“ท่าเรือกรุงเทพ” เปิดแผนพัฒนาครั้งใหญ่พลิกโฉมการขนส่งทางน้ำ วางระบบไอที พัฒนาศูนย์โลจิสติกส์ใหม่ เสริมศักยภาพ SMART PORT พร้อมพลิกโฉมสู่ท่าเรือชั้นนำระดับโลกในปี 2573 - Forbes Thailand

“ท่าเรือกรุงเทพ” เปิดแผนพัฒนาครั้งใหญ่พลิกโฉมการขนส่งทางน้ำ วางระบบไอที พัฒนาศูนย์โลจิสติกส์ใหม่ เสริมศักยภาพ SMART PORT พร้อมพลิกโฉมสู่ท่าเรือชั้นนำระดับโลกในปี 2573

ในปี 2564 นี้ การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินกิจการมาครบ 70 ปี เราได้พัฒนาการให้บริการมาอย่างต่อเนื่อง ท่าเรือกรุงเทพในฐานะท่าเรือแม่น้ำ ที่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงการขนส่ง และกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังคงมุ่งมั่นและดำเนินโครงการพัฒนาด้านการขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์อย่างครบวงจร ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล โดยเตรียมนำระบบ AI มาใช้ในกิจกรรมเกี่ยวกับตู้สินค้า เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และลดผลกระทบด้านการจราจร นายบัณฑิต สาครวิศวะ ผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า ท่าเรือกรุงเทพอยู่ภายใต้การบริหารของ กทท. ซึ่งดำเนินงานบริหารกิจการท่าเรือหลักของประเทศ 2 แห่ง คือ ท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้งท่าเรือภูมิภาคอีก 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน ท่าเรือเชียงของ และท่าเรือระนอง โดย กทท. มีหน้าที่ให้บริการ และอำนวยความสะดวกด้านการผ่านเข้าออกของเรือและสินค้าในอาณาบริเวณพื้นที่ ตลอดจนเป็นประตูเศรษฐกิจเชื่อมโยงการค้าระหว่างประเทศ เพื่อตอบสนองนโยบายด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ “แผนการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพในระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2563 - 2573) เป็นไปตามวิสัย ทัศน์ของ กทท. คือ “มุ่งสู่มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก พร้อมการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในปี 2573” ทั้งนี้ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้บริการ ด้วยความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ช่วยลดต้นทุน ลดมลพิษ และสามารถอยู่ร่วมกับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” นายบัณฑิตฯ กล่าว สำหรับแผนพัฒนาท่าเรือกรุงเทพบนพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ ประกอบด้วย โซนท่าเรือฝั่งตะวันออก ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับตู้สินค้าหรือท่าเทียบเรือตู้สินค้า ซึ่งจะเป็นเขตหวงห้ามและจะมีการแบ่งโซนอย่างชัดเจน โดยจะมีท่าเทียบเรือ ลานกองเก็บตู้สินค้าหรือ Container Yard ที่จะมีการบริหารจัดการด้วยระบบ AI    ดังนั้น บริเวณดังกล่าวจะต้องมีการจัดสรรพื้นที่อย่างชัดเจน เพื่อให้สามารถรองรับการนำระบบ IT มา    บริหารจัดการวางแผนการจัดเก็บ และขนถ่ายสินค้าได้อย่างเป็นระบบ ทำให้การขนถ่ายสินค้าเข้า-ออกดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในการพัฒนาท่าเรือฝั่งตะวันตก จะใช้พื้นที่ประมาณ 130 ไร่ โครงการแรกที่จะเริ่มดำเนินการ คือ โครงการพัฒนาท่าเรือฝั่งตะวันตกเป็นท่าเรือกึ่งอัตโนมัติ (Semi-Automated Container Terminal) และลานกองเก็บตู้สินค้า โดยจะเริ่มก่อสร้างในปลายปี 2565 ให้เป็นระบบกึ่งอัตโนมัติ เพื่อลดมลพิษ และพัฒนาให้เป็นท่าเรือที่รักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะดำเนินการเปลี่ยนเครื่องมือทุ่นแรงระบบเดิมให้เป็นระบบไฟฟ้าทั้งหมด โดยมีพนักงานควบคุมอยู่ภายในอาคารสำนักงาน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาและออกแบบ ภายใต้งบลงทุนก่อสร้าง ประมาณ 3.5 พันล้านบาท พื้นที่ในส่วนที่เหลือจะพัฒนาเป็นศูนย์โลจิสติกส์ ภายใต้ชื่อ “โครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าท่าเรือกรุงเทพ และศูนย์เชื่อมโยงการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport & Distribution Center)” และเป็นที่ตั้งของตึกอำนวยการของท่าเรือกรุงเทพ โดยจะมีพื้นที่ Free Zone สำหรับดำเนินกิจกรรมการบรรจุสินค้านำเข้าและส่งออก ซึ่งศูนย์โลจิสติกส์แห่งนี้จะออกแบบเป็นอาคารทรงสูง คล้ายกับท่าเรือในฮ่องกง โดยจะนำระบบ IT เข้ามาบริหารจัดการเพื่อให้มีการนำสินค้าเข้า-ออกด้วยระบบอัตโนมัติอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง กทท. จะสนับสนุนการใช้รถขนส่งขนาดเล็ก เพื่อลดผลกระทบด้านการจราจร และเพื่อความคล่องตัวในการขนส่งสินค้า ศูนย์โลจิสติกส์ดังกล่าว ภายในจะประกอบไปด้วยคลังสินค้าที่มีการนำระบบการทำงานแบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในการปฏิบัติงาน เพื่อลดต้นทุนในการขนส่งสินค้าในระบบโลจิสติกส์ รวมทั้งจะนำระบบรางเชื่อมเข้าสู่พื้นที่ เพื่อขนส่งและกระจายสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพเข้าสู่ทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทยด้วยทางรถไฟ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง ลดความแออัด และลดมลพิษจากการใช้ถนน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2568 ขณะที่ความต้องการของผู้บริโภคในกรุงเทพมหานครขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สินค้าและธุรกรรมการขนส่งทางเรือก็เติบโตขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้น เมื่อสินค้ามีปริมาณมากขึ้น การขนถ่ายสินค้าและการจราจรในท่าเรืออาจเกิดความแออัดคับคั่ง เราจึงเตรียมวางแผนด้วยการพัฒนาระบบการจราจรในท่าเรือกรุงเทพ โดยดำเนินโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนาอาจณรงค์ หรือ S1 เป็นจุดเชื่อมต่อสำหรับการขึ้น-ลงทางพิเศษบูรพาวิถีและทางพิเศษฉลองรัฐ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566 และแล้วเสร็จในปี 2568 นอกจากนี้ กทท. ยังได้พัฒนาระบบ e-Payment มาให้บริการจัดเก็บค่าธรรมเนียมยานพาหนะผ่านท่า ค่าภาระตู้สินค้าขาออก และค่าบริการชั่งน้ำหนักตู้สินค้า ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถดำเนินการล่วงหน้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ต รวมทั้ง การนำระบบ IT มาใช้ในการบริหารจัดการเรื่องการจองคิวและจัดส่งเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการ และลดความแออัดในท่าเรือกรุงเทพ      อีกด้วย สำหรับผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2564 (1 ต.ค.  ถึง 30 ก.ย. ) นายบัณฑิตฯ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินงานของท่าเรือกรุงเทพ เนื่องจากสินค้าที่ขนส่งมาทางเรือมีปริมาณลดลงทำให้ช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (1 ต.ค. ถึง 30 มี.ค. ) หดตัวประมาณ 1% ถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบหลายปี จากที่คาดการณ์ไว้ว่าน่าจะ เติบโตประมาณ 4% ต่อปี ตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศหรือจีดีพี ทั้งนี้ “คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 จะเริ่ม    ฟื้นตัว การนำเข้า-ส่งออกจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการที่ทุกประเทศทั่วโลกได้เร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนของตน โดยในภาพรวมของปีงบประมาณ 2564 ผลการดำเนินงานของ กทท. น่าจะใกล้เคียงกับปีงบประมาณ 2563 และคาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในปีงบประมาณ 2565’’ นายบัณฑิตฯ กล่าว

TAGGED ON