Andy Li ติดสปีดธนาคารด้วย Silot - Forbes Thailand

Andy Li ติดสปีดธนาคารด้วย Silot

ท่ามกลางผู้คนที่เดินขวักไขว่ในงาน Bangkok FinTech Fair 2019 ซึ่งจัดขึ้น ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย เราพบกับ Andy Li ซีอีโอของ Silot สตาร์ทอัพที่เขาร่วมก่อตั้งขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน จากแนวคิดการสร้างความเร็วและแม่นยำให้กับสถาบันการเงินด้วยดิจิทัล โซลูชันส์

แก่นของธุรกิจการเงินนั้นอยู่ที่ความน่าเชื่อถือ เราจะนิยามความน่าเชื่อถือของบุคคลผู้นี้หรือบริษัทนี้ได้อย่างไร เพื่อที่เราจะได้ตัดสินใจได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบัญชีธนาคารหรือให้วงเงินบัตรเครดิตAndy Li เอ่ยถึงคำสอนที่เขาได้รับจากผู้ที่เป็นเหมือนพี่เลี้ยงในวงการการเงินให้เขา คำสอนนี้มาจาก Mochtar Riady ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ Lippo Group ธนาคารยักษ์ใหญ่ในอินโดนีเซีย

ความหมายของ Riady คือ ประสิทธิภาพในการประเมินความน่าเชื่อถือหรือความสามารถของลูกค้าคือคุณค่าที่แท้จริงของธนาคาร ไม่ใช่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน” Li สรุปพร้อมรอยยิ้ม

การเพิ่มประสิทธิภาพของธนาคารในจุดนั้นเองคือเป้าหมายที่ Li มองเห็น โดยเขามองสถานการณ์ทางธุรกิจของสถาบันการเงินแยกเป็น 2 กลุ่ม หนึ่งคือ กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ เขาเห็นว่ากลุ่มนี้มีทรัพยากรข้อมูลจำนวนมากอยู่แล้วในมือ แต่มักจะเก็บไว้คนละถัง’ (silo) แยกกันเก็บคนละแผนกเป็นที่มาว่าทำไมเราต้องหอบเอกสารเดิมๆ ไปทุกครั้งที่ต้องการติดต่อธนาคาร” Li กล่าวติดตลก ส่วนกลุ่มที่สองคือ ธนาคารขนาดเล็ก ซึ่งมีข้อมูลไม่เพียงพอและมีฐานลูกค้าขนาดเล็กเกินไป

สิ่งที่ Li กำลังพัฒนาคือการให้โซลูชันส์ กับธนาคารทั้งสองกลุ่ม ในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ เขาต้องการเข้าไปเชื่อมต่อให้ระบบแต่ละแผนกสามารถพูดคุยกันได้ส่วนกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก เขาต้องการสร้างประสิทธิภาพให้แม้พื้นฐานข้อมูลมีอยู่ไม่มาก ในท้ายที่สุดแล้ว ธนาคารจะตัดสินใจเร็วขึ้นและแม่นยำขึ้น เช่น สามารถอนุมัติบัตรเครดิตได้ใน 1 ชั่วโมง หรืออนุมัติสินเชื่อบ้านได้ใน 1 วัน

Andy Li ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ Silot
Andy Li ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ Silot สตาร์ทอัพด้านดิจิทัล แบงค์กิ้ง โซลูชันส์

เรากำลังพยายามเปลี่ยนดาต้าที่ทับซ้อนกันให้เป็นองค์ความรู้ เพื่อให้องค์ความรู้นั้นแบ่งปันข้ามแผนกได้ หรือแม้กระทั่งข้ามธนาคารหรือข้ามประเทศ Li กล่าว ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลแต่เป็นรูปแบบ’ (pattern) ของข้อมูล ยกตัวอย่างเช่น เมื่อศึกษาดาต้าที่ทับซ้อนกันหลายเลเยอร์แล้วจะพบรูปแบบที่ทำให้ประเมินได้ว่า บุคคลผู้นั้นจะเป็นลูกค้าที่ดีหรือไม่ และรูปแบบที่เป็นองค์ความรู้นี้จะสามารถนำไปใช้ได้ทุกที่

ไม่เฉพาะการประเมินลูกค้า ปัจจุบันนี้ Silot ให้บริการดิจิทัล โซลูชันส์  4 ด้าน คือ 1.ระบบ e-KYC (Electronics Know Your Customer) 2.บริการวิเคราะห์เครดิต 3.การตลาดและการเสนอขายสินค้า 4.ป้องกันการปลอมแปลง และให้บริการลูกค้าสถาบันการเงินไปแล้ว 10 แห่งในไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง

Info_Silot_01

รวมถึงหลังจากระดมทุนรอบ series A เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้พวกเขาระดมทุนสะสมได้แล้ว 12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยได้รับเงินลงทุนจากหลายประเทศ อาทิ SBI Holdings ประเทศญี่ปุ่น, Arbor Ventures จากสิงคโปร์, กรุงศรี ฟินโนเวต นักลงทุนหนึ่งเดียวจากประเทศไทย และเป็นลูกค้าของ Silot ด้วย

 

นักบุกเบิกตลาดใหม่

Li อยู่ในวัย 30 ปลายๆ เขามีประสบการณ์ในบริษัทด้านเทคโนโลยีมาแล้วจำนวนมากก่อนที่จะก่อตั้งสตาร์ทอัพของตนเองขึ้น หลังจบปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจจาก Abertay University ในสก็อตแลนด์ เขากลับประเทศบ้านเกิดที่จีนเพื่อทำงานในบริษัทซอฟต์แวร์และเกมออนไลน์ Kingsoft ที่ Beijing และเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางไปทั่วเอเชียแปซิฟิกในฐานะผู้อำนวยการแผนก Global Business ดูแลผู้จัดจำหน่ายสินค้าของบริษัททั้งในมาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย ฯลฯ

หลังจากนั้น Li ยังเติบโตในสายงานคล้ายคลึงเดิม คือการบุกเบิกและกรุยทางให้บริษัทต่างๆ สามารถขยายตลาดในเอเชียแปซิฟิกได้ เขาย้ายไปทำงานให้กับ Garena (เปลี่ยนชื่อเป็น SEA Group ในภายหลัง) บริษัท Changyou.com บริษัทเกมออนไลน์จีนที่จดทะเบียนใน New York ก่อนจะข้ามสายจากบริษัทเกมมาดูแลแผนกเพย์เมนต์ของ Baidu

ประสบการณ์การทำงานทั้งหมดทำให้ Li อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้มา 18 ปีแล้ว เขาสามารถพูดภาษามาเลย์ อินโดนีเซียน และไทยได้พอสมควร และแม้กระทั่งมีบ้านอยู่ในกรุงเทพฯ ด้วย

ที่ Baidu นี่เองที่ทำให้เขาเห็นโอกาสของฟินเทคโดยเฉพาะในตลาดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Li จึงก่อตั้ง Silot ร่วมกับเพื่อนอีก 3 คนเพื่อชิงจังหวะโอกาส

ผมหวังว่าตัวเองจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศที่อาศัยอยู่ได้ ผมมองว่าตัวเองจะพึงพอใจก็ต่อเมื่อช่วยให้คนได้ประโยชน์ มากกว่าที่จะสร้างรายได้หลายพันล้านให้กับตัวเอง” Li กล่าว

Li ยังสร้างสตาร์ทอัพแห่งนี้ให้เหมาะกับการขยายตัว โดยรวบรวมทีมงาน 60 คนจากหลายประเทศให้มากที่สุดเรามีทีมงานจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ รวมถึงชาวจีน ญี่ปุ่น อเมริกัน อิตาเลียน ดังนั้นทีมของเรามีความหลากหลายอย่างมากและสามารถทำงานร่วมกันจากทุกที่บนโลก

 

ยิงให้เข้าเป้า

โครงการตัวอย่างที่เป็นความภูมิใจของเขาและเป็นผลงานนำเสนอลูกค้าคือการทำงานร่วมกับกรุงศรี ฟินโนเวต เมื่อต้นปี 2561 เขาได้รับการแนะนำให้รู้จักกับกรุงศรีฯ และได้พัฒนา โครงการ QR Code Payment ข้ามประเทศ ให้ลูกค้าที่ใช้แอพพลิเคชั่นชำระเงินบนมือถือสามารถสแกน QR Code ของกรุงศรีฯ ในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อชำระเงินได้ทันที ไม่ต้องพกเงินสด และไม่ต้องใช้บัตรเครดิต

เราภูมิใจในโครงการนี้มากเพราะเป็นผลงานที่ทำให้เราเปลี่ยนลูกค้ามาเป็นหนึ่งในผู้ลงทุนสำเร็จ” Li กล่าว

ทั้งนี้ แซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ กรุงศรี ฟินโนเวต กล่าวกับ Forbes Thailand ว่า ขณะนี้กรุงศรีกำลังร่วมกับ Silot เพื่อใช้ AI มาตอบโจทย์การเจาะกลุ่มลูกค้าให้แม่นยำขึ้น เป็นตัวช่วยสำหรับเซลส์หรือการทำการตลาดให้ตรงเป้าหมายซึ่งช่วยลดทั้งต้นทุนการเงินและเวลา

ยกตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้การเสนอสินเชื่อหรือบัตรเครดิตแก่ลูกค้ามี conversion rate ที่ลูกค้าจะสมัครจริงเพียง 10-20% แต่เมื่อใช้ AI ในการระบุผู้ที่มีแนวโน้ม เราหวังว่า conversion rate จะเพิ่มขึ้นเป็น 60-70% เพราะไม่ต้องหว่านแหอีกแล้วแซมกล่าวเสริมว่า ปัจจุบันอยู่ในขั้นทดลองใช้งานและเชื่อว่าปลายปีจะเริ่มเห็นผลว่าเป็นไปตามเป้าหรือไม่

แซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด

เขายังกล่าวถึงการตัดสินใจลงทุนกับ Silot ว่า แม้ในจีนจะมีฟินเทคที่พัฒนาโมเดลธุรกิจดิจิทัล โซลูชันส์อยู่มาก แต่ Silot แตกต่างจากบริษัทจีนอื่นๆ ที่มีการปรับตัวเป็นสากลโดยทำงานเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด

รวมถึงจากการร่วมงานกันมาทำให้ทราบว่าสามารถทำงานเข้ากันได้ดี อีกทั้งยังมั่นใจในความสามารถของทีมซึ่งมีพื้นฐานประสบการณ์จากบริษัทเทคโนโลยี และการันตีผลงานด้วยการคว้ารางวัลชนะเลิศจากงาน VISA Everywhere Initiative 2018 ทำให้กรุงศรี ฟินโนเวตร่วมลงทุนกับ Silot ไปแล้ว 2 ล้านเหรียญ และยังเป็นผู้ชักชวนบริษัท SBI Holdings ให้ร่วมลงทุนอีก 4 ล้านเหรียญ

 

Silot ไม่ยึดโยงกับเทคโนโลยีเดียว

เงินลงทุนทั้งหมดนั้นเป็นฐานที่ Li จะใช้ในการขับเคลื่อนบริษัทสู่ระดับโลก โดยภายใน 1 ปีจากนี้พวกเขาจะลงหลักปักฐานในจีนและอินเดีย และแม้ว่าตลาดเหล่านั้นจะเป็นตลาดใหญ่แข่งขันสูง แต่ Li เชื่อว่าบริษัทของเขาจะเข้าสู่ตลาดด้วยมุมมองที่แตกต่าง

แม้ว่าเราจะเป็นบริษัทเทคโนโลยี แต่เราไม่ได้คิดบนพื้นฐานของเทคโนโลยีอย่างใดอย่างหนึ่ง เราคิดถึงโจทย์และใช้เทคโนโลยีที่หลากหลายมาสร้างความเปลี่ยนแปลง ฟินเทคหลายแห่งมักจะมีพื้นฐานจากการพัฒนาเทคโนโลยีบางอย่าง เช่น บล็อกเชน AI ซึ่งพวกเขาจะพยายามนำเทคโนโลยีของตัวเองไปใช้ในทุกๆ โจทย์ที่ได้ ดังนั้นประเด็นของเรื่องนี้คือมุมมองที่ต่าง” Li อธิบาย

Andy-Li-Silot-Profile-02

เราถามเขาว่า ประเทศไทยอยู่ในระดับไหนสำหรับโลกดิจิทัล แบงค์กิ้ง เขาคิดไตร่ตรองสักครู่หนึ่งก่อนจะบอกว่า ประเทศไทยมีข้อดีที่ภาครัฐมีความตื่นตัวและผลักดัน ผนวกกับการยอมรับของลูกค้า จากข้อดีของการใช้ระบบดิจิทัลมาช่วยให้ธนาคารคิดเร็วขึ้น ลูกค้าย่อมพึงพอใจ ดังนั้น เขาเชื่อว่าระบบการเงินในไทยจะใกล้เคียงกับประเทศจีนยุคนี้ภายใน 1-2 ปี

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขาห่วงคือคอขวดในการพัฒนาที่จะเกิดขึ้น ในไทยมีบุคลากรไม่มากที่ลงลึกด้านเทคโนโลยี ในมหาวิทยาลัยมีสาขาที่เกี่ยวข้องกับ AI ไม่มากถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ ดังนั้นอนาคตประเทศนี้จะเติบโตอย่างรวดเร็วไปสู่คอขวดเมื่อบริษัทต่างชาติจำนวนมากเข้ามาบุกตลาด แต่ไม่มีบุคลากรในประเทศมากพอที่จะตอบสนอง” Li ทิ้งท้าย

  ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine