“หนี้” อาจจะเป็นคำที่น่ากลัวและไม่มีใครต้องการเผชิญในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งมีปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและกดดันการเติบโตของประเทศ แต่คำว่า “หนี้” สำหรับ ชโย กรุ๊ป กลับกลายเป็นโอกาสในการบริหารสินทรัพย์สร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจ
เมื่อธุรกิจกาารบริหารหนี้เกิดขึ้นจากภาวะวิกฤต โดยตัวเลขยอดหนี้ของประเทศไทยในปัจจุบันที่มีมูลค่าอยู่ประมาณ 16 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นหนี้เสีย หรือ NPL ราว 4.8 แสนล้านบาท ได้แปรเปลี่ยนเป็นขุมทรัพย์ทางธุรกิจของชโย กรุ๊ป สู่โอกาสในการดำเนินธุรกิจตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ภายใต้การนำทัพของ สุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
ก้าวแรกของธุรกิจบริหารหนี้ของสุขสันต์เริ่มจากการเป็นลูกหนี้ในวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ซึ่งเขาประกอบธุรกิจหลายอย่าง ตั้งแต่นำเข้า-ส่งออกสินค้าของตกแต่งบ้าน จนถึงธุรกิจบ้านจัดสรรในชื่อ บริษัท เขียนแอนด์เคลย์ จำกัด และได้รับผลกระทบจากการลดค่าเงินในธุรกิจการนำเข้าส่งออกสินค้าที่มีการค้าขายด้วยเงินเหรียญสหรัฐฯ เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นในช่วงเวลานั้น
“ตอนนั้นผมมีหนี้อยู่ประมาณ 3.8 ล้านบาท ก็พยายามเคลียร์ สุดท้ายเหลือหนี้ประมาณ 100,000 บาทที่เคลียร์ไม่ได้จริงๆ เจ้าหนี้ก็จะฟ้อง ผมก็ยินดีให้ฟ้อง เพราะไม่มีจริงๆ แต่ก็พยายามเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อขอผ่อนผัน สมัยนั้นยังไม่มีเครดิตบูโร แต่ก็ไม่มีใครอยากเป็นหนี้เสีย สุดท้ายเจ้าหนี้ก็ยอม ผ่อนชำระอยู่ประมาณ 1 ปีก็หมด แต่ผมมองเห็นว่านี่เป็นโอกาส” สุขสันต์เล่าถึงอดีตก่อนเริ่มธุรกิจในนามชโย กรุ๊ป
จากพื้นฐานของการเป็นนักกฎหมายที่เรียนจบปริญญาตรีด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ปริญญาโทรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และทำงานที่สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติเป็นเวลา 3 ปี ก่อนย้ายมาทำงานธนาคารกับกสิกรไทย ทั้งฝ่ายข้อมูล บัตรเครดิต และฝ่ายติดตามทวงหนี้ ส่งผลให้สุขสันต์เข้าใจทั้งคน และกระบวนการ รวมถึงมีประสบการณ์จากการเป็นลูกหนี้โดยตรง
วิกฤตสร้างโอกาส
ช่วงวิกฤตการณ์ปี 2540 มีธุรกิจได้รับผลกระทบจำนวนมาก ซึ่งหลายบริษัทจำเป็นต้องยอมเป็นหนี้เสีย เพราะไม่มีเงินชำระหนี้ ขณะที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินมีข้อจำกัดในการติดตามทวงหนี้ ส่งผลให้สุขสันต์เล็งเห็นช่องว่างทางธุรกิจในการก่อตั้งชโย กรุ๊ป เพื่อรับซื้อหนี้จากธนาคารมาบริหาร และติดตามทวงหนี้ โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าของธนาคารและธุรกิจด้านโทรคมนาคม ซึ่งสามารถทำรายได้จากค่าคอมมิชชั่นกว่า 10 ล้านบาท และลูกค้าจำนวนมากกว่า 1,000 รายในปีแรก จนถึงปัจจุบันที่มีฐานลูกค้าจำนวนกว่า 4 ล้านราย
“ยามเศรษฐกิจไม่ดี ธุรกิจเราจะดี” สุขสันต์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เคยเป็นลูกหนี้มาก่อน ซีอีโอของชโย กรุ๊ป ไม่ต้องการให้ใครเป็นหนี้ นอกจากนั้น หนี้ยังเป็นหนึ่งในเครื่องชี้วัดฟันเฟืองเศรษฐกิจ หากธนาคารหรือสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อที่ดี มีคุณภาพจะเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ แต่หากเมื่อใดที่ธนาคารหยุดปล่อยสินเชื่อ ธุรกิจจะเริ่มมีปัญหา เพราะฉะนั้นการปล่อยสินเชื่ออย่างเหมาะสม มีสมดุล และมีคุณภาพ จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย
“แต่เมื่อใดก็ตาม ที่ธุรกิจไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ และกลายเป็นหนี้เสีย ไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม” สุขสันต์ระบุ
หลังปี 2540 เป็นต้นมา ธุรกิจติดตามทวงหนี้เติบโตสูง เนื่องจากธุรกิจกลายเป็นหนี้เสียจำนวนมาก ขณะที่ธนาคารและสถาบันการเงินมีศักยภาพในการติดตามทวงหนี้จำกัด โดยสามารถโทรศัพท์ติดต่อลูกค้าได้ไม่เกิน 20 รายต่อวัน ขณะที่บริษัทสามารถสามารถโทรศัพท์ติดต่อลูกค้าได้วันละอย่างน้อย 70 ราย เพราะรายได้หลักของพนักงาน คือค่าคอมมิชชั่น ดังนั้นหากเขาสามารถติดตามทวงหนี้ได้มากเท่าไหร่ ก็จะมีรายได้มากเท่านั้น โดยในปี 2562 ชโย กรุ๊ป สามารถติดตามทวงหนี้ได้ประมาณ 1.4 พันล้านบาท
ธุรกิจวิน-วิน ทั้งเจ้าหนี้-ลูกหนี้
สำหรับรูปแบบธุรกิจบริหารสินทรัพย์ติดตามทวงหนี้ สุขสันต์มองว่า เป็นธุรกิจที่ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหนี้ ได้แก่ ธนาคาร สถาบันการเงิน ที่ได้รับรายได้จากหนี้ แม้จะเป็นหนี้เสีย แต่ธนาคารสามารถลดภาระต้นทุนในการติดตามทวงหนี้ ส่วนลูกหนี้ก็มีโอกาสที่จะหลุดจากการเป็นหนี้ได้หากร่วมมือในการบริหารหนี้ โดยบริษัทสามารถสร้างรายได้จากค่าคอมมิชชั่น ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามระยะเวลาของหนี้
ขณะที่ชโย กรุ๊ป วางเป้าหมายผลการดำเนินงานในการติดตามทวงหนี้ที่ดี โดยต้องมีผลการดำเนินการติดอันดับ 3 ใน 10 หรือ 2 ใน 5 ของบริษัทติดตามทวงหนี้ที่ลูกค้าเลือกใช้บริการ ยิ่งทำผลการดำเนินงานดี ลูกค้าที่เป็นเจ้าหนี้จะให้ความไว้วางใจนำสินทรัพย์มาให้บริหารมากขึ้น ส่วนลูกค้าที่เป็นลูกหนี้ก็ยินดีจ่ายคืนหนี้ โดยที่บริษัทสามารถให้ส่วนลดหนี้ได้มากขึ้น ส่งผลให้เกิดการแก้ปัญหาหนี้ในระบบที่ดี
“เมื่อเศรษฐกิจจะดีขึ้น และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้จะดีขึ้น บริษัทก็ยิ่งได้รับเงินคืนจากลูกหนี้มากขึ้น เจ้าหนี้มีโอกาสได้หนี้คืน เรา ซึ่งหมายถึงพนักงานจะได้ค่าคอมมิชชั่นมากขึ้นตามไปด้วย บางครั้งพนักงานของเราที่สามารถติดตามหนี้ได้มากมีรายได้จากค่าคอมมิชชั่นมากกว่าเงินเดือน โดยถือว่าได้ประโยชน์ทุกฝ่าย”
สำหรับปี 2563 บริษัทตั้งเป้าหมายซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารเพิ่มอีกกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยตั้งงบลงทุนเพื่อซื้อหนี้ประมาณ 1 พันล้านบาท แบ่งเป็นซื้อหนี้ที่มีหลักประกัน 700-800 ล้านบาท และซื้อหนี้ไม่มีหลักประกันอีก 200-300 ล้านบาท และคาดว่าจะสร้างรายได้ให้บริษัทเติบโตเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 20%
ทั้งนี้ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันเชื่อว่ายังเติบโตดีจากหนี้ด้อยคุณภาพในระบบที่ยังมีอยู่สูง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ดังนั้นสถาบันการเงินจะทยอยขายหนี้ด้อยคุณภาพออกมาอย่างต่อเนื่อง
ยึดหลักธรรมะ เป็นแนวปฏิบัติ
แม้ภาพของธุรกิจติดตามทวงหนี้จากการรับรู้ของคนทั่วไป จะทำให้นึกถึงมาเฟีย หรือนักเลง แต่ที่ชโย กรุ๊ปแล้ว จะไม่มีภาพเช่นนั้น เพราะแนวทางของสุขสันต์ใช้การยึดหลักธรรมะเป็นแนวปฏิบัติให้กับพนักงาน โดยจะมีการสวดมนต์ทุกเช้าในบทต่างๆ หมุนเวียนกันไปในแต่ละวัน เพื่อดึงสติของพนักงานทุกคนให้มุ่งอยู่กับงาน ละทิ้งปัญหาต่างๆ ที่มี พร้อมเดินหน้าเจรจากับลูกค้า (ลูกหนี้) ด้วยความเข้าอกเข้าใจ
“วิสัยทัศน์ของเรา คือการเป็นมืออาชีพในการบริหารหนี้ที่มีหลักประกัน และไม่มีหลักประกัน โดยมีพันธกิจต่อผู้ว่าจ้าง ลูกค้า และผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงต้องปกป้องผู้ว่าจ้างให้ดีที่สุด ปกป้องลูกหนี้ไม่ให้ถูกฟ้องร้อง ปกป้องกรรมการ และกรรมการความเสี่ยง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหุ้น”
สุขสันต์กล่าวย้ำในวิสัยทัศน์ของบริษัทที่ให้พนักงานทุกคนท่องจนขึ้นใจและนำไปปฏิบัติเช่นเดียวกับความมุ่งมั่นในพันธกิจ และพระราชบัญญัติทวงหนี้เพื่อเป็นแนวปฏิบัติที่ชัดเจน และที่สำคัญห้ามเรียกรับเงิน หรืออามิสสินจ้างใดๆ เพื่อประโยชน์ส่วนตัว
ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กร “ลูกค้าคือคนสำคัญที่สุด ต้องดูแลลูกค้าให้เกินความคาดหวัง ติดตามทวงหนี้อย่างรวดเร็ว ทันใจ ทำงานด้วยความโปร่งใส ซื่อสัตย์ เมื่อเราติดตามหนี้ให้ได้ ลูกค้าก็สบายใจ เป็นการรักษาจิตให้กับลูกค้าอีกทางหนึ่งด้วย”
สำหรับลูกค้ากลุ่มที่ติดตามทวงหนี้ยากที่สุด เช่น กลุ่มลูกค้าที่มีชื่อเสียง หรือตำแหน่งหน้าตาในสังคม ซึ่งเจ้าหนี้มักจะเกรงใจ โดยแนวทางของบริษัทจะมุ่งเน้นที่การชี้ให้ลูกค้าเข้าใจถึงประโยชน์ และโทษของการเป็นหนี้อย่างตรงไปตรงมา เนื่องจากกลุ่มคนดังกล่าวไม่ต้องการเสียชื่อเสียง รวมถึงจากประสบการณ์การเป็นลูกหนี้ที่ผ่านมา ทำให้เขาเชื่อว่าทุกคนจะเห็นประโยชน์ของการชำระหนี้ให้ตรงเวลา และสามารถปิดบัญชีหนี้ได้
นอกเหนือจากการบริหารหนี้ ในอนาคตอีก 2-3 ปีข้างหน้า สุขสันต์ให้ความสนใจกับโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจที่เกิดจากการบริหารหนี้ โดยเฉพาะหากธุรกิจของลูกหนี้เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ และสามารถต่อยอดได้ เช่น ธุรกิจออนไลน์ หรือการขายเครื่องสำอาง ซึ่งหลังจากธุรกิจดังกล่าวสามารถเคลียร์หนี้ได้สำเร็จ ชโย กรุ๊ป พร้อมสนับสนุนด้านระบบ call center เพื่อเพิ่มรายได้ทางธุรกิจและสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
“ผมย้ำอีกครั้งว่าธุรกิจของเราเป็นธุรกิจที่ดี การบริหารติดตามหนี้ เป็นธุรกิจที่ช่วยเหลือคนให้เขาสามารถเคลียร์หนี้ได้ มีเครดิตที่ดีขึ้น ชีวิตก็จะดีขึ้น ธุรกิจของชโย กรุ๊ป ก็จะมีผลการดำเนินงานที่ดี มีความสามารถในการเติบโต และจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างต่อเนื่อง” สุขสันต์กล่าวทิ้งท้าย
แม้วันนี้สุขสันต์จะเริ่มวางแผนปรับบทบาทจากผู้บริหารสู่การเป็นที่ปรึกษาเพื่อมองภาพรวมขององค์กรให้ชัดขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า แต่ในเวลาว่างเขายังคงมีความสุขกับการมองหาโอกาสระหว่างทางนั่งรถผ่านเส้นทางต่างๆ ของเมือง ทั้งทำเลทองที่น่าสนใจและอาคารเก่าที่กำลังปรับปรุงหรือถูกทุบทำลาย เพราะนั่นหมายถึงโอกาสการบริหารสินทรัพย์ให้งอกเงยขึ้นมาได้ในแบบฉบับของซีอีโอชโย กรุ๊ปที่ชื่อ “สุขสันต์ ยศะสินธุ์”
- อ่านเพิ่มเติม SAM ตั้งเป้าปี 2562 ซื้อพอร์ต NPL เพิ่ม 1.65 หมื่นล้าน “คลินิกแก้หนี้” เตรียมขยายเกณฑ์รับลูกหนี้ non-bank
ไม่พลาดบทความด้านธุรกิจ กดติดตามได้ที่ Facebook Fanpage: Forbes Thailand Magazine