ความคุ้มค่าในการว่าจ้างผู้บริหารระดับสูง
องค์กรมักพบคำถามว่า ควรว่าจ้างผู้บริหารระดับสูงจากกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือกลุ่มคนรุ่นเก่าที่มีอายุมาก ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา องค์กรต่างๆ มองการเลื่อนตำแหน่งพนักงานไปสู่ระดับบริหารโดยพิจารณาถึง “คุณค่าและผลลัพธ์ที่พนักงานสร้างให้กับธุรกิจ” มากกว่าปัจจัยด้านอายุของพนักงานและอายุงาน ทำให้เห็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุเฉลี่ย 30-35 ปีขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงมากขึ้น อีกคำถามที่องค์กรต้องเจอในช่วงสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว คือ การจ้างผู้บริหารระดับสูงด้วยค่าตอบแทนสูงยังคุ้มค่าอยู่หรือไม่ คำตอบก็คือค่าตอบแทนของผู้บริหารจะถูกกำหนดโดยตัวแปรทางเศรษฐกิจ เช่น ความต้องการผู้บริหารระดับสูงที่มีประสบการณ์ตรงกับธุรกิจ มาตรฐานของอุตสาหกรรม ชื่อเสียงของแต่ละบุคคล เป็นต้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุเฉลี่ย 30-35 ปีได้ขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงมากขึ้น หลังจากองค์กรพิจารณาคุณค่าและผลลัพธ์ที่พนักงานสร้างขึ้นมากกว่าเรื่องอายุงาน ผู้บริหารระดับสูงที่เป็นมืออาชีพและมีความเชี่ยวชาญจะผลักดันให้การดำเนินงานขององค์กรเป็นไปในทิศทางบวกด้วยกลยุทธ์ที่ชัดเจน สามารถถ่ายทอดและสื่อสารกลยุทธ์ดังกล่าวแก่ส่วนงานทุกระดับและกระตุ้นให้พนักงานมีส่วนร่วมในสิ่งที่ผู้บริหารกำลังมุ่งหน้าไป หากปราศจากผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพก็จะส่งผลเสียต่อองค์กรอย่างมหาศาล เช่น การสูญเสียผลกำไร ส่วนแบ่งการตลาด เกิดชื่อเสียงด้านลบต่อลูกค้า ฯลฯ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายปีในการฟื้นฟูจากความล้มเหลว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องมีกระบวนการจ้างงานแบบมืออาชีพในการช่วยสรรหาผู้บริหารระดับสูง ส่วนการว่าจ้างจะคุ้มค่าแค่ไหน สามารถเห็นได้จากความสามารถของผู้บริหารระดับสูงในการผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ทางการเงิน เช่น ผลกำไร ส่วนแบ่งการตลาด ความก้าวหน้าขององค์กร ฯลฯ ซึ่งอาจใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนหรืออาจนานหลายปี ขึ้นอยู่กับสภาพอุตสาหกรรมของบริษัทนั้นๆ และความรวดเร็วในการเปลี่ยนแปลงปัจจัยในการว่าจ้างผู้บริหารระดับสูง
โดยทั่วไปแล้ว ผู้บริหารส่วนใหญ่จะต้องมีคุณลักษณะความเป็นผู้นำ มีจริยธรรมในการดำเนินงาน มีทักษะการคิดเชิงกลยุทธ์ มีความรู้และความเข้าใจด้านเทคนิค มีความสามารถแบบองค์รวมในด้านการสื่อสารและการสร้างสัมพันธ์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อองค์กรต้องการจ้างผู้บริหารระดับสูงคนใหม่มาดำรงตำแหน่ง เกณฑ์การพิจารณาจะแปรเปลี่ยนตามสภาพการณ์ขององค์กร รวมถึงทิศทางของคณะกรรมการบริหาร ตัวอย่างเช่นกรณีขององค์กรภาคอุตสาหกรรมอาจกำลังประสบปัญหาอัตราการลาออกของพนักงานที่พุ่งสูงขึ้น ดังนั้นแนวทางการพิจารณาด้านทักษะและความสามารถของผู้บริหารระดับสูงที่องค์กรต้องการ จะมีความแตกต่างจากองค์กรในอุตสาหกรรมการผลิตที่มีความต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานขององค์กร นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงความต้องการในการว่าจ้างผู้บริหารระดับสูงโดยมองจากบริบททางธุรกิจและอุตสาหกรรมกลับเป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยาก ประการแรกคือข้อแตกต่างในแต่ละประเทศและสภาพทางเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ ทั้งในระดับท้องถิ่นระดับภูมิภาค และระดับโลก เช่นในประเทศไทย อุตสาหกรรมด้านผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภคไม่เติบโตเร็วเท่าประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ทำให้ความต้องการผู้บริหารระดับสูงในตลาดเกิดใหม่เหล่านี้สูงกว่าในประเทศไทย ประการที่สองอยู่ที่ความต้องการอาจแตกต่างกันไปในแต่ละปี เนื่องจากอุตสาหกรรมบางอย่างอาจมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เช่น การควบรวมกิจการ (M&A) ข้อบังคับหรือกฎระเบียบใหม่ๆ เป็นต้น ที่อาจเป็นไปทั้งตัวที่เอื้อหรือขัดขวางความต้องการได้ (เช่นในอุตสาหกรรมธนาคารหรือเภสัชกรรม) ในอุตสาหกรรมขนาดเล็กหากผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งลาออกจากตำแหน่งปัจจุบัน อาจก่อให้เกิดผลกระทบที่เพิ่มขึ้นในวงกว้าง เพราะบริษัทต้องหาผู้มาดำรงตำแหน่งแทนและต้องดำเนินงานไปด้วย หรือบางอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น อี-คอมเมิร์ซ อุตสาหกรรมดิจิทัล ฯลฯ มีความต้องการสูงในการจ้างผู้บริหาร เนื่องจากมีตำแหน่งใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในองค์กร ในอุตสาหกรรมขนาดเล็กหากผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งลาออกจากตำแหน่งปัจจุบัน อาจก่อให้เกิดผลกระทบที่เพิ่มขึ้นในวงกว้างมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ สำหรับนายจ้างและผู้จัดการฝ่ายสรรหาบุคลากร กระบวนการสรรหาว่าจ้างผู้บริหารระดับสูงมักใช้ระยะเวลามากและมีการประชุมหลายครั้งเพื่อปรับบทบาทหน้าที่และผลลัพธ์การทำงาน หลายครั้งที่ผู้สมัครงานมักสูญเสียความสนใจในการสมัครงานเนื่องจากกระบวนการจ้างงานใช้เวลาพิจารณานานเกินกว่าที่ควรจะเป็น ความคาดหวังไม่สอดคล้องกัน หรือสัญญาที่ตกลงกันไว้ไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็นรวมถึงการได้รับข้อมูลที่ขัดแย้งกันในกลุ่มผู้สัมภาษณ์ เป็นต้น ดังนั้น จึงขอแนะนำให้มีขั้นตอนการสรรหาที่เป็นระบบ ที่จะทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดที่ต้องพบกับผู้สมัครได้มีข้อมูลชัดเจนและเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับบทบาทและวิธีการในการสื่อสารระหว่างการสรรหา ด้วยวิธีนี้จะเพิ่มโอกาสในการได้มาซึ่งผู้สมัครที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับตำแหน่ง นอกจากนี้ การมีผู้ติดต่อที่เป็นศูนย์กลางการสื่อสารจุดเดียวจะช่วยอำนวยความสะดวกตลอดทั้งกระบวนการ ซึ่งบุคคลนั้นอาจมาจากภายในองค์กรหรือภาคส่วนภายนอกก็ได้ สำหรับผู้บริหารระดับสูงในฐานะที่เป็นผู้สมัครงาน มีบ่อยครั้งที่พวกเขาสนใจจะย้ายงานไปยังบริษัทอื่นเพราะจะได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดีกว่าและตำแหน่งที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม บางครั้งพวกเขาอาจจะไม่ได้เห็นภาพรวมของทั้งบริษัท เพราะข้อมูลที่ได้รับระหว่างกระบวนการสรรหาอาจกระจัดกระจาย ไม่สมบูรณ์ บางคนไม่ได้พบกับคณะผู้บริหารชุดปัจจุบัน หรือไม่ได้ขอรายละเอียดเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่ต้องส่งมอบและระยะเวลาที่ต้องบรรลุผลจากบริษัทที่เข้าไปสมัครงาน คำแนะนำคือให้ขอรับข้อมูลที่เพียงพอเพื่อนำมาพิจารณาอย่างรอบคอบประกอบการตัดสินใจ เพราะการตัดสินใจนี้จะส่งผลกระทบต่อชีวิตการทำงานไปอีกเป็นระยะเวลาหลายปี ในยุคที่องค์กรมีความจำเป็นที่จะพัฒนาตนเองให้ทันพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การมีผู้บริหารระดับสูงที่ส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กรอ่านเกมธุรกิจได้ไว และปรับตัวได้ทันจะช่วยให้องค์กรก้าวสู่ความสำเร็จได้เร็วขึ้น Gerrit Bouckaert ผู้จัดการใหญ่ บริษัทจัดหางาน โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประจำประเทศไทยและเวียดนามอ่านบทความทางด้านธุรกิจและการลงทุนอื่นๆ ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ ตุลาคม 2560 ในรูปแบบ e-Magazine