เปิดฉากยุคทองของธุรกิจ “ยูนิคอร์น” - Forbes Thailand

เปิดฉากยุคทองของธุรกิจ “ยูนิคอร์น”

FORBES THAILAND / ADMIN
17 Feb 2016 | 03:03 PM
READ 11364

ฟองสบู่? ไม่น่าจะใช่ จริงอยู่ บริษัทเปิดใหม่มูลค่าระดับพันล้านเหรียญหลายแห่งถูกตีค่าสูงเกินไป แต่เมื่อมองรวมๆ และเทียบกับกระแสในยุคดอทคอมช่วงแรกแล้ว บริษัทสตาร์ทอัพเหล่านี้สะท้อนยุคทองของการลงทุนในปัจจุบันจริงๆ

สำหรับผู้ที่กังวลกับมูลค่าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของบริษัทเปิดใหม่ (หลายบริษัทขณะนี้เติบโตจนเป็นที่ยอมรับใน Silicon Valley) Zenefits อาจเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดสำหรับพวกเขา บริษัทแห่งนี้จำหน่ายซอฟต์แวร์สำหรับคลาวน์ที่จะช่วยให้ธุรกิจทั้งหลายจัดการกับงานด้านทรัพยากรบุคคล เงินเดือน และสวัสดิการต่างๆ Zenefits เพิ่งตั้งมาได้ 2 ปีครึ่ง แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับการเสนอราคาที่ 4.5 พันล้านเหรียญ มากกว่ารายได้คาดการณ์ของบริษัทสำหรับปีนี้ถึง 45 เท่า และกำลังขยับสถานะเข้าสู่บริษัทดาวรุ่งระดับ “ยูนิคอร์น” (บริษัทเอกชนที่มีการร่วมลงทุนและสามารถสร้างมูลค่าระดับพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขึ้นไป) Zenefits มีมูลค่าสูงกว่า Sears และ Columbia Sportswear และธุรกิจทั้งสองแห่งที่ดำเนินมาเป็นเวลาสองศตวรรษมารวมกัน มูลค่าของบริษัทเพิ่มขึ้น 6.6 ล้านเหรียญในทุกๆ วันที่เปิดดำเนินงานมา สำหรับบริษัทอย่าง Zenefits การเป็นยูนิคอร์นคำว่า “ยูนิคอร์น” หมายถึงสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนักในประวัติศาสตร์ เช่นในกรณีของ eBayGoogle หรือ Facebook ที่ถือเป็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์ เมื่อบริษัทเหล่านี้สามารถพาผลงานไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้ด้วยตัวเอง พลิกสถานะจากบริษัทร่วมลงทุนไปสู่สถานภาพซูเปอร์สตาร์ ตอนนี้ “ยูนิคอร์น” กลายเป็นมาตรวัดมาตรฐานที่มากับความน่าหวาดหวั่น เมื่อมูลค่าของบริษัทเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการรวบรวมของเรา ทั่วโลกมีบริษัทยูนิคอร์น 140 แห่ง เพิ่มจาก 75 แห่งเมื่อปลายปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ แต่ดูเหมือนว่าจะมียูนิคอร์นเกิดใหม่หนึ่งตัวในจีนและอินเดียทุกๆ หนึ่งหรือสองสัปดาห์ ลองมาพินิจพิเคราะห์ Zenefits กัน บริษัททำรายได้จากค่าบริการ (recurring revenue) ในการเปิดดำเนินงานเต็มรูปแบบปีแรกที่ 20 ล้านเหรียญ และกำลังจะทำได้ถึง 100 ล้านเหรียญในปี Zenefits สร้างความประหลาดใจด้วยการใช้จ่ายรายได้ส่วนใหญ่ไปกับการสร้างความเติบโต (จนถึงขณะนี้มีพนักงานเพิ่มขึ้น 1,600 คน) แต่บริษัทใช้เวลาเพียงหกเดือนถอนทุนที่ใช้ในการได้ลูกค้าใหม่หนึ่งคน CEO ของ Zenefits คุยว่า บริษัทสามารถทำเงินได้จากลูกค้าหนึ่งคน มากกว่าบริษัทส่วนใหญ่ที่ “ให้บริการซอฟต์แวร์แบบมีลิขสิทธิ์” (Software as a Service หรือ SaaS) สืบเนื่องจากการปฏิวัติโทรศัพท์มือถือ (ยอดขาย iPhone ของ Apple เป็นข้อพิสูจน์) และยังผลให้เกิดโมเดลธุรกิจที่ก่อนหน้านี้ไม่มีใครนึกภาพออกแต่กลับกลายเป็นมีประสิทธิภาพมากกว่า Airbnb ที่ไม่ได้มีห้องพักเป็นของตนเอง ให้บริการแขกไปแล้วมากกว่า 30 ล้านคนในปีนี้ Uber ที่ไม่ได้มีพาหนะของตนเอง รับส่งผู้โดยสาร 3 ล้านคนทุกๆ วัน ความเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัลแบบเดียวกันนี้กำลังทะลุทะลวงเข้าสู่ภาคการเกษตร สาธารณสุข บริการทางการเงิน และธุรกิจค้าปลีก คนไม่น้อยต่างส่งเสียงร้องเมื่อ Google ซื้อ YouTube ด้วยเงิน 1.65 พันล้านเหรียญ ในปี 2006 และเมื่อ Facebook ได้รับการประเมินมูลค่าที่ 1.5 หมื่นล้านเหรียญในปี 2007 รวมทั้งเมื่อ Facebook ควัก 1 พันล้านเหรียญ ซื้อ Instagram ในปี 2012 ถึงตอนนี้ การซื้อ YouTube ถูกจัดให้เป็นการซื้อกิจการที่ดีที่สุดในยุคทองของอินเทอร์เน็ต มูลค่าของ Facebook ทะยานขึ้นไปถึง 2.5 แสนล้านเหรียญ และ Instagram ถูกคาดหมายว่าจะสร้างรายได้ 600 ล้านเหรียญในปีนี้ อีกทั้งยังมีจำนวนผู้ใช้มากกว่า Twitter ถึงหนึ่งในสาม โดยที่ Twitter เองนั้น แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายดังที่ปรากฏเป็นข่าว ก็ยังมีมูลค่าถึงราว 2 หมื่นล้านเหรียญ พลวัฒน์แบบเดียวกันกำลังเกิดขึ้นกับธุรกิจ “ให้บริการซอฟต์แวร์แบบมีลิขสิทธิ์” (SAAS) Josh Jamesผู้ที่ขาย Omniture บริษัทซอฟต์แวร์แห่งแรกของเขาให้กับ Adobe เป็นเงิน 1.8 พันล้านเหรียญในปี 2009 กล่าวว่า “คนเข้าใจบริษัท SAAS ในฐานะธุรกิจ” James บอก สำหรับเงินทุกๆ หนึ่งเหรียญที่ Domo ลงทุนไป บริษัทได้คืนกลับมาหนึ่งเหรียญในปีแรก และ 1.7 เหรียญในปีที่สอง “นับว่าเป็นอัตราผลตอบแทนที่ไม่เลวเลย” จำนวนบริษัทยูนิคอร์นที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดไม่จำเป็นต้องหมายถึงสัญญาณความเสี่ยงที่มากขึ้น บริษัทที่เติบโตรวดเร็วมาจากการลงทุนในภาคธุรกิจของเอกชนแทนที่จะเป็นในตลาดหลักทรัพย์ แล้วมันไม่ดีตรงไหนล่ะ ในเมื่อบริษัทจะมีเงินสดมากมายในมือ และการคงสถานภาพบริษัทเอกชนไว้ช่วยให้เจ้าของธุรกิจไม่ต้องปวดหัวกับการเสนอขายหุ้น IPO หรือการจัดประชุมผู้ถือหุ้นทุกๆ ไตรมาส ในปี 2000 บริษัทเทคโนโลยีที่มีเงินอุดหนุนจากเงินร่วมลงทุนสามารถระดมทุนได้ถึง 4.2 หมื่นล้านเหรียญในการเสนอขายหุ้น IPO ของบริษัท 261 แห่ง เทียบกับในปีที่ผ่านมา ที่มีการระดมทุนเพียง 1 หมื่นล้านเหรียญ สำหรับหุ้น IPO ของบริษัท 53 แห่ง เรื่อง: MIGUEL HELFT ภาพ: CHRISTIAN PEACOCK เรียบเรียง: เอมวลี อัศวเปรม
คลิ๊กอ่าน "เปิดฉากยุคทองของธุรกิจ ยูนิคอร์น" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ JANUARY 2016 ในรูปแบบ E-Magazine