหม่ๆ และพร้อมจะใช้เงิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่ออุดหนุนผู้ประกอบการรายเล็กในภูมิภาคเพื่อส่งเสริม “การแข่งขัน” บริษัทน้ำมันและก๊าซมักจะเป็นผู้ร้ายทางการเมืองโดยเฉพาะในช่วงที่เงินเฟ้อพุ่งสูงเหมือนในขณะนี้ โดยหลังจากที่รัฐบาลของประธานาธิบดี Biden เข้ามารับตำแหน่งก็พุ่งเป้าไปที่ธุรกิจนี้ มีการยกเลิกท่อส่งน้ำมัน คุมกิจกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และส่งสัญญาณชัดเจนว่าเป้าหมายระยะยาวของประธานาธิบดี Biden คือ ทำให้บริษัทในธุรกิจนี้ไม่ได้ผุดได้เกิดอีกต่อไป ดังนั้น จึงไม่น่า แปลกใจที่เห็นราคาก๊าซพุ่งแรงราวกับติดจรวด และตอนนี้ทำเนียบขาวก็ขอร้องให้รัสเซียและกลุ่ม OPEC เพิ่มการผลิตน้ำมัน ซึ่งยิ่งเป็นการซ้ำเติมผู้ผลิตน้ำมันในประเทศหนักขึ้นไปอีก นอกจากนี้ การคุมราคายารักษาโรคที่จ่ายตามใบสั่งแพทย์จะเป็นการฆ่านวัตกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพบเห็นมาแล้วในยุโรป เพราะแม้ว่าครั้งหนึ่งบริษัทยาในยุโรปจะเป็นผู้นำในการคิดค้นยาตัวใหม่ๆ แต่เมื่อบริษัทเหล่านั้นไม่สามารถกำหนดราคาขายให้ครอบคลุม ต้นทุนที่แพงลิ่วในการพัฒนายาและเวชภัณฑ์ได้ นวัตกรรมด้านนี้ของยุโรปจึงหดหายไป แต่ก่อนที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะเริ่มใช้มาตรการคุมราคาสินค้า เราคาดว่าทั้งทำเนียบขาว กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาลจะพุ่งเป้าไปเล่นงานบริษัทเป้าหมายและผู้บริหารของบริษัทเหล่านั้นด้วยการฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและอาญา ทั้งประธานาธิบดี Biden และพลพรรคของเขาต่างพากันมองข้ามสาเหตุที่แท้จริงของเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในขณะนี้ และสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายหนักขึ้นไปอีกจากการใช้นโยบายควบคุมโรคระบาดที่ผิดกฎหมาย ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เองก็ปั๊มเงินเข้าสู่ระบบมากเกินไป- สกุลเงินคริปโตจะทำให้รัฐบาลยุติการผูกขาดเงินได้ไหม? -
ถ้าคุณอยากเห็นอนาคตของสกุลเงินคริปโตให้มองดูที่ประเทศตุรกี ตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงขณะนี้ค่าเงินลีราของตุรกีร่วงแรงถึงกว่า 40% เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้ออย่างเป็นทางการ (ซึ่งชาวตุรกีไม่เชื่อถือ) อยู่ที่ 36% และยังสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ประชาชนที่สิ้นหวังในประเทศตุรกีจึงหันมาหาสกุลเงินคริปโตแทน ถึงแม้ว่าบิตคอยน์จะมีความผันผวนอย่างมากและตกหนักในช่วงนี้ แต่ชาวตุรกียังมองว่า มูลค่าของบิตคอยน์น่าจะยังขึ้นต่อได้ในระยะยาว สิ่งที่น่าสนใจจริงๆ และน่าจะทำให้ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ฉุกคิดก็คือ สกุลเงินที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตุรกีคือ Tether ทำไมน่ะหรือ? ก็เพราะ Tether มีสถานะเป็น “stablecoin” ซึ่งเป็นสกุลเงินคริปโตที่มูลค่าผูกอยู่กับสินทรัพย์เฉพาะ ซึ่งในกรณีของ Tether ก็คือเหรียญสหรัฐฯ Stablecoin