ฐกร รัตนกมลพร นำ “DITTO” สู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน - Forbes Thailand

ฐกร รัตนกมลพร นำ “DITTO” สู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน

6 พฤษภาคม 2564 เป็นอีกจุดเปลี่ยนที่สำคัญของ บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เพราะได้นำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai เป็นวันแรก

ทีมงาน Forbes Thailand มีนัดสัมภาษณ์ ฐกร รัตนกมลพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ดิทโต้ (ประเทศไทย) บนชั้น 4 ของอาคารสำนักงานใหญ่ ก่อนการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ บมจ. ดิทโต้ (ประเทศไทย) หรือ DITTO เป็นธุรกิจในกลุ่มตระกูลรัตนกมลพร ซึ่งตั้ง บจ. ออฟฟิศ โปรเฟสชั่นแนล ซัพพลาย ในปี 2544 (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บจ. สยาม รีคอนดิชั่น อินดัสตรี้ และ บจ. สยาม รอยัล อินดัสตรี้) ดำเนินธุรกิจปรับสภาพเครื่องถ่ายเอกสารที่ผ่านการใช้งานแล้วจัดจำหน่ายและให้เช่าเครื่องถ่ายเอกสารที่ผ่านการปรับสภาพแก่ลูกค้าหน่วยงานเอกชน และตั้ง บจ. ก๊อปปี้ แมน เรนทอล เพื่อดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายและให้เช่าเครื่องถ่ายเอกสารสำหรับหน่วยงานราชการ ปี 2550 ก่อตั้ง บจ. ดิทโต้ (ประเทศไทย) และย้ายธุรกิจจัดจำหน่ายและให้เช่าเครื่องถ่ายเอกสารแก่หน่วยงานเอกชนจาก บจ. สยาม รอยัล อินดัสตรี้ มาอยู่ในการดูแล บมจ. ดิทโต้ ประเทศไทย  
  • บุกเบิกธุรกิจให้เช่าเครื่องถ่ายเอกสาร
ฐกรเล่าว่า ช่วงที่เขากำลังเรียนพี่ชาย 2 คนเริ่มทำธุรกิจด้วยกัน โดย “ธีระชัย” พี่ชายคนรองทำธุรกิจกับหน่วยงานราชการคราวที่ไปติดต่อกรมพัฒนาฝีมือแรงงานพบว่าเครื่องถ่ายเอกสารเสียบ่อย ช่างไม่มาซ่อม ต้องไปถ่ายเอกสารข้างนอก ทำให้ทำงานไม่สะดวก เจ้าหน้าที่ต้องทำเรื่องเบิกเงินสดก่อนช่างจึงจะมาซ่อมแซมให้จากจุดนี้ทำให้เกิดความคิดทำธุรกิจให้เช่าเครื่องถ่ายเอกสาร โดยหาซื้อเครื่องถ่ายเอกสารมือสองจากต่างประเทศนำมาปรับปรุงก่อนให้หน่วยงานภาครัฐเช่า “ช่วงแรกใช้ทุนไม่เยอะ เราเหมาตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ 2-3 ล้านบาท และ refurbished มาให้ราชการและเอกชนเช่าความยากคือ ต้องมีทีมช่างเซอร์วิส แต่พี่ชายคนโตหาทีมช่างได้ก็มาเสริมกันพอดีตอนนั้นมีช่องว่างเพราะเครื่องใหม่ราคาแพงตัวละหลักล้านบาท แต่มือสองราคาหลักแสน เครื่องเสียเราเปลี่ยนให้ ยังไม่มีใครทำแบบนี้” ทำไปได้สักพักก็มีรายอื่นเข้ามาแชร์ตลาดบวกกับเทคโนโลยีเริ่มเปลี่ยนจากแอนะล็อกเป็นดิจิทัล เครื่องเดียวสามารถปรินต์ สแกน และส่งแฟกซ์ได้ ทำให้มีการแข่งขันสูง เกิดสงครามราคา
ฐกร รัตนกมลพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ดิทโต้ (ประเทศไทย)
