จับตาทิศทางการลงทุน สร้างโอกาสให้สตาร์ทอัพไทย
นอกจากภาวะโรคระบาดจะส่งผลต่อสุขอนามัยของคนทั้งโลก ยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างรุนแรง ข้อมูลจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ระบุว่า จีดีพีไทยในไตรมาส 3/2563 หดตัว 6.4% ติดลบน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 8.6% เมื่อเทียบแบบรายปี เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวได้ดีกว่าที่คาด และเริ่มมีการเปิดประเทศแล้วทำให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวได้ดีขึ้น รวมทั้งปรับ คาดการณ์ว่าทั้งปีนี้จะติดลบ 6% จากเดิมที่ 7.5% และปรับมุมมองเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ว่าจะสามารถขยายตัวได้ที่ 3.5-4.5%
สอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์วิจัยกรุงศรีฯ มีการปรับจีดีพีไทยในปี 2563 จาก -10.3% มาอยู่ที่ -6.4% เนื่องจากเห็นสัญญาณที่ดีของเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัวมาตั้งเเต่ช่วงไตรมาสที่ 3 จากการใช้จ่ายของภาครัฐที่มีการเร่งตัวขึ้น และการส่งออกที่ดีเกินคาดในทุกหมวดสินค้า พร้อมคาดการณ์ว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว เพราะได้แรงหนุนจากการส่งออก การลงทุนภาครัฐ และอานิสงส์จากต่างประเทศที่เริ่มฟื้นตัว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเมืองยืดเยื้อยังคงกระทบจีดีพี 0.6-1.1% และมีผลต่อการลงทุนและความเชื่อมั่น บวกกับการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจะช้ากว่าภาคอื่นๆ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพาการท่องเที่ยว สูงมาก จึงส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ทำให้เกิดการว่างงานส่งต่อเป็นปัญหารายได้และการใช้จ่ายของผู้บริโภค คาดว่ากว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 น่าจะเป็นไตรมาส 3 ปี 2565
จากภาพสะท้อนเศรษฐกิจไทยที่เกิดขึ้นชวนให้ย้อนกลับมาสำรวจสตาร์ทอัพไทย ซึ่งสำนักงานนวัตกรรม แห่งชาติ (องค์การมหาชน) มุ่งผลักดันอย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงวิกฤต โดยอ้างอิงจากมุมมองของ แคสเปอร์-ธนกฤษณ์ เสริมสุขสัน ซึ่งคลุกคลีกับวงการเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพใน Silicon Valley, อินโดนีเซีย, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจีน ได้วิเคราะห์ถึงปัญหาของระบบนิเวศของสตาร์ทอัพไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
1.ภาพรวมของประเทศ ด้วยตลาดที่เล็กกว่า วัดจากจำนวนประชากรที่เป็นอันดับที่ 4 รองจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ทำให้ไทยยังค่อนข้างเสียเปรียบตลาดเพื่อนบ้าน บวกกับยังเป็นสังคมผู้สูงอายุ ทำให้ไม่เป็นที่ดึงดูดของนักลงทุน
2.Mindset ของผู้ประกอบการไทย ยังไม่แอ็กทีฟในการหาและติดต่อนักลงทุนต่างประเทศ รวมทั้งอุปนิสัยขี้เกรงใจและความสบายๆ เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่นักลงทุนแบบ Venture Capital (VC) มองหา บวกกับคนไทยยังไม่สนับสนุนผลิตภัณฑ์ของไทย ยังยึดติดว่าสตาร์ทอัพคือ เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้นักลงทุนไม่กล้าลงทุน ขณะที่ผู้ใช้ก็ไม่กล้าใช้ เพราะคิดว่าสู้แบรนด์ต่างประเทศไม่ได้ ทั้งที่โกลบอลโปรดักต์จำนวนไม่น้อยก็เริ่มมาจากการเป็นโลคัลโปรดักต์มาก่อน
3.ขาดต้นแบบหรือเมนเทอร์ที่มีประสบการณ์ปั้นสตาร์ทอัพ หรือผ่านการระดมทุนแบบ VC ขณะที่ ผู้มีประสบการณ์ส่วนใหญ่ในไทยเป็นคนที่ทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีหรือเอสเอ็มอีที่ประสบความสำเร็จ ทำให้สตาร์ทอัพที่เริ่มต้นสร้างธุรกิจไม่ได้รับคำแนะนำที่เหมาะกับการสร้างสตาร์ทอัพอย่างแท้จริง
4.ขาดการสนับสนุนด้านทุน ในลักษณะ startup game อย่างจริงจังในระยะเริ่มต้น ขณะเดียวกัน กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นพื้นฐานของประเทศ ได้แก่ อี-คอมเมิร์ซ, แชท, โซเชียลมีเดีย, โลจิสติกส์, การเดินทาง และฟู้ดเดลิเวอรี่ ล้วนกลายเป็นของบริษัทต่างชาติทุนหนาทั้งหมด เพราะเกือบทุกรายใช้กลยุทธ์เดียวกันคือ ให้เงินอุดหนุนขายต่ำกว่าทุนเพื่อทำลายคู่แข่งที่ทุนน้อยกว่า ครองส่วนแบ่งการตลาด และเติบโตให้ไวที่สุด
