เทพพันธ์ อัศวะธนกุล คลื่นลูกใหม่ธุรกิจประกันภัยเปิดฉากนำทีมนวัตกรรมและกลยุทธ์สร้างปรากฏการณ์ครั้งแรกในโลกกับ InsurTech ปฏิวัติวงการประกันภัยรถยนต์ ด้วยการใช้ IoT ตอบดีมานด์ยุคดิจิทัล พร้อมเดินเกมรุกเทคโนโลยี wearables ฉีกกรอบประกันสุขภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย
ภาพลักษณ์ขององค์กรประกันภัยเก่าแก่ที่มีอายุเกือบ 7 ทศวรรษกำลังจะเปลี่ยนไปจากฝีมือและความเพียรพยายามของลูกไม้ใกล้ต้น ที่เล็งเห็นความสำคัญในการสานต่อความยั่งยืนทางธุรกิจบนพื้นฐานของการพัฒนานวัตกรรม โดยไม่จำกัดกรอบเฉพาะการประกัน เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคไทยได้อย่างครอบคลุมมากที่สุด และสอดคล้องกับเทรนด์เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก
“คุณพ่อไม่เคยบอกว่าต้องเข้ามาทำ และไม่ได้เตรียมความพร้อมเพื่อทำธุรกิจนี้ แต่ตอนเด็กเข้ามาที่นี่ตลอด ซึ่งลึกๆ รู้อยู่แล้วว่าสักวันต้องเข้ามาทำ แต่คุณพ่อไม่เคยบอกว่าเมื่อไร หรือต้องเตรียมตัวอะไร เราจึงเลือกเรียนอย่างอิสระ เพราะชอบเรื่องตัวเลขตั้งแต่เด็กและเก่งเรื่องเลข ซึ่งระหว่างนั้นเราได้เรียนโปรแกรมหลายอย่าง เช่น ดนตรี โปรแกรมวิเคราะห์ธุรกิจของ Kellogg”
เทพพันธ์ อัศวะธนกุล รองกรรมการผู้อำนวยการ
บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) เล่าถึงการให้อิสระในการตัดสินใจของจีรพันธ์ผู้เป็นบิดา ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ในปัจจุบัน
“ก่อนร่วมงานที่ BCG มีเวลาว่าง 3 เดือน เพื่อนที่จบ MBA ด้วยกันอยากมาเที่ยวเมืองไทย เราจึงชวนให้เขามา internship ที่บริษัทกับเรา นั่นเป็นจุดแรกที่เริ่มเข้ามาทำงานที่ไทยวิวัฒน์และ internship ซึ่งคุณพ่อให้อิสระทำอะไรก็ได้ ช่วงนั้นเราได้ทำวิจัยตลาดประกันภัยว่าพร้อมเข้าสู่อี-คอมเมิร์ซหรือยัง หลังจากทำแล้วรู้สึกว่า add value จริง ทำแล้วเห็นผลที่เกิดขึ้น และช่วงที่ทำ BCG ก็มีโปรเจ็กต์เกี่ยวกับประกันเยอะมากหรือหลายบริษัทเริ่มมีอะไรใหม่ๆ เราจึงอยากกลับมาช่วยคุณพ่อ บวกกับเวลานั้นคุณพ่อมีไอเดียเรื่องประกันรถเปิดปิด เราจึงอาสามาช่วย execute ให้”
- ประกันรถเปิดปิดพิสูจน์ฝีมือ
ภายใต้โจทย์การพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย เทพพันธ์พร้อมนำความรู้และประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาเริ่มต้นก่อตั้งแผนกนวัตกรรมและกลยุทธ์ในปี 2559 เพื่อรับ
ภารกิจแรกในการแจ้งเกิดประกันรถเติมเงินเปิดปิดความคุ้มครองครั้งแรกในประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยีการเปิดรับความคุ้มครองขณะใช้รถ และปิดความคุ้มครองในช่วงจอดรถผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้รถไม่มากให้สามารถจ่ายเบี้ยได้ตามนาทีที่ขับจริง และช่วยให้ประหยัดค่าเบี้ยประกันรถยนต์ได้ราว 40%
“ช่วงนั้นเราอายุประมาณ 26-27 ปี ซึ่งโชคดีที่ทุกคนที่นี่อยู่กันแบบครอบครัวและค่อนข้างเปิดรับมาก รวมทั้งเราเคยทำที่ BCG ทำให้มีความเป็นผู้ใหญ่ในเรื่องการทำงานกับผู้บริหารและสามารถสร้างการยอมรับได้ โดยผู้ใหญ่ที่ไทยวิวัฒน์ก็ให้การ support และเปิดกว้างกับเรามาก ซึ่งขณะนั้นเราได้ execute หลายเรื่อง ตั้งแต่ดีไซน์ผลิตภัณฑ์ การตลาด ทีมขาย ไอทีเทคโนโลยี หลังจากออกไปแล้วจะบริหารหลังบ้านอย่างไร โดยสามารถเปิดตัวได้ตามเวลาที่คุณพ่อวางไว้ และเรายังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง”
แม้คลื่นลูกใหม่แห่งไทยวิวัฒน์คนนี้จะสามารถแสดงฝีมือสอบผ่านโจทย์แรกในฐานะผู้บริหารมือใหม่ได้ด้วยผลตอบรับเกินคาดหมาย พร้อมทั้งสร้างปรากฏการณ์ในประวัติศาสตร์ประกันภัยได้สำเร็จ แต่เทพพันธ์ยังคงเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ด้วยนวัตกรรมการใช้เครือข่าย NB-IoT โดยใช้อุปกรณ์ IoT เชื่อมต่อผ่านช่อง USB พร้อมทำงานอัตโนมัติทันทีที่สตาร์ทเครื่องยนต์ ทำให้ผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องมีแอปฯ ไทยวิวัฒน์ หรือเปิดปิดประกันด้วยตัวเอง จนกระทั่งบริษัทได้รับรางวัลนวัตกรรมประกันภัยดีเด่นจากทั้งกระทรวงไอซีที สถาบันนวัตกรรมแห่งชาติและคปภ.
เทพพันธ์ย้ำถึงหัวใจสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมที่สามารถสร้างความแตกต่างและความได้เปรียบในการแข่งขันการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับ Thaivivat Innovation Model ประกอบด้วย personalized ตอบโจทย์ผู้บริโภครายบุคคล และ reliable ตอบโจทย์ได้ทุกสถานการณ์รวมทั้ง end-to-end ตอบโจทย์ทุกกระบวนการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อประกัน การแจ้งเคลม หรือการต่ออายุเป็นต้น
จากความสำเร็จในการแจ้งเกิดประกันภัยรถเปิดปิดที่มีจำนวนผู้ใช้บริการ TVI Connect และประกันรถเปิดปิดรายวัน
(daily active users) เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาบริษัทสามารถเร่งเครื่องแปลงโฉมลดอายุและสร้างภาพลักษณ์ให้มีความทันสมัย รวมถึงความโดดเด่นทางด้านนวัตกรรม พร้อมทั้งสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในธุรกิจได้ โดยเทพพันธ์เป็นหนึ่งในคลื่นลูกใหม่ที่มีส่วนสำคัญในการร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ
“ช่วงแรกที่เข้ามาเราทำ research พบว่าตอนนั้นเราดูเหมือนข้าราชการ อาจเพราะดำเนินการมานานและไม่ได้ทำการตลาดออกไปมาก ซึ่งเป็นการบอกกันปากต่อปากเราจึงต้องการเข้ามารีแบรนด์ไทยวิวัฒน์ โดยเริ่มเมื่อ 5 ปีที่แล้วด้วยประกันรถเปิดปิด และ 2 ปีล่าสุดก็มีอาเล็ก ธีรเดชเป็นพรีเซนเตอร์ สามารถเข้าถึงตลาด mass มากขึ้น และ marketing เรื่องเทคโนโลยีมากขึ้น ดูทันสมัย ตอนนี้ไม่ใช่แค่ปากต่อปากเท่านั้น แต่เมื่อเห็นแบรนด์ดิ้งเราเขาก็สนใจเข้ามาใช้ของเรา”
นอกจากภารกิจการปรับภาพลักษณ์องค์กรด้านความทันสมัย เทพพันธ์ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมประกันภัยนับตั้งแต่เริ่มต้นก่อตั้งธุรกิจในปี 2494 ถึงในปัจจุบัน
สำหรับผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทในปัจจุบันแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ประกันภัยรถยนต์ ประกันอัคคีภัย ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง รวมทั้งประกันภัยเบ็ดเตล็ด เช่น ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลประกันอุบัติเหตุการเดินทาง ประกันสุขภาพเป็นต้น ด้วยเบี้ย ประกันภัยรับโดยตรงรวมในปี 2562 อยู่ที่ 4.8 พันล้านบาท หรือเติบโตกว่า 16% ซึ่งมากกว่าอุตสาหกรรมธุรกิจประกันวินาศภัยที่ขยายตัว 5%
