Perry Rahbar อดีตนักค้าตราสารทางการเงินที่ผูกกับสินเชื่อบ้าน คือหนึ่งในคนวงในที่ได้เห็นยักษ์ใหญ่ทางการเงินอย่าง Bear Stearns ล่มสลายไปต่อหน้าต่อตา วันนี้เขาอยากที่จะช่วยให้นักลงทุนไม่ต้องเผชิญกับหายนะแบบนั้นในตลาดสินเชื่อแบบ marketplace
วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม 2008 คือวันสำคัญที่ประวัติศาสตร์โลกการเงินบันทึกไว้ว่า Bear Stearns ได้ประกาศตัวอย่างเป็นทางการ ว่าต้องการความช่วยเหลือทางการเงินจาก JP Morgan Chase และ Federal Reserve Bank of New York ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นดิ่งเหว ในขณะที่พันธบัตรของบริษัทก็ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงมาเกือบจะอยู่ในระดับ junk bond อย่างรอมร่อ เป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ Perry Rahbar นักค้าตราสารที่ผูกกับสินเชื่อบ้านวัย 25 ปี นั่งทำงานง่วนอยู่ที่โต๊ะทำงานของเขาไปจนถึงตี 4 ของวันใหม่ตรวจสอบระบบ IT ต่างๆ นับเป็นสิบๆ ระบบ และตาราง excel เป็นพันๆ แถวเพื่อที่จะระบุมูลค่าของพอร์ตสินเชื่อบ้านของบริษัทสำหรับคนที่อาจจะสนใจเข้ามาซื้อพอร์ตไป “ไม่มีใครมีปัญหากับกิจการของBear Stearns เลยเมื่อตลาดอยู่ในขาขึ้น” Rahbar บอก “แต่เมื่ออะไรต่ออะไรมัน ทำท่าจะไม่ดี และก็ไม่มีใครเข้าใจว่าภาระที่บริษัทแบกอยู่มันมีอยู่เท่าไหร่แน่มันก็กลายเป็นปัญหาขึ้นมา” แต่การนั่งทำงานยันเช้าในคืนนั้นก็ทำให้เขาได้เข้าใจอะไรต่อมิอะไรดีขึ้นมาก และสิ่งที่เขาได้รับก็ส่งผลดีกับเขาในเวลาเกือบสิบปีต่อมา โดยเมื่อสองปีก่อน เขาได้ก่อตั้งบริษัท DV01 ใน New York City เพื่อขายซอฟต์แวร์ที่ใช้สำหรับวิเคราะห์และรายงานผลการประเมินตลาดสินเชื่อแบบ peer-to-peer ที่กำลังบูมอยู่ในขณะนี้ ซึ่งโปรแกรมที่เขาพัฒนาขึ้นมานี้จะช่วยให้นักลงทุนสามารถติดตามข้อมูลการชำระคืนหนี้นับเป็นพันๆ บัญชีได้ภายในการคลิกเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น แพลตฟอร์มการกู้เงินแบบ peer-topeer หรือที่ในปัจจุบันเรียกว่าการปล่อยกู้แบบ marketplace lending เป็นส่วนหนึ่งของกระแสความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในโลกการเงิน ซึ่งเกิดขึ้นได้เพราะการมาถึงของเทคโนโลยียุคใหม่อย่าง big data, machine learning, และ cloud computing โดยนายทุนเงินกู้ยุคใหม่ใช้วิธีการคำนวณที่ซับซ้อนเพื่อการพิจารณาปล่อยเงินกู้ที่อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ ซึ่งในปัจจุบันมีแพลตฟอร์มการปล่อยกู้รูปแบบนี้สองแหล่งแล้วที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คือ Lending Club และ OnDeck Capital Rahbar ชายวัย 35 เชื้อสายอิหร่านซึ่งเติบโตมาจากย่าน Long Island และมีดีกรีเศรษฐศาสตรบัณฑิตจาก Emory University ใช้เวลาสองปีที่ผ่านมาเพื่อปั้นกิจการสตาร์ทอัพของเขาที่ย่าน Flatiron ใน New York City แรกเริ่มเดิมที การปล่อยกู้แบบ peer-to-peer เป็นการจับคู่นักลงทุนที่ต้องการจะปล่อยกู้กับผู้ที่ต้องการจะกู้เงินโดยตรงแต่เนื่องจากความต้องการกู้สูงขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้ต้องกลับไปใช้วิธีรวบสินเชื่อหลายพันบัญชีเข้าเป็นแพ็กเกจในรูปของหลักทรัพย์ที่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ แบบเดียวกับการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (securitization) ในตลาดหุ้น Wall Street โดย Lending Clubคือเจ้าแรกที่ทำดีลเช่นนี้เมื่อสามปีก่อน และไม่นานจากนั้นทั้ง Prosper, SoFi และ OnDeck Capital ก็ออกตาม จากข้อมูลของ PeerIQ พบว่าตั้งแต่ปี 2015 จนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2016 ยอดสินเชื่อที่มีการรวบเข้ามาอยู่ในรูปของหลักทรัพย์แบบนี้มีมูลค่ารวมสูงถึงประมาณ 1.1 หมื่นล้านเหรียญ ในช่วงที่ตลาดสินเชื่อบ้านกำลังบูมนั้น เรื่องการเก็บข้อมูลอย่างถูกต้องความโปร่งใส และวินัยทางการเงินถูกเก็บเข้าลิ้นชักไปก่อน เพราะทุกคนกำลังตื่นเต้นอยู่กับอัตราการเติบโตของตลาด ซึ่งการเติบโตอย่างรวดเร็วของการปล่อยกู้รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า marketplace นี้ก็เริ่มจะแสดงสัญญาณของปัญหาแบบเดียวกันแล้ว โดยเมื่อปลายปี 2015 Citigroup ได้ออกขายสินเชื่อกลุ่มหนึ่งของ Prosper อย่างรีบด่วน ซึ่งปรากฏว่าไม่เป็นที่สนใจของตลาด และเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Lending Club บอกว่าบริษัทได้ขายหลักทรัพย์มูลค่า 22 ล้านเหรียญไปให้กับนักลงทุนรายหนึ่งอย่างไม่เหมาะสมซึ่งก่อให้เกิดวิกฤติศรัทธา และทำให้หุ้นของบรรดาธุรกิจการปล่อยสินเชื่อในรูปแบบ marketplace ร่วงอย่างหนัก และนักลงทุนก็ต้องมานั่งงมอ่านรายงานแสนหนาเพื่อที่จะติดตามผลการชำระคืนเงินกู้ที่ปล่อยให้กับผู้กู้นับพันๆ ราย เพื่อประเมินความเสี่ยงของหลักทรัพย์ที่ตัวเองเข้าไปลงทุนเอาไว้ ตรงนี้เอง ที่ Lending Club ได้ขอให้ DV01 เข้ามามีส่วนในการทำดีลแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ โดยโปรแกรมของ DV01 สามารถประมวลผลสินเชื่อทั้งหมด 1,119,181 บัญชีของ Lending Club ซึ่งมีมูลค่าเริ่มแรกอยู่ที่ 1.66 หมื่นล้านเหรียญมาได้ครบหมด แยกตามเกรดของผู้กู้ตั้งแต่ A-G หรือแบ่งตามคะแนน FICO และสัดส่วนหนี้สินต่อทุน หรือตามกำหนดชำระ และยอดหนี้คงเหลือหรือจะแยกตามปัจจัยอื่นๆ อีกก็ได้ตามแต่ผู้ใช้งานจะกำหนด และเมื่อคลิกอีกแค่ไม่กี่ครั้ง DV01 ก็สามารถแสดงผลได้เลยว่ามีสินเชื่อ 17,358 รายการมูลค่าเริ่มแรก 276 ล้านเหรียญที่ผิดนัดชำระหนี้ “DV01 ช่วยให้คนเห็นภาพที่ชัดเจนว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริงๆ คืออะไร อะไรคือสาเหตุของปัญหา และทรัพย์สินก้อนไหนที่มีผลการดำเนินงานดี ในอดีต คุณไม่สามารถจะรับรู้ข้อมูลเหล่านี้ได้ง่าย ๆ หรอก”Rahbar บอกและเสริมว่า แต่ในปัจจุบัน นักลงทุนสามารถเปรียบเทียบข้อมูลทั้งหมดจากทั้งผู้ออกหลักทรัพย์ และผู้กู้ภายในเวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น โดยผู้ออกหลักทรัพย์จะส่งข้อมูลของสินเชื่อแต่ละรายการให้กับ DV01 เพื่อให้นักลงทุนสามาถติดตามผลการดำเนินงานของสินเชื่อแต่ละรายการได้รายวันเลยทีเดียว ในปัจจุบัน โปรแกรมที่พัฒนาโดย DV01 ของ Rahbar ถูกใช้เพื่อติดตามผลการดำเนินงานของสินเชื่อที่ปล่อยผ่าน Lending Club และผู้ออกหลักทรัพย์อื่นอีกแปดราย และเขามีจำนวนลูกค้าสถาบันในมือถึง 55 ราย ซึ่งเมื่อรวมลูกค้าทุกรายแล้วโปรแกรมของ DV01 ถูกใช้เพื่อติดตามผลการดำเนินงานของสินเชื่อที่มีมูลค่ารวมสูงถึง 3.4 หมื่นล้านเหรียญ ทั้งนี้ DV01 มีเงินทุนหนุนหลังอยู่ 7.5 ล้านเหรียญจาก Leucadia National (บริษัทแม่ของ Jefferies), Pivot Investment Partners และกองทุนอีกหนึ่งแห่งที่คุมโดย George Sorosคลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "ส่องนวัตกรรมใหม่ทางการเงิน สินเชื่อแบบ Peer-to-Peer" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มกราคม 2560