จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก “
Net Zero” หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จึงเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ หลายประเทศวางแผนกำหนดนโยบาย
Net Zero ให้เป็นเป้าหมายระดับชาติ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นักลงทุนและผู้บริโภคจึงตระหนักถึงความสำคัญกับปัญหาเหล่านี้ และหันมาสนับสนุนธุรกิจที่นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการคาร์บอนต่ำกันมากขึ้น วันนี้
Forbes Thailand ได้สนทนากับ
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หัวเรือใหญ่ด้านพลังงานที่ได้เปิดเผยมุมมองต่อภาคอุตสาหกรรมในกระแส
Net Zero ว่า ภาคพลังงานและภาคคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตไฟฟ้า การขนส่ง และการเผาไหม้เชื้อเพลิง ถือเป็นต้นกำเนิดที่สำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีสัดส่วนสูงถึง 70% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อมุ่งสู่พลังงานสะอาด รวมทั้งเทคโนโลยีด้านพลังงาน จึงเป็นกระบวนการสำคัญที่จะผลักดันให้โลกมุ่งสู่เป้าหมาย
Net Zero เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“กว่า 100 ประเทศทั่วโลกได้ออกมาประกาศเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บางประเทศประกาศตัวจะเป็น
Net-Zero Greenhouse Gas Emissions อย่างชัดเจน และมีแผนจะนำมาตรการเกี่ยวกับการลดคาร์บอนมาใช้เป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมทั้งบริษัทพลังงานระดับโลกมีการปรับพอร์ตการลงทุน โดยเพิ่มสัดส่วนธุรกิจพลังงานสะอาดมากถึง 40%”
สำหรับประเทศไทย ได้ประกาศเป้าหมาย
Net Zero ภายในปี 2608 และการเป็นกลางทางคาร์บอน (
Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 ในที่ประชุม
COP26 หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26
“เป้าหมายนี้เป็นเป้าหมายที่ท้าทาย และต้องอาศัยแรงผลักดันทั้งจากนโยบายของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่จะมีบทบาทสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายนี้” อรรถพล กล่าว
ปตท. เตรียมพร้อมสู่ Net Zero
ปตท. เล็งเห็นความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาโลกร้อน จึงยกระดับการพัฒนาธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำควบคู่กับการดูแลสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่เพียงแค่ของคนไทย แต่ยังรวมถึงสังคมโลก ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์ใหม่ คือ “
Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต”
“เราพร้อมเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยตั้งเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ปตท. ทั้งในและต่างประเทศลดลง 15% ภายใน 10 ปี หรือปี 2563 - 2573 สอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายไว้ เพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และพยายามไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงปารีส (
Paris Agreement)”
และเพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการขับเคลื่อนดังกล่าว ปตท. จึงจัดตั้งคณะทำงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์กลุ่ม ปตท. (
PTT Group Net Zero Task Force หรือ
G-NET) เพื่อวางเป้าหมายบรรลุ
Net Zero ของ ปตท. ซึ่งตั้งเป้าว่าจะเป็นเป้าหมายที่เร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ เพื่อร่วมขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำให้ลุล่วง
![](https://forbesthailand.com/wp-content/uploads/2022/02/03-2.jpg)
ปตท. ยังพร้อมที่จะผลักดันการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องของกลุ่ม ปตท. ทั้งในและต่างประเทศ โดยกำหนดแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด ด้วยการดำเนินงานหลัก 3 ด้าน (3
P’s Decarbonization Pathways) ได้แก่
(1)
Pursuit of Lower Emission หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำกลับมาใช้ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
(2)
Portfolio Transformation เป็นการลงทุนพัฒนาและส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด โดยตั้งเป้าใน 10 ปีข้างหน้าจะลงทุนในธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและธุรกิจนอกเหนือจากพลังงาน (
Future Energy & Beyond) ให้สูงถึง 30% และในปี 2573 จะต้องพัฒนาธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนด้วยกำลังการผลิตจากพลังงานทดแทนที่ 12
GW พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ รวมไปถึงการปรับลดการลงทุนในธุรกิจถ่านหิน
(3)
Partnership with Nature มุ่งสู่การเพิ่มการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศด้วยวิธีทางธรรมชาติ โดยที่ผ่านมา ปตท. ได้ปลูกและดูแลรักษาป่าจำนวน 1.1 ล้านไร่ใน 54 จังหวัดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 2.14 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี รวมทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองที่คุ้งบางกะเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ และสร้างศูนย์เรียนรู้ธรรมชาติทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต
“เมื่อวิถีของโลกเปลี่ยนไป กลุ่ม ปตท. พร้อมปรับตัวเพื่อให้เป็นองค์กรที่ไม่ตกยุค จึงปรับวิสัยทัศน์ขององค์กรสู่ “
Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” โดยจะรุกสู่ธุรกิจพลังงานอนาคต และเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว พร้อมทั้งสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนด้านพลังงาน และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง” อรรถพล กล่าว
ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่นี้ ปตท. จะมุ่งดำเนินงานใน 2 ส่วน คือ “
Future Energy” และ “
Beyond” สำหรับ “
Future Energy” จะเน้นการปรับพอร์ตการลงทุนสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Go Green) ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (Go Electric) และธุรกิจไฟฟ้าที่เกี่ยวเนื่อง (
Electricity Value Chain) รวมถึงการศึกษาโอกาสในธุรกิจไฮโดรเจน
“ปตท. อยู่ในช่วงการขยายตัวสู่ธุรกิจใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยยังคงสร้างความเข้มแข็งในธุรกิจปิโตรเลียมเดิม ตามพันธกิจในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ พร้อมกับรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมพลังงาน และขยายธุรกิจนอกเหนือจากพลังงาน เพื่อสร้างการเติบโตรองรับอนาคต โดยเราเปิดรับความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจตามแนวคิด Partnership & Platform โดยเฉพาะการขยายไปในธุรกิจที่เราไม่คุ้นเคย”
ส่วน “
Beyond” หรือการขยายธุรกิจใหม่นอกเหนือจากพลังงาน จะมุ่งเน้นไปที่ 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่
1. ธุรกิจ
Life Science โดยตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เมื่อปลายปี 2563 เพื่อเป็นแกนนำในการลงทุนธุรกิจ ทั้งธุรกิจยา อาหารสุขภาพ อุปกรณ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ พร้อมผลักดันยุทธศาสตร์ประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางทางด้านนวัตกรรมเพื่อสุขภาพของอาเซียน และเพิ่มโอกาสการลงทุนด้านเทคโนโลยีผลิตยาขั้นสูงจากต่างประเทศในไทยอีกด้วย
2. ธุรกิจด้าน
Mobility & Lifestyle โดยดำเนินการผ่านบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ที่เน้นการลงทุนสู่ธุรกิจค้าปลีกมากขึ้น เพื่อสอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค
3. ธุรกิจ
High Value Business โดยต่อยอดปิโตรเคมีสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรม ผ่านการลงทุนของบริษัทในกลุ่มปิโตรเลียมขั้นปลาย โดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล เข้าซื้อกิจการ
Allnex เพื่อประกอบธุรกิจในการผลิต
Coating Resins และสาร
Additives โดยวางเป้าหมายสร้างมูลค่าเพิ่มและขยายการเติบโตในตลาดต่างประเทศ
4. ธุรกิจ
Infrastructure & Logistics ด้วยระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดย ปตท. ลงทุนผ่านบริษัทลูก บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด เพื่อพัฒนาและดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โดยร่วมลงทุนกับภาครัฐและเอกชนก่อสร้างท่าเทียบเรือ เพื่อรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าด้วยระบบจัดการแบบอัตโนมัติ เพิ่มขีดความสามารถของระบบโลจิสติกส์ และโครงการขยายท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศไทย
5. ธุรกิจ
AI, Robotics & Digitalization ในด้านดิจิทัล หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ ทั้งในกระบวนการผลิต การดำเนินงาน และพัฒนาเป็นธุรกิจใหม่ โดย ปตท. ได้จัดตั้งธุรกิจต่างๆ ได้แก่ บริษัท เมฆา เทคโนโลยี จำกัด ให้บริการระบบ
Public Cloud Services หรือระบบการประมวลผลหรือการจัดเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานที่ถูกจัดเก็บบนเครื่องเซิร์ฟเวอร์แบบสาธารณะ
![](https://forbesthailand.com/wp-content/uploads/2022/02/07.jpg)
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับกลุ่มมิตซุย พันธมิตรจากประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัท พีทีที เรส จำกัด เพื่อให้บริการด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ในภาคอุตสาหกรรม บริษัท ที-อีโคซิส จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจด้านดิจิทัลแพลตฟอร์มในภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงการดำเนินงานของบริษัทในกลุ่ม ปตท. เช่น บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ที่ได้ร่วมกับพันธมิตรในการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีโดรน หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ ในแอปพลิเคชั่นต่างๆ เช่น การซ่อมท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเล
และคงไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ เพราะ ปตท. ยังคงมองหาโอกาสในธุรกิจใหม่ๆ ที่มีแนวโน้มเติบโต รวมทั้งสร้างศักยภาพในการแข่งขันอยู่เสมอ เพราะไม่เพียงแต่มุ่งหวังจะสร้าง
New S-Curve ให้กับองค์กรเท่านั้น แต่ต้องการขับเคลื่อน
New S-curve เพื่อรองรับการพัฒนา 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศอีกด้วย
สิ่งหนึ่งที่
Forbes Thailand สังเกตเห็นตลอดการสนทนา คือ ความตั้งใจจริงของ ปตท. ที่จะสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนและมีธรรมาภิบาล เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงทางพลังงาน แต่ก็ยังคงดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะการขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมาย Net Zero อีกทั้งยังเป็นยักษ์ใหญ่ที่พร้อมขยับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป