สิงห์ เอสเตท ต่อยอดธุรกิจโรงไฟฟ้า ทุ่มงบกว่า 2 พันล้าน ซื้อนิคมฯ เวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์
ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยากจะคาดเดา เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้อย่างสม่ำเสมอ และดำเนินธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่ง บมจ. สิงห์ เอสเตท (S) บริษัทผู้พัฒนาและลงทุนอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย จึงเดินหน้าพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ล่าสุดยังได้ ลงนามในข้อตกลงเข้าซื้อหุ้น 100% ของบริษัท ปาร์ค อินดัสตรี จำกัด จากบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด
ผลจากการดำเนินธุรกรรมดังกล่าว ซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,421 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินที่จ่ายเพื่อซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท ปาร์ค อินดัสตรี จำกัด ในราคาพาร์ จำนวน 510 ล้านบาท และเงินที่จะใช้ในการลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรม จำนวน 1,726 ล้านบาท อีกส่วนหนึ่งจะใช้เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งนี้ธุรกรรมดังกล่าวยังส่งผลให้ สิงห์ เอสเตท ได้รับกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ ซึ่งมีเนื้อที่ 1,790 ไร่ ตั้งอยู่ใน จ.อ่างทอง ไปด้วย เนื่องจากมีบริษัท ปาร์ค อินดัสตรี จำกัด เป็นเจ้าของ ทั้งนี้ คาดว่าการโอนหุ้นดังกล่าวจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564
แล้วดีลนี้จะส่งผลกับธุรกิจของสิงห์ เอสเตท อย่างไร
ก่อนหน้านี้ สิงห์ เอสเตท ได้ขยายธุรกิจหลักจากเดิมที่โฟกัสใน 3 ส่วน ประกอบด้วย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ธุรกิจโครงการที่พักอาศัย และธุรกิจรีสอร์ตและโรงแรม ซึ่งทำรายได้คิดเป็นสัดส่วน 96% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทฯ ไปสู่ธุรกิจที่ 4 คือ ธุรกิจโรงไฟฟ้าและบริการที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อเข้ามาเติมเต็มและต่อยอดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นแกนหลักของบริษัทมาแต่เดิม โดยเมื่อ 23 เมษายนที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นของสิงห์ เอสเตท ได้อนุมัติแผนการเข้าซื้อหุ้น 30% ในโรงงานผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วม (Co-generation power plant) ขนาดใหญ่ จำนวน 3 แห่งที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์
ผลจากการซื้อหุ้นดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญ ที่ทำให้สิงห์ เอสเตท ไม่เพียงมีฐานธุรกิจที่มั่นคงในอุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้าได้ทันที โดยไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ของสิงห์ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการเติบโต และเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน ต่อยอดมาถึงดีลในครั้งนี้
นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการ บมจ. สิงห์ เอสเตท เปิดเผยว่า การซื้อนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ที่สิงห์ เอสเตท ได้เข้าไปถือหุ้นในสัดส่วนที่มากพอสมควร ก่อนหน้านี้ เป็นไปตามเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของสิงห์ เอสเตท ในการสร้างจุดแข็งที่ทรงพลังให้กับธุรกิจ จากการส่งเสริมซึ่งกันและกันของกลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่หลากหลาย ทำให้สิงห์ เอสเตท มีความแข็งแกร่งในการแข่งขัน และมั่นใจว่าธุรกิจจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้เป็นอย่างดีในทุกสถานการณ์ (Resilient Business)
นอกจากการผสานธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมเข้ากับธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า จะสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจ ทั้งในด้านการเงินและการดำเนินงานแล้ว นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สิงห์ เอสเตท ยังมองว่ากิจการโรงไฟฟ้า จะช่วยให้สิงห์ เอสเตท มีรายได้อย่างต่อเนื่อง และมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ ลดความเสี่ยงในเรื่องความไม่แน่นอนของกระแสเงินสดจากการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม
“นิคมอุตสาหกรรม คือ หนึ่งในผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด ดังนั้น การที่สิงห์ เอสเตท เป็นเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมเอง ก็จะได้รับผลดีจากความต้องการใช้ไฟฟ้าไปด้วย เพราะสามารถผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งของเรา นอกจากนี้การที่นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้เน้นผลิตสินค้าอาหารโดยเฉพาะ ทำให้มีความต้องการใช้ไอน้ำเพื่อแปรรูปอาหารต่างๆ ซึ่งโรงไฟฟ้าของเราก็ยังเป็นผู้ผลิตไอน้ำที่ใช้ได้ในอุตสาหกรรมอาหารด้วย”
มากกว่าความลงตัวในเชิงกลยุทธ์ นางฐิติมา ยังเสริมถึงความสนใจของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศไทยว่ามีแนวโน้มไปได้ดีในอนาคต โดยพิจารณาจากอัตราการเข้าใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของทั้งประเทศนั้น เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 80% ณ ช่วงสิ้นปีของปีที่แล้ว ในขณะที่พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในภาคกลางมีอัตราการเข้าใช้สูงสุดอยู่ที่ประมาณ 89%
“อีกหนึ่งแรงหนุนที่ทำให้นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้น่าสนใจ คือ สอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนประเทศ ที่มุ่งยกระดับประเทศไทยให้เป็นครัวของโลก และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารชั้นนำของโลก ดังนั้นด้วยทำเล ที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ ตั้งอยู่ใจกลางห่วงโซ่อุปทานอาหารและวัตถุดิบของประเทศ ทั้งแหล่งสำคัญในการผลิตข้าว ผลิตภัณฑ์จากนม และสัตว์ปีก อยู่ใกล้แหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ อย่างแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งถือเป็นแต้มต่อที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร”
ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่า ความต้องการที่ดินของนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น เมื่อมีการ ผ่อนปรนมาตรการความเข้มงวดในการเดินทางหลังการคลี่คลายของวิกฤตโควิด-19
นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่น่าจับตามองของสิงห์ เอสเตท ในการเดินเกมรุก สร้าง Synergy ให้ธุรกิจ เพื่อพิชิตเป้าหมายที่วางไว้ว่า จะดันรายได้ให้เพิ่มขึ้น 3 เท่า กลายเป็นบริษัทที่มีรายได้ 20,000 ล้านบาทต่อปี ภายในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า