ไตรมาสแรก 64 ลงทุนไทยเปลี่ยนวิกฤตสู่โอกาสเติบโต
แม้ว่าสภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้จะเป็นอีกปีที่ยากลำบาก เพราะมีหลายอุปสรรคที่เข้ามาท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่พลิกผันอย่างรวดเร็ว (Technology Disruption) ไปจนถึงสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ (Trade War) และกระแสลด โลกร้อน (Global Warming) ที่ทำให้ประชาคมโลกรวมถึงประเทศไทยต้องปรับตัวรับมือในทุกสถานการณ์ อย่างไรก็ดีในด้านการลงทุนของไทยมีสัญญาณบวกจากคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอในช่วงไตรมาสแรก (ม.ค. - มี.ค.) ของปี 2564 ที่มียอดการลงทุนเพิ่มขึ้นโดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับปีที่แล้วถึงร้อยละ 80 หรือมีมูลค่าลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท
หากพิจารณาในรายอุตสาหกรรมแล้ว อุตสาหกรรมทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เติบโตอย่างต่อเนื่องจากผลของสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการสินค้าหมวดการแพทย์เพิ่มมากขึ้น และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ก็ขยายตัวจากผลของ Work From Home โดยจัดเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีการขอรับส่งเสริมฯ สูงสุด 2 อันดับแรก โดยอุตสาหกรรมการแพทย์ มูลค่าการลงทุน 18,430 ล้านบาท เติบโตกว่า 100 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับปีก่อน ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าการลงทุน 17,410 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นร้อยละ 64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
ขณะเดียวกันการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีแบบ Disruption ก็มีส่วนทำให้กิจการในกลุ่มดิจิทัลเติบโตเพิ่มขึ้น โดยมีคำขอรับส่งเสริมมูลค่า 830 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน รวมถึงอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ซึ่งถึงแม้มูลค่าการลงทุนจะยังไม่สูงนัก แต่ก็มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญคือเพิ่มถึงเกือบ 30 เท่าเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน
นอกจากนี้ การขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพยังเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านประหยัดพลังงาน พลังงานทดแทน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเห็นได้ว่าทิศทางจะสอดคล้องไปกับการลงทุนที่ตอบรับกระแสลดโลกร้อน โดยมีจำนวนขอรับส่งเสริม 21 โครงการ มูลค่าการลงทุน 5,630 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปีที่แล้ว
แนวโน้มดังกล่าวนี้เป็นดัชนีสะท้อนทิศทางการปรับตัวของผู้ประกอบการในการเตรียมพร้อมรับมือต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอล่าสุดก็ได้ปรับปรุงมาตรการการส่งเสริมการลงทุน ทั้งอุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อสร้างความยืดหยุ่นและรวดเร็วในการให้การส่งเสริม รวมถึงผลักดันให้เกิดการพัฒนาบุคลากรไทยด้านไอที การสนับสนุนในอุตสาหกรรมต้นน้ำของอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มเวเฟอร์ เพื่อเร่งให้เกิดการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง และลดการพึ่งพาวัตถุดิบอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ เพื่อเร่งดึงดูดการลงทุนเหล่านี้ที่มีแนวโน้มจะย้ายฐานการผลิตจากจีน อันเนื่องมาจากสถานการณ์สงครามการค้าให้มาลงทุนในประเทศไทยแทน ตลอดจนเปิดส่งเสริมกิจการใหม่ในกิจการบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ หรือ Smart Packaging ซึ่งนอกจากจะต่อยอดเทคโนโลยีตอบสนองความต้องการผู้บริโภคแล้ว ยังสอดรับกับแนวคิด BCG ซึ่งเป็นการส่งเสริมการลงทุนที่จะช่วยให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน
ดังนั้น การเตรียมพร้อมวางมาตรการเร่งดึงทุนวัตกรรม และเทคโนโลยีขั้นสูง ตลอดจนอำนวยความสะดวก สร้างความยืดหยุ่น และรวดเร็วในการดำเนินการให้กับนักลงทุน จะมีส่วนช่วยตอบโจทย์สำคัญในการรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างดี และสร้างความพร้อมให้กับผู้ประกอบการไทยในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเข้ามาท้าทายอยู่อย่างต่อเนื่อง
TAGGED ON