เฉลิมพงษ์ ดรงค์สุวรรณ “ไทยกูลิโกะ” ปรับลุคเพื่อสุขภาพ - Forbes Thailand

เฉลิมพงษ์ ดรงค์สุวรรณ “ไทยกูลิโกะ” ปรับลุคเพื่อสุขภาพ

FORBES THAILAND / ADMIN
15 Aug 2023 | 11:00 AM
READ 5983

แบรนด์ขนมสุดคลาสสิกอายุมากกว่า 100 ปี ในแดนอาทิตย์อุทัยที่สามารถสร้างชื่อ Glico ทั่วโลก และครองใจผู้บริโภคไทยยาวนานเกินครึ่งศตวรรษ ด้วยความมุ่งมั่นขยายธุรกิจและพัฒนาสินค้าตอบดีมานด์สู่การปรับกลยุทธ์รุกกลุ่มคนรักสุขภาพภายใต้การนำของเอ็มดีไทยที่มีประสบการณ์บริหารในองค์กรระดับโลก

    

    กระแสสุขภาพที่มาแรงอย่างต่อเนื่องและได้รับความสนใจจากทั่วโลกมากขึ้นหลังวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่างเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับแบรนด์ขนมญี่ปุ่นอายุมากกว่าศตวรรษที่ประกาศย้ำจุดยืนของบริษัทที่เริ่มต้นจากปรัชญา “ส่งเสริมสุขภาพของผู้คนผ่านอาหาร” ด้วยความมุ่งมั่นของ Riichi Ezaki ซึ่งค้นพบสารไกลโคเจนในน้ำซุปต้มหอยนางรมที่สามารถช่วยให้บุตรชายรอดชีวิตจากโรคไข้รากสาดใหญ่ ทำให้เกิดความคิดนำสารไกลโคเจนมาใช้พัฒนาขนมเสริมคุณค่าโภชนาการ Glico Caramel และวางจำหน่ายครั้งแรกในห้างสรรพสินค้า Mitsukoshi ของ Osaka พร้อมก่อตั้ง บริษัท Ezaki Glico หรือ Glico (กูลิโกะ) ในปี 2465

     หลังจากนั้นกลุ่มบริษัทกูลิโกะได้เดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยผลิตภัณฑ์จาก 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มขนมช็อกโกแลตและของหวาน นำโดยแบรนด์ Pocky, Pretz, Pejoy รวมถึงกลุ่มไอศกรีมและกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ เช่น ไอศกรีม SUNAO ไม่เติมน้ำตาลทราย, Pocky Wholesome บิสกิตแท่งผสมโฮลวีต และนมอัลมอนด์ Almond Koka พร้อมรุกขยายอาณาจักรธุรกิจในตลาดเอเชียแปซิฟิก ยุโรป และอเมริกาเหนือ โดยยกให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของกูลิโกะในอาเซียน ด้วยการก่อตั้ง บริษัท ไทยกูลิโกะ จำกัด ในปี 2513 และโรงงานผลิตสินค้าระดับภูมิภาค

     “เมืองไทยเป็นประเทศแรกที่ Glico เปิดสาขาและโรงงานนอกประเทศญี่ปุ่นเมื่อ 53 ปีที่แล้วและเป็นประเทศ top 5 ของกูลิโกะ ซึ่งช่วงที่เราเข้ามาเป็นผู้บริหารอยู่ในช่วงโควิด-19 เราต้องขอบคุณ Glico ที่เปิดโอกาสให้และ trust เรา จากความจริงใจของเราที่สื่อสารออกมาจากความคิดและประสบการณ์การทำงานจริง ด้วยความคาดหวังในการทำให้ Glico สามารถเติบโตนอกประเทศญี่ปุ่นได้อย่างยั่งยืนและแข็งแกร่งมากกว่าเมื่อ 100 ปีก่อน การสร้างแบรนด์ธุรกิจไอศกรีมให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และการขยายธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ health & wellness category เป็นโจทย์ที่ได้รับจากบริษัทแม่”

    เฉลิมพงษ์ ดรงค์สุวรรณ กล่าวถึงภารกิจที่ได้รับมอบหมายหลังนั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยกลูิโกะ จำกัด เมื่อปี 2565 ในการดูแลธุรกิจขนม ไอศกรีม และธุรกิจผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพ (health & wellness) ในประเทศไทย พร้อมเดินหน้ากลยุทธ์สร้างผลกำไรระยะยาวและการเติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่กับการทำประโยชน์เพื่อสังคมผ่านธุรกิจตามเจตจำนงของกลุ่มบริษัท ด้วยความเชื่อมั่นในประสบการณ์ทำงานอันยาวนานกว่า 30 ปีในธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคในองค์กรชั้นนำระดับโลก

    ขณะที่ความรู้ในระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท บริหารธุรกิจจาก University of Portland ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นพื้นฐานสำคัญในการเริ่มต้นเส้นทางการทำงานของเฉลิมพงษ์ใน บริษัท ฟิลิปส์ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้รับการขยับตำแหน่งและความรับผิดชอบอย่างต่อเนื่องทั้งด้านการออกแบบระบบไฟฟ้าแสงสว่าง การขาย การตลาด การบริหารผลิตภัณฑ์ การบริหารด้านลูกค้าสัมพันธ์และช่องทางจำหน่ายสินค้าในประเทศและต่างประเทศครอบคลุมเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป

    “ตั้งแต่เรียนจบวิศวกรรมไฟฟ้าก็ได้ทำงานที่เกี่ยวข้องใน Philips เริ่มจากออกแบบ เทรนนิ่ง พัฒนาผลิตภัณฑ์ และการตลาด ซึ่งมีโอกาสอยู่ที่สิงคโปร์ 2 ปีเป็น Regional Product Marketing ดูแลภูมิภาคเอเชียแฟซิฟิก และย้ายไปมาเลเซีย 1 ปี โรงงานที่ Shanghai 2 ปี ก็ไปทำที่สำนักงานใหญ่ของ Philips ที่ฮอลล์แลนด์ประมาณ 3 ปี ก่อนจะกลับมาเมืองไทยเป็น GM และ MD หลังจากนั้นเราจึงย้ายไป Samsung ประมาณ 2 ปีครึ่งก็มีโอกาสเข้ามาในธุรกิจ FMCG โดยเรามองเป็นความท้าทายในการประยุกต์ใช้ความรู้หรือประสบการณ์เดิมที่เคยทำกับหมวกของผู้บริโภคเริ่มต้นร่วมงานกับ Glico ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา”

    เฉลิมพงษ์กล่าวถึงการทำงานในฟิลิปส์เป็นเวลากว่า 24 ปี โดยดำรงตำแหน่งสุดท้ายเป็นกรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย รับผิดชอบพอร์ตธุรกิจแสงสว่างในประเทศ ก่อนจะตัดสินใจออกมารับความท้าทายใหม่ในการนั่งเก้าอี้รองประธานธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ในปี 2561 ซึ่งรับผิดชอบการบริหารและวางแผนกลยุทธ์ให้ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ธุรกิจภาพและเสียงของซัมซุง เพื่อสานต่อการเป็นผู้นำตลาดและสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมนำประสบการณ์ผสมผสานความเข้าใจความต้องการในฐานะผู้บริโภคที่ชื่นชอบแบรนด์กูลิโกะ

    “การบริหารสายงานอิเล็กทรอนิกส์ที่ผ่านมากับธุรกิจ FMCG ต่างกันแค่ตัวสินค้า แต่วิธีบริหารเหมือนกันทั้งการบริหารภายในและภายนอก โดยบริหารงานและคนเป็นการบริหารภายใน ส่วนภายนอกจะมีเรื่องของช่องทาง ลูกค้า คู่แข่ง ซึ่งเราสามารถประยุกต์จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาได้ โดยต้องขอบคุณทั้งฟิลิปส์และซัมซุงที่เป็นบริษัทมัลติเนชันแนลทั้งคู่และมี organization chart หลายชั้น ไม่เฉพาะในประเทศ แต่บางส่วนต้องขึ้นตรงความรับผิดชอบกับภูมิภาคหรือสำนักงานใหญ่ต่างประเทศ รวมทั้งเรื่องทักษะ customer management การทำความรู้จักคู่ค้าและคู่ค้าต้องรู้จักเราด้วย แม้จะเป็นผู้นำองค์กรแต่ลูกค้าหรือคู่ค้าก็ต้องการเห็นหน้าเราและรู้ทิศทางธุรกิจของเรา”

    

    Good Health & Great Taste

     

    ภายใต้โจทย์สร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งข้ามศตวรรษจากปัจจัยบวกด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นหลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย เฉลิมพงษ์มั่นใจในโอกาสการฟื้นตัวทางธุรกิจขนมขบเคี้ยวที่คาดการณ์มูลค่าปรับตัวสูงกว่า 3.75 หมื่นล้านบาทในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้น 8% เทียบกับที่ผ่านมา (ข้อมูลอ้างอิง Statista) โดยเฉพาะกลุ่มบิสกิตซึ่งเป็นกลุ่มย่อยในตลาดขนมขบเคี้ยวมีการเติบโต 6.9% ในปี 2564 และ 7.8% หรือมูลค่าตลาด 1.44 หมื่นล้านบาทในปี 2565 (ข้อมูลอ้างอิง AC Nielsen)

    ดังนั้น เฉลิมพงษ์จึงเดินหน้ากลยุทธ์ชิงส่วนแบ่งตลาดขนมขบเคี้ยวและกลุ่มบิสกิตเต็มรูปแบบ ด้วยการรุกสร้างตลาดผลิตภัณฑ์เรือธงระดับพรีเมียมของกูลิโกะแบรนด์ “Pejoy” ให้เป็นขนมขบเคี้ยวที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคโดยเฉพาะด้านหรือ emotional well-being ช่วยให้ผ่อนคลายและสร้างความสุขระหว่างวัน ตามแนวคิด relax & unwind ควบคู่การใช้เซเลบริตี้มาร์เก็ตติ้งเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่พยายามสร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวในโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน พร้อมทั้งจัดโรดโชว์พีจอย 200 จุดทั่วประเทศให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคและสร้างประสบการณ์ร่วมกับผลิตภัณฑ์รสชาติใหม่ในปีนี้ 

    “ยุคปัจจุบันที่ต้องการเดินต่ออีก 100 ปี ในเรื่องของสุขภาพและสร้างการรับรู้ในแบรนด์ การเลือกพรีเซนเตอร์ที่เหมาะสมเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่เราต้องพยายามเลือกให้ตรงกับสินค้าของเรา อย่าง Pocky อาจจะไม่จำเป็นต้องสร้าง brand awareness เพราะทุกคนรู้จัก แต่ถ้าเป็น Pejoy หรือนมอัลมอนด์อาจจะต้องมีพรีเซนเตอร์ที่เหมาะกับคาแร็กเตอร์สินค้า เช่น คุณคิมเบอร์ลี่เป็นตัวแทนผู้หญิงรุ่นใหม่ทำงานทั้งนอกบ้านและในบ้าน แต่ไม่ลืมให้รางวัลตัวเองในการปล่อยอารมณ์และเติมความสุขด้วย Pejoy ส่วนคุณใหม่ ดาวิกา เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจในการดูแลสุขภาพและความงาม โดยเป็นพรีเซนเตอร์แบรนด์ Almond Koka” 

    เฉลิมพงษ์กล่าวถึงการปั้นแบรนด์ Almond Koka ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เปิดตัวผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพผู้บริโภคในกลุ่ม health & wellness category อย่างเต็มรูปแบบ หลังจากสามารถทำยอดขายอันดับ 1 ครองส่วนแบ่งการตลาดกว่า 90% ในญี่ปุ่น ด้วยจุดเด่นของนมอัลมอนด์ที่ปราศจากนมวัวและน้ำตาลแลคโตส ทำให้ผู้บริโภคเจหรือแพ้นมวัวสามารถดื่มได้ พร้อมรับประโยชน์จากวิตามินอี 100% ของปริมาณที่จำเป็นต่อวันและคอเลสเตอรอล 0% รวมถึงเน้นคุณภาพแบบฉบับญี่ปุ่นแท้ให้ตอบโจทย์ด้านรสชาติควบคู่กับสุขภาพดีอย่างยั่งยืน
สำหรับกลยุทธ์ทางการตลาดปีนี้มุ่งเน้นสร้างการเติบโตกลุ่มผลิตภัณฑ์นมอัลมอนด์ 3 รสชาติหลัก ได้แก่ สูตรออริจินัล สูตรไม่เติมน้ำตาล สูตรรสช็อกโกแลตในขนาด 180 มล. และขนาด 1 ลิตร โดยปูพรมผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมทุกช่องทางการจำหน่าย และสร้างทีมขายกระจายสินค้าทั่วประเทศ พร้อมทั้งจัดกิจกรรม 30-day-challenge ปลุกกระแสการเป็นเครื่องดื่มสำหรับทุกวัน ด้วยเป้าหมายการยึดพื้นที่เครื่องดื่มนมทางเลือกภายในปีแรก 

    “แม้นมอัลมอนด์เป็นไลน์สินค้าใหม่ของเรา แต่เราก็มีความเชื่อมั่นหลังจากเปิดตัวที่ญี่ปุ่น จีน และไต้หวัน ซึ่งประสบความสำเร็จมาก โดยไทยเป็นประเทศที่ 4 ที่เปิดตัว แต่เป็นประเทศแรกในอาเซียน ซึ่งเรายังเชื่อมั่นในความแข็งแรงของแบรนด์และสูตรที่นำมาจากญี่ปุ่น โดยมีการทำ consumer test แล้วว่า รสชาติดีถูกปากคนไทยและสามารถดื่มได้ทุกวัน รวมถึงเรายังใช้การตลาดเข้ามาช่วยทั้ง Pejoy และนมอัลมอนด์ นอกจากพรีเซนเตอร์เจาะกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ เรายังใช้ KOL และ influencer ค่อนข้างมาก เพื่อทำให้เกิดการทดลองสินค้าของเราที่มีความหลากหลายสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ทุกช่วงอายุ” 

    ขณะเดียวกันบริษัทยังมั่นใจในเทรนด์สุขภาพที่ได้รับความสนใจทั่วโลก โดยเฉพาะผู้บริโภคไทยที่ให้ความสำคัญกับโภชนาการอาหารเสริมสุขภาพมากขึ้น ด้วยเครื่องดื่มนมทางเลือก เช่น นมอัลมอนด์ และนม plant-based ส่งผลให้ตลาดนมอัลมอนด์ในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยตลาด cereal milk (ไม่รวมนมถั่วเหลือง) ปี 2565 มีมูลค่ากว่า 960 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตไปสู่มูลค่า 3 พันในปี 2569 (อ้างอิง: Nielsen, Euromonitor) 

    “โอกาสทางธุรกิจกับกลยุทธ์ของเราอย่างแรกเรามองเห็นเทรนด์สุขภาพที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ Glico ตั้งแต่แรก ด้วยความได้เปรียบด้านเทคโนโลยี เครื่องจักร สูตรต่างๆจากญี่ปุ่น รวมทั้งการทำธุรกิจในไทยของเรายังสามารถทำได้หมดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นอกจาก Pocky ที่เป็น global brand ในสินค้าอื่นๆ เราสามารถ R&D คิดสูตร ทดลอง ส่งต่อให้ฝ่ายผลิตที่เรามีโรงงาน 2 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมบางกะดีและรังสิต หลังจากผลิตจำหน่ายในไทยและส่งออกต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย ซึ่งเรายังมีฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด และพาร์ตเนอร์ที่นี่ โดยสิ่งที่จะทำให้เราสามารถเติบโตได้เกิดจาก mindset ของผู้นำองค์กรที่ต้องสื่อสารให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าใหม่ การส่งเสริมสุขภาพผู้บริโภค หรือเป้าหมายการเติบโตต้องมาด้วยกันทั้งหมด

    นอกจากนั้น เฉลิมพงษ์ยังให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลวิเคราะห์ความสนใจและพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อวางแผนการตลาดและออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่แตกต่างกัน พร้อมเล็งเห็นโอกาสสร้างการเติบโตในกลุ่ม B2B ด้วยการจับมือกับพันธมิตรธุรกิจ เช่น Dean & Deluca และ Diamond Grain รวมทั้งการนำเสนอผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นวัตถุดิบหรือใช้ตกแต่งในเมนูอาหาร ได้แก่ ร้านกาแฟ โรงแรม โรงพยาบาล เป็นต้น 

    “ปัจจุบันธุรกิจที่เป็นอาหารกลุ่ม HORECA (Hotel, Restaurant, Café and Catering) ของเรามีขนาดใหญ่มาก ยิ่งถ้านักท่องเที่ยวกลับเข้ามาเมืองไทยเหมือนก่อนโควิด-19 ยิ่งทำให้ธุรกิจเติบโต ซึ่งขนมของเรายังสามารถเบลนด์กับสินค้าอื่นในกลุ่ม B2B ได้ เช่น Pocky ประดับบนไอศกรีมในร้านอาหาร หรือการเสิร์ฟ Pretz ที่มีหลายรสชาติคู่กับเครื่องดื่มในบาร์ของโรงแรม รวมทั้งการใช้นมอัลมอนด์ตีฟองหรือใช้แทนนมในร้านกาแฟตอบโจทย์เรื่องสุขภาพ โดยเรายังสนใจเจาะกลุ่มโรงพยาบาลที่มีฐานใหญ่ในประเทศ ซึ่งการเสิร์ฟอาหารให้คนไข้ต้องเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ดังนั้น เรากำลังบอกผู้บริโภคว่า เราเป็นบริษัทผลิตขนม นม และไอศกรีมที่ดีต่อสุขภาพ ด้วยการสื่อสารภาพลักษณ์ Good Health and Great Taste” 

    เฉลิมพงษ์ย้ำความมุ่งมั่นของกลุ่มกูลิโกะทั่วโลกที่ต้องการยกระดับสุขภาพของผู้คนให้ดีขึ้น ด้วยนโยบายของกูลิโกะหรือ Glico Standard 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม ซึ่งให้ความสำคัญในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ด้านระบบการจัดการที่มุ่งสร้างและปรับปรุงระบบประกันคุณภาพอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งด้านนโยบายความปลอดภัยอาหาร พร้อมรสชาติความอร่อยที่ผ่านการคิดค้นและการตลาดเชิงรุกภายใต้วิสัยทัศน์ Healthier Days Wellbeing for Life 

    “การแข่งขันในธุรกิจขนมมีทางเลือกหลากหลายมากและตลาดใหญ่มากทั้งแบรนด์ในประเทศและแบรนด์ระดับโลก รวมทั้งช่องทางการขายและการเข้าถึงข้อมูลของผู้บริโภคที่สามารถเลือกซื้อในราคาถูกที่สุดได้ ซึ่งเราไม่ต้องการแข่งเรื่องราคา แต่ต้องการสร้างความแตกต่างด้านคุณภาพและทำให้ลูกค้าเห็นคุณค่าของเรา เช่น รสชาติ คุณค่าทางโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพ โดยเราเชื่อในการสร้างความเชื่อมั่นและความจริงใจกับผู้บริโภคเป็นคีย์ที่ทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตในระยะยาว รวมทั้งหลักที่ยึดถือมาตลอดคือ เราไม่ได้ขายสินค้าให้ผู้บริโภค แต่เราขายคุณค่าที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และนำเสนอสิ่งที่ดีให้ผู้บริโภคตลอดเวลา” 

    สำหรับเป้าหมายการบริหารธุรกิจของเฉลิมพงษ์ต้องการให้บริษัทสามารถเติบโตมากกว่าตลาดอย่างน้อย 2 เท่า และยกระดับองค์กรแห่งความสุขหรือ Happy Workplace โดยสร้างบรรยากาศการทำงานให้ภาพลักษณ์เป็นบริษัทจ้างงานที่ดีและน่าทำงานด้วย พร้อมบาลานซ์วัฒนธรรมองค์กรเดิมจากทีมงานที่มีประสบการณ์ในบริษัทยาวนานทั้งไทยและญี่ปุ่น รวมถึงเติมเต็มความรู้ความสามารถจากคนรุ่นใหม่ผสมผสานสร้างการเติบโตให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงร่วมกัน 

    ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยการบริหารภายในมุ่งเน้นที่การสร้างฐานธุรกิจให้แข็งแรง ดัวยหลักการ PDCA ประกอบด้วย Plan Do Check Act หรือ การวางแผน การปฏิบัติ การตรวจสอบ และการปรับปรุง พร้อมกำหนดตัวชี้วัดหรือ KPI ของแต่ละแผนกให้สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทและสื่อสารให้ทีมงานเข้าใจทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างชัดเจน รวมถึงเปิดโอกาสให้พนักงานได้สื่อสารและแสดงความคิดเห็นได้ตลอดเวลา เพื่อให้ทีมงานรู้สึกมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของสร้างการเติบโตให้กับบริษัท 

    “การบริหารงานภายนอกมอง 3 ด้าน ได้แก่ พาร์ตเนอร์ธุรกิจ ผู้บริโภค และตลาดหรือเพื่อนร่วมตลาด โดยการดูแลพาร์ตเนอร์ไม่ใช่แค่ขายและจบ แต่ต้องใกล้ชิดเขาให้เข้าใจความต้องการอย่างถ่องแท้ เช่น ความสนใจของเขา ลูกค้าเป็นใคร ความเร็วในการขาย เป้าหมายคืออะไร เพื่อวางกลยุทธ์ช่วยให้เขาได้ยอดขายและสร้างความแตกต่างให้เขาต้องการ distribute กับเรามากกว่าบริษัทอื่น เพราะเราให้ไม่เฉพาะกำไร แต่มีการบริการ สินค้าคุณภาพ return ต่ำ เป็นต้น ส่วนผู้บริโภคเราต้องการสร้างคุณค่าและความแตกต่าง สุดท้ายผู้นำองค์กรต้องรู้จักตลาด รู้จักคู่แข่ง รู้จักตัวเองว่าอยู่ตรงไหน และต้องสร้างกลยุทธ์อย่างไร เพื่อรองรับสถานการณ์ตลาดและคู่แข่งของเรา”

    

    อ่านเพิ่มเติม : ลุ้นการเมืองไทยจบส.ค.นี้ เศรษฐกิจเดินหน้าต่อ

    คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine