Green Bus: รถเมล์เมืองเหนือ หมุนล้อสู่เส้นทางต่างแดน - Forbes Thailand

Green Bus: รถเมล์เมืองเหนือ หมุนล้อสู่เส้นทางต่างแดน

เรื่องชญานิจฉ์ ดาศรี รถโดยสารสีเขียวที่ถูกเรียกขานกันจนติดปากชาวเหนือว่า “เมล์เขียว” เป็นธุรกิจที่ริเริ่มโดยอดีตช่างซ่อมรถยนต์ คำรณ ทองคำคูณ จากอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ผู้รอนแรมขึ้นเหนือมาตั้งรถรากเปิดอู่ซ่อมรถยนต์ที่อำเภอเด่นชัย จังหวัดลำปางตั้งแต่ปี 2493 พร้อมครอบครัวซึ่ง ทองสุข ทองคำคูณ ผู้เป็นพ่อ คืออดีตหมาดเล็กของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ที่เก็บเกี่ยวความรู้ด้านเครื่องยนต์จากเมื่อครั้งเคยอาสาไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ก่อนที่คำรณจะนำเงินออมราว 2 แสนบาทมาร่วมทุนกับเพื่อนๆ จับจองสัมปทานให้บริการรถโดยสารขนส่งเส้นทางลำปาง-เชียงราย ในนามบริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด เมื่อปี 2507 ในสมัยนั้น รถที่นำมาให้บริการยังเป็นรถที่ลักษณะคล้ายรถบรรทุก มีตัวถังทำจากไม้ เรียกกันว่า “รถคอกหมู” แต่โดดเด่นตรงด้านข้างรถที่มีสีเขียว จึงเป็นที่มาของคำว่า “เมล์เขียว” แล้วจึงปรับปรุงทั้งตัวรถและบริการต่างๆ จนกลายร่างเป็น Green Bus โดยทายาทรุ่นสองวัย 52 ปีผู้เป็นบุตรชายคนสุดท้องของครอบครัวคือ สมชาย ทองคำคูณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด(Green Bus) ในปัจจุบัน สมชาย ถ่ายทอดวิถีธุรกิจในรุ่นพ่อที่ดำเนินการในนามบริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่งว่า “หลัง ‘เมล์เขียว’ เริ่มให้บริการได้สักพัก ก็ค่อยๆ ขยับขยายเส้นทางให้บริการเพิ่มตามถนนตัดใหม่จนครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบนเกือบทั้งหมด" “ตอนนั้นไทยพัฒนกิจขนส่ง มีรถวิ่งรวมกันไม่ถึง 20 คัน โดยผู้ร่วมทุนในบริษัทจะใส่เงินกองกลางสำหรับค่าใช้จ่ายของบริษัท แต่แยกกันเก็บรายได้จากรถตัวเอง” คำรณ ตัดสินใจมาบุกเบิกเส้นทางสายเชียงใหม่-เชียงราย แต่เพียงผู้เดียวเนื่องจากเพื่อนๆ ซึ่งเคยร่วมวิ่งรถด้วยกันปฏิเสธที่จะมาลองเสี่ยง เพราะมองว่าเส้นทางลำบากและผ่านเพียงสองจังหวัดเท่านั้น ในปัจจุบัน ผู้บริหารหลักที่เป็นพี่น้องจากครอบครัวทองคำคูณ ซึ่งเป็นทายาทสายตรงจากผู้ก่อตั้งบริษัท จึงมี สมชายและพี่สาวอีกสองคนคือ ปรียา เวโรจน์ และนงลักษณ์ ทองคำคูณ เส้นทางรับช่วงกิจการ Green Bus ของสมชายเริ่มอย่างเป็นทางการในวัย 24 ปีหลังเรียนจบปริญญาตรี ภารกิจแรกที่ได้รับมอบหมายคือวางระบบงานบริหารทรัพยากรบุคคลที่เป็นมาตรฐานขึ้น ที่ครอบคลุมตั้งแต่การรับสมัครพนักงาน การฝึกอบรม และการจ่ายค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม “ใช้เวลานานเหมือนกันสำหรับคนที่เพิ่งมาทำงานใหม่ๆ ก็ค่อยทำไปทีละเรื่องจนกว่าจะตกผลึก ตอนนั้นให้เขียนหน้าที่ของตำแหน่งงานคนขับยังเขียนไม่ค่อยจะถูก จนเริ่มเป็นธุรกิจมืออาชีพอย่างชัดเจนเมื่อนำมาตรฐานอุตสาหกรรม ISO มาใช้” และในวัย 33 ปีเขาก็ได้รับสืบทอดตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ เพื่อกุมพวงมาลัยขับเคลื่อนชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ แทนพ่อของเขาอย่างเต็มตัว ในยุคแจ้งเกิดแบรนด์ Green Bus ให้แพร่หลาย สมชายเล่าว่าบริษัทเน้นหนักที่การปรับภาพลักษณ์ของบริการและตัวรถโดยสารให้ดูทันสมัยขึ้น โดยเริ่มนำรถมาตรฐาน VIP 24 ที่นั่งมาให้บริการ ซึ่งเด่นตรงเบาะโดยสารที่กว้างขวางและสะดวกสบาย พร้อมกับต่อยอดพัฒนาระบบไอทีเพื่อเป็นรากฐานของระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน หนทางสู่ตลาดประเทศเพื่อนบ้านของ Green Bus แวะป้ายแรกที่ความร่วมมือในรูปแบบ Coach Share หรือความร่วมมือด้านการจำหน่ายตั๋วโดยสารสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากยังคงมีอุปสรรคเรื่องการขออนุญาตจากกระทรวงคมนาคมให้ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางสามารถเดินรถระหว่างประเทศได้เช่นเดียวกับบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) แต่ สมชาย เชื่อว่าในอีกไม่เกิน 2 ปีข้างหน้าจะเริ่มให้บริการขนส่งผู้โดยสารไปยังเมืองสำคัญในประเทศเพื่อนบ้านได้ ทั้งนี้เพื่อเสริมความพร้อมให้แกร่งยิ่งขึ้น บริษัทจึงมีแผนจะนำบริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ เข้าจดทะเบียนและระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ แม้จะเริ่มจากทุนตั้งต้นที่ไม่มากนัก แต่ด้วยใจสู้ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคต่างๆ มุมมองที่กว้างไกลและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบัน บริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ มีรายได้กว่า 500 ล้านบาท ในปี 2557 และจะจบที่กว่า 520 ล้านบาท โดยคาดการณ์รายได้ที่ เกือบ 550 ล้านบาทในปี 2559 นอกจากบริการรถโดยสารประจำทางแล้ว Green Bus ยังพัฒนาบริการอื่นๆ แต่ปัจจุบันรายได้หลักของ Green Bus ยังคงมาจากด้านรถโดยสารประจำทางถึง 90% ส่วนที่เหลือมาจากขนส่งพัสดุภัณฑ์ที่ราว 8% และบริการรถเช่าเหมาประมาณ 2%
คลิ๊กอ่าน "Green Bus: รถเมล์เมืองเหนือ หมุนล้อสู่เส้นทางต่างแดน" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ December 2015