บล็อกเชน (Blockchain) เป็นคำที่วนเวียนอยู่รอบตัวเราในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผสมกับคำว่า Cryptocurrency หรือสกุลเงินดิจิทัล คำเหล่านี้อาจสร้างความสับสนให้ใครหลายคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ หรือฟินเทค แต่ความสำคัญของบล็อกเชนทำให้คนในวงการธุรกิจจำเป็นต้องเข้าใจเทคโนโลยีใหม่นี้ให้มากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ทำให้ บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ภายใต้
ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดงานเสวนาหัวข้อ
Faster Future Forum ขึ้น เพื่อเจาะลึกเทคโนโลยีบล็อกเชนและการนำไปใช้ซึ่งมากกว่าในวงการการเงิน
พลภัทร อัครปรีดี กรรมการผู้จัดการ หน่วยงาน Corporate Venture Capital
บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด รับหน้าที่ปูพื้นให้ผู้ร่วมฟังเสวนาทุกท่านมีความเข้าใจต่อบล็อกเชน และเห็นภาพกว้างมากขึ้นกว่าเดิม โดยเขาระบุว่า บล็อกเชนได้รับการขนานนามว่าเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกในทำนองเดียวกับอินเทอร์เน็ต และจะทำให้เราก้าวเข้าสู่ยุค
อินเทอร์เน็ต 2.0
แค่เพียงช่วง 14 เดือนที่ผ่านมา สตาร์ทอัพและธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพิ่มคุณค่าให้สินค้าและบริการมีมูลค่ารวมกันทั่วโลกกว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มีการประเมินว่าภายในปี 2025 ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.76 แสนล้านเหรียญ และจะพุ่งสูงกว่า 3.1 ล้านล้านเหรียญภายในปี 2030 ซึ่งนั่นใหญ่กว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันถึง 50%
อะไรคือบล็อกเชน
พลภัทรชี้แจงก่อนว่า ปัจจุบันยังไม่มีนิยามที่ยอมรับร่วมกันของบล็อกเชน แต่ตัวเขาจะพยายามอธิบายในมุมของตนเองและให้ง่ายที่สุด
“บล็อกเชนคือ ‘บัญชีที่บันทึกห่วงโซ่ของบล็อกที่เก็บข้อมูลจำนวนมาก’ บัญชีที่ว่าไม่ใช่แผ่นกระดาษที่เขียนตัวเลขหรือข้อมูลธรรมดา แต่มันใช้การเข้ารหัสข้อมูลที่ซับซ้อนซึ่งพัฒนามาจากเทคโนโลยี Cryptography(ทฤษฎีการเข้ารหัสข้อมูล) ขั้นสูง”
การทำความเข้าใจความหมายทั้งหมด เราจะต้องย้อนดูวิธีเก็บข้อมูลพื้นฐานที่เคยใช้กันมา นั่นคือยุคแรกของการเก็บข้อมูลจะเป็นแบบ “ฐานข้อมูลรวมศูนย์” (Centralized) ข้อมูลทุกอย่างถูกเก็บไว้ที่ศูนย์กลางไม่กี่แห่งที่ถือว่าเป็นแหล่งอันน่าเชื่อถือ เช่น รัฐบาล โรงพยาบาล ธนาคาร เป็นต้น และใครที่ต้องการข้อมูลจะต้องไปที่ศูนย์กลางเท่านั้น
ต่อมาเมื่อถึงยุคอินเทอร์เน็ต ทำให้เกิดการ “กระจายฐานข้อมูลแยกศูนย์” (Decentralized) ข้อมูลถูกเก็บในหลายๆ ที่มากขึ้น แต่การเชื่อมต่อแบบ peer-to-peer ก็ยังไม่เกิดขึ้น
บล็อกเชนนำมาปฏิวัติการเก็บข้อมูลตรงนี้ คือทำให้การเชื่อมต่อข้อมูลสามารถเชื่อมกันได้ทุกจุดเหมือนกับใยแมงมุม
(Distributed) เพราะมีการกระจายข้อมูลด้วยการทำซ้ำสำเนาขึ้นมาให้ใครก็ตามเข้ามาดูข้อมูลชุดนั้นๆ ได้
อย่างไรก็ตาม การที่ใครๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลนั้นได้ แต่ข้อมูลในบล็อกเชนเมื่อบรรจุไปแล้วจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทำลายไม่ได้ ทุจริตไม่ได้ เพราะต้องอาศัยการเห็นชอบร่วมกันของชุมชนว่านั่นคือข้อมูลที่ถูกต้องหากจะเปลี่ยนแปลงมัน ซึ่งทำให้บล็อกเชนเป็นเครือข่ายที่โปร่งใส
“มาถึงตรงนี้คุณอาจจะคิดว่า แบบนี้ใช้คนจำนวนหนึ่งไปยืนยันเปลี่ยนแปลงข้อมูลก็ได้นี่ ทางทฤษฎีแล้วใช่ แต่ในทางปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่นสกุลเงินดิจิทัล Bitcoin ซึ่งนำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปใช้ ปัจจุบันมีเหรียญ Bitcoin 1.9 หมื่น node อยู่ทั่วโลก สมมติว่าใครอยากจะเจาะฐานข้อมูล 51% ของ node ที่มีอยู่ จะต้องใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ 500 ตัวจึงจะเข้าถึงได้หมด ดังนั้น ข้อมูลที่คุณอยากจะเจาะเข้าไปอาจจะไม่มีค่าพอสำหรับเวลาและราคาที่สูญเสีย” พลภัทรอธิบายและสรุปว่า ด้วยเหตุนี้ข้อมูลในบล็อกเชนจึงมีความปลอดภัยยิ่งกว่าการเก็บไว้ในสมุดบัญชีส่วนตัวของคุณ
บล็อกเชนกับ Digital Identity
พลภัทรบอกว่า เทคโนโลยีการเก็บข้อมูลแบบบล็อกเชน ทำให้สามารถนำไปปรับใช้ได้ไม่สิ้นสุดในหลากหลายอุตสาหกรรม เขายกตัวอย่างประมาณ 7-8 วิธีการใช้งาน ซึ่ง
Forbes Thailand คัดส่วนหนึ่งมาให้ที่นี่
Digital Identity (อัตลักษณ์ในโลกดิจิทัล) คือการนำไปใช้แรกๆ ที่มีการคิดค้นขึ้นมาได้จากบล็อกเชน โดยพลภัทรยกตัวอย่างการทำงานของธนาคาร หากลูกค้าต้องการเปิดบัญชีส่วนบุคคล จากนั้นจะเปิดบัญชีสำหรับบริษัท หรือต้องการจะเปิดบัญชีกับธนาคารอีกแห่งหนึ่ง ล้วนต้องกรอกข้อมูลและส่งเอกสารซ้ำๆ เพราะข้อมูลไม่ได้มีการส่งต่อกันระหว่างธนาคารหรือแม้แต่ภายในธนาคารเดียวกัน
“ลองจินตนาการว่าข้อมูลที่คุณส่งให้แบงก์ทั้งหมดจะถูกนำขึ้นสู่บล็อกเชน และถูกยืนยันความถูกต้องจากการเข้าถึงของสาธารณะหรือในกรณีนี้อาจอนุญาตเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบข้อมูลซึ่งคุณเลือกไว้ให้เข้าถึงได้ เมื่อข้อมูลได้รับการยืนยันและใช้ได้กับทุกแบงก์ มันจะประหยัดเวลาและเงินให้กับคุณและธนาคารด้วย” พลภัทรกล่าว
นอกจากนี้ Digital Identity อาจนำไปใช้กับวงการโรงพยาบาลได้ด้วยในทำนองเดียวกับธนาคาร คือข้อมูลส่วนตัวของคนไข้บนบล็อกเชนจะสามารถเข้าถึงได้จากทุกโรงพยาบาลที่คุณอนุญาตให้เข้าถึง
บล็อกเชนกับ Music Streaming
ตัวอย่างต่อไปของการใช้บล็อกเชนคือวงการ Music Streaming ซึ่งเป็นบริการเล่นเพลงได้ไม่จำกัดบนแพลตฟอร์ม (โดยเสียค่าใช้จ่ายหรือให้ฟังฟรีเป็นบางส่วน) พลภัทรกล่าวว่า ด้วยบริการแบบนี้ทำให้ธุรกิจดนตรีเปลี่ยนจากเดิมที่ผู้ซื้อซื้อขาดและเป็นเจ้าของอัลบัม/เพลงนั้นๆ กลายเป็นการ “เช่า” ฟังเพลงนั้นๆ
“ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตเพลงกับแพลตฟอร์มให้เช่าเพลงก็เปลี่ยน แพลตฟอร์มจะให้ค่าลิขสิทธิ์อย่างไร จะวัดการใช้งานที่เกิดขึ้นจริงในระบบอย่างไรเพราะมันมีปริมาณมหาศาลมาก”
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Hugh McIntyre ในเว็บไซต์ FORBES รายงานว่า Spotify คือแพลตฟอร์มฟังเพลงสตรีมมิ่งออนไลน์ที่นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้แก้ปัญหา (โดยการซื้อกิจการสตาร์ทอัพด้านบล็อกเชนชื่อ Mediachain) จำนวนการฟังของ Spotify มีนับพันล้านครั้งต่อวัน และทำให้การจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ตรงกับเจ้าของเพลงที่ถูกต้องมีข้อผิดพลาด หรือบางครั้งข้อมูลของเจ้าของลิขสิทธิ์แท้จริงไม่ได้ถูกนำขึ้นระบบ การนำบล็อกเชนมาใช้จะทำให้การจ่ายค่าลิขสิทธิ์ถูกต้องแม่นยำและทุจริตไม่ได้
บล็อกเชนกับการระบุความเป็นเจ้าของ
พลภัทรกล่าวถึงการนำบล็อกเชนมาบรรจุข้อมูลทางการ เช่น โฉนดที่ดิน โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวเฮติเมื่อปี 2553 ที่กาชาดสากลได้รับเงินบริจาคจากทั่วโลกคิดเป็นมูลค่ากว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่จนถึงปี 2559 กลับมีการนำเงินไปสร้างบ้านช่วยเหลือประชาชนเฮติเพียง 6 หลัง
“แต่เหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้มีบ้านแค่ 6 หลัง เป็นเพราะแผ่นดินไหวทำให้โฉนดที่ดินที่ถูกเก็บไว้ในที่ทำการรัฐถูกทำลายไปหมดเช่นกัน เพราะฉะนั้นแม้ว่าคุณจะอยากช่วยสร้างบ้านสักหลังหนึ่งขึ้นมาใหม่ ก็จะมีแต่คนยืนยันว่านั่นเป็นที่ดินของตัวเองโดยไม่มีหลักฐานเอกสาร แต่ถ้าหากบล็อกเชนถูกใช้อย่างกว้างขวาง มันจะสามารถตรวจสอบเจ้าของที่ดินได้อย่างง่ายดายเพราะข้อมูลถูกเก็บไว้อย่างปลอดภัยในระบบออนไลน์”
ทั้งนี้ สำนักข่าว CNBC รายงานว่า แนวคิดดังกล่าวรัฐบาลอินเดียได้เริ่มศึกษาการนำไปใช้แล้วโดยร่วมกับสตาร์ทอัพ ChromaWay เนื่องจากอินเดียต้องต่อสู้กับการติดสินบนเจ้าพนักงานเพื่อปลอมแปลงเอกสารที่ดินมาเนิ่นนาน
แนวคิดเดียวกันนี้ยังปรับใช้กับการติดตามข้อมูลทรัพย์สินมูลค่าสูงต่างๆ เช่น อัญมณี กระเป๋า ชิ้นงานศิลปะ ฯลฯ ข้อมูลที่ฝังไว้ในบล็อกเชนทำให้ติดตามได้ว่าทรัพย์สินนั้นเป็นของจริงหรือไม่ เคยมีใครเป็นเจ้าของ และในบางกรณี ตรวจสอบได้ว่าเพชรเม็ดนั้นเป็นเพชรสีเลือด (Blood Diamond) ที่ได้มาอย่างผิดกฎหมายหรือไร้มนุษยธรรมหรือไม่
ทั้งหมดคือตัวอย่างการใช้บล็อกเชนที่เปลี่ยนแปลงทุกอุตสาหกรรมได้ พลภัทรสรุปว่า บล็อกเชนเปรียบเหมือนถนนหลวง โดยกิจกรรมต่างๆ ที่นำบล็อกเชนไปใช้ก็คือรถยนต์ที่วิ่งอยู่บนถนนนั่นเอง