ก.ล.ต. กับบทบาทผู้กำกับดูแลมุ่งพัฒนาตลาดทุนไทยให้ยั่งยืน - Forbes Thailand

ก.ล.ต. กับบทบาทผู้กำกับดูแลมุ่งพัฒนาตลาดทุนไทยให้ยั่งยืน

ช่วงปีที่ผ่านมา สาธารณชนมักเห็นบทบาทของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จากการออกข่าวลงโทษกรณีต่างๆ ทั้งการลงโทษคนปั่นหุ้นบ้าง ใช้ข้อมูลภายในบ้าง หรือผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนทุจริตบ้าง ซึ่งบทบาทในด้านดังกล่าวมีความสำคัญมากต่อการสร้างความน่าเชื่อถือของตลาดทุนและการทำให้ตลาดทุนได้มาตรฐาน เพราะไม่มีผู้ลงทุนคนใดที่ชอบลงทุนในตลาดทุนที่มีการเอารัดเอาเปรียบหรือมีการกระทำผิดกฎหมาย อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. มีบทบาทที่สำคัญอีกหนึ่งบทบาทคือการพัฒนาตลาดทุนให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนซึ่งแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีของ ก.ล.ต. นั้นมุ่งเน้นไปที่ 4 เรื่องใหญ่ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในตลาดทุน การสร้างศักยภาพให้ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แข่งขันกับสากลได้ คนในวงกว้างสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้ และองค์กร ก.ล.ต. ปรับตัวให้ทันสมัย ตอบโจทย์ตามวิสัยทัศน์และพันธกิจได้ ซึ่งแผนงานด้านพัฒนาจะใช้เวลาและต้องดำเนินการไปอย่างเป็นระบบ ความจริงแล้วการทำแผนพัฒนานั้นจะเป็นเรื่องยากกว่างานด้านบังคับใช้กฎหมายอยู่พอสมควรทีเดียว เพราะปัญหาหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในตลาดทุนของบ้านเราเป็นเรื่องที่สะสมมายาวนานในอดีต เหมือนกับเป็นดินพอกหางหมูอีกทั้งการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ก็มิอาจทำได้โดยการออกกฎเกณฑ์เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องใช้กุศโลบายต่างๆ มากมายเพื่อให้เกิดการ buy-in ของผู้ที่จะต้องปฏิบัติ ทั้งๆ ที่กฎเกณฑ์ในหลายๆ เรื่องเหล่านั้นก็เป็นเรื่องที่ทำไปเพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบการนั้นเอง ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการปรับปรุงบรรษัทภิบาล (corporate governance หรือ CG) ของบริษัทจดทะเบียน หลายๆ คนอาจจะมองว่า CG เป็นกฎเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. ออกมาเพื่อบังคับให้ทุกคนต้องทำไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมีกรรมการอิสระ การมีคณะกรรมการตรวจสอบการสร้างระบบควบคุมภายในที่ดี แต่ถ้าหากเรานำมาพิจารณากันอย่างจริงจังแล้ว กฎเกณฑ์เหล่านี้สร้างขึ้นจากวัตถุประสงค์ที่ต้องการสร้างความยั่งยืนให้แก่บริษัทจดทะเบียนเหล่านั้นเอง ซึ่งหากเราอยากเห็นการเกิดขึ้นของ CG อย่างเป็นรูปธรรมก็ต้องเกิดจากการเปลี่ยน mindset ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการ ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นเจ้าของ ดังนั้น สิ่งที่ ก.ล.ต. พยายามทำคือ การออกเดินสายเพื่ออธิบายและโน้มน้าวให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจหลักเกณฑ์ แก่นแท้ และประโยชน์ของ CG ซึ่งจากจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่มีเกือบ 700 บริษัท การที่จะเข้าถึงทุกคนก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย ก.ล.ต. เองก็ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มต่างๆ รวมทั้งเนื้อหาที่ต้องการสื่อสาร ที่จะแตกต่างกันไปตามลักษณะโครงสร้างของแต่ละบริษัทอีกตัวอย่างหนึ่งคือ การยกระดับมาตรฐานการขายสินค้าทางการเงิน โดยเฉพาะกองทุนรวม ซึ่งปัจจุบันมีขนาดใหญ่ถึงประมาณ 4 ล้านล้านบาท และผู้เล่นรายใหญ่ก็คือ สาขาของธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ โจทย์ใหญ่ก็คือ จะทำอย่างไรให้ธนาคารพาณิชย์เหล่านี้ได้เห็นความสำคัญอย่างจริงจังกับการวางระบบในการดูแลการขายที่ดี ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้เกิดการขายที่ผิดพลาด (mis-sell) เกิดขึ้น ธนาคารพาณิชย์เองคงไม่ได้มีเจตนาหรืออยากที่จะไปหลอกลวงลูกค้า แต่ด้วยแรงกดดันของการที่จะต้องหารายได้ รวมทั้งความยากในการที่จะควบคุมพนักงานขายซึ่งมีอยู่นับสองหมื่นคนทั่วประเทศ ก็จะเป็นเรื่องที่ยากมาก และต้องมีการลงทุนในระบบ IT ทาง ก.ล.ต. จึงต้องสร้างความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับมาตรฐานที่เราเองมองว่าจะเป็นการคุ้มครองลูกค้า และเนื่องจากเรื่องนี้มีรากฐานของปัญหาจากการเติบโตของธุรกิจที่ล้ำหน้าความรู้และความเข้าใจของบุคลากรของธนาคาร รวมทั้งเป็นเรื่องที่อาจไม่ได้ลงทุนกันอย่างเป็นระบบมานาน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ ก.ล.ต.ต้องให้เวลาธนาคารพาณิชย์ในการปรับตัวและเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะเนรมิตให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยการออกหลักเกณฑ์แต่เพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังคงมีการเร่งพัฒนาด้านอื่นๆ อยู่ด้วยไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเป็น GMS Connector การสร้าง equity crowdfunding การพัฒนา infrastructure fund หรือแม้แต่เรื่องท็อปฮิตอย่างเช่น ฟินเทค เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ ก.ล.ต.เองต้องทำงานอย่างหนักในการประสานงานเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ รวมทั้งการสร้างกรอบการพัฒนาให้สมบูรณ์ ซึ่งเป็นงานใหญ่อีกงานหนึ่งที่ ก.ล.ต. มุ่งหวังที่จะสร้างผลงานให้โดดเด่นเทียบเท่าหรือมากกว่างานทางด้านการบังคับใช้กฎหมายเสียอีก   รพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
คลิกอ่านบทความทรงคุณค่าทางด้านธุรกิจ ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2559