5.หน้าตาสำคัญกว่าผลงาน บ้านเราเน้นเรื่องหน้าตาและภาพลักษณ์เป็นอย่างมาก ทำให้ทุกคน ตามหาความดังและมีชื่อเสียงในสังคมมากกว่า การใช้เวลาทำงานและสร้างนวัตกรรมจริงๆ
6.ความพร้อมของบุคลากร นอกจากปัญหาทางด้านภาษาแล้ว อีกหนึ่งตัวแปรสำคัญคือ ความคุ้นชินในการสร้างและพัฒนาเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาแบบมีการปรับปรุงกระบวนการและผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากบุคลากรด้านเทคโนโลยีส่วนมากเป็นซอฟต์แวร์ เฮาส์ที่ทำตามใบสั่ง และทำจบเป็นโปรเจ็กต์ไป
จากปัญหาดังกล่าวนำมาสู่ 6 แนวทางในการแก้ปัญหา ได้แก่
1.นำสิงคโปร์โมเดลมาเป็นแนวทาง ด้วยการเข้ามาเป็นตัวเชื่อมของภูมิภาคอาเซียน นำความได้เปรียบ ทางด้านภูมิศาสตร์และการท่องเที่ยวมาเป็นจุดเชื่อมกลุ่มประเทศ CLMV และกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อรวมตลาดเพื่อนบ้านเราและทำธุรกิจ cross-border
2.ยืมต้นแบบจากต่างประเทศที่มีการทำ special program / special visa ให้คนเคยทำธุรกิจ สตาร์ทอัพจนเป็นยูนิคอร์นแล้วขายบริษัท หรือนำเข้า IPO ได้ มาช่วยเป็นเมนเทอร์ให้กับสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างธุรกิจ โดยอาจจะนำคอนเนคชั่นที่พวกเขามีมาใช้ในการสร้างระบบนิเวศของสตาร์ทอัพบ้านเรา
3. โปรโมตภาพรวมประเทศไปด้วยกัน การที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น รัฐบาล, VC หรือสตาร์ทอัพพูดถึงศักยภาพของตลาดไปในทิศทางเดียวกัน จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน ยกตัวอย่าง รัฐบาลอินโดนีเซียจัดโรดโชว์สตาร์ทอัพที่ผู้ก่อตั้งเป็นคนอินโดนีเซีย 1,000 รายไปทั่วประเทศ เพื่อช่วยสร้างความ น่าเชื่อถือให้คนในชาติหันมาใช้บริการ
4.ทำพาร์ตเนอร์ชิป ในตลาดที่เล็กและจำกัดควรใช้วิธีแชร์และทำพาร์ตเนอร์ชิปมากกว่าทำทุกอย่าง ด้วยตัวเอง ยกตัวอย่าง รัฐบาลของอินโดนีเซียมีวิธีการส่งเสริมสตาร์ทอัพด้วยลูกเล่นต่างๆ เช่น สร้างความได้เปรียบให้สตารท์อัพในประเทศด้วยการให้ผูกกับบริการของรัฐก่อนสตารท์อัพต่างประเทศ นอกจากนี้ สตารท์อัพอาจเลือกทำพาร์ตเนอร์ชิปหรือร่วมมือกับคอร์ปอเรตและสตารท์อัพด้วยกันเองเพื่อให้ผู้ใช้มีประสบการณ์ที่ดีขึ้น ตัวอย่างที่ดีในช่วงโควิด-19 คือ การร่วมมือระหว่าง Hungry Hub สตาร์ทอัพ ขายดีลบุฟเฟต์ร้านอาหาร กับ Airportels สตาร์ทอัพจัดส่งกระเป๋าจากบ้านไปยังสนามบินและโรงแรม
5.ร่วมด้วยช่วยกันในสิ่งที่ตัวเองมีและถนัด เช่น ผู้บริหารบริษัทใหญ่ๆ ที่มีพาร์ตเนอร์ทั้งในและ ต่างประเทศ อาจจะไม่ต้องลงทุนในสตารท์อัพแต่ช่วยคอนเนค หรือผู้ที่มีประสบการณ์เฉพาะทางและทำงานอยู่กับบริษัทยักษ์ใหญ่ในไทยและต่างประเทศอาจเข้ามาช่วยสอนและแนะนำระบบเพื่อให้สตารท์อัพได้ใช้และเรียนรู้ ส่วนนักลงทุนที่ไม่ได้ลงทุนในบริษัทอาจช่วยหานักลงทุนในเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ เพื่อทำให้ระบบนิเวศบ้านเรากลับมาคึกคักอีกครั้ง พร้อมใช้โอกาสนี้ reskill และ upskill ให้กับบุคคลที่ว่างงานและตกงาน โดยเฉพาะทักษะด้านเทคโนโลยี ไม่ใช่แค่ใช้เป็นแต่ต้องพัฒนาให้ได้ด้วย
6.สร้างระบบนิเวศอย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำเพื่อชื่อเสียง หน้าตาภาพลักษณ์ ดั่งประโยคที่ว่า “It takes the whole village to build a unicorn”
เห็นข้อจำกัดและทางออกแบบนี้แล้ว แม้ปีนี้เศรษฐกิจทั่วโลกอาจจะตกต่ำ แต่ท่ามกลางทิศทางเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัว คงทำให้สตาร์ทอัพหลายคนเริ่มเห็นช่องทางในการลงทุนที่นำไปปรับใช้ได้อย่างเป็น รูปธรรม เพื่อสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยให้แข็งแรง
อ้างอิงข้อมูล
https://www.prachachat.net/finance/news-562132
https://www.prachachat.net/finance/news-559998
TAGGED ON