จากโจทย์ที่ 'วิเชียร งามสุขเกษมศรี' ได้รับคราวที่รับตำแหน่งเป็นแม่ทัพบริษัทซึ่งจำหน่ายสินค้า Factory Automation คือ การทำให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยเข้าสู่ระบบการผลิตอัตโนมัติเป็น e-Factory และพัฒนาเป็นโรงงานอัจฉริยะ
วิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น ประเทศไทย จำกัด (MELFT) จบการศึกษาด้านการตลาดจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และเทคคอร์สด้านการจัดการที่สิงคโปร์ 1 เดือน รวมทั้งคอร์สเกี่ยวกับ Entrepreneur Management Training ที่ญี่ปุ่นอีก 7 เดือน โดยระหว่างเรียนที่ญี่ปุ่นก็ทำงานไปด้วย
เขาเริ่มต้นชีวิตการทำงานที่ บริษัท นากาเซ่ จำกัด ในปี 2532 โดยรับผิดชอบสายงานอุตสาหกรรมหลายด้าน โดยทุกๆ 4-5 ปีจะเปลี่ยนสายงาน เริ่มจากงานวางแผนการตลาดและกำหนดยุทธศาสตร์ด้านเครื่องจักรอุตสาหกรรม อีก 5 ปีต่อมาดูแลด้านการบริหารและกำหนดยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตามมาด้วยงานบริหารและกำหนดยุทธศาสตร์ด้านอิเล็กทรอนิกส์, การบริหารและกำหนดยุทธศาสตร์ด้านวัตถุดิบและวัสดุสังเคราะห์ และบริหารและกำหนดยุทธศาสตร์ด้านวัตถุดิบ
ปี 2560 ขณะอายุ 50 ปี จึงขอเกษียณจากบริษัท เพราะต้องการความท้าทายใหม่ๆ อยากทำงานที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศโดยเน้นงานที่เป็นอุตสาหกรรมอนาคต และได้รับการทาบทามให้ทำงานที่ MELFT ซึ่งอยู่ในสายงานการสร้างโรงงานอัจฉริยะ คือการใช้อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ หุ่นยนต์ รวมกันให้เกิดระบบอัตโนมัติ ช่วงแรกรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการและร่างแผนกำหนดยุทธศาสตร์สำหรับระบบโรงงานอัจฉริยะ รวมถึงนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในประเทศ และขยายผลโดยการสอนวิศวกร นักเรียนนักศึกษาไทยให้ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีข้างต้น อีก 1 ปีต่อมาได้รับเชิญจากสำนักงานใหญ่ให้เป็นผู้บริหาร เขาตอบรับโดยมีเงื่อนไขว่า ขอให้ถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่อุตสาหกรรมไทย
“แบ็กกราวนด์ผมมาจากสายกลยุทธ์วางแผนแต่ละอุตสาหกรรม ทุก 5 ปีวางแผนอุตสาหกรรมใหม่จบแล้วก็เลิก แต่ตัวนี้ต่อยอดอุตสาหกรรมทั้งหมด เป็นส่วนเติมเต็มประเทศไทยด้วยก็เลยรับมา เพราะได้ประโยชน์ทุกคนไม่ได้แข่งกับใคร มาทำงานเดือนพฤษภาคม ปี 2560 ตอนนั้นเขาบอกมา survey ก่อน...ผมอยู่ในสายอุตสาหกรรมถนัดการวางกลยุทธ์และทางญี่ปุ่นบอกช่วยมาหน่อย พอดีมีอุตสาหกรรมใหม่จำเป็นต้องใช้คนที่มีพื้นฐานหลากหลายอุตสาหกรรม และ match กับเราพอดี”
เปลี่ยนการขายอุปกรณ์เป็นโซลูชัน
บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ MELFT เป็นบริษัทย่อยในกลุ่มบริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค ที่ก่อตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2556 โดยเป็นการควบรวมกิจการระหว่าง มิตซูบิชิ อีเล็คทริค และ บริษัท เอฟ.เอ. เทค จำกัด
MELFT นำเข้า จัดจำหน่ายสินค้าประเภท factory automation พร้อมให้บริการทั้งก่อนและหลังการขาย นำเสนอโซลูชันด้านระบบอัตโนมัติให้กับอุตสาหกรรมการผลิต ตัวอย่างกลุ่มผลิตภัณฑ์ เช่น คอมพิวเตอร์อุตสาหกรรมที่ช่วยประมวลผลข้อมูลการผลิตและการควบคุมอุปกรณ์ตามเวลาจริง, FA sensor เซ็นเซอร์อัตโนมัติในโรงงาน, drive products, หุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่เข้ากันได้กับผลิตภัณฑ์กลุ่ม factory automation รองรับการใช้งานด้านเทคโนโลยีขั้นสูง, power monitoring products เป็นต้น ส่วนโซลูชันให้บริการแยกตามประเภทอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ สาขาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สาธารณูปโภค อาหาร เรือ เครื่องบรรจุภัณฑ์ และให้บริการด้านเทคนิค ซ่อมบำรุง ให้คำปรึกษา และการฝึกอบรม
“บริษัทนี้เพิ่งเกิด 13 ปี แต่ Mitsubishi Electric Group ตั้งบริษัทในประเทศไทย 50-60 ปีแล้ว ผลิตภัณฑ์มีทั้งโรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ ชิ้นส่วนรถ โรงงานผลิตลิฟต์ และเซลส์ออฟฟิศยอดขายประมาณ 1.2-1.3 แสนล้านบาท พนักงาน 20,000 คน
“เราเป็น SBU ใหม่ในไทย ทำ factory automation ถ้าดูยอดรวมทั้งโลก SBU เราคือ อันดับ 1 บ่งบอกอะไรบางอย่าง ยอดขายทั่วโลกประมาณ 1.5 ล้านล้าน ตัวที่ทำ volume ใหญ่เป็นลิฟต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ ส่วนยอดขายในไทย 1.2 แสนล้านคิดเป็นเกือบ 10% ก้อนใหญ่รวมของทั้งโลก 1.5 ล้านล้าน แต่ SBU automation เป็นเบอร์ 1 ผมกำลังจะบอกว่า ธุรกิจ automation กับ robotic มานานแล้ว แทรกซึมในทุกอุตสาหกรรม”
บริษัทมีผลประกอบการเติบโตทุกปี โดยเฉพาะช่วงปีที่โควิดระบาดมียอดขายสูงที่สุด
“ปี 2565 เป็น record ประมาณ 1.5 พันล้าน ช่วงนั้นโควิดแรงๆ ขายดีสุดตั้งแต่เปิดมา โควิดมาทุกรายต้องการระบบมาช่วย เพราะไม่ต้องการให้คนมาร่วมทำงานกันเยอะ ก่อนผมมารายได้ประมาณ 600-700 ล้าน ปี 2566 ก็ 1.5 พันล้านบวกนิดหน่อย ผมวางตัวเลขถึงปี 2573 อยากได้ 2.4-2.5 พันล้านบาท”
ก่อนวิเชียรเข้ามารับตำแหน่ง บริษัทเป็น component sale เขามาปรับนโยบายว่าให้เน้นการขายเป็นโซลูชัน เพราะการขายชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ทีมงานจะโฟกัสเฉพาะตัวสินค้าไม่ได้คิดเผื่อลูกค้า เขาให้ปรับมายด์เซ็ตใหม่ เช่น แทนที่จะขายมอเตอร์ก็ถามลูกค้าก่อนว่า จะนำไปประกอบชิ้นส่วนไหน อุตสาหกรรมใด รวมทั้งวางตัวเองว่าเป็นผู้นำด้านออโตเมชั่น แต่การที่บริษัทจะก้าวไปไปในทิศทางดังกล่าวเบื้องต้นต้องมีการอัพสกิล รีสกิล พนักงานทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งทีมเอ็นจิเนียรริ่งเซอร์วิส ทีมการตลาด โดยเฉพาะทีมหลังซึ่งดูจะมีภาระหน้าที่มากกว่าเดิม
ใช้หลักตรีกิจผสานประโยชน์
คำว่า “ตรีกิจ” ประกอบด้วยภาคเอกชน รัฐกิจ และประชากิจ ซึ่งเป็นหลักคิดที่เขาได้จากสถาบันการสร้างชาติ “สถาบันฯ มีหลักตรีกิจ ซึ่งคือการสร้างชาติ ผมแค่บิดให้เป็นอุตสาหกรรมนี้เท่านั้นเอง” “ผมก็คุยกับ headquarter ว่า การจะเสนอขายสินค้าเป็น innovation เอาให้จบแบบครบม้วนมันยากมาก และที่ผ่านมาทำไม่ค่อยสำเร็จ ผมเสนอแนวคิดว่าการจะทำ innovation ให้สำเร็จๆ หมายถึงตั้งแต่คนคิดจนถึงปลายทาง ไม่ใช่ลูกค้าเจ้าเดียวแต่คือทั้งประเทศ ผมบอกเอาแนวคิดผมไปใช้คือตรีกิจ”
“การนำเอา 3 ภาคกิจมารวมกันแล้วคิดถึง triple win solution ประกอบด้วยรัฐกิจ ประชากิจ และธุรกิจ เป็นคีย์ที่ผมบอก...e-Factory คือ innovation อย่างหนึ่ง ถ้าเรานำเสนอแล้วเกิด triple win หมายความว่า มีประโยชน์กับทั้ง 3 ภาคกิจ จะเกิดแรงขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติ พลังของเราบวก ecosystem จะไม่เหนื่อยมาก พอเริ่มคีย์เวิร์ดตรงนั้นก็มาคิดจะเกิดผลประโยชน์เชิงสร้างสรรค์อย่างไร”
บริหาร 4 Assets
7 ปีที่ผ่านมาเป็นการวางรากฐานและทำเรื่องทรานสฟอร์ม ส่วน 7 ปีต่อไปนับจากปีนี้ภาพใหญ่คือ การสร้างเครือข่ายและโรงงานต้นแบบเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมนำไปต่อยอดได้ “ในอนาคตเราจะเป็น Circular Digital-Engineering” ซึ่งบริษัทได้ประกาศวิสัยทัศน์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ด้วยแนวทางการบริหารสินทรัพย์ซึ่งวิเชียรเรียกว่า 4 intangible assets ประกอบด้วย เทคโนโลยีของบริษัทและบริษัทแม่เพื่อสร้างมูลค่า, ลูกค้า, พาร์ตเนอร์ที่อยู่ในอีโคซิสเต็ม และเซลส์แอนด์เซอร์วิส
“การที่เราทำ solution ต่างๆ หรือแก้ pain point ให้ลูกค้า เช่น เปลี่ยนจาก human เป็น robot หรือเปลี่ยนไลน์การผลิตมูลค่าตรงนั้นคือ customer asset ซึ่งเราไปขยายผลสร้างประโยชน์ได้ เวลาเราทำอะไรต่างๆ ไม่ใช่ทำจบแค่ครั้งเดียวแล้วเลิก ส่วน partner asset เป็น ecosystem ที่อยู่ในกลุ่มพันธมิตรของมิตซูฯ ไม่ว่าจะเป็นด้าน software, hardware, system integrator เรามี ecosystem 100 กว่าบริษัท แต่ละแห่งเก่งไม่เหมือนกัน ถ้าบริหารได้จะมีคุณค่าในการต่อยอด”
“ทำไงจะบริหารจัดการ 4 assets เอามารวมกันเข้าสู่ digital space หรือข้อมูล AI รวมข้อมูลเหล่านี้ด้วยกัน วิเคราะห์ข้อมูล หา potential pain point หรือ potential requirement ของ customer เช่น สินค้าตัวนี้ลูกค้าเคยนำไปใช้แก้ปัญหา เรามีพาร์ตเนอร์ที่ชำนาญตรงนี้ ทำไมไม่นำไปขยายผลใช้กับลูกค้ารายอื่น นี่คือการเอาระบบ AI หรือที่อยู่ใน step 2 คือ create new value
สู่ step 3 นำ pain point สร้าง new solution เพื่อเข้าสู่ step 4 คือ การ return value สู่ลูกค้าทั่วโลก และหมุนเวียนเป็น Circular Digital-Engineering...ไม่ว่าสมัยไหนมันจะวนไปเรื่อยๆ หมุนหาความต้องการของมันเอง และกลับสู่ความต้องการของตลาด”ด้วยแนวทางนี้ทำให้มีโซลูชันใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งจะตอบทุกโจทย์ความต้องการของลูกค้า
เรื่อง: สินีพร มฤคพิทักษ์ ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์ และ MELFT
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สุทธิเดช ถกลศรี NEO ฉีกกรอบปันบิ๊กคอนซูเมอร์