คลื่นลูกใหม่ในธุรกิจฟิล์มห่ออาหาร “M Wrap” กลับมุมคิดพลาสติกเชิงสร้างสรรค์ผ่านโครงการรีไซเคิลผลิตรองเท้าบู๊ตคืนประโยชน์สังคม พร้อมพัฒนานวัตกรรมไบโอฟิล์มและแปรรูปโพลิเมอร์ชั้นสูงเป็นไทเทเนียมฟิล์ม ควบคู่การปรับลุคแบรนด์ให้ทันสมัยด้วยการตลาดดิจิทัล สานต่อเจตนารมณ์ความยั่งยืนทางธุรกิจ
“คุณพ่อก่อตั้งธุรกิจในปี 2531 ซึ่งเป็นธุรกิจที่เริ่มต้นจากผู้ถือหุ้นหลายท่านรวมตัวกัน โดยคุณพ่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จากไอเดียในช่วงเดินทางดูงานที่ญี่ปุ่นระหว่างการศึกษาในคอร์สธุรกิจพบว่า ญี่ปุ่นใช้ฟิล์มถนอมอาหารกันมาก แต่ในเมืองไทยยังไม่มีสินค้าชนิดนี้ ท่านจึงมองเห็นโอกาสของฟิล์มถนอมอาหารที่สามารถทำตลาดได้ในไทยทั่งเรื่องความสะอาด ความสดใหม่ และเพิ่มมูลค่าสินค้าได้ ซึ่งเราเหมือนเติบโตมาพร้อมธุรกิจที่เกิดก่อนเราแค่ปีเดียว”
ฤทัยชนก จงเสถียร ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เอ็มเอ็มพี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ทายาทรุ่น 2 ของเอนกหนึ่งในผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทเล่าถึงการเริ่มต้นบุกเบิกธุรกิจฟิล์มถนอมอาหารรายแรกในประเทศ
สำหรับผลิตภัณฑ์ของบริษัทในปัจจุบันแบ่งเป็น
3 กลุ่มหลัก ได้แก่
ฟิล์มถนอมอาหาร เอ็ม แรป สำหรับใช้ในครัวเรือน ร้านอาหาร โรงแรม และอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งใช้เทคโนโลยีการผลิตจากญี่ปุ่น เพื่อให้ฟิล์มมีคุณภาพสูงขึ้น และปลอดภัยด้วยการรับรองมาตรฐานการผลิตจาก European Food Safety Authority ของสหภาพยุโรป และองค์กรต่างๆ ในประเทศไทย
ส่วน
กลุ่มผลิตภัณฑ์ฟิล์มยืดพันพาเลท เอ็ม เสตรช (M Stretch) ยังแบ่งเป็นฟิล์มยืดพันพาเลทแบบพันด้วยมือ หรือ hand roll และฟิล์มยืดพันพาเลทแบบใช้กับเครื่องจักรหรือ machine roll ด้วยคุณสมบัติที่มีส่วนผสมของ metallocene ชนิดพิเศษ ทำให้เนื้อฟิล์มมีคุณภาพสูงและสม่ำเสมอ เพื่อคงความสมบูรณ์ตลอดการจัดเก็บและขนส่งสินค้าได้อย่างปลอดภัย
นอกจากนั้น บริษัทยังมี
กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น อลูมิเนียมฟอยล์ เอ็ม ฟอยล์ (M Foil), ถุงมือพลาสติก เอ็ม โกลฟ (M Gloves), ถุงถนอมอาหาร เอ็ม แบค (M Bag), ถุงซิปอเนกประสงค์ เอ็ม ซิป (M Zip), น้ำยาล้างจาน เอ็ม คลีน (M Clean), พัดลมไอเย็น เอ็ม คูล (M Kool) เป็นต้น
โดยรวมรายได้ในปี 2562 จำนวน 3.14 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 132.95 พันล้านบาท พร้อมขยายสาขาให้บริการทั่วประเทศ 8 สาขา ได้แก่ กรุงเทพฯ 2 สาขา พิษณุโลก ภูเก็ต อยุธยา และสงขลา (หาดใหญ่)
“เราเป็นอันดับ 1 ใน M Wrap และ M Stretch ทั้งเรื่องแบรนด์ดิ้งและยอดขาย แม้ปีนี้จะมีโควิด-19 แต่สิ้นปีน่าจะยังเติบโตได้ 10% ตามการเติบโตเฉลี่ยที่ผ่านมา เพราะเรามีการปรับพอร์ตโฟลิโอและกลยุทธ์การขายที่ไม่ผูกตัวเองกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทำให้เรายังสามารถโตได้จากยอดขาย B2C คนอยู่บ้านกลายเป็นเชฟทำครัวที่บ้านทดแทนรายได้จากร้านอาหารหรือโรงแรมได้”
“ปัจจุบันเรามีการส่งออกทั่วโลกประมาณ 55 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อเมริกา โดยส่วนใหญ่เป็น OEM แต่ถ้าในอาเซียนจะพยายามใช้แบรนด์ของเราเอง ซึ่งจุดแข็งของเราอย่างแรกเลยเป็น know how และนวัตกรรมจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็น first player ที่ใช้การขายสินค้าคุณภาพเป็นที่ตั้ง เราไม่เคยลดมาตรฐานการผลิตสินค้าของเราไม่ว่าราคาวัตถุดิบจะขึ้นหรือลง เรายังคงมาตรฐานการผลิตให้ได้มาตรฐานการส่งออกและขายในประเทศได้ รวมทั้งกลยุทธ์การตั้งราคาที่สมเหตุสมผล เพราะเราไม่ต้องการทำธุรกิจเพื่อความร่ำรวยอย่างเดียว แต่ต้องการให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง”
ดังนั้น บริษัทจึงมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์บนพื้นฐานของการสร้างความยั่งยืนด้วยการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับไบโอฟิล์มสำหรับฟิล์มถนอมอาหารอย่างจริงจัง และการสร้างสรรค์นวัตกรรมฟิล์มยืดพันพาเลท รุ่นไทเทเนียม (thaitanium) จากการค้นคว้าวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญและการศึกษาของนักเคมีภัณฑ์มืออาชีพในการแปรรูปโพลิเมอร์ชั้นสูงเป็นไทเทเนียมฟิล์มที่บางเหนียว และแข็งแรงในการเกาะติดหรือยืดได้สูงถึง 400% โดยมีความยาวหลังยืดได้มากกว่าฟิล์มทั่วไปถึง 80% ส่งผลให้ต้นทุนในการใช้งานต่อพาเลทลดลง ประหยัดพื้นที่จัดเก็บ และยังต้านทานแรงฉีกขาดได้เป็นอย่างดี
“การทำธุรกิจต้องคำนึงถึงผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภค คู่ค้า ซัพพลายเออร์ และการลงทุนระยะยาวที่ส่งผลต่อชีวิตหรือการสร้างความยั่งยืน ด้วยความตั้งใจของคุณพ่อตั้งแต่แรกที่ต้องการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นเรื่องการลดขยะอาหารหรือขยะอินทรีย์ ท่านจึงนำฟิล์มถนอมอาหารมาผลิตและจำหน่ายในประเทศนี่จึงเป็นก้าวต่อในการสร้างความยั่งยืน ซึ่งการทำให้ปัญหาพลาสติกไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมถือเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องรับผิดชอบร่วมกัน”
นอกเหนือจากผลงานความสำเร็จด้านการตลาดและขยายช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ ฤทัยชนกยังคงมุ่งมั่นสานต่อเจตจำนงการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นตัวช่วยในการถนอมอาหารรักษาความสด และยืดอายุของอาหารให้ยาวนานขึ้น เพื่อลดปริมาณอาหารขยะอินทรีย์ให้ภาคธุรกิจและครัวเรือน พร้อมเล็งเห็นความสำคัญของการรีไซเคิลและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างสร้างสรรค์ด้วยแนวทางการใช้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ปรับใช้ในโครงการ
“เก็บเพื่อกลาย” หรือ
Circulife By M Wrap
สำหรับโครงการเก็บเพื่อกลายเป็นหนึ่งในโครงการสนับสนุนนโยบายการคัดแยกขยะอย่างถูกต้องและลดปริมาณขยะพลาสติก ซึ่งเริ่มต้นจากการรณรงค์ภายในองค์กร ด้วยการปลูกจิตสำนึก และสร้างความรู้ความเข้าใจให้พนักงานว่า
“เอ็ม แรป รีไซเคิลได้” และสื่อสารลบล้างภาพความเป็นผู้ร้ายของพลาสติกหากสามารถใช้งานและจัดการได้อย่างถูกวิธี รวมถึงเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมผ่านการ
“ใช้ ล้าง ตาก เก็บ” ฟิล์มถนอมอาหารด้วยตนเองเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลต่อไป
ขณะที่ในปัจจุบันโครงการยังมุ่งเน้นการสร้างประโยชน์เพื่อสังคม โดยในช่วงที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บริษัทได้มอบรองเท้าบู๊ตยางข้อสั้นให้กับโรงพยาบาลและหน่วยงานรัฐฯ กว่า 50 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้บุคลากรในโรงพยาบาลได้นำไปสวมใส่ป้องกันเชื้อโรคและใช้ประโยชน์ภายในองค์กรต่อไป รวมถึงโรงเรียนในพื้นที่ปากช่องจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานบริษัทกว่า 100 คู่ เช่น โรงเรียนบ้านโศกน้อย, โรงเรียนบ้านนา, โรงเรียนบ้านลำทองหลาง, โรงเรียนบ้านหนองอีเหลอ เป็นต้น
“เมื่อถึงจุดหนึ่งคุณพ่อเห็นว่าเราทำอะไรบ้างในโปรเจ็กต์ อย่างการลุยติดต่อโรงแรม 30 แห่ง ท่านเห็นแล้วว่าเราทำได้จริงก็เชื่อเรามากขึ้น ซึ่งเป็นการพิสูจน์ด้วยผลงาน และท่านให้อิสระเราทำงานแทบจะ 99% เราไม่ใช่พ่อลูกที่จะมาชมกัน แต่ถ้าเขาชอบหรือพอใจเขาจะแชร์ต่อให้คนอื่นรู้ โดยที่ผ่านมาคุณพ่อก็ happy ที่เราชอบทางด้านนี้และปล่อยให้เราได้ทำเรื่อง digital marketing บวก CSR ซึ่งเราก็ต้องการให้แบรนด์ไปทางด้านนั้นอยู่แล้ว เพราะสุดท้ายผู้บริโภคจะเลือกแบรนด์ที่สื่อสารคุณค่าได้จริงที่สร้างเสริมชีวิตหรือประโยชน์ต่อสังคม”
ทายาทรุ่น 2 ย้ำถึงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนองค์กรบนแนวทางการสร้างความยั่งยืนสานต่อเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้ง ซึ่งได้มีการกำหนดงบประมาณ CSR ขั้นต่ำราว 5-6 ล้านบาทต่อปี และยังมีการพิจารณางบประมาณเพิ่มตามความเหมาะสม โดยให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาความสัมพันธ์ระยะยาวกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งธุรกิจและสังคม ด้วยความจริงใจและรักษาคำพูดตามสัญญาหรือข้อตกลงที่ให้ไว้ พร้อมทั้งยึดในหลักคำสอนของบิดาเป็นหลักการบริหารสร้างการเติบโตในภาคต่อของธุรกิจฟิล์มยืดถนอมอาหารชั้นนำของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
“คุณพ่อให้เรียนการทำงานทุกอย่างตั้งแต่ออกกองถ่ายโฆษณา ช่วยแพ็กของช่วงโควิดเราต้องลงมือทำเอง และที่สำคัญต้องวางเป้าหมายไว้ให้ชัดเจน ต่อให้เจอปัญหาก็สามารถมุ่งหน้าได้ตามเป้าหมาย ซึ่งคุณพ่อจะสอนเราตั้งแต่เด็กว่า ระหว่างทางจะใช้ชีวิตอย่างไรก็ได้ แต่ต้องมีเป้าหมายชัดเจนและลงมือทำ รวมทั้งเราให้ความสำคัญกับทีมเวิร์กมาก เพราะไม่มีใครเก่งทุกอย่าง แต่ละคนเก่งแต่ละด้าน การประสานงานช่วยเหลือกันจะช่วยให้ประสบความสำเร็จได้”
คลิกอ่านฉบับเต็ม “ฤทัยชนก จงเสถียร พลิกบทร้ายสู่ฟิล์มแรปโกกรีน” และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine