เมื่อช่องว่างของโลกการตลาดเปิดกว้างสำหรับเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การตลาดในโลกดิจิทัล ชิตพล มั่งพร้อม และทีมงานจาก 6 สาขาทั่วโลก พร้อมสร้างเส้นทางลับทางการตลาดจากเทคโนโลยี 'อรุณ' ที่แปลงพฤติกรรมต่างๆ ของผู้บริโภคเป็นข้อมูลสำคัญที่ตรงใจผู้บริโภค
ชิตพล มั่งพร้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร
บริษัท อินเตอร์เน็ต เบส บิซิเนส กรุ๊ป (ไอบีจี) จำกัด ผู้นำ Zanroo มาร์เท็คสตาร์ทอัพแห่งแรกของไทยไปสร้างความสำเร็จในหลายภูมิภาคทั่วโลก ที่ปัจุจบันพาธุรกิจสู่รายได้หลักพันล้านบาท นอกจากเป้าระยะใกล้ที่ทำทุกวันให้ดีที่สุดแล้ว การพาบริษัทสู่ระดับยูนิคอร์น (บริษัทที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1 พันล้านเหรียญฯ ขึ้นไป) เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่เขาวางไว้
จากช่องว่างในธุรกิจยุคดิจิทัล
ชิตพล มั่งพร้อม วิศวกรรมศาสตรบัณทิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เท้าความถึงจุดเริ่มต้นเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมาจากพนักงานบริษัทสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจในฐานะสตาร์ทอัพ ด้วยเห็นช่องว่างของธุรกิจไทยที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัลและชักชวน จนได้ผู้ร่วมก่อตั้งชุดแรก 5 คน อาทิ
อุดมศักดิ์ ดอนขำไพร ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี Zanroo ผู้พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถประมวลข้อมูลบนโลกออนไลน์ที่ประมวลข้อมูลทางการตลาดเพื่อหาผู้บริโภคตัวจริง โดยพวกเขาให้ชื่อว่า
“อรุณ”
“เรามองหาธุรกิจที่ทำแล้วเติบโตอย่างไม่สิ้นสุด ยิ่งในโลกอนาคตทุกแพลตฟอร์มรอบตัวเราจะถูกเชื่อมต่อเข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์ ผมหวังว่าการทำธุรกิจชิ้นนี้จะช่วยให้ลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ๆ อย่าง ธนาคาร ร้านอาหาร ร้านสะดวก แบรนด์เสื้อผ้าซื้อได้ประโยชน์สูงสุดเพื่อนำไปต่อยอดในการดูแลลูกค้า” ชิตพล มั่งพร้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท อินเตอร์เน็ต เบส บิซิเนส กรุ๊ป (ไอบีจี) จำกัด เผย
สิ่งที่ระบบปฏิบัติการ
“อรุณ” ทำคือการนำข้อมูลจากแหล่งผู้บริโภคโดยตรง วิเคราะห์จากไลฟ์สไตล์ ความสนใจ และพฤติกรรมบนโลกออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ในยุค IoT (Internet of Things) ที่บอกได้ว่าคนคนนั้นตื่นกี่โมง เริ่มเล่นโทรศัพท์เมื่อไร รูปแบบการเดินทางเป็นอย่างไร ซึ่งข้อมูลอันเป็นประโยชน์ตรงนี้นำมาสู่ต่อยอดเพื่อทำการตลาด “ถ้าคิดจะทำการตลาดให้ได้ผลตอบรับที่ดีควรมีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วย”
ชิตพล กล่าวเสริม
สร้าง Zanroo จากศูนย์สู่มูลค่าพันล้านบาท
Zanroo จัดตัวเองอยู่ใน MarTech Startup ที่นำเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยในการทำงานด้านการตลาด อาทิ ระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการส่งตรงโฆษณาหรือโปรโมชั่นในแต่ละแคมเปญให้ถูกกลุ่มเป้าหมาย โดยมี กรุงเทพฯ เป็นสำนักงานใหญ่ และในต่างประเทศ Kuala Lumpur ประเทศมาเลเซีย, สิงคโปร์, Jakarta ประเทศอินโดนีเซีย, Tokyo ประเทศญี่ปุ่น และ London อังกฤษ ทั้งยังได้รับมาตรฐาน ISO/IEC 27001:2013 ในการป้องกันข้อมูลของลูกค้า
ช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ชิตพลยอมรับว่าเขาลงมือฉายเดี่ยวในการตัดสินใจและหลายๆ ครั้งเขาลงรายละเอียดเองทั้งหมด ซึ่งทิศทางการเติบโตของ Zanroo ทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในวันนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ได้มาง่ายๆ “ในช่วงเริ่มต้นไม่มีวันไหนที่ไม่เหนื่อย แต่ก็ไม่มีวันไหนที่รู้สึกท้อหรืออยากจะเลิก เพราะภาพของธุรกิจที่ปลายทางมันชัดเจนจนอยากเร่งทำให้สำเร็จ”
ชิตพล กล่าวและเสริมว่า
“ช่วงต้นปัญหาหลักของแสนรู้คือการโน้มน้าวใจให้พาร์ทเนอร์เชื่อมั่นว่าเราคิดใหญ่และสามารถทำใหญ่ได้สำเร็จ ถัดมาก็คือการสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นกับลูกค้า เพราะเราทำงานแบบ No Brand No Product ทุกอย่างเน้นหนักที่ความเชื่อมั่น”
เป้าเดียวและเป็นเป้าที่สำคัญที่สุดของเขาในช่วงเริ่มต้นคือทำอย่างไรให้ได้ลูกค้ารายแรกและเมื่อเริ่มมีลูกค้าในมือ เขาได้กำหนดแผนงานการขยายธุรกิจโดยเป้าหมายที่สอง คือ การขยายธุรกิจออกนอกประเทศให้ได้ เป้าหมายที่สามคือ การขยายสาขาให้เกิน 5 ประเทศ เป้าหมายที่สี่คือการสร้างทีมให้แข็งแกร่งควบคู่กับการทำให้ลูกค้าต่อสัญญาอย่างต่อเนื่อง
“ตอนนี้เป้าหมายทั้งสี่ถือว่าแสนรู้ทำสำเร็จไปเป็นที่เรียบร้อย เราได้วางเป้าหมายที่ห้านั่นคือการขยายทีมไปสู้กับระดับโลกอย่างอเมริกาและจีน ซึ่งเป้าหมายนี้นี้นำไปสู่เป้าหมายที่หกนั่นคือการระดมทุนให้ได้มากยิ่งขึ้น”
ชิตพลกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่าปีที่แล้วเราระดมทุนได้ 7.4 ล้านเหรียญ เทียบเป็นเงินไทยที่ราว 250 ล้านบาท ซึ่งทันทีที่ได้มาเขาเริ่มต้นสร้างทีมทันที พร้อมกับเปลี่ยนตัวเองเป็น Coaching เพื่อให้ได้คนที่สามารถทำงานแทนเขา คิดคล้ายกัน กังวลในเรื่องเดียวกัน และพร้อมลุยไปข้างหน้าเพื่อให้ได้มาในสิ่งเดียวกัน
“แสนรู้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2556 ในทุกปีเราจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 200-300 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มูลค่าของแสนรู้ในปี 2560 เกินพันล้านบาทไปเป็นที่เรียบร้อย ด้านยอดขายแค่การทำงาน 5 เดือนแรกของปีนี้เราชนะปี 2560 ทั้งปี” ชิตพลกล่าวและเสริมว่า
“ตอนนี้ถือว่าเราทำงานง่ายขึ้นเมื่อเทียบกับในยุคเริ่มแรก เพราะลูกค้ามีความเข้าใจในเรื่องของ Marketing Trend มากกว่าเดิม ส่วนตัวผมมองว่าตลาดโลกในยุคนี้คุยกันแค่ 3 เรื่องคือ AI, Blockchain และ Personalized ซึ่งเรื่อง Personalized ถือว่าสำคัญมากเพราะเป็นการทำการตลาดแบบ 1 ต่อ 1 ค้นหาว่าคุณชอบอะไร และยิงโฆษณาในสิ่งที่คุณชอบต่างจากยุคก่อนที่จะยิงผ่านโทรทัศน์ ไม่ว่าใครจะชอบอะไรก็รับรู้ในเรื่องเดียวกันหมด
แต่การสร้างโฆษณาแบบ Personalized ไม่สามารถทำได้ด้วยด้วยมนุษย์ เพราะมันเท่ากับว่าคุณต้องใช้พนักงานหลายล้านคนมาคอยมอนิเตอร์ว่าแต่ละคนบนโลกนี้มีไลฟ์สไตล์อะไร เที่ยวแบบไหน ชอบกินอะไร ดังนั้นเราควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ M2M ให้เครื่องจักรกับเครื่องจักรสื่อสารกัน ซึ่ง แสนรู้ เองก็ถือว่าพร้อมอย่างเต็มที่สำหรับตรงนี้”
หลักคิดที่เป็นระบบ
ชิตพล เองได้วางทิศทางของ Zanroo ด้วยเป้าธุรกิจหลักสองข้อที่ชัดเจน คือการสร้างบริษัทให้โตและสร้างทีมงานที่ใช่ที่สุด
“หน้าที่ของผมมีอยู่สองข้อหลักๆ คือทำอย่างไรให้บริษัทโตมากกว่าปีที่แล้ว และโฟกัสที่เรื่องคนทำอย่างไรให้ได้ทีมที่ใช่ที่สุด”
“ที่ผ่านมาเรากล้าตัดสินใจ แสนรู้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งผมมองว่ามาจากการที่เรากล้าขยายสาขาตั้งแต่ต้น ถ้าวันนั้นเราไม่ตัดสินใจแบบนี้ จะยิ่งทำให้กดดันและไม่มีการกระจายความเสี่ยง แม้ตอนนี้ถึงบางประเทศเราอาจจะแพ้แต่ในบางประเทศเราก็ชนะ นั่นก็ทำให้เราสบายใจและพร้อมลุยกับทุกอย่าง” ชิตพลกล่าวและเมื่อถามถึงความสำเร็จระดับยูนิคอร์น เขาตอบเสริมว่า
“การเป็นยูนิคอร์นถือว่าเป็นการสร้าง Value ให้กับธุรกิจ แต่ไม่ได้เป็นหลักยืนยันว่าคุณจะประสบความสำเร็จ สิ่งที่จะยืนยันได้คือการลงมือทำอย่างต่อเนื่องและไม่หยุด คุณต้องสร้างทีมให้แข็งแกร่งแข่งกับเวลา เพราะยุคนี้ยิ่งเร็วก็ยิ่งชนะ ดังนั้นคู่แข่งของผมจึงไม่ใช่ธุรกิจมาร์เท็คใดๆ เลย แต่เป็นการเอาชนะตัวเองให้ได้”
Zanroo เองมี Core Value และหลักการณ์ที่เรียกว่า
“D O I T” แบ่งออกได้เป็นสองความหมายคือ
"ทำมัน" และ
“ทำ IT” ซึ่งเมื่อแยกแต่ละตัวอักษรออกมาออกมายังสามารถชี้แนะแนวทางในการทำงานได้อีก นั่นคือ
D หมายถึง Don’t Blame อย่าไปโทษใครหรือมัวแต่โยนความผิด แต่ให้ช่วยกันแก้ปัญหา
O มาจาก Opportunity ทางทีมพร้อมส่งคนไปดูงานในที่ต่างๆ และให้โอกาสเขาไปเติบโตในหลายประเทศ
I คือ Innovation ที่ต้องถูกใจลูกค้า และทุกคนในองค์กรจะต้องช่วยกันแชร์ในสิ่งที่ได้เรียนรู้มาเพื่อให้ทุกคนทันโลก และขยับไปข้างหน้าได้ สุดท้าย
T คือ Team “อย่างที่บอกผมจะสร้าง Team แข่งกับ Time”
ทั้งนี้ชิตพลยังเผยถึงหลักคิดส่วนตัวในการบริหารงาน เขายอมรับว่าตนเองไม่มีคติพจน์ในการทำงาน แต่ทุกครั้งที่มีปัญหาในการทำธุรกิจเขามักจะจุดทุกเรื่องลงในการกระดาษและวิเคราะห์หาเหตุผลกันสิ่งๆ นั้น
“หลายครั้งเวลาที่มีปัญหาผมจะลิสต์ความกลัวออกมาเป็นข้อๆ เอาให้เห็นภาพไปเลยว่าความกลัวของเรามีอะไร และอะไรคือปัญหา ซึ่งเมื่อทำให้เห็นภาพชัดก็จะแก้ปัญหาได้ตรงจุด และบางครั้งเราก็ได้รู้ว่าหลายอย่างกลัวไปเองทั้งนั้น (หัวเราะ)” ชิตพลกล่าวก่อนทิ้งท้ายเพื่อแบ่งปั่นความยากลำบากบนเส้นทางความสำเร็จที่มีในวันนี้
“จากประสบการณ์ในช่วงเริ่มต้น ผมอยากให้สตาร์ทอัพโฟกัสที่ลูกค้าเป็นหลัก ไม่ใช่นักลงทุน บิสิเนสแพลน หรือโปรดักส์ เพราะนักลงทุนหาเมื่อไหร่ก็ได้ที่คุณมีลูกค้า แพลนในการทำธุรกิจก็เปลี่ยนได้เสมอถ้าคุณมีลูกค้าเยอะขึ้น และโปรดักส์ ถึงแม้จะเริ่มต้นจากเราแต่ก็ควรปรับเปลี่ยนตามความต้องการของลูกค้า ดังนั้นลูกค้าคือส่วนสำคัญที่สุด และเขาจะเป็นเครื่องชี้วัดที่ดีที่สุดด้วยสิ่งที่คุณกำลังทำเวิร์คแค่ไหน เพราะเขาคือกลุ่มคนที่ใช้งานจริง”
“อย่าหลงเสน่ห์กับเงินลงทุน และโฟกัสกับโปรดักส์ จนลืมลูกค้า” ชิตพล มั่งพร้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร Zanroo กล่าวทิ้งท้าย
ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ Zanroo