การพูดถึงเรื่องระบบมาตรฐานทองคำเป็นสิ่งต้องห้ามในแวดวงนักวิชาการสาขาเศรษฐศาสตร์และนักนโยบายการเงิน ซึ่งล่วงเลยเวลามาเนิ่นนานแล้วที่เราควรยกเลิกข้อห้ามนั้น ระบบการเงินที่อิงกับทองคำจะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ไม่ต้องพูดถึงหายนะที่เคยเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมธนาคารตลอดช่วงศตวรรษนี้
ผมหมายถึงวัฒนธรรมการห้ามผู้คนจากการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ! เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่มาตรฐานทองคำซึ่งสหรัฐฯ ใช้งานได้เป็นอย่างดีมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี George Washington จนถึงช่วงทศวรรษ 1970 กลายมาเป็นสิ่งที่ไม่สมควรพูดถึงอย่างยิ่งในรัฐบาลและแวดวงนักวิชาการ เพียงแค่การอภิปรายถึงหัวข้อดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่ผู้คนไม่ให้ความสนใจและดูแคลน
เงินเป็นเครื่องมือวัดมูลค่า เช่นเดียวกับที่ตาชั่งเป็นเครื่องมือวัดน้ำหนัก นาฬิกาเป็นเครื่องมือวัดเวลา และไม้บรรทัดเป็นเครื่องมือวัดความยาว ตามสัญชาตญาณของมนุษย์เราเข้าใจความสำคัญของน้ำหนักซึ่งมีความคงที่และเกณฑ์การชั่งตวงวัดที่ใช้กันอยู่ในท้องตลาด ปริมาณ 1 แกลลอนไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป เช่นเดียวกับจำนวนออนซ์ต่อน้ำหนัก 1 ปอนด์ จำนวนนิ้วต่อความยาว 1 ฟุต หรือจำนวนนาทีต่อเวลา 1 ชั่วโมง ภาคเศรษฐกิจจะทำงานได้ดีที่สุดเมื่อสกุลเงินที่ใช้มีการวัดมูลค่าที่น่าเชื่อถือ
เงินซึ่งมีมูลค่าคงที่ทำให้การซื้อขายและการลงทุนเป็นเรื่องง่ายขึ้น เช่นเดียวกับน้ำหนักอันเป็นมาตรฐานในร้านขายของชำทำให้การจับจ่ายทำได้ง่ายขึ้น ไอศกรีมปริมาณ 1 ไพนต์วันนี้มีขนาดและปริมาณเท่ากันกับเมื่อวาน ด้วยเหตุผลหลายประการ เป็นเวลาหลายพันปีมาแล้วที่ทองคำสามารถรักษามูลค่าที่แท้จริงของตัวเองได้ดีกว่าทรัพย์สินประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโลหะเงิน ทองคำขาว แพลเลเดียม ทองแดง กะลามะพร้าว หรือเงินคริปโต
เมื่อราคาทองคำมีการเปลี่ยนแปลงนั่นไม่ได้หมายความว่า มูลค่าของโลหะมีค่านั้นเปลี่ยนแปลง หากแต่เป็นมูลค่าของสกุลเงินที่อิงกับทองคำนั้นต่างหากที่มีการผันผวน ถ้าหากเราต้องการกลับไปใช้มาตรฐานทองคำและผูกค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ เข้ากับโลหะมีค่าสีเหลืองทองนี้ สมมติว่าอยู่ที่ 1,900 เหรียญต่อออนซ์ นั่นหมายความว่าถ้าหากราคาของทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่า 1,900 เหรียญเราจะลดอุปทานของเงิน หรือถ้าหากราคาทองคำปรับลดลงต่ำกว่า 1,900 เหรียญเราจะเพิ่มอุปทานของเงิน มาตรฐานทองคำไม่ได้เป็นเครื่องมือจำกัดอุปทานของเงินในภาคเศรษฐกิจที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับความเชื่อที่มีมาแต่เดิม หากแต่หมายความว่า เงินที่เราสร้างขึ้นจะมีมูลค่าที่แน่นอนเท่านั้นเอง
จากปี 1775 จนถึงปี 1900 เมื่อเราขยับขยายจากการเป็นประเทศเกษตรกรรมขนาดเล็กไปเป็นประเทศอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ อุปทานของเงินของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 160 เท่า ในขณะที่อุปทานของทองคำเพิ่มขึ้นเพียง 3 เท่าโดยประมาณ
สหรัฐฯ ยกเลิกการใช้มาตรฐานทองคำหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 โดยไม่ได้เจตนา และสหรัฐฯ รวมถึงประเทศอื่นๆ ก็ไม่กลับไปใช้ระบบนี้อีกเลย พวกเราได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจดังกล่าว โดยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยต่ำกว่าภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจในอดีตเป็นอย่างมาก
จงพิจารณาข้อมูลนี้ นับจากช่วงปลายทศวรรษ 1940 หรือหลังจากที่เราฟื้นตัวจากความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งเราเลิกใช้มาตรฐานทองคำ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจต่อปี โดยเฉลี่ยของสหรัฐฯ อยู่ที่ราว 4.2% หากแต่นับจากนั้นเป็นต้นมาจนถึงช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนา อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.7% ถ้าหากเรายังคงใช้ค่าเฉลี่ยที่อิงกับทองคำอยู่ ค่ากลางของรายได้ครัวเรือนในสหรัฐฯ ในปัจจุบันจะอยู่ที่ราว 110,000 เหรียญ ไม่ใช่เพียง 70,000 เหรียญตามที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ (หรือเพิ่มขึ้น 40,000 เหรียญ)
บทเรียนจากประวัติศาสตร์นั้นแจ่มชัด ถึงแม้ผู้เกี่ยวข้องเองจะไม่อยากเผชิญหน้ากับความจริงข้อนี้ แต่ประเทศเจริญก้าวหน้ากว่าจะอยู่บนระบบมาตรฐานทองคำเสมอ ระบบดังกล่าวและอัตราภาษีที่ต่ำเป็นรากฐานของความมั่งคั่งในระยะยาวและจะเป็นเช่นนั้นเสมอ จงทิ้งแนวคิดที่ว่า ทองคำเป็นของต้องห้ามลงถังไป และมาร่วมอภิปรายถึงข้อดีและข้อเสียของระบบมาตรฐานทองคำกันเถิด
มีข่าวดีมาบอกขณะที่ทั้งโลกกำลังใจจดใจจ่อและกระวนกระวายกับหายนะที่เกิดขึ้นจากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยและความกังวลของบรรดาธนาคาร เราควรระลึกไว้ด้วยว่าในปัจจุบันมีความเป็นไปได้สูงที่จะบังเกิดสิ่งที่จะมาสรรสร้างอนาคตอันสดใสและมั่นคงมากขึ้น นั่นก็คือ ข้อตกลงเขตการค้าเสรี ( FTA) ระหว่างสหรัฐฯ กับสหราชอาณาจักร
ข้อตกลงดังกล่าวหมายถึงเศรษฐกิจที่มั่งคั่งขึ้นของทั้งสองประเทศ ราคาสินค้าและบริการที่ถูกลงเพราะอัตราภาษีศุลกากร เช่น ภาษีที่เรียกเก็บจากสินค้าและบริการต่างๆ จะปรับลดลงหรือได้รับการยกเว้น การจัดการซัพพลายเชนที่ยืดหยุ่นและไว้ใจได้มากขึ้น และที่สำคัญมาตรฐานและระเบียบข้อบังคับที่สอดประสานกันจะทำให้การผลิตสินค้าและบริการสำหรับตลาดขนาดใหญ่กว่าเดิมเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ท้ายที่สุดแล้วสหราชอาณาจักรมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก ด้วยขนาดของ GDP มากกว่า 3 ล้านล้านเหรียญ การมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับสหราชอาณาจักรเปรียบเหมือนกับการผนวกรวมเศรษฐกิจที่มีขนาดเทียบเท่ากับเศรษฐกิจของ Florida และ Texas ที่กำลังขยายตัวเข้ากับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
ข้อตกลงดังกล่าวยังเป็นการบรรลุเป้าหมายในการทำให้การจัดซื้ออาวุธของกระทรวงกลาโหมสหรัฐจากสหราชอาณาจักรสามารถทำได้ง่ายขึ้น รวมถึงการจัดซื้ออาวุธของสหราชอาณาจักรจากสหรัฐฯ ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่เราเฝ้ารอมาแสนนานและมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในปัจจุบัน ความร่วมมือกันที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงดังกล่าวนี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างที่สุด เนื่องจากประเทศทั้งสองนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อเติมเต็มคลังแสง หรือเพื่อพัฒนาระบบสรรพาวุธอันล้ำสมัยด้วยอัตราเร่งที่เร็วกว่าในปัจจุบัน และทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ของตนเติบโตขึ้นเร็วกว่าที่เป็นอยู่
ข้อดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ ข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่าง 2 ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ติดอันดับโลกนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้ประเทศอื่นๆ หันมาทำข้อตกลงแบบเดียวกัน การค้าระหว่างประเทศที่ดำเนินไปอย่างเสรีได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจากแรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้นจากบรรดาผู้ที่ยึดมั่นในนโยบายกีดกันทางการค้า
มาตรการกีดกันทางการค้าที่ลดลงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วยทำให้การค้าขยายตัวอย่างมาก การเติบโตของภาคเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตามมาทำให้ประชากรที่มีฐานะยากจนมากหรือมีรายได้ไม่เกิน 2.15 เหรียญต่อวันมีจำนวนลดลงจาก 60% ของจำนวนประชากรโลกทั้งหมด เหลือเพียงไม่ถึง 10% ในปัจจุบัน
ในการเริ่มต้นการเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงเขตการค้าเสรี วุฒิสมาชิก Chris Coons (พรรคเดโมแครต รัฐ Delaware) และวุฒิสมาชิก John Thune (พรรครีพับลิกัน รัฐ South Dakota) ได้นำเสนอร่างกฎหมายซึ่งให้สิทธิประธานาธิบดี Biden อย่างเป็นทางการ
ในการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีอย่างครอบคลุมกับสหราชอาณาจักร และนำเสนอร่างกฎหมายนั้นต่อสภาคองเกรสผ่านช่องทางที่เรียกว่า ทางลัดของฝ่ายบริหาร เพื่อที่ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจะไม่ถูกปัดตกไปจากการแก้ไขเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ประธานาธิบดี Biden ซึ่งมีเชื้อสายไอริชได้เปลี่ยนท่าทีจากที่เคยไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงฉบับนี้ภายหลังการประกาศซึ่งมีขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ว่า สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปได้บรรลุข้อตกลงฉบับใหม่ว่าด้วยประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับกฎระเบียบทางการค้าหลังการถอนตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) สำหรับไอร์แลนด์เหนือ
การบรรลุข้อตกลงนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ตัวอย่างเซ่น สหราชอาณาจักรจะทำให้บรรดาบริษัทเทคโนโลยีไม่พอใจจากการเรียกเก็บภาษีรายได้ในอัตรา 2% นี่เป็นสิ่งที่ต้องเจรจาเพื่อหาข้อยุติ เงินอุดหนุนตามนโยบายปกป้องทางการค้าและข้อจำกัดต่างๆ ในพระราชบัญญัติที่มีชื่อเรียกว่า “การลดอัตราเงินเฟ้อ” (Inflation Reduction Act) ของประธานาธิบดี Biden ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นโครงการใหญ่และสิ้นเปลืองมากก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย
ในอดีตที่ผ่านมาไม่นานนักความพยายามเพื่อบรรลุข้อตกลงเขตการค้าเสรีเคยต้องสะดุดลงจากการคัดค้านของกลุ่มหัวรุนแรง อย่างไรก็ดีข้อเท็จจริงที่ว่า สหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่มีการจ่ายค่าจ้างในอัตราสูงและมีโครงการพลังงานทางเลือกที่ครอบคลุมนั้นน่าจะช่วยลดกระแสต่อต้านจากสหภาพและกลุ่มหัวรุนแรงหน้าใหม่ลงได้บ้าง ทีมงานของท่านประธานาธิบดีควรเริ่มต้นกระบวนการต่อรองในทันที และสภาคองเกรสก็ควรผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วย
อ่านเพิ่มเติม : การเมืองลากยาว ฉุดจีดีพีดิ่ง 1%