“ตอนนั้นพวกเราเห็นแล้วว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนไปเมืองนอกเราคุยกับต่างประเทศของใหม่ก็มีแต่ของเก่ายังแพง เราเอาโมเดลใหม่ เทคโนโลยีใหม่ ทำให้ยัง run ตลาดในไทยต่อได้ คนปรับตัวไม่ทันก็ตกไป การใช้เครื่องใหม่พอมี gap อยู่ เราเอาของใหม่ราคาถูก เนื่องจากที่ผ่านมาเรามีฐานลูกค้าต่อรองกับแบรนด์ว่าเรามีลูกค้ากลุ่มนี้ เราจับมือกัน แบรนด์มองว่าเขาขายของได้มากขึ้น โดยมีผมเป็นผู้ช่วยขาย เทคโนโลยีก็ถ่ายทอดออกมา” จุดเด่นของบริษัทคือ มีระบบให้บริการเหมือนแบรนด์ เมื่อลูกค้าโทรศัพท์แจ้งว่าเครื่องเสียขอให้ซ่อม บริษัทมีทีมเซอร์วิสออกไปให้บริการ ขณะนั้นมีธนาคารและหน่วยงานราชการหลายแห่งเป็นลูกค้าฐานลูกค้าค่อนข้างใหญ่แล้ว องค์กรไหนใช้เครื่องถ่ายเอกสารของบริษัท จำนวนมากก็จัดทีมเซอร์วิสไปนั่งประจำที่องค์กรให้ มีห้องสต็อกโทนเนอร์ และอีกเช่นเคย ต่อมาก็มีรายอื่นๆ เข้ามาแข่งขัน  
  • มุ่งสู่ธุรกิจใหม่
ความคิดในการทำ “ธุรกิจใหม่” เกิดขึ้น เมื่อธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จ้างให้จัดเก็บเอกสารซึ่งเป็นกระดาษ 300 ล้านแผ่นให้เป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ภารกิจที่ทำ คือ จัดทีมงาน วางระบบการนำเข้าเอกสาร ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การสแกนแล้วจัดเก็บ แต่ต้องมีการวางระบบ การจัดการเอกสาร ทำสารบัญเพื่อให้สามารถค้นหาและเรียกขึ้นมาดูได้ “ตอนทำงานให้ SCB เราจัดพนักงาน 300-400 คนนั่งรองาน ปัญหาคือ งานไม่มาเพราะเอกสารมาจากทั่วประเทศ โลจิสติกส์ต้อง manange อย่างดี กระทั่งเริ่ม manage ได้ลงตัว หัวใจสำคัญคือ ตั้งแต่เอกสารเข้ามา การคัดแยกเอกสารต้นทาง คุณภาพเอกสารเป็นไง ก่อน process นำเข้าเอกสารต้องพร้อม เอกสารประเภทนี้ต้องจัดสรรวางระบบ เอาเข้าระบบเพื่อจัดสารบัญ เพื่อให้สืบค้นข้อมูลง่าย” โปรเจ็กต์ข้างต้นใช้เวลา 3 ปี แม้รายได้ไม่มากนักเมื่อเทียบกับปริมาณงาน ซึ่งผู้บริหารหนุ่มบอกว่า “ช่วงแรกบาดเจ็บพอควร ประมูลราคาไม่สูง” แต่ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้มีโนว์ฮาว ได้รู้วิธีการดำเนินงานการจัดการ และนำมาพัฒนาต่อยอด  
  • ต่อยอดจากฐานลูกค้าเดิม
สำหรับธุรกิจให้เช่าและจำหน่ายเครื่องถ่ายเอกสารมีลูกค้าทั้งเอกชนและภาครัฐ ซึ่งฐกรมองว่า ในอนาคตจะหันมาจัดเก็บเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ตามเทรนด์ของโลก โดยฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน ระบุถึงภาพรวมตลาดการจัดการข้อมูลดิจิทัลในปี 2563-2568 ว่า จะเติบโตจาก 729.1 ล้านบาท เป็น 11,886.6 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ย 74.77% ต่อปี “ธุรกิจเดิมยังอยู่ แต่เราเสนอ option และต่อยอดจากลูกค้าเดิม คือธุรกิจยังไปได้แต่การจะให้เติบโตเป็น double ยาก เพราะตลาดการแข่งขันสูงมาก ทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีเหมือนกัน DITTO ทรานสฟอร์มมาหลายช่วง คอลเซ็นเตอร์เดิมตอบแต่เรื่องเอกสารตอนนี้ต้องรู้เรื่องโปรแกรมด้วย ลูกค้าใช้งานมีปัญหา Helpdesk ช่วยตอบคำถาม มีโปรแกรมเมอร์มาช่วยให้ตอบปัญหาลูกค้าได้ ทีมขายเครื่องถ่ายเอกสารก็มาศึกษาโปรแกรม ทีมขายต้องมีความรู้ทุกผลิตภัณฑ์ พนักงานที่มาใหม่ก็เรียนรู้ของใหม่เลย” ผลประกอบการ บมจ. ดิทโต้ “ธุรกิจใหม่” ที่จะเป็นรายได้หลักในอนาคตคือ การให้บริการออกแบบและพัฒนาระบบบริหารจัดการเอกสารและข้อมูลอย่างครบวงจร มีบริการตั้งแต่การแปลงเอกสารเป็นรูปแบบดิจิทัล (document digitization) จัดทำสารบัญเพื่อความสะดวกในการค้นหา (document indexing) จัดเก็บอยู่ในระบบบริหารจัดการเอกสาร (document management systems) หรือระบบจัดการข้อมูลในองค์กร (Enterprise Content Management: ECM) เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปดำเนินการตามกระบวนการทำงาน (workflow) ที่ผู้ใช้กำหนด บันทึกรายการในระบบบัญชี หรือระบบวางแผนทรัพยากรองค์กร จุดเด่นของ DITTO คือ สามารถให้บริการครบวงจร ทั้งการจัดเก็บ นำเข้าเอกสารกระบวนการทำงาน ซึ่งขณะนี้มีเพียง 2 รายที่ทำธุรกิจด้านนี้ รวมทั้งมีฐานลูกค้าเดิมอีก 2,000 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจใหม่  
  • ตอบสนองลูกค้ารวดเร็ว
ส่วนวิธีการครองใจลูกค้าตลอด 20 ปีที่ผ่านมาบริษัทยึดหลักความสม่ำเสมอและการตอบสนองที่รวดเร็ว “หากรับปากลูกค้าไว้ต้องทำให้ได้ แม้จะเพิ่ม cost ก็ตาม สำคัญกว่ากำไรคือสัญญาคำพูดของเราสำคัญที่สุด ทีมงานผู้บริหารรู้ว่าอะไรที่รับปากลูกค้าต้อง deliver ให้ได้บางครั้งลูกค้าใช้เครื่องมีปัญหาต้องรอ...เราก็เอาเครื่องไปให้ใช้แทน ลูกค้ามีงานต้องทำข้ามคืนถามว่า เซอร์วิสได้ไหม 24 ชั่วโมง เราให้ช่างไปเฝ้าเลย คือทำงานด้วยความเข้าใจว่า ลูกค้าต้องการอะไร" “Business ใหม่หัวใจคือ คุณภาพของงานและทีมงานคุณภาพ เข้าไปถึงรู้งานแล้วว่าวันนี้ทำอะไร ต้องรู้การจัดเรียงข้อมูล...อีกส่วนคือซอฟต์แวร์ เนื่องจากเรามีทีมพัฒนาในบริษัทบางอย่างไม่ต้องรอทีมงานจากข้างนอก เราทำเอง หัวใจคือตอบสนองลูกค้าให้เร็ว และทำตามที่รับปากให้ได้” บมจ. ดิทโต้ ประเทศไทย ในตอนท้ายประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DITTO กล่าวถึงเป้าหมายในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai เพื่อระดมทุนว่า ต้องการนำเงินไปขยายธุรกิจและเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ซึ่งบริษัทมีแผนจะขยายศูนย์ให้บริการครอบคลุมในจังหวัดที่มีศักยภาพ และลงทุนพัฒนาระบบบริหารจัดการเอกสาร เพื่อให้บริการบนระบบคลาวด์ในรูปแบบ Software as a Service (SaaS) โดยตั้งเป้าว่า ภายในไตรมาสแรกของปี 2564 สาขาแรกจะแล้วเสร็จ และตั้งสาขาครบทั้ง 9 แห่งภายในปี 2565 และว่า “เมื่อนึกถึงระบบจัดเก็บเอกสารดิจิทัลขอให้นึกถึง DITTO”     อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine