เมื่อเร็วๆ นี้ Mario Draghi นายใหญ่แห่ง ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศว่าอีซีบีจะปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำระลอกใหม่แก่ธนาคารต่างๆ เดือนกันยายนนี้เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของภูมิภาคที่ชะลอตัว เป็นการประกาศที่เหนือความคาดหมายและแสดงชัดถึงการล้มละลายทางภูมิปัญญาของผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจสมัยใหม่ส่วนใหญ่
แม้ว่าหลายสิบปีที่ผ่านมาจะมีข้อมูลอันน่าผิดหวังที่แสดงให้เห็นว่า ธนาคารกลางยุโรป ไม่สามารถกำหนดจังหวะของกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ในแบบเดียวกับการทำงานของตัวควบคุมอุณหภูมิห้อง ผู้นำทางการเมืองและเศรษฐกิจกลับยังยืนกรานที่จะไล่ตามความเพ้อฝันนี้ ความรุ่งเรืองที่หายไปนั้นคิดเป็นมูลค่ามหาศาล ถ้าธนาคารกลางและบรรดาผู้มีอิทธิพลทางการเมืองหันไปมุ่งมั่นที่จะทำค่าเงินให้แข็งแกร่ง รวมถึงถ้าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังผูกกับมูลค่าทองคำ ความอยู่ดีมีสุขทางวัตถุของโลกเราคงจะมากกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ถึง 2 เท่า เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางและนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากไม่สามารถเข้าใจความจริงพื้นฐานที่ว่า เงินไม่ใช่ความมั่งคั่ง จะพิมพ์ธนบัตรมามากเท่าไรก็ไม่ได้ช่วยสร้างความมั่งคั่ง มันมีความหมายแต่เพียงว่าคุณสามารถใช้กระดาษเหล่านั้นซื้อสินค้าที่มีคนผลิตขึ้นมา คนขายยอมรับกระดาษพวกนั้นเพราะเขาหรือเธอสามารถนำไปใช้ซื้อข้าวของที่ต้องการ นั่นก็คือสินค้าหรือบริการที่ใครบางคนผลิตขึ้นมาเงินคือการอ้างสิทธิ แต่ไม่ใช่กับสิ่งที่เฉพาะเจาะจง อย่างเช่นเสื้อคลุม แต่เฉพาะกับสิ่งที่ถูกวางขายในท้องตลาด เงินทำให้คุณสามารถแลกเปลี่ยนแรงงานหรือสินค้าของคุณกับสิ่งอื่นๆ ที่คุณอาจอยากได้หรือต้องการ ในทางกฎหมาย เงินเป็นใบเสร็จสำหรับมูลค่าสินค้าและบริการที่เราผลิตขึ้นมาและอาจจะต้องการขาย นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมการปลอมแปลงเงินจึงผิดกฎหมาย ถ้าคุณพิมพ์ธนบัตรมูลค่า 100 เหรียญสหรัฐฯ และนำไปใช้ซื้ออะไรบางอย่าง เท่ากับว่าคุณกำลังขโมยอะไรบางอย่างนั้น เพราะธนบัตรปลอมไม่ได้เป็นผลมาจากสินค้าที่ถูกผลิตขึ้นจริง เมื่อรัฐบาลพิมพ์เงินออกมามากเกินไป ผลก็คือภาวะเงินเฟ้อซึ่งเป็นภาษีทางลับ ที่กล่าวมาทั้งหมดคือเหตุผลว่าทำไมภูมิปัญญาด้านนโยบายการเงินที่เป็นที่ยอมรับในปัจจุบันจึงเป็นอันตรายมากกว่าผายลมของวัวที่ทำให้นักการเมืองขี้ตื่นพากันหวาดหวั่น และนักการเมืองประเภทนี้ก็เพิ่มจำนวนขึ้น ธนาคารกลางและรัฐบาลไม่ได้สร้างทรัพยากร พวกเขาดึงเอาทรัพยากรจากพวกเราที่เหลือไปใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายของตัวเอง ความที่คิดว่าการอัดฉีดเงินแก่ธนาคารรอบใหม่ของอีซีบีจะพายุโรปไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ช่างเป็นความคิดที่ไร้สาระ ช่วงทศวรรษที่ 70 ธนาคารกลางสหรัฐฯ พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบาย “ผ่อนปรน” ทางการเงินซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผลก็คือประเทศต้องประสบภาวะเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจชะงักงัน 1 ชั่วอายุคน และเช่นกัน ในช่วงต้นสหัสวรรษใหม่ ธนาคารกลางของเราทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงจากการผลักดันของกระทรวงการคลัง การกระทำดังกล่าวนำไปสู่หายนะเศรษฐกิจปี 2008-2009 ภายหลังการอ่อนค่ารุนแรงของดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2008 ซึ่งได้สร้างความตื่นตระหนกอย่างยิ่ง เฟดจึงใช้มาตรการแบบผ่อนคลายเชิงปริมาณทางการเงิน ด้วยการขยายพอร์ตการลงทุนเพิ่มขึ้น 5 เท่าจากพันธบัตรรัฐบาลและแพ็กเกจสินเชื่อที่อยู่อาศัย ผลลัพธ์ก็คือเป็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากความตกต่ำรุนแรงที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าภายใต้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ เฟดได้ยึดหลักทรัพย์จากภาคเอกชนเกือบ 4 ล้านล้านเหรียญ และเมื่อผนวกกับกฎเกณฑ์ที่ทำให้การปล่อยกู้ของธนาคารแก่ธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจใหม่เป็นธุรกรรมต้นทุนสูงแล้ว จึงเป็นการบิดเบือนตลาดสินเชื่อและทำลายเศรษฐกิจ ช่างเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยอดเยี่ยม! ถึงเวลาเผชิญหน้ากับความเข้าใจผิดที่อันตรายนี้- ไม่มีคำว่า “ร้อนแรงเกินไป” สำหรับเศรษฐกิจ เฟดไม่มีหน้าที่ควบคุมเศรษฐกิจเมื่อมันเติบโตอย่างรวดเร็ว กรณีเดียวที่ความเติบโตทางเศรษฐกิจควรจะตกเป็นผู้ต้องสงสัยก็คือ เมื่อความเจริญนั้นถูกสร้างขึ้นมาอย่างหลอกๆ จากการทำให้ดอลลาร์อ่อนค่า ดังเช่นที่เกิดขึ้นในทศวรรษที่ 70 และอีกครั้งในช่วงก่อนเกิดวิกฤตปี 2008-2009 ถ้าไม่ใช่ด้วยเหตุนี้แล้ว อย่าได้แทรกแซงตลาด
- มาตรการควบคุมต้นทุนการกู้ยืมใช้ไม่ได้ผล แม้แต่นักการเมืองสายอนุรักษนิยมก็ดูจะเชื่อในเหตุผลลวงที่ว่า ธนาคารกลางควรจะพยายามแก้ไขปัญหาต้นทุนการกู้ยืม นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่รู้ว่าการควบคุมค่าเช่าเป็นการบิดเบือนตลาด ดอกเบี้ยคือ “ค่าเช่า” ที่ต้องชำระเมื่อต้องการกู้เงิน
- นโยบายการเงินไม่สามารถเอาชนะอุปสรรคด้านโครงสร้างที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเงินที่เป็นตัวขัดขวางความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ หนึ่งในอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดก็คือภาษีที่สูงและกฎเกณฑ์ที่มากเกินควร
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจและการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ มิถุนายน 2562 ที่แผงนิตยสารชั้นนำและในรูปแบบ e-Magazine