ดร.ชัยยุทธ ชุณหะชา G-Able อัพสปีดไอทีหมื่นล้าน - Forbes Thailand

ดร.ชัยยุทธ ชุณหะชา G-Able อัพสปีดไอทีหมื่นล้าน

ดร.ชัยยุทธ ชุณหะชา อัพสปีดธุรกิจเทคสัญชาติไทยประกาศเดินเกมรุกยกระดับการให้บริการเทคโนโลยีทุกมิติ สู่การเป็น Tech Enabler ด้วยกลยุทธ์ G-Able Tree เสริมความแข็งแกร่งด้านดิจิทัลโซลูชัน และต่อยอดกลุ่มสตาร์ทอัพรับเทรนด์โลก พร้อมทรานส์ฟอร์มองค์กรเป็นบริษัทมหาชน สร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดสู่เป้าหมายหมื่นล้านใน 5 ปี

เบื้องหลังความสำเร็จการขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลให้องค์กรขนาดใหญ่ของประเทศสามารถเพิ่มศักยภาพการทำงานและขับเคลื่อนธุรกิจให้ พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง  “30 กว่าปีของ G-Able มีจุดเริ่มต้นจากความตั้งใจของผู้ก่อตั้งที่ต้องการให้บริษัทเป็นเทคคอมพานีของประเทศไทยที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่กับประเทศไทย ด้วยการสร้าง trust ต่อเนื่องยาวนานเป็นโจทย์หลักที่สำคัญกว่าตัวเลข แต่อย่างไรก็ตามในฐานะซีอีโอของบริษัทที่กำลังเตรียมเข้าตลาดหุ้น ซึ่งจะมีนักลงทุนเข้ามาในอนาคต เราจำเป็นต้องมีตัวเลขที่วัดความสำเร็จได้พร้อมกับการขับเคลื่อน G-Able ให้เดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและอยู่คู่กับประเทศไทยต่อไป” ดร.ชัยยุทธ ชุณหะชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอเบิล จำกัด กล่าวถึงโจทย์ที่ได้รับในการบริหารธุรกิจให้เติบโต ด้วยความมั่นใจในการผสมผสานความรู้และประสบการณ์ทำงานจากการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์ จาก Eastern Michigan University ประเทศสหรัฐอเมริกา และระดับปริญญาเอก สาขาบริหารธุรกิจ (ธุรกิจระหว่างประเทศ) จาก Sarasota University ประเทศสหรัฐฯ “ช่วงเรียนจบปริญญาโท ประเทศไทยเกิดวิกฤตและรัฐบาลสหรัฐฯ อนุญาตให้นักเรียน 4-5 ประเทศทำงานต่อได้ ซึ่งงานแรกที่ทำเป็นเหมือนแอดมิน เช่น รับโทรศัพท์ เปิดซองจดหมาย นำเอกสารไปส่งที่โต๊ะ แต่เราคิดว่าการได้เข้ามาอยู่ในบริษัท Fortune 500 ในอุตสาหกรรมรถยนต์ตรงนี้ถือเป็นโอกาสที่ดี ซึ่งเราทำงานที่นั่นอยู่ประมาณ 20 ปี และเดินทางกลับเมืองไทยเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว โดยทำงานในสายไฟแนนซ์ให้กลุ่มธุรกิจธนาคารและอสังหาริมทรัพย์ก่อนจะร่วมงานกับ G-Able” ดร.ชัยยุทธกล่าวถึงการเริ่มทำงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการกับกลุ่มจีเอเบิลเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ปี 2564 และใช้เวลาเพียง 8 เดือนสร้างผลงานพิสูจน์ความพร้อมนั่งเก้าอี้ซีอีโอเต็มตัวเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ปี 2564 ด้วยความสามารถในการบริหารธุรกิจให้เติบโตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและการแข่งขัน โดยเฉพาะการผลักดันกลยุทธ์ Beyond Limits เพื่อขับเคลื่อนบริษัทให้ก้าวข้ามข้อจำกัดควบคู่กับการสนับสนุนพันธมิตรและลูกค้าให้สามารถทรานส์ฟอร์มองค์กรในยุคดิจิทัลได้สำเร็จ ท่ามกลางความท้าทายจากสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงและวิกฤตโควิด-19 แต่ซีอีโอป้ายแดงยังสามารถสร้างการเติบโตได้ทั้งตัวเลขยอดขายจำนวน 5.4 พันล้านบาท และรายได้ 5 พันล้านบาทในปี 2564 โดยเฉพาะกลุ่มโซลูชัน G Security ของบริษัทที่มียอดขายกว่า 1 พันล้านบาท และอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) 42% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการตอกย้ำจุดยืนของบริษัทในฐานะหนึ่งในผู้นำด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ของประเทศ ผลประกอบการ บริษัท จีเอเบิล จำกัด เช่นเดียวกับกลุ่มโซลูชัน G Cloud ที่มีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ถึง 33% ในช่วง 3 ปี และกลุ่มโซลูชัน G Big Data เติบโตขึ้น 33% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ G Digital Product ยังเติบโตขึ้นถึง 76% ในระยะเวลาเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ส่งผลให้กำไรของจีเอเบิลสูงขึ้น และมีกำไรขั้นต้น (GP) สูงขึ้นถึงเกือบ 200 BPS ในปี 2564  

- เดินหน้ากลยุทธ์ G-Able Tree -

ภายใต้ความเชื่อมั่นในกลยุทธ์การสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจด้วย G-Able Tree เปรียบได้กับการเจริญเติบโตของต้นไม้ที่ต้องให้ความสำคัญตั้งแต่รากฐาน ลำต้น และการแตกยอดกิ่งก้าน ด้วยความมุ่งมั่นสร้างการเติบโตจากโอกาสที่มีอยู่ในตลาดที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว และวิสัยทัศน์ของบริษัทที่ชัดเจน รวมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการที่ดี ส่งผลให้บริษัทสามารถช่วยยกระดับลูกค้าในหลายอุตสาหกรรมเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจดิจิทัลในอนาคต นอกจากนั้น ดร.ชัยยุทธยังเล็งเห็นความสำคัญในการต่อยอดความสำเร็จจากการเป็น System Integration Plus Plus หรือ SI ++ ยกระดับสู่การเป็น tech enabler หรือผู้นำที่มีศักยภาพและความพร้อมทางเทคโนโลยีทุกด้าน เพื่อช่วยให้องค์กรธุรกิจเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและมีความปลอดภัยจากไซเบอร์ในโลกยุคดิจิทัล ด้วยเป้าหมายยอดขาย 1 หมื่นล้านบาทใน 5 ปี โดยมียอดขายที่รอการรับรู้รายได้ (backlog) มากกว่า 3 พันล้านบาท สำหรับกลยุทธ์ G-Able Tree ที่วางไว้ ในปีนี้เริ่มจากการเสริมความแข็งแกร่งให้ฐานรากของต้นไม้ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทสู่การเป็น tech enabler ด้วยการดึงศักยภาพทางเทคโนโลยีทุกด้านเพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและต่อยอดโอกาสทางธุรกิจในยุคดิจิทัล รวมทั้งความสามารถในการรับมือกับวิกฤตในอนาคตจากเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยและยืดหยุ่น โดยเฉพาะกลุ่มโซลูชัน G Security และ G Cloud “กลยุทธ์ที่เราเคยนำเสนอตั้งแต่ร่วมงานกับ G-Able เมื่อปีที่แล้วยังคงคอนเซ็ปต์ต้นไม้เหมือนเดิม แต่เราทำให้คมมากขึ้นและปรับให้เข้ากับสถานการณ์รวมถึงโอกาสที่เรามองเห็น ซึ่งเราคิดว่า กลยุทธ์นี้ยังคงเป็นกลยุทธ์หลักสำหรับการเติบโตเป็นหมื่นล้านบาทใน 3 ปีข้างหน้า แต่อาจจะมีการปรับให้เข้ากับเทรนด์ความเปลี่ยนแปลงในแต่ละปี” ด้านการวางแผนการดำเนินงาน 3 ธุรกิจหลักที่เป็นฐานรากของต้นไม้จีเอเบิลประกอบด้วย กลุ่มโซลูชัน G Security ซึ่งมุ่งเน้นคอนเซ็ปต์และเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า เช่น Cybersecurity Mesh Architecture และ Zero Trust Network Access โดยบริษัทได้วางแผนเพิ่มโอกาสลูกค้าทุกระดับตั้งแต่ขนาดกลางถึงขนาดเล็กให้สามารถเข้าถึงโซลูชันล้ำสมัย เพื่อปกป้องระบบและข้อมูลจากภัยไซเบอร์ด้วยต้นทุนที่จับต้องได้ ขณะเดียวกันบริษัทยังเดินหน้าแผนความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีศักยภาพ เพื่อร่วมพัฒนาโซลูชันให้แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น พร้อมเป็นผู้นำด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้อันดับ 1 ของประเทศที่มียอดขายมากกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งคาดการณ์การเติบโตของธุรกิจกว่าเท่าตัวใน 3 ปี “อันตรายจากภัยไซเบอร์เป็นโอกาสที่เร่งการเติบโต cybersecurity ในประเทศไทย โดยเฉพาะถ้ากฎหมาย PDPA มีผลบังคับใช้ในปีนี้อาจจะทำให้ cybersecurity เติบโตแบบก้าวกระโดดถึง 20% ซึ่ง cybersecurity เปรียบได้กับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อาจจะป้องกันไม่ได้ 100% แต่ก็ทำให้ไม่ป่วยหนักหรือลดความเสียหายลง โดยเราพยายามปกป้องทุกคนให้ปลอดภัยมากที่สุดและเสียหายน้อยที่สุด ซึ่งเรื่องยอดขายหรือการเป็นอันดับ 1 ถือเป็นประเด็นรองที่ตามมา” นอกจากนั้น บริษัทยังเล็งเห็นความสำคัญในการเพิ่มความยืดหยุ่นให้ธุรกิจที่ต้องเผชิญกับความท้าทาย VUCA world หรือโลกยุคใหม่ที่มีความผันผวน (volatility) ความไม่แน่นอน (uncertainty) ความซับซ้อน (complexity) และคลุมเครือ (ambiguity) ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการในกลุ่มโซลูชัน G Cloud ของจีเอเบิล ซึ่งบริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำเทคโนโลยีคลาวด์รายใหญ่ในประเทศไทยที่พร้อมช่วยธุรกิจให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น โดยในปีนี้บริษัทวางเป้าหมายการเติบโต G Cloud ไว้ที่ 400 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจหลักของบริษัทในกลุ่ม advance integration solution จะเป็นการนำโซลูชันต่างๆ เช่น digital product development solution, business intelligence, data analytics และเทคโนโลยีอื่นๆ ร่วมเสริมความแข็งแกร่ง เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้ลูกค้า ด้วยความมั่นใจในการเติบโตมากกว่า 10% ในปีนี้
ดร.ชัยยุทธ ชุณหะชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอเบิล จำกัด
ส่วนการวางกลยุทธ์สร้างความแข็งแกร่งให้ลำต้นของ G-Able Tree จะเน้นการทำงานควบคู่กับลูกค้าในฐานะ business enabler โดยเฉพาะเรื่อง data modernization ซึ่งบริษัทจะผสานจุดแข็งของธุรกิจลูกค้าเข้ากับจุดแข็งทางเทคโนโลยีของจีเอเบิล เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ร่วมกัน พร้อมทรานส์ฟอร์มองค์กรให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงด้วย Transformation As a Service หรือ TAAS ด้านกลยุทธ์สุดท้ายที่เปรียบได้กับกิ่งก้านของต้นไม้จะมุ่งเน้นการเสริมความแข็งแกร่งด้วย 3 กลุ่มธุรกิจ tech spin-off ซึ่งต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ลิขสิทธิ์ของจีเอเบิล (own IP platform) ควบคู่การเพิ่มมูลค่าธุรกิจสตาร์ทอัพและสร้าง New S-Curve ให้บริษัทสามารถสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด “ส่วนของกิ่งก้านจะเป็นการผนึกกำลัง BIM ซึ่งเป็น 3 บริษัทย่อยของเราที่แยกออกมา เพราะต้องการโฟกัสสร้างการเติบโตให้เต็มที่และสามารถบริหารงานอย่างอิสระ โดยเรายังวางแผนเพิ่มจำนวนทีมงานจาก 1,300 คนเป็น 1,500 คน นอกจากนั้น เรายังเตรียมจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ประมาณไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งเป็นโจทย์ตั้งแต่วันแรกก่อนที่เราเข้ามาร่วมงานกับจีเอเบิล เพราะทางบอร์ดมองว่า การระดมทุนจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับบริษัทเติบโตแบบ exponential ได้ โดยเราเข้ามาทำให้ธุรกิจที่พื้นฐานดีอยู่แล้วมีความแหลมคมขึ้น และดึงคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในพอร์ตโฟลิโอของเรานำออกมาให้นักลงทุนเห็น ซึ่งเงินระดมทุนที่ได้จะช่วยในการต่อยอดบริษัทได้” ดร.ชัยยุทธย้ำถึงกุญแจความสำเร็จการขับเคลื่อนบริษัทเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 33 ปี ซึ่งเกิดจาก “trust” หรือความเชื่อมั่นของลูกค้าที่ไว้วางใจใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ด้วยความรับผิดชอบในการทำงานและทีมงานที่เชี่ยวชาญนำเสนอโซลูชันที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจรตั้งแต่เริ่มต้นจนจบโครงการ ภายใต้หลักการบริหารที่มุ่งเน้นความเข้าใจ (empathy) และการให้อิสระในการทำงาน หรืออำนาจการตัดสินใจตามบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ (empower) รวมถึงรับฟังความคิดเห็นและเปิดโอกาสให้ทีมงานได้แสดงความสามารถเต็มที่ โดยในส่วนผู้บริหารควรให้ความสำคัญกับการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน (motivator) และประสานความร่วมมือ (collaborator) สร้างพลังบวก และดึงศักยภาพของทีมงานให้สามารถร่วมกันขับเคลื่อนสร้างการเติบโตให้บริษัทได้อย่างยั่งยืน   ภาพ: G-Able อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine