2 ทศวรรษหลังจากส่ง Prius ปลุกกระแสพลังงานสีเขียวในอุตสาหกรรมรถยนต์โตโยต้า เสียตำแหน่งแบรนด์อันดับหนึ่งด้านเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับ Tesla แต่ตอนนี้แบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุดอันดับ 6 ของโลกพร้อมกลับมาทวงคืนด้วย Mirai รถยนต์เซลส์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน
โรงแรมหรูแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียวในปี 1997 หลังจากภาพวิดีโอนกโผบินบนท้องฟ้าปรากฏขึ้นบนจอขนาดยักษ์ โตโยต้า มอเตอร์ได้เปิดตัวรถยนต์ Prius สู่สายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรก รูปลักษณ์ยนตรกรรมไม่ได้โดดเด่นสะกดสายตา ดูแล้วเหมือนรถยนต์ซีดาน 4 ประตูขนาดกลางทั่วไปที่มีหน้าตาตลกๆ กับล้อขนาดเล็กและกระจังหน้าที่สั้นและลาดเอียง ทว่า ภายใต้กระโปรงรถคือนวัตกรรมสู่โลกใหม่ แรงขับเคลื่อนมาจากเครื่องยนต์ 4 สูบขนาด 1.5 ลิตร ผสานการทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าซึ่งจ่ายกำลังโดยแบตเตอรี่ความจุ 274 โวลต์ที่ติดตั้งไว้ใต้เบาะนั่งด้านหลัง การเปิดตัวแนะนำรถสายพันธุ์ใหม่นี้ยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้งเนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นมองว่า Prius คือโอกาสครั้งสำคัญที่จะสร้างอนาคตที่สดใสให้กับบริษัท ด้วยชื่อเสียงอันเป็นที่ยอมรับในด้านคุณภาพราคาคุ้มค่าและมีความน่าเชื่อถือ (มูลค่าแบรนด์อยู่ที่ 4.2 หมื่นล้านเหรียญ) โตโยต้าหวังว่ารถยนต์ลูกผสมระหว่างน้ำมันและไฟฟ้าที่มีปริมาณการปล่อยมลพิษลดลงและประหยัดน้ำมันอย่างเหลือเชื่อที่ 45 แกลลอน/ไมล์ (ประมาณ 19 กิโลเมตร/ลิตร) อีกทั้งยังจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์สู่การเป็นองค์กรสีเขียวแต่รถรุ่นนี้กลับไม่ได้รับความสนใจในสหรัฐฯ ตอนนั้น พร้อมๆ กับการตอบรับจากสื่อต่างๆ ค่อนข้างรุนแรง แน่นอนว่า โตโยต้าเป็นฝ่ายหัวเราะทีหลังดังกว่า บริษัทจำหน่ายรถยนต์พลังไฮบริดไปทั้งหมด 8.5 ล้านคันจากจำนวนนี้เป็น Prius กว่า 5.4 ล้านคัน โดยมียอดจำหน่ายมากกว่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์อื่นๆ ทุกรายบทเรียนครั้งนี้คือ อย่าถือหางฝั่งตรงข้ามโตโยต้า ทว่า ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้ง เมื่อผู้บริโภคและสื่อต่างๆ พากันชื่นชมยินดีและอ้าแขนต้อนรับ รถยนต์ไฟฟ้าแบบชาร์จกำลังด้วยการเสียบปลั๊ก “Model S” จากค่าย Tesla รวมถึง Model 3 ที่กำลังจะออกสู่ตลาดมากกว่า “Mirai” ยานยนต์พลังไฮโดรเจนนวัตกรรมใหม่ล่าสุดของโตโยต้า Mirai ใช้พลังงานจากไฟฟ้าเช่นเดียวกับรถยนต์จากค่าย Tesla แต่จะสร้างกระแสไฟเมื่อต้องการใช้งานแทนการเก็บกักพลังงานในแบตเตอรี่ ออกซิเจนจากอากาศจะทำปฏิกิริยากับไฮโดรเจนที่เก็บอยู่ในถังแรงดันสูงใต้เบาะที่นั่งผ่านระบบเซลล์เชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์ Mirai มีข้อดีที่เป็นจุดเด่นหลายอย่าง ทั้งปราศจากมลพิษเพราะของเสียที่ปล่อยออกมาคือน้ำ ใช้เวลาเติมไฮโดรเจนต่อหนึ่งครั้งเพียง 5 นาที “ผมคิดว่าผู้บริโภคจะชื่นชอบแนวคิดยนตกรรมที่เปี่ยมไปด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแต่พวกเขายังอยากได้รถยนต์แบบเดิมๆ ที่พวกเขาขับอยู่ทุกวัน” Jim Lentz ประธานบริหารของ Toyota North America กล่าว “การที่ผู้ขับเสียเวลาแวะเข้าปั๊มเติมเชื้อเพลิงเต็มถังเพียง 5 นาทีคือข้อได้เปรียบมหาศาล” ของรถยนต์พลังไฮโดรเจน เขากล่าว แต่ปัญหาหลักคือจำนวนสถานีบริการชาร์จไฮโดรเจนที่ยังมีจำกัด บวกกับประเด็นปัญหาทางเทคนิคและกฎระเบียบเรื่องการขนส่งไฮโดรเจนซึ่งเป็นก๊าซที่ระเบิดได้ง่ายและไม่เสถียรเท่าน้ำมันเชื้อเพลิง ปัจจุบันมีสถานีบริการเติมไฮโดรเจนเพียง 16 แห่งในสหรัฐฯ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 30 แห่งในปลายปีนี้ และเพื่อให้โครงการเดินหน้าได้ โตโยต้าจึงสนับสนุนเงินกู้ 7.3 ล้านเหรียญ ให้กับบริษัท First Element Fuels เพื่อก่อสร้างสถานี 19 แห่งในแคลิฟอร์เนียและจับมือกับบริษัท Air Liquide เพื่อสร้างเครือข่ายสถานีเชื้อเพลิง 12 แห่งในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ “เราหวังว่าจะสามารถเดินหน้าต่อไป” Lentz กล่าว ซึ่งเขาพยายามชะลอดีมานด์จนกว่าโครงข่ายสถานีจะพร้อมให้บริการ “เราบอกลูกค้าให้เลื่อนการรับรถออกไปก่อนหากสถานีเติมเชื้อเพลิงในย่านนั้นยังไม่เปิดบริการ ผมไม่อยากให้ลูกค้ามีประสบการณ์ที่ไม่ดี” โตโยต้ามองว่าไม่มีประโยชน์ที่จะพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบตเตอรี่สำหรับวิ่งระยะทางไกล โดยกล่าวว่าเทคโนโลยีนี้ไม่เหมาะกับการใช้งานจริงและไม่คุ้มค่าใช้จ่ายเนื่องจากแบตเตอรี่มีข้อจำกัดหลายอย่าง และวางแผนที่จะส่งรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฮบริดแบบสามารถเสียบปลั๊กชาร์จไฟฟ้าได้ออกมาเสริมทัพ พร้อมวางรากฐานที่จำเป็นสำหรับรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนซึ่งบริษัทหวังว่าจะเป็นนวัตกรรมแห่งอนาคต โตโยต้า ประกาศเป้าหมายอย่างชัดเจนว่าจะลดปริมาณการปล่อยมลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ทุกรุ่นลง 90% ในปี 2050 เรื่อง: JOANN MULLER เรียบเรียง: นวตา สันติวัฒนาคลิ๊กอ่าน "โตโยต้า พร้อมทวงคืนบัลลังก์สีเขียว" ฉบับเต็ม ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ JULY 2016 ในรูปแบบ e-Magazine