Patek Philippe Rare Handcrafts เชิดชูงานหัตถศิลป์หายากแห่งเจนีวา สืบสานสุดยอดศิลปะการประดิษฐ์เรือนเวลาให้คงอยู่นานเท่านาน
นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี ค.ศ. 1839 สำหรับ Patek Philippe (ปาเต็ก ฟิลิปป์) แล้ว นาฬิกาทุกเรือนที่สร้างสรรค์ขึ้น ล้วนเป็นผลงานศิลปะที่สะท้อนความงามอันประณีตของกลไกจักรกลที่สมบูรณ์แบบ ความมุ่งมั่น ทุ่มเท ของ Patek Philippe ที่จะสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างสวยงาม กลมกลืน ไร้ที่ติ เป็นที่ประจักษ์ชัดในดีไซน์ที่เรียบหรู ทว่าสง่างาม เหนือกาลเวลา ตอกย้ำด้วยคุณภาพและความละเอียดประณีตในการตกแต่งด้วยมืออย่างพิถีพิถัน และด้วยปณิธานเดียวกันนี้เอง ที่ทำให้ Patek Philippe มุ่งมั่นบ่มเพาะช่างฝีมือรุ่นใหม่ๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อสืบสานทักษะงานฝีมือที่อันเก่าแก่และหายาก ว่าด้วยการประดับตกแต่งเรือนเวลาชั้นสูงเหล่านี้ ให้ได้รับการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
ลูกค้ากลุ่มราชวงศ์
ตามประวัติศาสตร์แล้ว ในช่วงเวลาที่ Antoine Norbert de Patek (อังตวน นอร์เบิร์ต เดอ ปาเต็ก) และ François Czapek (ฟรองซัวส์ ซาเป็ก) ร่วมกันเริ่มต้นผลิตนาฬิกาในปี 1839 (6 ปีก่อนที่จะพบกับ Jean-Adrien Philippe (ฌอง-เอเดรียน ฟิลิปป์)) ผู้เป็นเจ้าของ นาฬิกาได้จำกัดอยู่เพียงชนชั้นสูงเท่านั้น การนำเสนอนาฬิกาพกแบบ Hunter-cased หรือนาฬิกาพกที่มีฝาปิดด้านหลังแบบเรียบๆ ไร้การประดับตกแต่งใดๆ ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย ทั้งสองจึงเริ่มนำนาฬิกาพกมาแกะสลักอย่างวิจิตรงดงามด้วยเทคนิคและลวดลายที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะแบบโปแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดของทั้งคู่ ตามมาด้วยเทคนิคการเคลือบสีลงยา (enamel) ที่ปรากฏเป็นครั้งแรก โดยได้แรงบันดาลใจจากผลงานศิลปะชิ้นเอก จากการเปลี่ยนผ่านของศิลปะครั้งสำคัญๆ ในแต่ละยุคสมัย และภาพบุคคลที่รังสรรค์ด้วยเทคนิคจุลจิตรกรรม (miniature) ซึ่งโดดเด่นและเป็นที่นิยมที่สุดในผลงานที่ผลิตขึ้นสำหรับลูกค้ากลุ่มเชื้อพระวงศ์ในสมัยนั้น
ป้อมปราการแห่งงานช่างฝีมือเจนีวา
Patek Philippe เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมมาตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน ขณะเดียวกันก็ยังคงยึดมั่นในการทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ประเพณีการผลิตนาฬิกาอันยิ่งใหญ่ของเจนีวา และเป็นเสมือนป้อมปราการอันแข็งแกร่งในการธำรงรักษาศิลปะชั้นสูงแห่งเจนีวาให้คงอยู่ และการทุ่มเทบ่มเพาะ ฝึกฝน พัฒนาทักษะงานฝีมือหายากที่มีบทบาทในการตกแต่งนาฬิกามายาวนานนี้เอง เป็นเครื่องตอกย้ำความมุ่งมั่นของ Patek Philippe ที่มีต่อการสืบสานงานฝีมือเชิงศิลป์หายากทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพื่อให้ทักษะอันทรงคุณค่าของช่างฝีมือบรรพบุรุษ ยังคงส่องประกายบนผลงานศิลปะร่วมสมัยหลากหลายประเภท
เทคนิคการตัดต่อลายไม้ขนาดเล็ก (Wood Micro-Marquetry)
การตัดต่อลายไม้ขนาดเล็กเป็นการใช้ศิลปะจากไม้แผ่นบางหรือวีเนียร์ในการสร้างงานศิลปะ เป็นกระบวนการที่ละเอียดประณีต ต้องอาศัยพื้นผิวและสีของเนื้อไม้หลากหลายชนิด คัดเลือกและประกอบเข้าด้วยกัน เพื่อให้ความสมจริงและเป็นธรรมชาติที่สุด ตัวอย่างเช่น ภาพเสือเบงกอลบนหน้าปัดนาฬิกาข้อมือรุ่น Ref. 5077P “Royal Tiger” ที่ดูเสมือนจริงอย่างไม่น่าเชื่อนี้ ใช้การเรียงทิศทางของเนื้อไม้บนพื้นผิวให้สอดคล้องกับแนวเส้นขนตามธรรมชาติของเสือเบงกอลอย่างพิถีพิถัน บนพื้นผิวที่มีความกว้างแทบไม่ถึง 3 เซนติเมตร
ศิลปะแห่งการเคลือบสีลงยา (Artistry of Enameling)
งานเคลือบสีลงยา เป็นกระบวนการใช้ทรายซิลิกาที่บดแล้ว (เรียกว่าฟองดองท์ ซึ่งมีความโปร่งใส) นำมาผสมกับน้ำเพื่อให้เนื้อประสานกัน สามารถสร้างสีได้ด้วยโลหะออกไซด์ ก่อนจะนำมาเคลือบบนพื้นผิวที่ได้รับการทำความสะอาดอย่างพิถีพิถันและปล่อยให้แห้ง จากนั้นก็นำไปเผาในเตาเผาที่อุณหภูมิประมาณ 850 องศาเซลเซียส ให้หลอมรวมกับฐานโลหะ
ทั้งนี้ ผลงานแต่ละชิ้น อาจผ่านกระบวนการเผาได้มากถึง 12 ครั้ง ขึ้นอยู่กับความวิจิตรซับซ้อนของลวดลาย การเคลือบสีลงยาเป็นเทคนิคที่ได้รับความนิยม เพราะส่วนใหญ่มักจะคงความงามดั้งเดิมในสภาพเดียวกับที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้น โดยไม่เปลี่ยนแปลงทั้งลวดลายและสีสัน และไม่มีผลกระทบจากรังสียูวี แม้เวลาจะผ่านไปหลายทศวรรษ หรือนานนับศตวรรษก็ตาม ช่างเคลือบสีลงยาอาจะเลือกใช้เทคนิคดั้งเดิมอย่างใดอย่างหนึ่งหรือเลือกผสมผสานจากทั้งหมด 4 เทคนิค ทั้งเทคนิคลงยาแบบ Cloisonné (คลัวซอนเน่), เทคนิคลงยาแบบ Champlevé (ชอมเลอเว่), เทคนิคลงยาแบบ Pailonné (ไปยอนเน่) และ Miniature Painting (จุลจิตรกรรม) บนงานเคลือบสีลงยา
ค้นหานาฬิกา Patek Philippe Grand Complications
คลัวซอนเน่ (Cloisonné)
คลัวซอนเน่เป็นเทคนิคการเคลือบสีลงยา เติมแต่งด้วยการใช้ลวดเส้นบางที่ส่วนใหญ่มักจะเป็นทอง ดัดเป็นโครงร่างเพื่อสร้างแบบและยึดติดกับแผ่นฐาน โดยใช้เส้นลวดบางๆ นี้เอง แบ่งสัดส่วนเป็นช่องเล็กๆ เพื่อสร้างลวดลาย จากนั้นเติมสารเคลือบลงในแต่ละช่อง และอาจต้องผ่านการเผาหลายครั้ง ขึ้นอยู่กับสี ประเภทของการลงยาที่ใช้ และระดับความโปร่งใสรวมถึงความตื้นลึกที่ต้องการ
ชอมเลอเว่ (Champlevé)
ชอมเลอเว่เป็นเทคนิคการเซาะร่อง โดยชิ้นส่วนเล็กๆ ของชิ้นงานจะถูกแกะสลักไว้ล่วงหน้า จากนั้นจะเติมด้วยสารเคลือบ และผ่านกระบวนการเผาที่คล้ายกับเทคนิคการเคลือบสีลงยาแบบคลัวซอนเน่
ไปยอนเน่ (Pailonné)
ไปยอนเน่เป็นการใช้แผ่นทองคำเปลวขนาดเล็กที่เรียกว่า ไปยอน (paillons) ฝังในชั้นของการเคลือบสีลงยาแบบโปร่งใส
จุลจิตรกรรม (Miniature Painting)
การวาดภาพขนาดเล็กหรือจุลจิตรกรรมเป็นเทคนิคสุดท้ายและเทคนิคที่หายากที่สุด แตกต่างจากเทคนิคอื่นๆ โดยการใช้ฟองดองท์ผสมกับน้ำมันแทนการใช้น้ำ และใช้แปรงที่มีความละเอียดมาก วาดลงบนชั้นของพื้นผิวลงยาและนำไปเผา ศิลปะบนเรือนเวลาอันล้ำค่าของ Patek Philippe สามารถจำลองภาพบุคคล ภาพวิวทิวทัศน์ สิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ งานวิศวกรรมอันยิ่งใหญ่ รวมถึงงานศิลปะที่ยอดเยี่ยม ได้สวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่สุดด้วยเทคนิคนี้
ค้นหานาฬิกา Patek Philippe Calatrava
ศิลปะการสลักลายอันล้ำเลิศ (Engraving)
การสลักลายเป็นงานศิลปะที่อาศัยทั้งความอุตสาหะและทักษะระดับสูง ในการถ่ายทอดแรงบันดาลใจโดยสลักเสลาเส้นสายลวดลายที่มีความละเอียด สวยงาม มีมิติ ตื้นลึก ล้อแสงเงา ลงบนแผ่นโลหะ ในกระบวนการทำงานนั้น ช่างศิลป์ผู้ทำการสลักลายจะร่างภาพผลงานขึ้น ก่อนจะลงลายระเอียดทุกความตื้นลึกโค้งมนของลวดลายลงบนเนื้อโลหะ โดยใช้เครื่องมือคล้ายสิ่วขนาดเล็กปลายเรียวแหลม ออกแรงกดลงบนพื้นผิวของโลหะให้เกิดริ้วรอยร่องลึกตื้นตามต้องการ ซึ่งเป็นทักษะที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและการประสานงานที่สมบูรณ์แบบจากสองมือของช่าง โดยมือข้างออกแรงดันเครื่องมือสลักลายให้กดลึกลงบนพื้นผิวโลหะ อีกมือประคองแผ่นโลหะที่วางอยู่บนเครื่องมือรูปทรงกลมที่ใช้ในการยึดชิ้นงานและช่วยให้ช่างฝีมือสามารถปรับชิ้นงานให้อยู่ในตำแหน่งเหมาะที่สุดในการสลักลาย
งานประดับอัญมณี (Gemsetting) ที่ซึ่งการประดิษฐ์นาฬิกามาบรรจบกับศิลปะเครื่องประดับชั้นสูง
การประดับอัญมณีเป็นศิลปะที่เต็มไปด้วยความละเอียดอ่อน ประกอบด้วยการตกแต่งตัวเรือนนาฬิกาด้วยการประดับอัญมณีล้ำค่า โดยเฉพาะเพชร ที่จะได้รับการประดับอย่างประณีตให้งามเด่นทั่วทั้งเรือน ตั้งแต่สายนาฬิกาไปจนถึงพื้นหน้าปัด รวมถึงข้อต่อ ตัวเรือน และขอบตัวเรือน ซึ่งสำหรับ Patek Philippe แล้ว อัญมณีที่ผ่านการคัดสรรอย่างพิถีพิถัน ไม่ว่าจะเป็นเพชร มรกต ทับทิม หรือไพลิน จะได้รับการประดับด้วยเทคนิคดั้งเดิม คือจัดวางด้วยมือและไม่ใช้กาวหรือสารอื่นๆ ในการยึดติด จึงเป็นศิลปะที่ต้องอาศัยความแม่นยำและความละเอียดอ่อน ต้องมีสมาธิและความแน่วแน่มั่นคง รวมถึงต้องใช้ทักษะความเชี่ยวชาญระดับสูงสุดในการทำงาน
ค้นหานาฬิกา Patek Philippe Nautilus
การแกะลายกิโยเช่ (Guilloché) ทักษะที่สุดยอดช่างฝีมือส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
กิโยเช่ คือกระบวนการสร้างลวดลายบนพื้นผิวด้วยเครื่องจักรแบบหมุน โดยใช้เครื่องจักรโบราณที่ควบคุมด้วยมือเพื่อสร้างลวดลายแกะสลักที่สวยงามบนหน้าปัด กลไก ตัวเรือนและสาย ด้วยการหมุนมือจับข้อเหวี่ยงสองอันพร้อมกัน เพื่อแกะสลักร่องละเอียดบนพื้นผิวโลหะในรูปแบบเรขาคณิตซ้ำๆ กัน สร้างสรรค์ลายเส้นตรงหรือเส้นโค้งที่งดงาม
การสืบสานสุดยอดงานฝีมือในการประดิษฐ์นาฬิกาสู่อนาคต
ความมุ่งมั่นทุ่มเทของ Patek Philippe ในการสืบสานหัตถศิลป์เก่าแก่ของเจนีวามาอย่างต่อเนื่องทุกยุคสมัยนั้น ประจักษ์พยานที่ชัดเจนที่สุดในยุคสมัยปัจจุบัน ย่อมต้องกล่าวถึงการก่อสร้างอาคารฐานการผลิตแห่งใหม่ขึ้นที่เจนีวา เมื่อปี 2020 ตัวอาคารมีความสูง 10 ชั้น และมีความยาวเกือบ 200 เมตร และจัดสรรพื้นที่ภายในอย่างกว้างขวาง พร้อมเครื่องมือและสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เพื่อเป็นพื้นที่ปฏิบัติงานสำหรับช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญ และพื้นที่สำหรับการฝึกอบรม บ่มเพาะช่างศิลป์รุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะ
อาคารแห่งใหม่นี้ ไม่เพียงแต่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการเติบโตด้านการผลิตได้สูงสุดถึง 30 ปีข้างหน้าเท่านั้น การขยายพื้นที่ใหม่นี้ยังเป็นการตอกย้ำถึงรากฐานอันแน่นแฟ้น และความมุ่งมั่นของ Patek Philippe ที่จะธำรงรักษาทักษะเชิงศิลป์อันล้ำค่าของช่างฝีมือแห่งเจนีวา ให้เป็นเสมือนเพชรยอดมงกุฎประดับบนผลงานศิลปะว่าด้วยการประดิษฐ์เรือนเวลาชั้นสูงไปอีกนานเท่านาน
ไฮไลต์นาฬิกา Patek Philippe รุ่นใหม่ประจำปี 2021