สุวัฒน์ เหลืองวิริยะ มองเห็นโอกาสจากขยะที่ทุกคนหลีกหนี ขยะที่เกิดจากกระบวนการผลิตภายในโรงงานอุตสาหกรรมที่วันๆ หนึ่ง มีจำนวนมหาศาล ทว่ากลับเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับเขาถึง 1,905 ล้านบาทในปี 2562
20 กว่าปีก่อน
สุวัฒน์ เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ
BWG ตั้งบริษัทเพื่อบริหารจัดการขยะ และแตกแขนงออกมาอีกหลายแห่ง ล่าสุดสร้างโรงงานไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม 3 แห่ง
นายใหญ่
BWG เล่าถึงที่มาในการทำธุรกิจว่า ช่วงนั้นการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ขึ้นกับภาครัฐ ไม่ค่อยมีเอกชนดำเนินการในเรื่องนี้ เมื่อเขาได้ยินเพื่อนฝูงที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมปรารภว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมบังคับให้นำขยะไปกำจัดให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในประเทศมีเพียงรายเดียว เขาจึงคิดว่าน่าจะมีโอกาสทางธุรกิจ
หลังจากนั้นจึงได้ศึกษาและพบว่า ขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรมมีปริมาณใกล้เคียงกัน แต่ขยะชุมชนมีเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลบริหารจัดการแล้ว ประกอบกับประเมินว่า การจะทำให้ธุรกิจเติบโตต้องเน้นไปที่กลุ่มมีกำลังซื้อ แต่การจัดการขยะอุตสาหกรรมซึ่งถูกกำหนดโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ยังไม่มีเจ้าภาพ เขาจึงมุ่งมาที่กลุ่มเป้าหมายนี้ ช่วงแรกเน้นขยะไม่เป็นอันตราย และกำจัดด้วยวิธีฝังกลบ
“การเอาขยะออกจากโรงงานมีหลักเกณฑ์ ต้องได้รับการอนุญาตจากกรมโรงงาน ผู้รับกำจัดหรือให้บริการด้านนี้ต้องมีใบประกอบกิจการ เราเริ่มต้นที่ขยะไม่อันตราย และขยายเป็นขยะอุตสาหกรรมอันตราย...แต่ การทำตรงนี้มีความสัมพันธ์กับด้านอื่นเยอะ มักเจอปัญหามวลชน สิ่งที่เราต้องต่อสู้คือเรื่องนี้ วิธีการคือให้มาพิสูจน์ได้ ที่นี่ไม่ใช่แดนสนธยา มาศึกษาหรือทำแล็บเทสต์ เราทำตามมาตรฐานของภาครัฐและมาตรฐานโลก เป้าหมายเราไม่ได้ทำแค่หลุมขยะ แต่ช่วงบุกเบิกเดินแบบนี้ และต่อยอดธุรกิจออกมา”
สุวัฒน์เปิดเผยถึงแนวคิดในการทำธุรกิจ โดยพิจารณาจากรายชื่อโรงงานว่า ผลิตของเสียประเภทใดมากที่สุด มีจำนวนเท่าไร แล้วจึงเปิดบริษัทเพื่อรองรับ พูดง่ายๆ คือ หาตลาดก่อน
ผู้ก่อตั้ง
BWG ไม่ยืนยันคำถามที่ว่า เป็นรายใหญ่สุดของประเทศไทยหรือไม่ บอกเพียงว่าให้บริการครบวงจรที่สุด และว่าลำพังแค่ขยะอย่างเดียวทำธุรกิจได้มูลค่ามหาศาล
“ขยะที่เรารับมาทุกวัน landfill เต็ม ต้องหาทางเอาขยะออก ประเด็นคือ จะเอาไปทำอะไรที่ถูกกฎหมายและได้ตังค์ด้วย เรื่องนี้คิดมาตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน นั่นเป็นที่มาของการสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ซึ่งแตกต่างจากโรงไฟฟ้าทั่วไปที่ใช้ถ่านหินหรือน้ำมัน”
แต่ก่อนจะลงทุนตั้งโรงงานไฟฟ้า บริษัทได้มีการค้นคว้าวิจัยทำผลิตภัณฑ์ทดแทน
เชื้อเพลิงจากขยะ (refuse derived fuel: RDF) โดยรวบรวมข้อมูลลูกค้าโรงงานและจำแนกว่าแต่ละแห่งเป็นขยะประเภทไหน มีคุณสมบัติอย่างไร จำนวนเท่าไร หลังจากนั้นจะนำขยะประเภทต่างๆ มาผสมเข้าด้วยกันเพื่อหาสูตรค่าความร้อนที่เหมาะสมสำหรับเตาเผาขยะของโรงไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าของบริษัทต้องการพลังงานที่มีความร้อน 3,000-4,000 กิโลแคลอรี่ต่อ 1 กิโลแคลอรี่
ช่วงแรกบริษัทผลิต
RDF และส่งไปจำหน่ายที่โรงงานปูนซิเมนต์ภายในจังหวัดสระบุรี เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนถ่านหินหรือน้ำมัน โดยจำหน่ายไปในราคาตันละ 1,500-2,000 บาทต่อแท่งขนาด 1 ตัน ขณะที่ถ่านหิน ราคาตันละ 3,000-4,000 บาท ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงกว่า อีก 2-3 ปีถัดมาจึงเปิดบริษัทโรงไฟฟ้า และนำ
RDF มาใช้เป็นเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าแทน โดยเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้กับ กฟภ. ตั้งแต่ปลายปี 2562
BWG ซึ่งเป็นบริษัทแม่ได้ให้
ETC ยื่นคำขอจำหน่ายไฟฟ้าและแบบคำขอรับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (adder) ต่อ กฟภ. เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรมขนาดกำลังการผลิต 9.4 เมกะวัตต์ ธันวาคม 2557 กฟภ. เห็นชอบการรับซื้อไฟฟ้าและการขอรับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (adder) ในโรงไฟฟ้าของบริษัทฯ และต่อมาเปลี่ยนค่าตอบแทนใหม่เป็นรูปแบบ feed-in tariff (FiT) ระยะเวลาสัมปทาน 20 ปี
คู่คิดคนสำคัญของผู้ก่อตั้ง BWG คือ
เอกรินทร์ เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์
(ETC) ซึ่งเป็นพี่ชาย และเป็นผู้นำความคิด การนำขยะมาทำ RDF เนื่องจากเคยศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าวระหว่างเข้าอบรมหลักสูตรที่สถาบันพระปกเกล้า และเข้ามาร่วมงานกับ BWG ตั้งแต่ปี 2544
“ผมกล้าพูดว่าเป็นคนแรกของประเทศที่เอาขยะมาเป็นเชื้อเพลิง RDF ผมศึกษาเรื่องนี้ ไปดูงานต่างประเทศว่ามีกระบวนการทำอย่างไร ต่างประเทศไม่มีการแบ่งว่าเป็นขยะอุตสาหกรรมอันตราย เพราะมีการแยกขยะก่อนทิ้ง ทำให้เปลี่ยนรูปเป็นพลังงานง่าย”
ปัจจุบัน ETC ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากขยะ หรือ RDF ซึ่งซื้อจาก BWG ซึ่งเป็นบริษัทแม่ โดยมีโรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ให้กับ กฟภ. แล้ว 3 แห่ง กำลังการผลิตรวม 20.4 เมกะวัตต์
ประกอบด้วย โรงไฟฟ้า
ETC กำลังการผลิตไฟฟ้า 9.4 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขาย ไฟฟ้า 8 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้า RH กำลังการผลิต 7 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขาย 5.5 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้า AVA กำลังการผลิต 4 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขาย 3 เมกะวัตต์ ทั้ง 3 แห่งขายไฟฟ้าให้กับ กฟภ. ระยะเวลา 20 ปี
โดยมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ FiT หน่วยละ 6.83 บาท/หน่วย มีบริษัท เอิร์ธ เอ็นจิเนีย แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (ECC) เป็นผู้รับเหมาสร้างโรงไฟฟ้าแบบเบ็ดเสร็จกล่าวคือ ออกแบบวิศวกรรมโรงไฟฟ้า จัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ก่อสร้างโรงไฟฟ้าแบบครบวงจร รวมทั้งบริหารและดูแล ซ่อม บำรุงโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง
เอกรินทร์บอกว่า ช่วงแรกที่ทำโรงไฟฟ้าโดนชาวบ้านในพื้นที่ต่อต้านมาก มีการเดินขบวนไปยังศาลากลางจังหวัด ทว่าในที่สุด ก็สร้างการยอมรับจากชาวบ้านได้ เล่ามาถึงตอนนี้เอกรินทร์ชี้ให้ดูปล่องด้านบนสุดของตัวโรงงานและถามว่า มองเห็นควันบ้างไหม
“เราเดินเครื่องปกติ แต่เหมือนกับเครื่องไม่ทำงาน ปล่องไม่มีควันเพราะการเผาไหม้สมบูรณ์ มีระบบตรวจวัดที่ปากปล่อง และรายงานผลไปด้านหน้าโรงงานคนผ่านไปมาเห็น..ออนไลน์แบบเรียลไทม์ไปที่นิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย และการนิคมฯ แห่งประเทศไทย ถ้าเกินปั๊บเครื่องจะ aloud เลย ทำมา 3 ปีไม่เคยมีปัญหา”
ส่วนโรงไฟฟ้าอีก 2 แห่งขั้นตอนทำประชาคมง่ายขึ้น เพราะนำชุมชนมาดูงานที่โรงไฟฟ้าสระบุรี โดยใช้เวลาก่อสร้างแห่งละ 1 ปีเศษ และขายไฟเชิงพาณิชย์ให้การไฟฟ้าภูมิภาคแล้วเช่นกัน เราเพิ่งทำโรงไฟฟ้าจริงจังปี 2560 รับรู้รายได้ ปี 2562 สูงกว่า 2561 รายได้ 300 กว่าล้านบาท เราขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคยูนิตละ 6.83 บาท นั่นแปลว่ามีกำลังการผลิตเท่าไรคูณตามจำนวนเงินที่ได้”
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าขยะสะอาด ETC ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับและดูแลหลักทรัพย์ (กลต.) และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ MAI วันที่ 18 สิงหาคม 2563 โดยบริษัทมีแผนเข้าจดทะเบียนภายในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ ด้วยทุนจดทะเบียนกว่า 1,120 ล้านบาท มีจำนวนหุ้นทั้งหมดกว่า 2,240 ล้านหุ้น ด้วยมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้น
คลิกอ่านฉบับเต็ม “สุวัฒน์ เหลืองวิริยะ เผาขยะให้เป็นไฟ” ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine