‘จีจี้’ สาวจีนหัวใจไทย กูรูกาวใจสองประเทศ ผู้บุกเบิกธุรกิจสื่อเชื่อมสัมพันธ์ไทย-จีน
พร้อมรุกตลาด MCN สร้างเครือข่ายหลายช่องทางออนไลน์ มุ่งมั่นดัน ‘ไทยเจียระไน กรุ๊ป’ เข้าตลาดหลักทรัพย์
หลายๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมาที่ทำให้คนไทยและคนจีนเข้าใจผิดกัน จนกระทั่งบางครั้งเกือบจะบานปลายกลายเป็นรอยร้าว แต่ในที่สุดเหตุการณ์เหล่านั้นก็ผ่านมาได้ คนไทยและคนจีนต่างมีความเข้าใจกันมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในคีย์แมนผู้อยู่เบื้องหลังการประสานรอยร้าว เป็นกาวใจเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยและคนจีนมาตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือสาวจีนหัวใจไทยที่ชื่อ จีจี้ หลุ่ย แซ่กั๊ว ประธานบริษัท ไทยเจียระไน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
เรียนรู้สองภาษา สองวัฒนธรรม
จีจี้เกิดที่ Beijing พ่อและแม่เป็นชาวจีนทั้งคู่ แต่ได้มีโอกาสติดตามพ่อแม่เดินทางมาประเทศไทยตั้งแต่ยังเด็ก เนื่องจากพ่อทำธุรกิจเปิดร้านไวโอลินที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2525 ภายใต้ชื่อ GMI Music ซึ่งเป็นไวโอลิน สเปเชียลลิสต์แห่งแรกในไทย จีจี้ได้เข้าเรียน ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-2 ที่ไทย และย้ายไปเรียนที่เมืองจีนตั้งแต่ประถม 3 จนถึงมัธยม 3 เพราะพ่อกลัวว่าจะลืมภาษาจีนและอยากให้ได้พื้นฐานภาษาจีน ก่อนกลับมาเรียนต่อที่ไทยในชั้น ม.4 และปักหลักที่ไทยอย่างถาวรนับแต่นั้นมา “การอยู่เมืองไทยและลงหลักปักฐานในไทย เราควรรู้ภาษาและวัฒนธรรมไทยเหมือนคนไทย พ่อจึงอยากให้เรียนภาษาไทยเหมือนคนไทยเรียน จึงเข้าเรียนที่โรงเรียนสายน้ำผึ้ง เป็นนักเรียนต่างชาติคนแรกของโรงเรียนและได้เป็นประธานนักเรียน ซึ่งเป็นนักเรียนต่างชาติคนแรกที่เป็นประธานนักเรียน หลังจากนั้นได้เอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สาขาดนตรีสากล วิชาเอกเปียโน และคิดว่าจะสานต่อธุรกิจดนตรีของพ่อ”
ในระหว่างที่เรียน จีจี้ได้ช่วยเป็นล่ามและแปลภาษาจีนให้กับมหาวิทยาลัย จึงถูกทาบทามให้เป็นอาจารย์พิเศษภาควิชาภาษาจีน สอนการฟังและการพูดระดับสูง และมีเวลาช่วยธุรกิจที่บ้านอีกทาง หลังจากสอนได้ 3-4 ปี บังเอิญเห็น TCTV หรือ Thai Chinese Television สถานีโทรทัศน์ไทยจีนเจ้าแรกในไทยเปิดรับสมัครนักข่าวและผู้ประกาศข่าว 2 ภาษา ด้วยความอยากรู้อยากเห็นประกอบกับที่ตัวเองเป็นเด็กจีนที่อยู่ในไทย และเห็นว่าไม่มีรายการทีวีในไทยที่เป็นภาษาจีนให้ได้รับข้อมูลข่าวสาร ซึ่งในตอนนั้นสื่อภาษาจีนมีเพียงหนังสือพิมพ์เท่านั้น จึงเข้าไปสมัคร
สู่อาชีพสื่อ
การทำงานที่ TCTV เป็นโอกาสที่ทำให้เธอได้เรียนรู้งานทั้งหมดของกระบวนการผลิตข่าว เพราะเป็นคนแรกและคนเดียวในสถานีที่รู้ภาษาทั้งไทยและจีน จีจี้ทำงานร่วมกับช่างภาพ ครีเอทีฟ และช่างตัดต่อ อีกทั้งได้ลาออกจากการสอนมาทำข่าวอย่างเต็มตัว จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าฝ่ายข่าว ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตรายการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถานี และรองผู้อำนวยการใหญ่ในเวลาเพียง 3 ปี หลังจากนั้น TCTV ตัดสินใจยุติ ทำให้สถานีอีกแห่งเข้ามาเปิดและชวนเธอไปร่วมงานเป็นผู้อำนวยการ แต่สุดท้ายเธอก็ยังไม่ได้ทำรายการที่ตัวเองอยากทำ เพราะสถานีเพียงนำรายการจากจีนมาเปิดในไทยเท่านั้น จีจี้และนักลงทุนกลุ่มหนึ่งจึงตัดสินใจลงทุนเปิด Thai Chinese International Television (TCITV) แต่ทำได้ 3 ปี ก็รู้สึกว่ายังไม่ได้ทำตามอุดมการณ์ของตัวเอง
“เราอยากให้คนจีนที่อยู่ในไทยรวมทั้ง Expat และนักท่องเที่ยวจีน ได้รับข้อมูลข่าวสารของประเทศไทย ซึ่งตอนนั้นมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาปีละ 4 ล้านคนจากแค่ 1 ล้านคน ถือเป็นจำนวนที่เยอะมาก พวกเขาไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในไทยบ้าง หรือจะติดต่อใครเวลามีปัญหา เราอยากทำสื่อเพื่อเป็นกระบอกเสียงของคนจีนจริงๆ ที่เราสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ อยากให้คนจีนเห็นอะไรที่เป็นของไทยจริงๆ ไม่ใช่แค่ข้อมูลจากไกด์บุ๊คท่องเที่ยวที่เป็นข้อมูลเก่าๆ”
บุกเบิกสื่อเชื่อมไทย-จีน
จีจี้จึงได้ตัดสินใจลาออกและเก็บตัวอยู่ประมาณ 3 เดือนเพื่อค้นพบตัวเอง และได้เปิดธุรกิจของตัวเองคือ บริษัท เจียระไน อินเตอร์เทนเมนท์ ในช่วงปลายปี 2554 ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไทยเจียระไน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน โดยเริ่มต้นด้วยการผลิตนิตยสารภาษาจีนแจกฟรี ซึ่งเป็นรายแรกในไทยชื่อ @ManGu Magazine เพื่อแนะนำที่กิน ที่เที่ยว ที่ชอปปิงในไทย โดยนำไปวางแจกที่สนามบินต่างๆ ร้านสะดวกซื้อที่เป็นที่นิยมของคนจีน และวางแผงทุก 2 สัปดาห์ @ManGu Magazine กลายเป็นกระแสที่บูมมากเพราะไม่เคยมีมาก่อน จากจำนวนตีพิมพ์เริ่มต้นที่ 3 หมื่นเล่ม เพิ่มเป็นกว่า 1 แสนเล่มก็ยังไม่เพียงพอ หนังสือหมดใน 2 วันแรกที่วางแจก บริษัทจึงเปลี่ยนมาเป็นสื่อออนไลน์แบบ 100% ในปัจจุบัน
หลังจากนั้นเกือบ 2 ปี ความเป็นผู้สื่อข่าวในตัวของจีจี้ทำให้เธอขยายสู่สำนักข่าวออนไลน์ Thailand Headlines ในช่วงปลายปี 2556 โดยใช้แพลตฟอร์มของ Weibo ซึ่งถือเป็นรายแรกที่เสนอข่าวสารเกี่ยวกับประเทศไทยภาคภาษาจีนแบบเรียลไทม์ เพราะเธอมองว่าการรู้ข่าวสารที่ทันเหตุการณ์เป็นเรื่องสำคัญมาก สื่อภาษาจีนที่มีขณะนั้นมีเพียงหนังสือพิมพ์ มักจะเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับไทยล่าช้าอย่างน้อย 3-4 วัน
“เราได้ข่าวสารพร้อมๆ กับสื่อไทยหรือหลังสื่อไทยเล็กน้อย เราจะประมวลข้อมูลก่อนโพสต์ข่าว จากปีแรกๆ ที่มีผู้ติดตามหลักแสน วันนี้เรามีผู้ติดตามถึง 3 ล้านคน สำนักข่าวของเราเป็นที่นิยมเป็นที่มอนิเตอร์จากสำนักข่าวต่างๆ ทั่วโลก ล่าสุด Thailand Headlines ได้รับการจัดอันดับ 2 ของโลก ในด้านอิทธิพลทางโซเชียลมีเดียและนิวมีเดียจากจำนวน 500 กว่าสื่อทั่วโลกที่เป็นสื่อภาษาจีนนอกประเทศจีน”
ต่อยอดสู่งานรางวัล
จาก @ManGu Magazine และ Thailand Headlines บริษัทได้ต่อยอดสู่งานรางวัล Person of the year ที่เป็นเอกลักษณ์ของ บริษัทในปี 2556 ซึ่งเป็นปีฉลองครบรอบ 1 ปี ของ @ManGu Magazine โดยเชิญบุคคลหน้าปกของนิตยสารในปีแรกมาร่วมงาน อาทิ คุณบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ คุณวาสนา รุ่งแสนทอง แห่งนารายา คุณต๊อบ เถ้าแก่น้อย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งล้วนเป็นบุคคลที่คนจีนอยากรู้จัก ปีที่ 2 งานรางวัลได้ขยายสู่บุคคลที่เป็นข่าวหรือมีเรตติ้งใน Thailand Headlines มากที่สุด ได้แก่ บัวขาว บัญชาเมฆ ไมค์-ภิรัชต์ ออม-สุชาร์ รวมทั้ง หญิงลี กระแต อาร์สยาม มาดามแป้ง และนิชคุณ มาร่วมงานในปีที่ 3 โดยเป็นงานมอบรางวัลที่ได้รับความสนใจอย่างมาก จำนวนผู้ร่วมงานจากหลักร้อยในปีแรกสู่ 2 พันคนในปีที่ 2 และ 3 โดยล่าสุดในปี 2562 มีการจัดขึ้นที่ไอคอนสยาม มีผู้ร่วมงานถึง 6,000 คน และยังมีรางวัลความสัมพันธ์ไทย-จีนที่มอบให้กับคนทั่วไปที่สร้างประโยชน์ เช่น อาสาสมัครล่ามจีนในเหตุการณ์ระเบิดที่แยกราชประสงค์และเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตได้ช่วยเป็นอาสาสมัครให้กับผู้ประสบเหตุชาวจีนอีกด้วย
พร้อมดันแบรนด์ไทยบุกตลาดจีน
ปัจจุบัน บริษัท ไทยเจียระไน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจให้บริการแบบครบวงจรสำหรับแบรนด์ไทยที่ต้องการเปิดตลาดที่จีน และแบรนด์จีนที่ต้องการเปิดตลาดในไทย โดยนำเสนอหลายๆ สื่อเป็นแพ็กเกจให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น @ManGu Magazine ที่เน้นความบันเทิงไลฟ์สไตล์ สัมภาษณ์คนดัง และ Thailand Information Guide ที่แนะนำข้อมูลทุกอย่างของไทยที่ไม่ใช่ข่าว
“เราจะช่วยให้แบรนด์ไทยเปิดตลาดจีน ให้ผู้ประกอบการไทยได้รู้ว่าตอนนี้จีนไปถึงไหนแล้ว จะไปทำตลาดจีนจะต้องให้วิธีอะไรบ้าง แบบไหนที่ห้าม แบบไหนที่ทำได้ หรือคนจีนชอบ ในทางกลับกันแบรนด์จีนจะมาไทยก็จะรู้ว่าผู้บริโภคชาวไทยเป็นอย่างไร”
ในช่วงโควิด-19 ทางบริษัทได้ต่อยอดธุรกิจใหม่ คือ Multi Channel Network หรือ MCN ในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ YouTube กำลังได้รับความนิยม โดยเป็นธุรกิจที่เน้นอินฟลูเอนเซอร์หรือเน็ตไอดอล ปั้นคนธรรมดาที่มีความสามารถและพรสวรรค์ให้เป็นเน็ตไอดอล โดยเน้นการเชื่อมโยงระหว่างไทยและจีน ซึ่งเป็นจุดที่แตกต่างจาก MCN อื่น “MCN มีขอบข่ายกว้างกว่าดาราทั่วไปเพราะทำมากกว่า สามารทำไลฟ์สตรีมมิ่งได้ รีวิวได้ ไทอินออนไลน์และออฟไลน์ได้ เน็ตไอดอลไม่จำเป็นต้องพูดได้ 2 ภาษา ถ้าเป็นเน็ตไอดอลไทยเราจะเทรนให้เขารู้ว่าจะโชว์ฝีมือ ความสามารถ หรือทำงานในแพลตฟอร์มจีนอย่างไร ผู้ชมจีนชอบแบบไหน หากแบรนด์จีนต้องการเข้ามาบุกตลาดไทย โชว์สินค้าหรือรีวิว เราก็จะจัดหาให้เหมาะกับความต้องการของลูกค้าจีนได้”
ปัจจุบัน บริษัทมีเน็ตไอดอลในเครือข่ายกว่า 100 คน โดย 70% เป็นคนไทย เนื่องจากเน้นสินค้าไทยไปบุกตลาดจีน โดยบริษัทคัดเลือกจากการจัด Future Star Power Camp ทำแคมเปญร่วมกับ Douyin หรือ TikTok China อีกทั้งปี 2563 มีการจัด ไทยฮิต จีนฮอต เพื่อให้เน็ตไอดอลไทยบุกตลาดจีน สร้างกระแสฟีเวอร์ไทยในกลุ่มคนจีนอีกครั้ง เพราะหลังจากนักท่องเที่ยวจีนไม่สามารถเดินทางมาไทยได้ ทำให้สินค้าไทยหายไปจากชีวิตประจำวันของคนจีน
เล็งเข้า ตลท.
นอกจากนี้ บริษัทยังมีธุรกิจอีคอมเมิร์ซเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าไทยทางออนไลน์ให้กับคนจีน มีบริการตั้งแต่ทำคอนเทนต์เพื่อไปอัพโหลดสร้างแบรนด์ กระบวนการอีคอมเมิร์ซ และการขนส่งสินค้าไปยังจีน ซึ่งบริษัทได้เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 ภายใต้ บริษัท ไทย วันมอลล์ จำกัด ที่ได้ร่วมทุนกับเครือสหพัฒน์ ก่อนที่บริษัทจะซื้อหุ้นทั้งหมดเพื่อความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ
บริษัทยังมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเป็นตัวแทนขาย ทำการตลาด และลงโฆษณาให้กับโครงการของบริษัทใหญ่ๆ ในไทย อาทิ พฤกษา เรียลเอสเตท แสนสิริ อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ และยังเป็นตัวแทนของไทยแลนด์ อีลิทการ์ด ซึ่งสร้างยอดขายได้เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด สามารถพยุงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้ “ก่อนโควิด สื่อเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้มากที่สุดประมาณ 50-60% ของรายได้รวม รองลงมาคืออสังหาริมทรัพย์ 30% ที่เหลือเป็นธุรกิจอื่นๆ แต่หลังจากโควิดและเราได้บุกธุรกิจ MCN ทำให้รายได้จาก MCN มีสัดส่วนถึง 30% โดยธุรกิจสื่อยังทำรายได้หลักที่ 40%”
ในช่วงโควิดนี้ บริษัทได้รับผลกระทบทั้งทางธุรกิจและรายได้ จึงหันมาปรับปรุงระบบภายในให้แข็งแกร่งขึ้น โดยทำ Standard Operation Procedure (SOP) หรือเอกสารคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงาน โดยให้บริษัทตรวจสอบบัญชีเข้ามาเซ็ตเป็นมาตรฐานและอยู่ระหว่างพูดคุยกับบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน เนื่องจากบริษัทมีเป้าหมายที่จะระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในอีก 3 ปีข้างหน้า
“การทำธุรกิจสื่อหากใช้ทุนตัวเองคนเดียวหรือทุนใครคนใดคนหนึ่ง เราจะไม่สามารถทำให้ธุรกิจขยายตัวขับเคลื่อนได้เร็วหรือได้สร้างอิมแพคได้ เราจึงต้องการทุนจากข้างนอกเข้ามาเพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้น”
เผยแพร่สิ่งดีๆ คือภารกิจหลัก
จีจี้ ถือเป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยประสานความสัมพันธ์ เป็นกาวใจและสร้างความเข้าใจระหว่างคนไทยและคนจีนในหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
“หลายเหตุการณ์ที่เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีกับนักท่องเที่ยวจีนหรือเกิดความเข้าใจผิดระหว่างคนไทยและคนจีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบุฟเฟต์ตักกุ้ง วัดร่องขุ่น ร้านอาหารทะเลที่โก่งราคา และล่าสุดเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวจีนล่มที่ภูเก็ต เราได้ออกมาช่วยชี้แจงและปรับความเข้าใจว่า เหตุที่เกิดขึ้นเกิดได้อย่างไร และประสานกับฝั่งไทยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว เพื่อชี้แจงหรือแจ้งเหตุที่เกิดขึ้น และนำไปเผยแพร่ให้คนจีนเข้าใจ”
การประสานความเข้าใจและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ เป็นอุดมการณ์ของเธอตั้งแต่วัยเด็กที่พบปัญหาด้านการสื่อสาร และการรับรู้ข่าวสารที่ผิดพลาดหรือล่าช้า ซึ่งสิ่งที่เธอทำสามารถช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาความสัมพันธ์ของคน ทั้งสองชาติได้ ตลอดจนช่วยนำเสนอสิ่งดีๆ ของไทยให้กับคนจีนได้รับรู้
“เราอยากให้คนจีนได้เห็นสิ่งที่ดีที่สุดของไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่สืบทอดมาตั้งแต่ @ManGu Magazine เราจะนำเสนอสิ่งที่ดีๆ ของไทยให้คนจีนเห็น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าไทย แบรนด์ไทย ที่กิน ที่เที่ยว ซึ่งจะทำให้การท่องเที่ยวไทยดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนได้มากขึ้น และสามารถส่งสินค้าไทยไปขายในจีนได้มากขึ้น เกิดการยอมรับในทางที่ถูกต้องมากขึ้น นอกจากนี้ เรามุ่งหวังให้สังคมไทยได้ยินเสียงของคนจีน หากเกิดกรณีต่างๆ ซึ่งเสียงสะท้อนของคนจีนหรือปัญหาที่คนจีนพบ หากได้รับการแก้ไขจะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนได้