ค้นพบกุญแจปลดล็อกโอกาสในดินแดนใหม่อันเปี่ยมไปด้วยความเป็นไปได้อย่างโลก Metaverse ที่ต้องใช้ความเร็ว เป้าหมายที่ชัดเจน และคอนเทนต์จากแนวหน้าแห่งวงการนวัตกรรม
โลกเสมือนจริงนั้นยิ่งใหญ่ดังที่เราคาดการณ์ไว้หรือไม่ หรือความจริงแล้วมันเพียงแค่ฝันลอยๆ “เราเชื่อว่ามันจะยิ่งใหญ่พอๆ กับอินเทอร์เนตในสมัย 1990 หรือโซเซียลมีเดียในช่วง 2000” Maria Mazzone กรรมการผู้จัดการฝ่ายนวัตกรรมแห่ง Accenture กล่าวในงาน WWD Metaverse Symposium
สิ่งที่แตกต่างออกไปจากการเปลี่ยนแปลงก่อนหน้านี้อย่างเด่นชัดคือ การก้าวเข้าสู่โลก Metaverse หรือโลกเสมือนจริงนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทุกคนพอมองออกว่ากำลังจะมาแน่ๆ เห็นได้จากองค์กรต่างๆ ที่เริ่มหาแม่ทัพนำพาบริษัทก้าวเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ และการสร้างกลุ่มธุรกิจเพื่อแตกสายธุรกิจ
ทั้งนี้ Mazzone เตือนว่าอุตสาหกรรมทั้งหลาย “ไม่ได้มีเวลา 10 ปีในการปรับตัวนะ มีเวลาสัก 10 เดือนก็ถือว่าโชคดีแล้ว”
โลกเสมือนจริงจะส่งผลกระทบต่อ “ทุกอย่าง” เปลี่ยนธุรกิจในทุกแง่มุม ไม่ใช่เพียงเรื่องลูกค้าสัมพันธ์ จนไปถึงประเภทผลิตภัณฑ์กับการบริการที่จะถูกส่งมอบเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อวิธีการทำงาน และวิธีการดำเนินการของบริษัทต่างๆ ด้วย
โอกาสทางธุรกิจที่มากับโลกใหม่นี้ก็มีมหาศาล โดย Mazzone เผยว่ารายได้จาก Metaverse ทั่วโลกคาดว่าจะแตะ 8 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2024 และพุ่งถึง 1 ล้านล้านเหรียญในปี 2025 อย่างไรก็ตาม การคำนวนตัวเลขเหล่านั้นก็ค่อนข้างซับซ้อน
หากเปรียบเทียบให้เห็นได้ชัดจะพบว่า จำนวน foot traffic ช่วงก่อนสถานการณ์โรคระบาดตามย่านหรูใน Milan อยู่ที่ 22 ล้านคนต่อปี ในขณะที่แพลตฟอร์มต่างๆ ที่มาร่วมงานสัมมนามีผู้ใช้งานสูงถึง 50 ล้านคนต่อวัน
ในบริบทนี้ อายุหรือกำลังซื้อของผู้เข้าเยี่ยมชมแทบจะไม่สำคัญเลย “มันคือหน้าที่ของแบรนด์ที่จะเปลี่ยนโอกาส [50 ล้านโอกาส] เหล่านี้ให้กลายเป็นสิ่งที่คุณต้องการ ไม่ว่าจะเป็นกระแสรายได้ที่หลากหลาย, สัญญา, ภาคธุรกิจใหม่ๆ, ตลาดใหม่, การมองเห็นของแบรนด์” Mazzone กล่าว “โอกาสแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และตอนนี้มันก็กำลังเกิดขึ้นอยู่”
ถึงแม้จะเช่นนั้นก็เถอะ “ไม่มีโอกาสอันยิ่งใหญ่ไหนปราศจากความเสี่ยง” เธอตอบคำถามของผู้เข้าฟังการสัมมนาเกี่ยวกับการประเมิน และการจัดการความเสี่ยงต่างๆ ตั้งแต่เรื่องความปลอดภัยด้านไซเบอร์, ทรัพย์สินทางปัญญา จนไปถึงการเกิดอาชญากรรมด้านการเงิน “เพื่อที่จะจัดการความเสี่ยง คุณจำเป็นที่จะต้องมีตัวตนในฐานะแบรนด์ให้ชัดเจนที่สุด…ซึ่งนี่จะทำให้ยากที่จะลอกเลียนแบบคุณ แฮกคุณ หรือใช้ประโยชน์จากคุณ”
แล้วโลก Metaverse จะสามารถมาแทนที่ “ชีวิตจริง” หรือโลกที่สามารถจับต้องได้นี้หรือไม่? โดยเธอได้ตอบว่า “คำตอบสั้นๆ คือ ไม่ แน่นอนว่าไม่ นี่ไม่ใช่ Matrix” และอธิบายต่อว่า สุดท้ายแล้ว โลกทั้งสองก็จำเป็นที่จะต้องถูกผสานเข้าด้วยกัน
หากมองดูเวลาและเม็ดเงินที่หลายๆ คน หลายๆ องค์กรได้ลงทุนไป รวมไปถึงการพัฒนาแบบ “พหุประสาทสัมผัส” แห่งโลกอนาคต เช่น การผสานประสาทการสัมผัส และการดมเข้ากับโลกเสมือนจริง การมองพื้นที่ใหม่ตรงนี้ว่าเป็นสถานที่ที่ไม่มีอยู่จริง หรือเป็นเพียงอีกช่องทางที่สามารถนำมาผสานเข้ากับกลยุทธ์ omnichannel ในปัจจุบันนับว่าเป็นข้อผิดพลาด
นอกจากนี้ เธอยังได้ตอบคำถามที่ไร้คำตอบมาสักพัก อย่างคำถามเกี่ยวกับความรับผิดชอบ และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของยั่งยืนของโลกเสมือนจริง โดยแม้ว่าอีเวนต์ที่จัดภายในโลกนี้จะเสร็จสิ้นไปแล้ว ประสบการณ์ออนไลน์เหล่านั้นก็ยังคงสามารถเข้าถึงได้เสมอ
ตัวต่อสำคัญที่เธอเน้นย้ำคือ แนวคิดเรื่องอัตลักษณ์ ความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการต่างๆ รวมไปถึงพื้นที่ทั้งหลายให้ปราศจากข้อจำกัดทางกายภาพซึ่งส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงความสำคัญของคอนเทนต์ “คอนเทนต์คือพระราชาในโลกเสมือนจริง…นอกจากนี้ ก็ต้องมีทักษะใหม่ด้วย” เธอกล่าวต่อ โดยเสริมว่า นี่เป็นคำอธิบายว่าทำไมแพลตฟอร์มอย่าง Second Life ถึงไม่ประสบความสำเร็จเมื่อเปิดตัวช่วงต้นยุค 2000
และเมื่อถามว่าทักษะไหนจำเป็นต่อการประสบความสำเร็จในโลกเสมือนจริงนี้ เธอชี้ว่า คงจะเป็น “ทักษะที่หลากหลายมากๆ” ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านเทคโนโลยี จนไปถึงประสบการณ์การออกแบบ หรือแม้กระทั่งทักษะด้านจิตวิทยา การสร้างนโยบายเกี่ยวกับประเพณีและอัตลักษณ์ก็จะกลายเป็นสิ่งจำเป็น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่บริษัทต่างๆ ต้องตัดสินใจในเร็ววันคือ จะจำหน่ายสินค้าดิจิทัล หรือ NFT ดี อีกทั้งยังต้องมานั่งคิดอีกว่าจะมอบสินค้า หรือ ประสบการณ์ดี โดย Mazzone มองว่า “คุณทำได้นะ และความจริงแล้วก็ควรทำทั้งคู่”
Mazzone กล่าวว่า “โอกาสและแผนการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นนั้นไม่มีขีดจำกัด” โดยตัวปลดล็อกสิ่งเหล่านั้นก็คือ Metaverse เน้นให้เห็นถึงความเป็นไปได้ต่างๆ เช่น การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านการสร้างประสบการณ์ต่างๆ รวมไปถึงชักจูงให้พวกได้มีส่วนร่วมในการสรรค์สร้างประสบการณ์เหล่านั้นด้วย และระบบนิเวศแบบ “omnireality” ที่ผสานประสบการณ์รีเทลแบบออนไลน์และออฟไลน์ไว้ด้วยกัน อีกทั้งความเป็นไปได้นี้ก็สามารถเกิดขึ้นในองค์กรด้วย เช่นการนำการเรียนรู้แบบ immersive มาใช้ การสร้างสินค้าตัวอย่างเสมือนจริง หรือการยกระดับให้การดำเนินการจัดการดียิ่งขึ้น เป็นต้น
ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่โลกเสมือนจริง แบรนด์ต่างๆ ควรตั้งคำถามเกี่ยวกับไทม์ไลน์และเป้าหมายของตัวเอง ไม่ว่าเป้าหมายเหล่านั้นจะเป็นการสร้างรายได้ในพริบตา หาลูกค้าใหม่ หรือเสริมสร้างการมองเห็นของแบรนด์ก็ตาม โดยคำแนะนำที่เธออยากให้ทุกคนได้ฟังคือ “ลงมือทดลองเพื่ออยู่ในการแข่งขัน” ให้ตลาดเห็นถึงการเคลื่อนไหว และให้การทดลองนั้นๆ มีความหมายมากพอที่จะสื่อว่าวิสัยทัศน์ในระยะยาวของแบรนด์คืออะไร
“คำถามหลักจริงๆ แล้ว คือ ทำไมผู้คนต้องไปหาคุณ ไปหาคุณในโลกเสมือนจริง พวกเขาจะได้อะไรที่หาจากที่อื่นไม่ได้” เธอกล่าวสรุป
แปลและเรียบเรียงจากบทความ Metaverse Symposium: Unlocking the Metaverse’s $1 Trillion Opportunity Requires Speed, Clear Expectations and Content เผยแพร่บน WWD.com อ่านเพิ่มเติม: Prada เดินหน้าพัฒนากลยุทธ์ก้าวสู่โลก Web 3.0 ด้วย NFTไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine