บริษัทหลักทรัพย์ จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) จำกัด (บล. Zcom) บริษัทลูกของ จีเอ็มโอ ไฟแนนซ์เชียล โฮลดิ้งส์ อิงค์. - Forbes Thailand

บริษัทหลักทรัพย์ จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) จำกัด (บล. Zcom) บริษัทลูกของ จีเอ็มโอ ไฟแนนซ์เชียล โฮลดิ้งส์ อิงค์.

เดินหน้าลุยธุรกิจโบรกเกอร์ออนไลน์ในไทย ชูจุดเด่นบริการบัญชีมาร์จิ้น ดอกเบี้ยถูก คิดค่าคอมมิชชั่นต่ำ เดินหน้ายกระดับเทรดหุ้นออนไลน์ พร้อมแผนเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หากเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้บล. Zcom จะเป็นบล. ล่าสุดในรอบ 16 ปี ที่ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกฤต ธัญวลัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังคงเน้นรายได้จากค่าคอมมิชชั่น และลูกค้าส่วนใหญ่ยังคงเทรดผ่านบัญชีเงินสดเป็นหลัก ขณะที่ นักลงทุนในประเทศญี่ปุ่นกว่า 60% นิยมเทรดผ่านบัญชีมาร์จิ้น “แม้ธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศไทยจะมีการแข่งขันสูง แต่ยังไม่มีรายใดที่มุ่งเน้นการให้บริการในบัญชีมาร์จิ้นเป็นหลัก ดังนั้น บริษัทแม่จึงมองเห็นศักยภาพของตลาดหุ้นไทย ซึ่งมีโอกาสเติบโตจากการเทรดผ่านบัญชีมาร์จิ้นในประเทศไทย โดยอัตราการเทรด ณ ปัจจุบัน อยู่ที่ประมาณ 15-20% เท่านั้น จึงมองว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะมีทิศทางการเติบโตไปในแนวทางเดียวกับตลาดหุ้นญี่ปุ่น” จีเอ็มโอ-แซด คอม ถือหุ้น 100% โดยจีเอ็มโอ ไฟแนนซ์เชียล โฮลดิ้งส์ อิงค์. ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของกลุ่มจีเอ็มโอ อินเตอร์เน็ต อิ้งค์ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ที่ถือหุ้น 65.36% และบริษัทหลักทรัพย์ ไดวา กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์รายใหญ่เป็นอันดับสองของญี่ปุ่น ที่ถือหุ้น 5.54% โดยจีเอ็มโอ-แซด คอม ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 ด้วยทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 2,880 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์ออนไลน์ในประเทศไทย ประกฤต กล่าวว่า ความเชื่อถือจากธนาคารต่างๆ ที่มีต่อบริษัทแม่และชื่อเสียงอันยาวนานทำให้บริษัทได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีตลอดมาจากธนาคารพันธมิตรในเรื่องการสนับสนุนเงินกู้ เพื่อขยายฐานลูกค้า    มาร์จิ้น ทำให้บริษัทสามารถขยายฐานลูกค้ามาร์จิ้นได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งประสบการณ์จากบริษัทแม่ด้านการบริการโบรกเกอร์ออนไลน์ที่มีมายาวนานกว่า 10 ปี ทำให้สามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่มีให้แก่บริษัทได้อีกด้วย “เรามุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ออนไลน์ที่ให้บริการการโอนเงิน เพื่อฝากหลักประกันและสร้างอำนาจซื้อแบบเรียลไทม์ ด้วยระบบอี-เพย์เมนท์ โดยจะให้บริการลูกค้าในประเภทบัญชี 2 ประเภท ประเภทแรก คือ บัญชีแคชบาลานซ์ ซึ่งเป็นบัญชีประเภทที่ลูกค้าต้องวางเงินสดเป็นหลักประกัน 100% ล่วงหน้า ลูกค้าจึงจะสามารถซื้อหลักทรัพย์ได้เท่ากับมูลค่าของเงินหลักประกัน” ประเภทที่สอง คือ บัญชีเครดิตบาลานซ์ หรือบัญชีกู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ โดยลูกค้าต้องวางเงินหรือหลักทรัพย์เป็นหลักประกันตามที่บริษัทกำหนด ก่อนที่จะทำการซื้อขาย โดยไม่มีอัตราขั้นต่ำในการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ ซึ่งจะมีการกำหนดหลักทรัพย์ที่อนุญาตให้ซื้อขายในบัญชีเครดิตบาลานซ์ โดยมีอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ 5.95% ต่อปีสำหรับเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ สำหรับจุดเด่นของบริษัท มีทั้งจุดเด่นด้านเทคโนโลยี โดยระบบเทรดใช้ระบบสตรีมมิ่งของบริษัท เซ็ทเทรด ดอท คอม จำกัด (Settrade) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่บริษัทหลักทรัพย์ส่วนใหญ่นิยมใช้ ระบบสตรีมมิ่งนี้มีการอัพเดทฟังก์ชั่นต่างๆ ของระบบอยู่เสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับกฏเกณฑ์ต่างๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีการเปลี่ยนแปลง นักลงทุนส่วนใหญ่ล้วนมีความคุ้นเคยกับระบบการสั่งคำสั่งของ  สตรีมมิ่งเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากลูกค้าต้องการข่าวสารข้อมูลการลงทุนที่น่าสนใจอื่นๆ บริษัทก็พร้อมที่จะจัดหาบริการให้ลูกค้าได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ บริษัทยังมีระบบคัดเลือกเกรดหุ้นในบัญชีมาร์จิ้น ซึ่งเป็นระบบที่พัฒนาขึ้นโดยใช้หลักการที่พัฒนาแล้วจากญี่ปุ่น มีการเขียนระบบเพื่อนำมาประเมินและเลือกหุ้นด้วยปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางเทคนิค รวมทั้งแนวทางวิเคราะห์ที่ยังไม่มีใครใช้กันมาก นั่นคือความเห็นจากผู้ตรวจสอบบัญชี (Auditor Opinion) และทำการประเมินหุ้นเป็นแบบรายวัน ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงลงได้มาก โดยการประเมินหุ้นแบบรายวันจะไม่ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนแต่อย่างใด “บริษัทสามารถให้ลูกค้าเทรดหุ้นในบัญชีมาร์จิ้นได้ 790 ตัว (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ม.ค. 2565) ซึ่งครอบคลุมหุ้นส่วนใหญ่ในตลาด ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์อื่นๆ ใช้นักวิเคราะห์เป็นผู้ประเมินและคัดเลือกหุ้นที่สามารถลงทุนได้ จึงมีข้อจำกัดเรื่องปริมาณหุ้นที่คัดเลือกมาให้ผู้ลงทุน” ประกฤต กล่าวเสริม สำหรับอัตราค่าคอมมิชชั่นของบริษัทเป็นอัตราที่ต่ำมาก เพียง 0.065% หรือหมื่นละ 6.50 บาท (อัตรานี้ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมอื่นๆ) และไม่มีเงื่อนไขขั้นต่ำในการเทรด ทำให้ลูกค้าจ่ายค่าคอมมิชชั่นตามจำนวนที่เทรดจริง นับว่าเหมาะอย่างยิ่งกับนักลงทุนมือใหม่ที่มีเงินลงทุนไม่มาก หรือนักลงทุนที่อยากลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุนหรือ Dollar-Cost Averaging (DCA) “โครงสร้างรายได้ของเราแตกต่างจากบริษัทหลักทรัพย์อื่น เนื่องจากเราเน้นกลุ่มลูกค้าบัญชีมาร์จิ้น เราเป็นบริษัทหลักทรัพย์รายเดียวในไทยที่มีรายได้หลักมากกว่า 80% จากดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นรูปแบบธุรกิจที่มีโครงสร้างรายได้ที่ใหม่และแตกต่างจากบริษัทหลักทรัพย์อื่นในไทย” ประกฤต กล่าวว่า ลูกค้าบัญชีมาร์จิ้นสามารถซื้อหุ้นและถือเพื่อลงทุนระยะยาวได้ โดยบริษัทไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มแม้จะไม่มีการเทรด นอกจากนี้ การที่บริษัทเป็นโบรกเกอร์ออนไลน์แบบ 100% ทำให้บริษัทมีต้นทุนในการดำเนินกิจการที่ต่ำ ส่งผลให้ภาระค่าบริการของลูกค้าลดลงเช่นกัน ช่วยตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งนักลงทุนระยะสั้นและนักลงทุนระยะยาว บริษัทได้วางเป้าหมายหลักสู่การเป็นอันดับหนึ่งในการเป็นผู้ให้บริการด้านบัญชีมาร์จิ้นในธุรกิจหลักทรัพย์ของไทย ประกอบกับชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของบริษัทแม่บวกกับความสามารถในการดำเนินงาน ส่งผลให้บริษัทมีพันธมิตรที่คอยสนับสนุนบริษัทเป็นอย่างดีเรื่อยมา “เรายังคงมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อการให้บริการที่หลากหลายแก่นักลงทุนอยู่เสมอ เรามุ่งมั่นที่จะมอบบริการที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนได้ในอนาคต และเพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่นักลงทุน บริษัทจึงมีการจัดอบรมสัมมนาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย” นอกจากนี้ บริษัทยังเปิดให้ลูกค้าใช้งานโปรแกรมวิเคราะห์หุ้นอย่าง efin StockPickUp และ efin Mobile รวมทั้งวิดีโอสอนเทรดหุ้นจากหลากหลายกูรูหุ้นชื่อดังที่ Zchool ซึ่งเป็นห้องเรียนออนไลน์ โดยลูกค้าสามารถดูได้ฟรี ไม่จำกัดจำนวนครั้ง สำหรับผลประกอบการของบริษัทตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทย บริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทมีรายได้ 503 ล้านบาทและกำไรสุทธิ 193 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่บริษัทคาดไว้ ถือเป็นอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับปี 2563 ทั้งปีที่มีรายได้ 398 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 45 ล้านบาท รายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทมาจากดอกเบี้ยจากเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ประมาณ 440 ล้านบาท คิดเป็น 88% ของรายได้รวม ส่วนรายได้จากค่าคอมมิชชั่นประมาณ 53 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าจำนวนกว่า 9,000 บัญชี เติบโต 116% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน บริษัทอยู่ระหว่างการวางแผนตรียมความพร้อมสำหรับเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ SET เพื่อขยายธุรกิจและสร้างความน่าเชื่อถือต่อลูกค้ามากยิ่งขึ้น รวมทั้ง เพิ่มมาตรฐานในการดำเนินงาน เพิ่มศักยภาพและขยายโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจของบริษัทต่อไปในอนาคต “เรายังคงมุ่งมั่นในการปรับกลยุทธ์เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าและเพื่อก้าวสู่อันดับหนึ่งในการเป็นผู้ให้บริการด้านบัญชีมาร์จิ้นในธุรกิจหลักทรัพย์ของประเทศไทย รวมทั้ง ยกระดับมาตรฐานของอุตสาหกรรม และเป็นต้นแบบแนวคิดใหม่ของวงการหลักทรัพย์ในประเทศไทย” ประกฤต กล่าว