“เราเชื่อว่าในอนาคตประกันสุขภาพน่าจะโตกว่า motor เมื่อคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เขาก็ต้องการเรื่องสุขภาพ แต่เราต้องทำสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่นด้วย โดยมีเป้าหมายเดียวกันในเรื่องการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งในอีก 2-3 ปีข้างหน้าประกันสุขภาพน่าจะมีสัดส่วนสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเท่ารถยนต์ และอีก 5 ปีอาจจะโตกว่ารถยนต์ เพราะในภาพรวมอัตราการเข้าถึงในเมืองไทยยังน้อยมาก ถ้านำเบี้ยหารด้วย GDP ประเทศไทยยังอยู่แค่ 5% เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว 17-20% หรือทั้งโลกประมาณ 7% ถ้าตัดประกันชีวิตออกมีเฉพาะประกันวินาศภัย ตอนนี้แค่ 1.5%”
ดังนั้น ผลิตภัณฑ์การประกันภัยล่าสุดของบริษัทจึงมุ่งเน้นที่การพัฒนานวัตกรรม InsurTech ภายใต้แนวคิดหลักประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองและดูแลในยามเจ็บป่วย รวมถึงการลดความเสี่ยงด้านสุขภาพให้ผู้ใช้บริการมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทั่วประเทศ
สำหรับความแตกต่างของประกันสุขภาพ Thaivivat Active Health อยู่ที่การส่งเสริมให้ผู้ซื้อประกันออกกำลังกายและดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ด้วยเทคโนโลยี wearables และมอบสิทธิพิเศษจากแบรนด์ชั้นนำด้านสุขภาพ พร้อมทั้งพัฒนาแอปพลิเคชันแจ้งสถานะความ active ของผู้ใช้บริการแบบเรียลไทม์ และฟังก์ชัน Gamification สร้างคอมมูนิตี้ตลอดจนบริการด้านข้อมูลต่างๆ เช่น การค้นหาสถานพยาบาล และ digital care card ผ่านแอปพลิเคชันสามารถแสดงกับสถานพยาบาลที่ใช้บริการได้
“เราวางเป้าหมายเบี้ยรับขั้นต่ำสิ้นปี 5 พันล้านบาทขึ้นไป และรายได้ประมาณ 80% ของเบี้ยรับ รวมถึงภาพลักษณ์ในการเป็นผู้นำนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์คุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย”
ขณะที่หนึ่งในคีย์ความสำเร็จที่ทำให้บริษัทสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปีที่ผ่านมาเกิดจากการสร้างนวัตกรรมที่ใช้ได้จริงกับคนไทย เพื่อสร้างทางเลือกที่ดีให้ผู้บริโภค ด้วยการเน้นให้ผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง customer centric รวมถึงให้การประกันภัยเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่าย และจะยังคงพัฒนาเพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับผู้บริโภค และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นตามวิสัยทัศน์ “คิดเผื่อเพื่อทุกชีวิต”
“การแข่งขันสูงมากในธุรกิจประกันภัยแต่เรามองว่า เราอาจจะไม่ใช่ประกันที่ถูกที่สุด แต่ถ้า value to money เราน่าจะดีที่สุดในด้านความคุ้มค่า ซึ่งที่ผ่านมาเราโตภายในแบบสม่ำเสมอ หรือ organic growth แต่ถ้าเราเติบโตได้เร็วขึ้น เราต้องดูภายในด้วยว่าพร้อมรับงานเข้ามามากขนาดไหน ดังนั้น ปีนี้เราต้องปรับภายในด้วย กระบวนการต่างๆ การเคลม การบริการ ระบบออโตเมชั่น ระบบ AI เข้ามาช่วยให้การทำงานรวดเร็วและตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น”
คลิกอ่านฉบับเต็ม “เทพพันธ์ อัศวะธนกุล ไทยวิวัฒน์พลิกมิติ InsurTech” ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine