แม่ทัพหญิง STGT ชูแนวคิด Clean World Clean Gloves ตอกย้ำต้นแบบผู้ผลิตถุงมือยางรักษ์โลก - Forbes Thailand

แม่ทัพหญิง STGT ชูแนวคิด Clean World Clean Gloves ตอกย้ำต้นแบบผู้ผลิตถุงมือยางรักษ์โลก

ท่ามกลางความตื่นตัวของภาคธุรกิจต่างๆ กับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางไนไตรล์รายใหญ่ของโลก ถือเป็นองค์กรต้นแบบในอุตสาหกรรมการผลิตถุงมือยาง ที่มุ่งเน้นการดูแลรักษา        สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG ล่าสุด ‘จริญญา จิโรจน์กุล’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ STGT ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางไนไตรล์รายใหญ่ของโลก ได้เปิดเผยถึงแนวคิด Clean World Clean Gloves (CWCG) เพื่อตอกย้ำการเป็นต้นแบบองค์กรสีเขียวในอุตสาหกรรมการผลิตถุงมือยางเพื่อการพัฒนาโลกอย่างยั่งยืน
‘จริญญา จิโรจน์กุล’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ STGT
เปิดคอนเซ็ปต์ Clean World Clean Gloves ถุงมือรักษ์โลกที่สะอาดต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม แม่ทัพหญิง STGT มองว่า การดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน จะต้องขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตไปพร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อม บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด ‘Clean World Clean Gloves’ ที่ใส่ใจในคุณภาพสินค้า และร่วมดูแลโลก โดยแนวคิด Clean World จะมุ่งเน้นการดำเนินงานและพัฒนาผลิตภัณฑ์พร้อมรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ผ่านการดำเนินการ 3 ส่วน ได้แก่ 1) การสรรหาวัตถุดิบคุณภาพจากแหล่งผลิตหรือคู่ค้าที่มีแนวปฏิบัติด้าน ESG ที่ดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม มีระบบและมาตรฐานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการอนุรักษ์ป่าไม้และพื้นที่ที่มีคุณค่าด้านการอนุรักษ์สูง (High Conservation Value) อีกทั้งต้องมีมาตรฐานการจัดการด้านความปลอดภัย การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม เคารพสิทธิมนุษยชน ไม่ขัดต่อกฎหมาย ปฏิบัติตามระเบียบและข้อปฏิบัติมาตรฐานสากลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น STGT ใช้น้ำยางข้นจาก บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ที่มีการคัดสรรจากแหล่งยางที่ถูกกฎหมายและมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น 2) การมุ่งเน้นการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยใช้พลังงานหมุนเวียน 100% เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต มีระบบป้องกันมลพิษอากาศ และระบบการจัดการน้ำและของเสียที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าให้กับของเสีย หรือวัสดุไม่ใช่แล้วตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) 3) การบริหารจัดการโลจิสติกส์ ตั้งแต่การคัดเลือกทำเลที่ตั้งและแหล่งวัตถุดิบ รวมถึงการขนส่งที่ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงในการขนส่งวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน “หากจะพูดในแง่ความเป็น ‘Clean Gloves’ ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงถุงมือที่มีความสะอาดและเป็นมิตรต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ด้วยกระบวนการผลิตที่มุ่งเน้นความสะอาดในทุกๆ ด้าน ไปจนถึงการลดใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการปล่อยของเสียต่างๆ และลดสารเคมีในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราวิจัยและพัฒนาในการลดค่าโปรตีนในผลิตภัณฑ์ถุงมือยางที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ เพื่อให้ได้ถุงมือยางแต่ละชิ้นที่มีความสะอาด ถูกสุขอนามัย และมีประสิทธิภาพในการปกป้องผู้ใช้งานได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นมิตรต่อโลก สามารถย่อยสลายลดปริมาณขยะที่เป็นปัญหาของโลกได้ ดังนั้น จากแนวคิด ‘Clean World Clean Gloves’ STGT มุ่งหวังว่า จะสร้างมิติใหม่ของผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง นอกจากผู้บริโภคจะได้รับผลิตภัณฑ์ที่สะอาด มีคุณภาพในการปกป้องสูงสุด สามารถใช้ได้อย่างมั่นใจแล้ว ผู้บริโภคยังสามารถมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาโลกใบนี้ไปด้วยกัน” จริญญากล่าว 2564 ปีทองและปีแห่งการลงทุน ในปี 2564 ถือเป็นปีทองและปีแห่งขยายการลงทุนของ STGT โดยสามารถทำรายได้รวมงวด 9 เดือนของปี 2564 เป็นสถิติสูงสุดใหม่ ที่ 39,265.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 132.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 21,864.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 271.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ราคาขายเฉลี่ยในตลาดโลกผันผวน แต่ถูกชดเชยด้วยปริมาณการขายถุงมือยางที่เพิ่มขึ้น โดย STGT ถือเป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก ด้วยกำลังการผลิตติดตั้ง ณ สิ้นปี 2564 กว่า 40,000 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 ที่มีกำลังการผลิตติดตั้งกว่า 32,600 ล้านชิ้น การเติบโตในงวด 9 เดือนแรกของปี 2564 มาจากแผนงานขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตตอบสนองความต้องการใช้สินค้าจากทั่วโลกที่มีอย่างต่อเนื่อง โดย STGT ได้เปิดโรงงานใหม่ตลอดปี 2564 รวม 4 แห่งตามแผน ใช้งบลงทุนรวมทั้งหมดกว่า 11,400 ล้านบาท ได้แก่ โรงงานสุราษฎร์ธานี 2    (SR 2) โรงงานสุราษฎร์ธานี 3 (SR 3) โรงงานอำเภอสะเดา และจังหวัดสงขลา (PS) ตลอดจนโรงงานตรัง 3 (TG 3) ซึ่งกำหนดเดินเครื่องจักรในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 พร้อมทั้งดำเนินการจัดตั้งบริษัทย่อยในสิงคโปร์ อินโดนีเซียและเวียดนามแล้ว เพื่อขยายธุรกิจและจัดจำหน่ายสินค้า นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังประสบความสำเร็จได้รับได้รับคัดเลือกเข้าคำนวณในดัชนีสำคัญๆ เช่น SET50, FTSE, MSCI เป็นต้น และได้นำหุ้นเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) รวมถึงได้ดำเนินการตามนโยบายด้าน ESG โดยได้จัดสวัสดิการดูแลด้านการฉีดวัคซีนทางเลือกแก่พนักงานครบ 3 เข็มทุกคน ปี 2565 รุกขยายธุรกิจต่อเนื่อง สำหรับทิศทางธุรกิจในปี 2565 “จริญญา” แม่ทัพ STGT ยังเดินหน้าขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยวางแผนทยอยเปิดโรงงานใหม่อีก 3 แห่ง ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 10,200 ล้านบาท ได้แก่ โรงงาน ANV จังหวัดสงขลา โรงงาน CP จังหวัดชุมพร และโรงงาน TG4 จังหวัดตรัง ซึ่งจะส่งผลบริษัทฯ ให้มีกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 50,000 ล้านชิ้น ณ สิ้นปี 2565 พร้อมทั้งวางเป้าหมายในปี 2567 จะต้องมีกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 80,000 ล้านชิ้นต่อปี นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนจัดตั้งบริษัทย่อยในประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อรองรับการจัดจำหน่ายในพื้นที่และเพิ่มยอดขายโดยรวมในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตสูงจากอัตราการใช้ถุงมือยางที่ยังอยู่ในระดับต่ำเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว พร้อมทั้งยังคงมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจภายใต้หลัก ESG เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน