บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WEH เป็นบริษัทที่มีเรื่องอื้อฉาวมากที่สุดจากกรณีฟ้องร้องกันไปมาระหว่างกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม แต่ไม่อาจต้านทานกระแสพลังงานลมที่กำลังพัดแรงขึ้นเรื่อยๆ ส่งให้ผลประกอบการของบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 ทำรายได้มากถึง 1.1 หมื่นล้านบาทขณะที่ปี 2563 ลดลงเล็กน้อยตามกำลังลมที่ลดลงตามฤดูกาล หลังจากวันที่ 10 กันยายน 2563 การประชุมผู้ถือหุ้นของวินด์ เอนเนอร์ยี่ ได้โหวตให้กลุ่มนายณพ ณรงค์เดช ออกจากการเป็นกรรมการบริษัท และแต่งตั้ง ประเดช กิตติอิสรานนท์ เข้ามาเป็นกรรมการแทน พร้อมแต่งตั้ง กำธร กิตติอิสรานนท์ บุตรชาย เข้ามาเป็นประธานกรรมการบริหาร
ประเดช และ กำธร กิตติอิสรานนท์ ถือเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจของวินด์ เอนเนอร์ยี่ ตั้งแต่ยังตั้งเสาอยู่ในถิ่นทุรกันดารของห้วยบง จังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันพื้นที่รองรับกำลังลมของวินด์ฯ ได้ขยายไปมากกว่า 500,000 ไร่ ในจังหวัดนครราชสีมา และชัยภูมิการกลับมาของ “กำธร” ครั้งนี้จึงเป็นการกลับมาสู่ธุรกิจที่เป็นความฝันแรกเริ่มของครอบครัว และเป็นธุรกิจที่มีอนาคตสดใสเช่นเดียวกับลมที่ไม่เคยหยุดพัด เงินก้อนสุดท้ายของครอบครัว ชีวิตวัยรุ่นของกำธรถูกบิดาบังคับให้ต้องออกจากโรงเรียนเพื่อมาทำธุรกิจของครอบครัว ซึ่งหากนึกย้อนกลับไปในวันนั้นเขาไม่รู้สึกเสียใจสักนิด เพราะทำให้เขาได้ออกมาเรียนรู้การทำธุรกิจที่กลายเป็นพื้นฐานสำคัญในวันนี้ “บ้านเราค่อนข้างตามใจคุณพ่อ หลังจากคุณพ่อตัดสินใจลาออกจากการไฟฟ้าฯ เพื่อมาทำธุรกิจตามความใฝ่ฝันเรา 3 คนพี่น้องก็ออกมาช่วยกัน ผมเริ่มจากทำงานที่ร้านขายส่งกำธรพาณิชย์ จากนั้นก็ขยายธุรกิจเป็นร้านมินิมาร์ทที่มีกว่า 50 สาขา ขณะเดียวกันก็ทำบริษัท เด็มโก้ ให้บริการออกแบบ ติดตั้งระบบไฟฟ้าไปด้วย” กำธรเล่าย้อนถึงวันที่ก้าวสู่การทำธุรกิจตั้งแต่อายุเพิ่ง 18 ปี ขณะที่ธุรกิจพลังงานลมถือเป็นอีกหนึ่งความฝันของบิดาเช่นเดียวกัน ซึ่งตอนนั้นประมาณปี 2552 บิดาของเขาได้เจอกับ นพพร ศุภพิพัฒน์ อดีตผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ จึงตัดสินใจลงทุนทำธุรกิจพลังงานลมร่วมกันพร้อมกับขายธุรกิจมินิมาร์ทกว่า 50 สาขาเพื่อมาลงทุนครั้งนี้ และกำธรถูกวางตัวให้เข้าไปลุยธุรกิจพลังงานลม โดยเป็นผู้ช่วยของนพพร และได้มีโอกาสเรียนรู้ธุรกิจพลังงานสะอาด ซึ่งในตอนนั้นถือเป็นเรื่องใหม่มาก และหลายคนมองว่า เป็นธุรกิจที่เป็นไปไม่ได้ กำธรเล่าว่า ตัดสินใจทำธุรกิจพลังงานลมเพราะมองว่าเป็นธุรกิจในอนาคต เพราะลมเป็นพลังงานสะอาดประเภทหนึ่งที่เป็นทิศทางของธุรกิจในระดับโลก ซึ่งตอนนั้นเริ่มมีคนทำพลังงานแสงแดด (โซลาร์เซลล์) บ้างแล้ว ในด้านการลงทุนโซลาร์เซลล์ ซึ่งลงทุนน้อยกว่าพลังงานลม และผลผลิตที่ได้จะน้อยกว่าด้วย ขณะที่พลังงานลมจะให้ผลกำไรสูงกว่า เราจึงเดินหน้าธุรกิจพลังงานลม 2 โครงการ โครงการแรกที่ห้วยบง จังหวัดนครราชสีมา และมีแผนดำเนินการรวม 8 โครงการ ในปี 2558 จำเป็นต้องลงทุนเพิ่ม 3 พันล้านบาท บิดาของเขาจึงระดมทุนด้วยเงินเก็บทั้งหมดของทุกคนในครอบครัวมาลงทุนกับวินด์ เอนเนอร์ยี่ “ตอนนั้นเราเครียดกันเลย ทำไมเราต้องเอาชีวิตทั้งหมด เงินเก็บที่เราทำมาทั้งชีวิตมาเสี่ยงในธุรกิจนี้เพิ่ม มันมีความเสี่ยงอยู่แล้ว ถ้าเกิดบริษัทวินด์ฯ เป็นอะไรไปบ้านเราก็ล้มเหมือนกัน” กำธรกล่าว แต่หลังจากนั้นกำธรไปเรียนต่อระดับปริญญาโทรวมทั้งภาษาอังกฤษเพิ่มเติมที่ต่างประเทศ และกลับมาช่วยธุรกิจอื่นๆ ของบิดา ส่วนวินด์ฯ เป็นการบริหารงานของผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ และมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย จนกระทั่งเขาได้กลับมารับตำแหน่งซีอีโออีกครั้งในปี 2563 เตรียมบุกธุรกิจในต่างประเทศ กำธรมองว่า ธุรกิจพลังงานลมยังเป็นธุรกิจอนาคต ซึ่งทิศทางของโลกมุ่งสู่พลังงานสะอาด เช่น พลังงานลม แสงแดด น้ำ เป็นต้น ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น ทำให้การลงทุนธุรกิจพลังงานลมคุ้มทุนได้เร็วและมีกำไรมากกว่า รวมทั้งมีเทคโนโลยีในการกักเก็บพลังงานที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผลตอบแทนทางธุรกิจดีขึ้น ขณะนี้วินด์ฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 700 เมกะวัตต์ และตามแผนธุรกิจภายใน 5 ปีจะเพิ่มกำลังการผลิตอีก 800 เมกะวัตต์ รวมเป็น 1,500 เมกะวัตต์ สำหรับประเทศไทยการทำธุรกิจพลังงานลมยังมีข้อจำกัดในการขยายพื้นที่กังหันลมแม้หลายพื้นที่จะสามารถให้กำลังลมที่ดีแต่ไม่สามารถสร้างในพื้นที่ลาดเอียง บนภูเขา หรือในน้ำ รวมทั้งต้องใช้พื้นที่จำนวนมากกว่า 10,000 ไร่ต่อ 1 โครงการ ทำให้หาพื้นที่ค่อนข้างยาก แต่ด้วยความที่ลมสามารถพัดผ่านไปทั่วโลก ดังนั้นโอกาสการขยายธุรกิจจึงไม่ได้จำกัดอยู่ที่ประเทศไทย กำธรกล่าวว่า บริษัทกำลังศึกษาแผนขยายธุรกิจไปประเทศเวียดนาม ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีกำลังลมค่อนข้างดีที่สุดในภูมิภาคนี้ เพราะเป็นประเทศแรกที่รับลมตามฤดูกาลที่เรียกว่า “ลมตะวันออกเฉียงเหนือ” ส่วนลมตะวันตกเฉียงใต้จะพัดผ่านแถบประเทศยุโรป ซึ่งบริษัทกำลังมองไว้เช่นเดียวกัน โดยจะเริ่มในภูมิภาคอาเซียนก่อน แต่ในขณะเดียวกันจะพยายามขยายธุรกิจพลังงานสะอาดอื่นๆ เช่น แสงแดด แต่ตอนนี้ยังให้ความสำคัญกับลม 100% และเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งภายในปี 5 ปีจะผลิตให้ได้ 1,500 เมกะวัตต์ และอนาคตจะไปให้ถึง 2,000 เมกะวัตต์ เน้นบริหารงานเป็นทีม “การได้ทำงานตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมันก็มีความภูมิใจ เราได้ทำอะไรในสิ่งที่คนบอกว่า เป็นไปไม่ได้ ทำอะไรในสิ่งที่เรามองว่า เราได้ช่วยชาวบ้าน ช่วยประเทศ ช่วยสิ่งแวดล้อม ได้ช่วยโลก เราภูมิใจในบริษัทที่เราทำมาตั้งแต่ต้น” กำธรอธิบายความรู้สึกที่มีต่อธุรกิจพลังงานลมที่เขาและบิดาร่วมกันบุกเบิกมาแต่แรก การเป็นผู้ร่วมก่อตั้งนี่เองทำให้เขามั่นใจ และมองเห็นโอกาสในธุรกิจค่อนข้างชัด “ผมรู้เรื่องที่นี่หมดเพราะทำตั้งแต่โครงการแรก รู้ว่าใครทำอะไรได้ ผมไม่ได้ทำงานเป็นทุกเรื่อง แต่ผมรู้ว่าใครทำได้ เราต้องทำงานกันเป็นทีม เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด” กำธรเล่าถึงแนวทางการบริหารงานของตัวเอง แน่นอนว่าการฟ้องร้องกันหลายคดีของอดีตผู้ถือหุ้นนับเป็นปัญหาสำคัญของวินด์ เอนเนอร์ยี่ แต่ก็ไม่ได้สร้างความหนักใจให้กำธรนัก เพราะเขามองว่า ธุรกิจต้องเดินหน้าต่อไป คดีความต่างๆ ต้องเป็นไปตามกระบวนการที่อาจต้องใช้เวลา แต่สิ่งสำคัญคือ การเตรียมองค์กรให้พร้อมอย่างการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ถ้าคดีความทุกอย่างจบ บริษัทพร้อมเข้าตลาดฯ ทันที และย้ำว่า บริษัทยังคงมีศักยภาพด้วยทิศทางธุรกิจที่ชัดเจน ซึ่งหากเข้าตลาดบริษัทจะมีมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 6-7 หมื่นล้านบาท สำหรับกำธรการบริหารบริษัทคือ การใช้คน เพราะเราไม่สามารถเติบโตด้วยตัวคนเดียวได้ แต่ต้องเป็นการสร้างทีมงานดังนั้น มันคือ “ศิลปะการใช้คน” มากกว่างานทุกอย่างคุณไม่จำเป็นต้อง “เก่ง” แต่คุณต้องรู้ว่าใครเก่ง รวมทั้งยังมีบอร์ดบริหารที่เชี่ยวชาญด้านต่างๆ คอยแนะนำให้คำปรึกษาภายใต้แนวคิด “พวกเราคือทีมเดียวกัน” “พอมารับตำแหน่งตรงนี้ก็มีความกังวลเพราะความรับผิดชอบสูงขึ้น ต้องรับผิดชอบความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เราก็ต้องลุย ทำงานให้เสร็จ คุณพ่อสอนว่า คนอื่นทำได้เราก็ควรต้องทำได้ ขึ้นอยู่ว่าจะทำหรือไม่ทำ เราแค่ทำปัจจุบันให้ดีที่สุดจะได้ไม่ต้องเสียใจว่า ตอนนั้นเราไม่ได้ทำเต็มที่แต่ถ้าทำเต็มที่แล้วมันล้มเหลวก็ช่วยไม่ได้เพราะทำเต็มที่แล้ว” กำธรระบุ “คุณพ่อผมเคยมีความฝันว่า ชีวิตนี้จะหาเงินได้เท่าไร เพราะท่านเองเริ่มจากศูนย์ ท่านบอกว่า ถ้ามีเงินทุนมากกว่านี้จะหาเงินได้มากขึ้นสำหรับความฝันของผมคือ ทำวันนี้ให้ดีที่สุด อยากทำให้บริษัทประสบความสำเร็จ เติบโต มีความก้าวหน้า อยากให้พนักงานทุกคน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย" ทั้งหมดนี้คือ ตัวตนและภารกิจของแม่ทัพคนใหม่ บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ ที่ร่วมปลุกปั้นจากธุรกิจที่เริ่มต้นด้วยความเป็นไปไม่ได้ จนวันนี้มีรายได้กว่าหมื่นล้านบาท แม้จะก้าวเดินในเส้นทางที่ยังมีปัญหา อุปสรรค รออยู่อีกมากมายก็ตามคลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine