ByteDance VS Tencent : สตาร์ทอัพวิดีโอ Douyin กำลังแย่งวัยรุ่นจีนจากกำมือ WeChat - Forbes Thailand

ByteDance VS Tencent : สตาร์ทอัพวิดีโอ Douyin กำลังแย่งวัยรุ่นจีนจากกำมือ WeChat

FORBES THAILAND / ADMIN
26 Oct 2018 | 04:57 PM
READ 19223
Athena Yang รู้จัก Douyin โดยการแนะนำของแฟนหนุ่ม และไม่ช้าเธอก็ติดหนึบ พนักงานสาววัย 29 ปีของบริษัทการลงทุนแห่งหนึ่งใน Beijing ใช้เวลาช่วงพักกลางวันและช่วงค่ำดูมิวสิกวิดีโอผ่านแอพฯ ซึ่งมีคนมาโพสต์คลิปยาว 15 วินาที โดยเป็นคลิปที่พวกเขาเต้น ร้องเพลง หรือแม้แต่แต่งหน้า “Douyin มีคลิปตลกๆ และสร้างสรรค์เยอะแยะเลย” Yang เล่า “ดูแล้วสบายใจและคลายเครียดจากงานได้ดี” Douyin หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า Tik Tok พัฒนาขึ้นโดยบริษัท ByteDance Technology ใน Beijing และครอบครองใจคนรุ่นใหม่ ในจีนอย่างรวดเร็วท่วมท้น แอพฯ นี้ทำงานคล้ายแอพฯ ฮิตอย่าง Musical.ly ซึ่ง ByteDance ซื้อไปเมื่อปีที่แล้วในราคา 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มันช่วยผู้ใช้งานทำวิดีโอคลิปสั้นๆ ตัดต่อ และโพสต์คลิปของตัวเองโดยใส่เพลงโปรดเข้าไปได้ และมีอัลกอริทึมช่วยโปรโมทคลิปผ่านทางหน้าฟีดที่ผู้ใช้งานแต่ละคนสร้างสรรค์ด้วยตัวเอง  เมื่อ Douyin กำลังฮิตระเบิด ByteDance ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพมูลค่า 2 หมื่นล้านเหรียญ และยังมีแอพฯ ข่าว Toutiao ซึ่งเป็นที่รู้จักเช่นกัน จึงมีข้อได้เปรียบพอให้ท้าชนกับ Tencent เพื่อชิงความเป็นใหญ่ในวงการสื่อและบันเทิงของจีนได้ แต่บริษัทนี้ก็กำลังเผชิญปัญหาคล้ายกับ YouTube นั่นคือคลิปบางส่วนใน Douyin ก็ล่อเป้าให้ถูกตรวจสอบและเกิดกระแสต่อต้านขึ้นในโลกออนไลน์เนื่องจากความไม่เหมาะสมและอาจมีเนื้อหาอันตราย ซึ่งเป็นปัญหาที่บวกเพิ่มเข้ามาอีกจากปัญหาเรื่องการควบคุมดูแลคอนเทนต์ซึ่ง ByteDance ต้องเผชิญอยู่เดิมความสำเร็จในระยะหลังของ Douyin มาจากกลไกการผลิตเนื้อหา เว็บนี้ต้องอาศัยทั้งคลิปจากมืออาชีพและมือสมัครเล่นเพื่อดึงดูดคนดูซึ่งไม่ต่างจากแพลตฟอร์มสำหรับวิดีโอขนาดสั้นรายอื่นๆ ของจีนแต่ ByteDance ทำได้ดีกว่าคู่แข่งในประเทศ โดย Douyin จะเชิญเหล่าดาราแห่งโลกโซเชียลให้เข้าร่วมการประกวดวิดีโอออนไลน์ที่บริษัท จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งคนเหล่านี้จะท้าแข่งกันเองหรือชวนให้ follower ที่ติดตามพวกเขาร่วมโพสต์คลิปของตัวเองในธีมที่กำหนด ทำให้เกิดเทรนด์ไวรัลขึ้นในโลกออนไลน์และช่วยให้แอพฯ เป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น มีครั้งหนึ่งที่ผู้ใช้แอพฯ ประมาณ 70,000 คนแข่งกัน เต้นท่าตลกๆ ในเพลง “Seaweed Dance” ของศิลปินจีน Xiao Quan กระแสครั้งนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดมุกล้อเลียนนับไม่ถ้วนในโลกอินเทอร์เน็ต และมีการจัดแข่งเต้นขึ้นจริงทั่วประเทศจีน Douyin จะเลือกคลิปเต้นที่คนชอบมากที่สุดเพื่อนำไปใส่ในหน้าฟีดที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ และเหล่าดาราออนไลน์ เช่น Zhou Yue โปรดิวเซอร์เพลงวัย 25 ปี บอกกับ Forbes Asia ว่าพวกเขาหาเงินได้หลายล้านหยวนต่อปีด้วยการทำวิดีโอลง Douyin โดยกิจการที่ต้องการโฆษณาสินค้าอย่างบริษัทรถยนต์หรือสตูดิโอผู้ผลิตเกมก็พร้อมจ่ายเงินเพื่อให้พวกเขามาช่วยทำเพลงโปรโมทแล้วแชร์บนเว็บ “Douyin ผลิตคอนเทนต์ขนาดสั้นที่คุณภาพดีกว่าแพลตฟอร์มวิดีโอขนาดสั้นรายอื่นๆ ของจีน” Chen Yuetian หุ้นส่วนของ S. Capital ซึ่งเป็นบริษัทการลงทุนในจีนกล่าว “คลิปของเว็บนี้ทันสมัยกว่าและดึงดูดคนรุ่นใหม่ได้มากกว่า” ข้อมูลของ Analysys International บริษัทที่ปรึกษาใน Beijing แสดงให้เห็นว่า หลังจากเปิดเว็บมาได้ปีครึ่ง Douyin ก็ดึงดูดผู้ใช้งานที่เข้าเว็บอย่างสม่ำเสมอได้ 166 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่อายุน้อยกว่า 30 ปี และข้อมูลของบริษัทก็เเสดงให้เห็นว่าพวกเขาใช้เวลากับเเอพฯนี้ เฉลี่ย 12.6 ชั่วโมงต่อเดือน ซึ่งเป็นระดับการใช้งานที่แซงหน้าตัวเลข 12.3 ชั่วโมงต่อเดือนของเว็บแชร์วิดีโอชื่อ Kuaishou ของ Tencent ไปแล้ว เมื่อผู้คนใช้เวลากับ Douyin มากขึ้น WeChat ก็ถูกแย่งความสนใจไป ทั้งที่ Tencent อยากดึงให้คนมาใช้ WeChat เพื่อจะขายคอนเทนต์ให้ได้มากขึ้น  จากข้อมูลของ Questmobile ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลของจีน ชาวจีนใช้เวลาดูวิดีโอขนาดสั้นคิดเป็น 7.4% ของเวลาทั้งหมดที่ออนไลน์ในเดือนมีนาคม ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 1.5% ในปีที่แล้ว ขณะเดียวกัน เวลาที่ใช้ไปกับบริการส่งข้อความทันทีซึ่ง WeChat เป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ก็ลดลงเหลือ 32% จากเดิม 37% ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว “แอพฯ วิดีโอขนาดสั้นอย่าง Douyin กำลังกดดัน WeChat” Zhang Xueru นักวิเคราะห์จากบริษัท 86 Research ของ Shanghai กล่าว “แอพฯ เหล่านี้แข่งกันชิงเวลาพักผ่อนของผู้ใช้ และตอนนี้ Douyin ก็ชิงไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ” ByteDance กับ Tencent นำศึกนี้เข้าไปปะทะกันในศาล ทั้งสองบริษัทยื่นฟ้องกันเป็นชุดด้วยข้อหาหมิ่นประมาทและแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม โดย Tencent เรียกค่าเสียหาย 1 หยวน (0.16 เหรียญ) และให้ ByteDance ออกแถลงการณ์ขอโทษต่อสาธารณชนผ่านแพลตฟอร์มของตัวเอง ส่วน ByteDance ก็เรียกค่าเสียหาย 90 ล้านหยวน โดยกล่าวหาว่า Tencent เจตนาบล็อกคอนเทนต์ของ Byte-Dance บนแอพฯ ส่งข้อความสุดฮิตอย่าง QQ อีกทั้ง Zhang Yiming ผู้ก่อตั้งและประธานของ ByteDance ก็ยังปะทะคารมออนไลน์กับ Pony Ma ผู้ก่อตั้ง Tencent โดยกล่าวหาว่าแอพฯ Weishi ของ Tencent ลอกเลียนโมเดลของ Douyin แต่ทั้ง ByteDance และ Tencent ไม่ตอบคำถามเมื่อ Forbes Asia ขอความเห็นในเรื่องนี้ ขณะเดียวกัน Douyin ก็ยังมีปัญหาอื่น ในฮ่องกงมีผู้ต่อต้าน เนื่องจากคนกลุ่มหนึ่งมองว่าแอพฯ นี้ไม่มีการปกป้องเยาวชนมากพอ จึงมีเยาวชนอัปโหลดคลิปที่มีเนื้อหารุนแรงหรือยั่วยุให้คิดเรื่องเพศเพียงเพื่อจะได้มีชื่อเสียงในโลกออนไลน์ ยิ่งกว่านั้นหนังสือพิมพ์ People’s Daily ซึ่งเป็นสื่อของรัฐบาลก็เรียกร้องให้มีการควบคุม Douyin อย่างเข้มงวดมากขึ้น หลังจากสื่อรายงานว่ามีผู้ใช้บางรายบาดเจ็บหนักเนื่องจากเลียนแบบคลิปที่เห็นในแอพฯ Douyin จึงตอบรับเรื่องนี้โดยออกคำเตือนต่อสาธารณชนว่าท่าเต้นหรือท่าทางการเคลื่อนไหวในกีฬาบางอย่างเป็นท่าที่ “ผู้ใช้ทุกคนไม่ควรลอกเลียนแบบ” รวมทั้งกระตุ้นให้พ่อแม่ดูแลลูก และกล่าวว่าแอพฯ จะเพิ่ม “ระบบเตือนคลิปเสี่ยง” เข้าไปด้วย ปัญหาเหล่านี้เข้ามาในขณะที่ ByteDance กำลังมีเรื่องยุ่งติดพันเกี่ยวกับการควบคุมดูแลคอนเทนต์ กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของจีนเพิ่งเริ่มเปิดการสืบสวนบริษัทอย่างเป็นทางการฐานเผยแพร่การ์ตูนชุดหนึ่งซึ่งกระทรวงกล่าวว่าบิดเบือนประวัติศาสตร์จีน (ByteDance ลบการ์ตูนออกและแถลงขอโทษแล้ว) และเมื่อเดือนเมษายน ทางการก็สั่งให้บริษัทปิดแอพฯ แชร์เรื่องขำขันยอดนิยมชื่อ Neihan Duanzi ซึ่งถูกกลุ่มเฝ้าระวังสื่อในจีนวิจารณ์ว่าส่งเสริม “คอนเทนต์หยาบคายและไม่เหมาะสม” Zhang กล่าวในจดหมายขอโทษต่อสาธารณชนว่าผลิตภัณฑ์นี้ “เดินมาผิดทาง” และสัญญาว่าจะจ้างพนักงาน 10,000 คนมาคอยตรวจตราเว็บไซต์ต่างๆ ของเขา ในส่วนของการแข่งขันก็ดุเดือดมากขึ้น นอกจาก Tencent แล้วยักษ์ใหญ่วงการอินเทอร์เน็ตของจีนทุกรายก็เริ่มเข้าสู่ธุรกิจคลิปวิดีโอ เพื่อจับตลาดกลุ่มผู้ใช้อายุน้อย เช่น iQiyi ของ Baidu เพิ่งปล่อยแอพฯ มินิวิดีโอของตัวเองที่ชื่อ Nadou ซึ่งใช้ซอฟต์แวร์ที่มีปัญญาประดิษฐ์เป็นพื้นฐานเพื่อจะวิเคราะห์เทรนด์ออนไลน์และตัดต่อคลิปที่เกี่ยวข้องกับเทรนด์นั้น Zhang จาก 86 Research กล่าวว่า เรื่องนี้อาจทำให้ ByteDance ต้องเสริมการตลาดให้แข็งแกร่งขึ้นเพื่อโปรโมทบริการของตัวเอง และอาจกระทบต่ออัตรากำไร “พวกเขาต้องผลิตคอนเทนต์ดีๆ ให้มากขึ้นเพื่อสร้าง community ในโลกออนไลน์” Zhang กล่าว “การควบคุมดูแลก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ผลิตภัณฑ์ตัวนี้จะไปได้ไกลแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเพิ่มองค์ประกอบด้านโซเชียลเพื่อดึงผู้ใช้ให้เข้ามาใช้งานได้มากขึ้นหรือเปล่า” เรื่อง : Yue Wang เรียบเรียง : ธรรดร โสตถิอำรุง ภาพปก : China Network/Reuters คลิกอ่านฉบับเต็มของ "ByteDance VS Tencent  : สตาร์ทอัพวิดีโอ Douyin กำลังแย่งวัยรุ่นจีนจากกำมือ WeChat" ได้ที่ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand เดือนสิงหาคม 2561 ในรูปแบบ e-Magazine