เมื่อต้นปีที่ผ่านมา We Are Social ซึ่งเป็นดิจิทัลเอเจนซี่ชื่อดังในสิงคโปร์ ออกรายงานชื่อ Digital in 2016 ที่เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 38 ล้านคน คิดเป็น 56% ของประชากรรวมทั้งสิ้น 68 ล้านคน และทั้ง 38 ล้านคนนี้ใช้งานโซเชียลมีเดียทั้งสิ้น โดยใช้ผ่านมือถือซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่อยู่ติดตัวสูงถึง 34 ล้านคน นั่นหมายความว่า ในทุกๆ วินาที คนทุกคนในกลุ่มนี้สามารถเป็นสื่อ เป็นผู้สร้างข่าวสาร หรือเป็นผู้ส่งต่อเผยแพร่เรื่องราวต่างๆ ผ่านเครื่องมือออนไลน์ได้ในทันที ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ชีวิตส่วนตัว แนวคิดที่ต้องการเผยแพร่ หรือเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า
เมื่อเปิด Facebook หรือ Line ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียยอดนิยมอันดับ 1 และ 2 ของไทย เราจะพบกับเรื่องราวของคนรอบตัวทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก ว่ากำลังไปทานอาหารร้านอร่อย (หรืออย่างน้อยก็ทำให้คิดว่าอร่อย) กำลังไปเที่ยว หรือออกไปใช้ชีวิตกลางแจ้งออกกำลังกาย ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องการใช้จ่ายตามกระแสโลกใหม่ของสังคมชนชั้นกลางที่ต้องการชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำให้เกิดพฤติกรรมทำตามอย่างรวดเร็วภายหลังอ่านคำแนะนำผ่านโซเชียลมีเดีย
ทุกอย่างมีต้นทุนและค่าใช้จ่าย ทำให้อยากเขียนถึงกลุ่มที่ต้องจับตาคือคนรุ่นใหม่อายุ 20-29 ปี ที่มีถึง 14 ล้านคน และเป็นผู้ใช้ Facebook มากที่สุดของประเทศ โดยเริ่มมีรายได้เป็นของตนเอง มีสิทธิเต็มที่ในเงินที่หามาได้จากน้ำพักน้ำแรง ไม่ต้องขอพ่อแม่ผู้ปกครองอีกต่อไป (ถ้าไม่ใช้เกินตัว) จึงมีการใช้จ่ายเงินเพื่อตอบสนองความสุข อย่างการเข้าสังคมกับกลุ่มเพื่อนฝูงที่ต้องสังเกตคือ วัฒนธรรมการบริโภคนิยมยุคใหม่เต็มไปด้วยค่าใช้จ่าย ทั้งการกิน การเที่ยว ซึ่งทำตามอย่างกัน
จะว่าไปแล้ว ปัญหาการใช้จ่ายเกินตัว รายจ่ายมากกว่ารายรับ ก็เป็นเรื่องที่มีมานานทุกยุคทุกสมัย เพียงแต่ปัจจุบัน โลกเปลี่ยนไป กระแสสังคมทำให้คนคิดไปว่าการใช้ชีวิตดีๆ เปิดเผยผ่านโซเชียลเป็นสิ่งถูกต้องมีคนชื่นชม จึงเร่งพฤติกรรมเลียนแบบที่ทำให้ใช้จ่ายเกินความจำเป็นได้ง่ายมาก และที่น่าห่วงก็คือพวกเขาไม่ได้เดือดเนื้อร้อนใจอะไรเลย แม้รายรับจะไม่พอรายจ่าย เพราะมีบริการการเงินต่างๆ คอยสนับสนุนให้เอาเงินในอนาคตมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล สินเชื่อจำนองบ้าน รถยนต์ หรือแม้แต่เงินกู้สวัสดิการของบริษัทที่ตนเองทำงานอยู่
จากประสบการณ์เราพบว่าคำแนะนำในการออมนั้นเมื่อนำไปพูดกับบุคคลที่เริ่มต้นมีปัญหา ย่อมง่ายกว่าคนที่ยังมองไม่เห็นปัญหาโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน เพราะเขาไม่เห็นความจำเป็น คิดไปว่า “ทำไมต้องเก็บ”...“มีน้อยเก็บน้อย เดือนละพันจะไปพออะไร”...“เอาเงินไปเที่ยวดีกว่า เก็บแค่นี้จะไปได้อะไร”
สำหรับคนรุ่นใหม่ หรือรุ่นกลาง ที่ยังไม่ได้เริ่มเก็บออมและต้องการเริ่มต้น วิธีการที่จะทำให้การเก็บออมประสบความสำเร็จ ย่อมต้องใช้ความอดทน ลด ละ เลิก การใช้จ่ายบางอย่างลง แต่ไม่ต้องถึงกับหักดิบชีวิตงดไปเสียทุกอย่างเมื่อได้รับเงินเดือนหรือเงินรายได้ก็ขอให้หักเงินเท่ากับที่เราเคยจ่ายและคิดว่าจะลดลงไว้แล้วนำมาออม เช่น ในแต่ละเดือน มีค่าใช้จ่ายสังสรรค์กับเพื่อนทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 1,000 บาท และคิดว่าจะลดลง อาจจะไม่ไปทุกสัปดาห์ หรือไปแต่ใช้จ่ายให้น้อยลงครึ่งหนึ่ง จากเดือนละ 4,000 บาท เหลือเดือนละ 2,000 บาท ในเดือนถัดไปเมื่อได้รับเงินเดือน ก็ให้หักเงินเพื่อออมทันที 2,000 บาท เป็นต้น
ทั้งนี้ มีเคล็ดลับแนะนำว่า หากเริ่มต้นเก็บออมแบบทั่วไปแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ขอให้ทดลองตั้งเป้าหมายและให้รางวัลกับตัวเอง เช่น เดิมเป้าหมายการออมระยะยาวคือเดือนละ 3,000 บาท ก็ตั้งเป้าเก็บออมเพิ่มอีก 2,000 บาทต่อเดือน ให้ได้เดือนละ 5,000 บาท ... ทั้งปีคือ 60,000 บาท ... 2 ปี คือ 120,000 บาท ... หากทำสำเร็จใน 2 ปี จะให้รางวัลกับตัวเองคือ ใช้เงิน 48,000 บาท ส่วนที่เก็บเพิ่มเดือนละ 2,000 บาท ไปท่องเที่ยวหาประสบการณ์ต่างประเทศเป็นต้น
วรวรรณ ธาราภูมิ
CEO กองทุนบัวหลวง,
นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน และประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย
คลิกอ่านฉบับเต็ม "คนรุ่นใหม่มาแข่งกันออม" เพิ่มเติมได้ที่ Fobes Thailand Magazine ฉบับ SEPTEMBER 2016
คนรุ่นใหม่มาแข่งกันออม
TAGGED ON