เป็นสกุลเงินที่ถูกจัดโครงสร้างอย่างเหมาะสมและโปร่งใสเกี่ยวกับสินทรัพย์ที่หนุนหลังอยู่ และจะกลายมาเป็นทางเลือกของเงินที่พิมพ์ออกมาโดยรัฐบาล เสถียรภาพของมันทำให้สามารถใช้ทำธุรกรรมเชิงพาณิชย์ได้ โดยเฉพาะธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสัญญาระยะยาว หลังจากที่เห็นความเสี่ยงในประเด็นนี้ เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลตุรกีจึงสั่งห้ามการชำระเงินโดยใช้สกุลเงินคริปโต แต่คำสั่งดังกล่าวไม่เป็นผล เพราะสิ่งที่ทำให้สกุลเงินคริปโตน่าสนใจก็คือ การเปิดช่องให้ผู้คนสามารถหลีกเลี่ยงช่องทางการทำธุรกรรมธนาคารและระบบการชำระเงินแบบดั้งเดิม เพราะผู้คนชื่นชอบในความรวดเร็ว และความเป็นส่วนตัวที่ได้จากเงินสกุลคริปโตเมื่อเทียบกับบริการที่ได้จากรัฐบาลที่ละโมบ เมื่อผู้คนไม่มั่นใจในสกุลของประเทศจึงหันไปหาทางเลือกอื่นที่น่าเชื่อถือมากกว่า และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้เงินเหรียญสหรัฐฯ ได้รับความนิยมทั่วโลกมากกว่าสกุลเงินท้องถิ่นที่ไม่มีค่า ทั้งนี้กว่าครึ่งของเงินเหรียญสหรัฐฯ ที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจถูกนำไปใช้นอกประเทศสหรัฐฯ สถานการณ์ในประเทศตุรกีถือเป็นบทเรียนอย่างดี นั่นคือ ธนาคารกลางของประเทศตุรกีพิมพ์เงินลีราออกมามากเกินไป โดยอุปทานเงินพื้นฐานในตุรกีเพิ่มขึ้นถึง 50% ในปีที่แล้ว แต่แทนที่จะลดการพิมพ์เงินออกมา ประธานาธิบดี Recep Tayyip Erdoğan กลับโทษว่า ร้านอาหาร ชาวต่างชาติที่ชั่วร้าย และอื่นๆ เป็นคนผิด ในขณะที่เรียกร้องให้ธนาคารกลางของตุรกีลดดอกเบี้ยลงอีก ซึ่งสิ่งนี้ก็ไม่ต่างกับที่มีการทำกันมานับพันปีนั่นคือ การจัดการกับอาการที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้จัดการกับต้นตอที่แท้จริงของปัญหาเงินเฟ้อ ดังนั้น มันจึงไม่น่าแปลกใจที่ 2 ใน 3 ของเงินฝากในประเทศตุรกีอยู่ในสกุลเงินต่างประเทศ โดยเฉพาะเหรียญสหรัฐฯ และยูโร แต่สิ่งที่คนกลัวกันก็คือ รัฐบาลถังแตกของตุรกีอาจจะยึดบัญชีเงินฝากดังกล่าว และเปลี่ยนสกุลเงินในบัญชีเป็นสกุลลีราของตุรกี ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในสกุลเงินลีรา เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาทางรัฐบาลตุรกีจึงออกโครงการบัญชีออมทรัพย์พิเศษ ซึ่งรัฐบาลรับประกันการอ่อนค่าของสกุลเงินลีราเมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐฯ แต่ประชาชนชาวตุรกีก็ยังคงไม่เชื่อมั่นในคำสัญญาของรัฐบาลอยู่ดี และหันไปซื้อสกุลเงินคริปโตเพิ่มมากขึ้นอีก ทั้งนี้ถึงแม้ว่าตุรกีจะถือเป็นตัวอย่างที่สุดโต่งในแง่ของเงินเฟ้อ แต่สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ก็กำลังเดินหน้าไปผิดทางเช่นกัน โดยเรามองว่ากระบวนการของสกุลเงินคริปโตที่มั่นคงอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการท้าทายการผูกขาดเงินโดยรัฐบาลก็ได้ เรียบเรียง: พิษณุ พรหมจรรยา อ่านเพิ่มเติม:- 7 แนวทาง เพิ่มขีดความสามารถ “ระบบ ERP” ในการแข่งขันให้ธุรกิจ
- CHEW GEK KHIM นักสร้างมูลค่าแห่ง STRAITS TRADING
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine