คนไทย 53% ที่เปิดดูหน้าเว็บไซต์ผ่านโทรศัพท์มือถือจะกดปิดหน้าเว็บนั้นทันที หากต้องรอการแสดงผลมากกว่า 3 วินาที แต่ค่าเฉลี่ยการแสดงผลของหน้าเว็บไซต์ไทยบนมือถือ ต้องใช้เวลารอถึง 12 วินาที!
นี่คือสถิติสำคัญที่
Google ประเทศไทยนำเสนอในวันนี้ และเป็นต้นเหตุของการพัฒนาเครื่องมือ
Test My Site ซึ่งช่วยวิเคราะห์การแสดงผลหน้าเว็บไซต์บนจอมือถือว่า มีความ
Mobile-friendly หรือเป็นมิตรต่อผู้ใช้งานผ่านจอมือถือ มากน้อยเพียงใดจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน โดยวัดจากหัวข้อต่างๆ เช่น รูปแบบการแสดงผลเมื่อเปิดบนมือถือ เวลาที่ใช้รอในการแสดงผล และสามารถส่งรายงานฉบับเต็มไปที่อีเมล สะดวกต่อการส่งต่อให้กับผู้พัฒนาเว็บไซต์ใช้แก้ไขจุดบกพร่อง
Ghislain Le Chatelier ผู้อำนวยการประจำภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โซลูชันส์การตลาด
Google และ
ศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย หัวหน้าฝ่ายการตลาดภาคธุรกิจ
Google ประเทศไทย ร่วมกันนำเสนอความสำคัญของการสร้างเว็บไซต์ที่สะดวกต่อการใช้งานบนมือถือว่า ปัจจุบันชาวไทยมีสมาร์ทโฟน 50 ล้านเครื่อง และ 90% ของพื้นที่ประเทศไทยมีสัญญาณ 3G/4G เข้าถึง แม้แต่ตามต่างจังหวัดหรือกลุ่มผู้สูงอายุส่วนใหญ่ก็มีการใช้งานสมาร์ทโฟนเรียบร้อยแล้ว ทำให้ในเชิงโครงสร้างพื้นฐานคนไทยพร้อมที่จะใช้งานเว็บไซต์ผ่านโทรศัพท์มือถือ
สะท้อนออกมาเป็นสถิติว่า ชาวไทยใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือวันละ 6.2 ชั่วโมง เป็นตัวเลขที่สูงมากเพราะคิดเป็น 1 ใน 4 ของเวลาที่คนๆ หนึ่งมีในแต่ละวัน
Ghislain กล่าวว่า กิจกรรมที่คนไทยทำบนโลกออนไลน์ผ่านมือถือ คือ 80% ใช้ในการค้นหาข้อมูล อีก 88% ใช้ในการรับชมวิดีโอในทุกแพลตฟอร์ม และ 59% ใช้ซื้อสินค้าออนไลน์ และ
ศารณีย์ ยังเสริมด้วยว่า คนไทย 83% เลือกค้นหาข้อมูลสินค้านั้นก่อนจะตัดสินใจซื้อ รวมถึง 63% ของการค้นหาดังกล่าวเกิดขึ้นบนจอมือถือ
ตัวเลขเหล่านี้เองที่ทำให้ Google เล็งเห็นโอกาสของ
ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMBs: small and midsize businesses) นอกจาก Google ต้องการจะส่งเสริมให้ธุรกิจเปิดหน้าเว็บไซต์ออนไลน์แล้ว ปัจจุบันยังต้องปรับให้เป็นมิตรต่อการแสดงผลบนจอมือถือด้วย เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภค
“ในประเทศไทยมีธุรกิจระดับ SMBs ถึง 2.7 ล้านราย คิดมูลค่าเป็น 40% ของ GDP ประเทศ 20-30 ปีที่ผ่านมานักการตลาดมีเป้าหมายคือให้แบรนด์สินค้าไปอยู่ในทุกจุดที่คนใช้ชีวิตอยู่ ซึ่งปัจจุบันจุดๆ นั้นได้เข้าไปอยู่ในกระเป๋าของทุกคนแล้ว มือถือและอินเทอร์เน็ตได้เปลี่ยนแปลงตลาดของ SMBs เพราะคำว่าตลาดท้องถิ่นได้แปลความหมายไปถึงทั่วโลกตราบใดที่ลูกค้าค้นหาคุณเจอบนออนไลน์และคุณขนส่งสินค้าไปถึงเขาได้ และราคาการโฆษณาบนออนไลน์ก็ถูกกว่าสื่อดั้งเดิมมาก แต่ SMBs ที่พัฒนาหน้าเว็บ mobile-friendly ยังค่อนข้างน้อย”
Ghislain กล่าว
ที่ผ่านมา Google มีเครื่องมือช่วยทำการตลาดออนไลน์ 4 อย่าง คือ
1.Google Trends ใช้ตรวจสอบว่าคนบนโลกอินเทอร์เน็ตกำลังให้ความสนใจประเด็นอะไร และหัวข้อใดที่กำลังเป็นกระแสขณะนี้
2.Google AdWords โฆษณาบนเว็บไซต์ ใช้เพื่อเชื่อมไปสู่ลูกค้าที่น่าจะสนใจสินค้าหรือเว็บไซต์ของคุณ
3.Google Analytics ตรวจสอบเว็บไซต์ว่ามีคนกลุ่มใดเข้าใช้งานเว็บไซต์บ้าง
4.Google Global Market Finder สำหรับธุรกิจที่ต้องการส่งสินค้าไปทั่วโลก สามารถตรวจสอบได้ว่าสินค้าชนิดนั้นกำลังเป็นที่นิยมในพื้นที่ใด
และในปีนี้
ศารณีย์ กล่าวว่า Google ประเทศไทยจะมีเครื่องมือเพิ่มอีก 2 อย่างคือ
Test My Site ที่เปิดตัวเป็นภาษาอังกฤษเมื่อปี 2016 แต่ขณะนี้ได้เปิดฟังก์ชันภาษาไทยแล้ว และให้บริการฟรีผ่าน
https://testmysite.thinkwithgoogle.com/intl/th-th/ และเครื่องมือ
Mobile Site Creation with SMBs เป็นบริการให้กับลูกค้า Google AdWords (เฉพาะลูกค้าใหม่) สามารถติดต่อผ่าน Google เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้เป็นมิตรต่อการแสดงผลบนหน้าจอมือถือโดยเอเยนซี่ที่เป็น Google Partner ซึ่ง Google จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้บางส่วน
Forbes in Details
ศารณีย์ ยังให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า SMBs ควรจะยึดหลัก 4 ข้อนี้เป็นสำคัญในการพัฒนาเว็บไซต์ คือ
1) Be there เพราะ 70% ของคนไทยจะเปรียบเทียบสินค้าหรือเว็บไซต์เพียง 2-3 แห่งเท่านั้น แปลว่าหากค้นหาผ่าน search engine คนส่วนใหญ่จะเปิดดูการแสดงผลแค่เพียงหน้าแรก ดังนั้นหน้าเว็บไซต์ของคุณควรจะต้องอยู่ภายในหน้าแรกเท่านั้น
2) Be useful เช่น หากต้องการส่งสินค้าไปทั่วโลก เมื่อชาวต่างชาติคลิกลิงก์เข้ามายังหน้าเว็บแล้วจะต้องพบภาษาที่เขารู้จักทันที
3) Be quick เป็นข้อที่สำคัญที่สุด จากสถิติที่คนไทยจะออกจากหน้าเว็บภายใน 3 วินาทีหากไม่เริ่มแสดงผล ทำให้ต้องพัฒนาเว็บไซต์ที่แสดงผลให้เร็วที่สุด
4) Connect the dots แม้ 63% ของคนไทยจะค้นหาสินค้าหรือข้อมูลบนจอมือถือ แต่ในจำนวนนี้ 40% เมื่อจะสั่งซื้อจริงจะย้ายไปใช้งานบนคอมพิวเตอร์หรือไปที่หน้าร้าน