ในกิจการงานต่างๆ ที่เรากำลังทำอยู่ ถ้าไม่ผ่านการวางแผนที่ดี หรือไม่ได้กาหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ก็คงไม่ง่ายดายนักที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น หรือหากบรรลุเป้าก็อาจเสียเวลาหรือค่าใช้จ่ายมากกว่าที่ควรจะเป็น
สำหรับ การวางแผนการเงินเพื่ออนาคตของบุตร โดยเฉพาะด้านการศึกษา นอกเหนือไปจากการเลือกสถานศึกษา การกำหนดเส้นทางการเรียนแล้ว การวางแผนด้านการเงินเพื่อการศึกษา ก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเป็นค่าใช้จ่ายที่มีกำหนดต้องจ่ายทุกปี หากเราไม่วางแผนด้านการเงินสำหรับการศึกษาบุตร ปีนี้เราจะหาเงินจากไหนมาจ่ายค่าเทอม หากเราเกิดเป็นอะไรขึ้นมาระหว่างทางแล้ว อนาคตการศึกษาของลูกเราต้องหยุดชะงักหรือไม่ หากเกิดมีการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพเศรษฐกิจ (เช่น ตกงาน ปิดกิจการ) แล้วเรามีเงินทุนสำรองพอหรือไม่กับการใช้จ่าย การวางแผนการเงินเพื่อการศึกษา ก็เหมือนกับการกำหนดเส้นทางเดินหลักให้กับคุณและลูกให้เดินไปสู่ปลายทางความสำเร็จร่วมกัน คำกล่าวที่ว่า มีลูกคน จนไป 7 ปี ใช้ไม่ได้อีกต่อไป (คือไม่จนแค่ 7 ปี) เนื่องจากในปัจจุบัน เรามีทางเลือกการศึกษาหลากหลายและมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นทุกปี ดังนั้น มาลองดูค่าใช้จ่ายการศึกษาโดยประมาณกัน ข้อมูลประมาณการในตารางได้มาจากเว็บไซต์สถาบันการศึกษาเพื่อให้ประมาณการค่าใช้จ่ายเท่านั้น ค่าใช้จ่ายจริงต้องเช็กสถานศึกษาในใจเราก่อน เพราะจำนวนเงินในตารางดังกล่าวเป็นประมาณการค่าใช้จ่ายระดับกลางเท่านั้น จากตารางจะเห็นว่า ถ้าส่งลูกเรียนเอกชนหรือนานาชาติและส่งต่อไปเรียนต่างประเทศจนถึงระดับปริญญาโท จะมีค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 15 ล้านขึ้นไป ซึ่งหากเงินเฟ้ออยู่ที่ 3% จะทำให้เงินที่ต้องเตรียมไว้กระโดดขึ้นไปเป็น 21 ล้านบาท สำหรับการศึกษา 21 ปี ถ้าจะถามว่า เตรียมเงินน้อยกว่านี้ได้ไหม คำตอบคือได้ แต่ต้องเปลี่ยนแปลงเส้นทางการศึกษาลง เช่น จากเรียนนานาชาติก็เปลี่ยนเป็นเอกชน แล้วค่อยหาทุนเรียนปริญญาตรีและปริญญาโทต่อ หรือไปเรียนคอร์สระยะสั้นในต่างประเทศ ทั้งนี้ มีการสำรวจจาก Master Card Survey Consumer Purchasing พบว่า คนไทย 95% มีการออมเงินเพื่อการศึกษาของบุตรหลานเรียบร้อยแล้ว และมากกว่าครึ่งหนึ่งของพ่อแม่ชาวไทยมีค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรถึงประมาณ 11-30% ของรายได้ครัวเรือน และเกือบ 9 ใน 10 ของผู้บริโภคชาวไทยส่งลูกเรียนพิเศษเพิ่มเติมนอกหลักสูตร เพื่อเป็นการลงทุนสำหรับอนาคตของเด็ก และส่วนมากจะเรียนภาษาต่างประเทศ ดนตรี ร้องเพลง และกีฬา หลังจากเรากำหนด สถานศึกษา การกำหนดเส้นทางการเรียน ซึ่งทำให้ได้งบประมาณที่ต้องเตรียมไว้แล้ว การวางแผนด้านการเงินเพื่อการศึกษาบุตรนั้นก็มีเคล็ดลับ คือ 1. เริ่มก่อนสบายกว่า โดยพิจารณารายได้ครอบครัว ค่าใช้จ่าย งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ เช่น คุณปู่ คุณย่า เพื่อให้ทราบว่าเราต้องออมเงิน และมีความสามารถในการออมเงินเท่าไหร่ จึงจะพอกับค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาที่ตั้งเป้าหมายไว้ ทั้งนี้ ควรเริ่มคิดวางแผนเพื่อการศึกษาบุตร ตั้งแต่ตอนวางแผนที่จะมีบุตรเลย ถ้ามีบุตรแล้วตอนนี้ยังไม่ได้วางแผน ก็ไม่เป็นไร แต่เหนื่อยกว่าคนที่เริ่มเร็วกว่าเท่านั้น 2. เลือกสถาบันการศึกษาให้เหมาะสม กับสถานะทางการเงิน และความสามารถในการออมของเรา ซึ่งรวมถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น ใกล้บ้าน ระบบการเรียนการสอนของโรงเรียน เพื่อจะได้เตรียมจัดเงินให้พอ 3. จำนวนเงินที่ต้องใช้จริง ต้องพิจารณาอัตราการขึ้นค่าเล่าเรียนประกอบ และนอกเหนือจากค่าเล่าเรียน ยังต้องรวมค่าที่พัก ค่าหนังสือ ค่าเรียนพิเศษ และอื่นๆ เข้ามาด้วย คือ ต้องบวกเพิ่มจากค่าเทอมที่เราหามาจากโรงเรียนเป้าหมาย อีกอย่างน้อย 30-50% เลยทีเดียว ตัวอย่างเช่นถ้าเรียนอนุบาลถึงมัธยมศึกษาเป็นระบบนานาชาติ จากนั้นไปต่อปริญญาตรี-โทต่างประเทศ จะต้องเตรียมค่าเทอม 18 ล้านบาท เมื่อรวมค่าเล่าเรียนที่อาจขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อปีละ 3% เท่ากับค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมเพิ่มเป็น 22 ล้านบาท ซึ่งในความเป็นจริง แนะนำให้คิดอัตราขึ้นค่าเล่าเรียนที่ 5% เมื่อต้องการประมาณการ 4. วางแผนออม และลงทุน หลังจากรู้จำนวนเงินแล้ว ก็ถึงขั้นตอนการออมและลงทุนเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ โดยต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ระยะเวลาที่ต้องการใช้เงิน และการวางแผนสำรองด้วย เนื่องจากค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาต้องมีการเบิกถอนตลอดทางในช่วงต้นงวดของทุกปี การวางแผนการลงทุนจึงควรแบ่งเงินออกเป็นส่วนๆ ตามระยะเวลาที่ต้องการใช้เงิน ยิ่งระยะเวลาใกล้ก็ต้องลงทุนในพอร์ตที่มีความเสี่ยงน้อย เช่น เงินฝากพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ภาคเอกชนที่มีเรตติ้งดีๆ ซึ่งอาจคาดหวังผลตอบแทนสุทธิในระดับ 2-4% ต่อปี ถ้าเป็นแผนการศึกษาบุตรที่มีระยะเวลาลงทุนพอสมควร เช่น 3-5 ปี ก็เพิ่มสัดส่วนเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นในพอร์ต เช่น กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนหุ้น หุ้นรายตัว ซึ่งอาจคาดหวังผลตอบแทนในระดับ 4-8% ต่อปี และถ้าเป็นแผนการศึกษาบุตรที่มีระยะเวลาลงทุนนาน เช่น 5 ปีขึ้นไป ก็เพิ่มสัดส่วนเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นได้ เพื่อเพิ่มผลตอบแทนคาดหวังไปในระดับ 8% ขึ้นไป ทั้งนี้ ต้องมีการ rebalancing ปรับเปลี่ยนการลงทุนให้เหมาะสมตามเวลา เช่น เมื่อเวลาผ่านไป พอร์ตระยะกลางจะกลายเป็นพอร์ตที่เราต้องใช้เงินในระยะเวลาอีกไม่นาน จึงต้องลดสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงในพอร์ตลงเป็นสินทรัพย์ที่เสี่ยงน้อย เพื่อลดความเสี่ยงจากการผันผวนของผลตอบแทน 5. เตรียมแผนสำรอง กรณีการลงทุนไม่เป็นไปตามคาดหวังหรือเกิดเหตุไม่คาดคิด เช่น ทำประกันชีวิตควบคู่ไปด้วยแต่อาจไม่ต้องทำทั้งจำนวน เช่น ถ้าต้องการเตรียมเงิน 18 ล้านเพื่อการศึกษาบุตร เพราะปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์การเงินหลายอย่างที่ให้ความคุ้มครองชีวิตฟรี เช่น เงินฝากแถมประกัน หรือ ATM พ่วงประกันชีวิต รวมถึงประกันชีวิตที่นายจ้างมักมีให้ การกู้เงินหรือหาทุนการศึกษาก็เป็นอีกทางเลือกของแผนสำรองเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย หากการลงทุนไม่เป็นไปตามแผน ไม่ว่าจะเป็นการกู้เงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือขอทุนการศึกษาจากสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานต่างๆ นอกจากนี้ เราควรเปลี่ยนค่านิยมแบบไทยๆ ที่ให้ลูกเรียนอย่างเดียว มาให้ลูกหัดทำงานพิเศษระหว่างเรียน ซึ่งนอกจากได้ประสบการณ์การทำงานได้เพื่อนฝูง ก็ยังได้พัฒนา EQ ในการอยู่ร่วมกันกับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งจะทำให้ลูกๆ มีความรับผิดชอบและเรียนรู้ด้านการเงินไปพร้อมๆ กัน ดุษณี เกลียวปฏินนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่ปรึกษาทางการเงิน รักษาการผลิตภัณฑ์การออม ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยคลิกอ่านบทความด้านการลงทุนอื่นๆ ได้ที่ Wealth Management & Investing 2017 ฉบับ มิถุนายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine