ความสำเร็จไม่มีที่สิ้นสุด เริ่มต้นจากความกล้าที่จะเปลี่ยน - Forbes Thailand

ความสำเร็จไม่มีที่สิ้นสุด เริ่มต้นจากความกล้าที่จะเปลี่ยน

FORBES THAILAND / ADMIN
17 Dec 2018 | 10:43 AM
READ 29014
  คุณเชื่อในพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงแค่ไหน? แล้วถ้าเชื่อ คุณกล้าพอที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อไปสู่ความสำเร็จหรือไม่? ไม่สำคัญว่าคำตอบของคุณจะหยุดลงตรงที่คำว่ากล้าหรือเชื่อ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ การลงมือทำ ตราบใดที่หนทางไปสู่ความสำเร็จในชีวิตคนเรานั้นไม่ได้ราบเรียบและเป็นเส้นตรง หากแต่คดเคี้ยว และ มีทางแยกให้ต้องเลือกตัดสินใจมากมาย ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อวันที่เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยน หรือ Turning Point ที่ต้องเลือก คุณจะกล้าเปิดโอกาสให้ชีวิตได้พบเจอกับโอกาสใหม่ๆ ไปสู่ความสำเร็จที่อาจไม่เคยคิดว่าจะได้เจอหรือเปล่า จากนี้คือ เรื่องราวตัวอย่างของผู้บริหารหญิงเก่งที่อาศัยแพสชั่นอันแน่วแน่ที่อยากจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับคนรอบข้างและสังคมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาเป็นแรงขับเคลื่อนด้วยการเริ่มต้นจากการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน อรอนงค์ ศิริรังคมานนท์ “เปลี่ยน” เพื่อสร้างคุณค่าให้โลก ด้วยแนวคิดที่เชื่อว่า “คนเราไม่ได้เกิดเพื่อตัวเราเองคนเดียว แต่เกิดมาเพื่อคนรอบข้าง ดังนั้นหากมีสิ่งใดที่ทำแล้วสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตเพื่อนร่วมสังคม และเพื่อนร่วมโลกให้ดีขึ้นได้ ถือเป็นคุณค่าของมนุษย์” ทำให้อรอนงค์ ศิริรังคมานนท์ อดีตผู้บริหารระดับสูงที่ร่วมปลุกปั้นอาณาจักรเบทาโกรสู่ผู้นำธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารครบวงจรของประเทศไทย ตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่ทำมา 21 ปี มาทำตามความฝัน ด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจแอมเวย์ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับคนที่มีฝันให้ประสบความสำเร็จในชีวิต “ก่อนจะได้รับการทาบทามให้มาอยู่ที่เบทาโกร เราทำงานเป็น Product Development Manager อยู่ที่ยูนิลิเวอร์ ตอนที่มาทำงานที่เบทาโกรใหม่ๆ เบทาโกรยังมีเพียงโรงงานอาหารสัตว์ เราเข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจจากอาหารสัตว์ไปสู่ปศุสัตว์” อรอนงค์เปิดฉากเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานอย่างออกรส ก่อนที่ชีวิตจะมาพบกับจุดเปลี่ยนที่สำคัญจากสายโทรศัพท์ที่ต่อผิดเข้ามาที่ห้องทำงานของเธอ “ย้อนไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว โทรศัพท์มือถือยังไม่แพร่หลาย ใครจะติดต่อต้องโทรเข้าเบอร์ตรงที่ห้อง วันหนึ่งมีโทรศัพท์สายหนึ่งโทรเข้ามา เราก็รับ คุยจนได้ความว่าต่อสายผิด พอจะวางปรากฏว่าปลายสายเสนอว่าขอเข้ามาพบเราเพื่อเสนอแผนธุรกิจ ในใจเราเวลานั้นด้วยตำแหน่งหน้าที่การงาน เราเจอคนเยอะมากก็คิดในใจว่าจะเจออีกสักคนก็ไม่เป็นไร วันนั้นเลยนัดให้เขามาพบตอน 5 โมงเย็น ซึ่งเป็นเวลาเลิกงานพอดี การพบกันในเย็นวันนั้น เหมือนเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตสำคัญของอรอนงค์ไปตลอดกาล เพราะหลังจากได้ฟังเรื่องราวแผนการตลาดของแอมเวย์ที่อีกฝ่ายนำมาเสนอ ซึ่งหากย้อนไปเมื่อ 31 ปี ถือว่าเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับคนไทย เธอเองก็ไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่หลังจากได้ฟังเพียง 30 นาที ก็ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมทันที “หลายคนถามว่าเพราะอะไร” อรอนงค์ ชิงตอบราวกับรู้ว่าจะต้องเจอกับคำถามอะไรต่อไป​ “เพราะเราเคยทำงานที่ยูนิลิเวอร์ เรารู้เทรนด์ของลูกค้าเป็นอย่างดี ตอนที่เขาเล่าถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้าสำหรับผู้บริโภคทั้ง 7 ตัว เรารู้ดีว่าสินค้าพวกนี้ขายได้แน่นอน ที่สำคัญสมัยนั้นค่าสมัครเพียง 500 บาทก็สามารถสร้างธุรกิจได้แล้ว ตอนนั้นปัญหาเดียวที่เราคิด คือ จะเอาเวลาที่ไหนไปทำ เพราะในเวลานั้นเราสร้างธุรกิจให้เบทาโกร 10 บริษัท บริหารเองอยู่ 5 บริษัท เป็นช่วงเวลาที่ยุ่งที่สุด แต่ในใจก็ไม่อยากปล่อยโอกาสนี้ไป เลยตัดสินใจนำไอเดียนี้ไปบอกต่อกับคนใกล้ตัว เริ่มจากน้องชายซึ่งเป็นหมอ ตอนแรกเขาก็ไม่สนใจ แต่พอเรากระตุกให้เขาคิดว่าต่อให้วันนี้รายได้ดีขนาดไหนแต่วันหนึ่งเขาก็ต้องแก่ และไม่สามารถอยู่ในอาชีพนี้ได้ตลอดไป เขาฟังแล้วก็เห็นด้วยเลยมาร่วมธุรกิจพร้อมชวนน้องสาวอีกคนมาร่วม โดยใช้เวลาแค่วันหยุดเสาร์อาทิตย์ แค่ 3 เดือนเราก็สามารถสร้างผลงานที่น่าพอใจ"   อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่อรอนงค์เป็นผู้บริหารที่ทำอะไรทำจริง รู้อะไรต้องรู้ให้ถึงแก่น หลังจากเข้าร่วมเป็นนักธุรกิจแอมเวย์แล้ว เธอยังเป็นคนไทยชุดแรกที่ไปเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของแอมเวย์ที่สหรัฐอเมริกา และได้พบกับผู้บริหารแอมเวย์ หนึ่งในคำถามที่อรอนงค์ถามกับทีมผู้บริหารแอมเวย์ คือ เธอจะมั่นใจได้อย่างไรว่าธุรกิจนี้ดีจริงจนกล้าชักชวนคนอื่นให้มาร่วม คำตอบที่ได้รับนั้นทำให้อรอนงค์ประทับใจจนถึงวันนี้ “เขาตอบเรากลับมาว่า ถ้าเขาบอกอนาคตได้ คงจะไปเป็นหมอดู (หัวเราะ) แต่เขาไม่ใช่ เพราะฉะนั้นเขาบอกได้เพียงว่าอนาคตมาจากอดีต ว่าแล้วก็เล่าถึงเรื่องราวของบริษัทเขาประมาณ 5-6 เคส ให้เราเห็นภาพสิ่งที่เขาทำ พร้อมตอกย้ำถึงมุมมองที่บริษัทมีต่อเหล่านักธุรกิจแอมเวย์ว่า ทำงานร่วมกันแบบหุ้นส่วนบริษัท ไม่ใช่ลูกน้อง ครั้งนั้นเขายังพาเราไปบ้านนักธุรกิจคนหนึ่ง อายุ 76 ปี ทำแอมเวย์มา 30 ปี สิ่งที่เราประทับใจเขาไม่ใช่ยอดขายที่เขาทำได้ แต่คือ สิ่งที่เขาบอกเล่าถึงรูปแบบของธุรกิจที่เป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างของแอมเวย์ เพราะยิ่งธุรกิจใหญ่โต ยิ่งมีเวลามากขึ้นกว่าเดิมซึ่งสวนทางกับธุรกิจอื่น จากทริปอเมริกา อรอนงค์เก็บความประทับใจที่ได้กลับมาสานต่อธุรกิจแอมเวย์ในช่วงวันว่างอยู่ 4 ปีเต็ม ก่อนจะพักเบรกไปในช่วงปีที่ 5 เพราะเป็นช่วงที่ต้องผลักดันโปรเจกต์ใหญ่ที่เบทาโกร ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 5 ปีเต็มถึงจะลุล่วง ตลอด 5 ปีนั้นอรอนงค์ยอมรับว่าเป็นช่วงเวลาหนัก เหนื่อย เดินทางเยอะ จนรู้สึกว่าร่างกายแย่ น้ำหนักมากกว่านี้ 10 กิโลกรัม ชีวิตในวันนั้นเหมือนเดินมาถึงทางแยกที่ต้องเลือกอีกครั้ง ในเวลานั้น เธอเลือกที่จะหักเหชีวิตออกจากคอมฟอร์ตโซน เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองได้กลับมาดูแลคุณพ่อคุณแม่ กลับมาใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการ “ช่วงนั้นเป็นยุคหลังต้มยำกุ้งพอดีเรามองแล้วว่าบริษัทไม่จำเป็นต้องขยายเลยตัดสินใจขอลาออกตอนนั้นเราอายุ 50 ปีพอดี ซึ่งช่วงที่เรายุ่ง เป็นช่วงที่เราพักจากแอมเวย์ แต่พอกลับมาอีกครั้ง ทำให้ได้ค้นพบอะไรหลายอย่างในแอมเวย์ลึกซึ้งขึ้น และ มีรายได้ที่มั่นคงต่อเนื่องอย่างแท้จริง เพราะถึงเราจะเฟดออกจากการทำธุรกิจแอมเวย์ไป 5 ปี แต่ยังมีรายได้เพิ่มเป็นสองเท่าทุกเดือนแพสชั่นเป็นพลังขับเคลื่อน         อรอนงค์ยังบอกด้วยว่า จุดเริ่มต้นของการมาทำแอมเวย์ของเธอไม่ใช่เพื่อทรัพย์สิน-เงินทองแต่ขับเคลื่อนด้วยแพสชั่นที่อยากจะสร้างคุณค่าให้สังคมตอนนั้นเป้าหมายของเราไม่ใช่ซื้อรถ บ้าน เรามาเติมเต็มสิ่งที่เรียกว่าแพสชั่นมาสร้างคุณค่าให้สังคมอย่างแท้จริง ช่วงปีแรกๆ ไปทำงานในภาคอีสาน เราเข้าไปช่วยเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของหลายๆ คน วันนี้เหมือนเรากำลังสร้าง global community ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ที่เราเข้าไปช่วยสร้างเครือข่ายอย่างมาเลเซีย ไต้หวัน ออสเตรเลีย เหมือนเป็นการให้ที่ไม่รู้จบ ที่สำคัญคือทำแล้วมีความสุข ชีวิตเราไม่ต้องปวดหัว หรือผูกติดกับการลงทุน แต่มันคือการขยายทรัพย์สินทางปัญญาออกไป เราไม่ได้มองว่าคนที่มาร่วมธุรกิจเป็นลูกน้อง แต่ทุกคนคือหุ้นส่วน แอมเวย์เป็นเหมือนแพลตฟอร์ม ช่วยอำนวยความสะดวกให้ธุรกิจของทุกคนโตตามเป้าหมายโดยไม่มีขีดจำกัด” สำหรับเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้อรอนงค์ในวัย 73 ปี สามารถนำพาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว นอกจากอาศัยประสบการณ์ในการสร้างทีมที่สั่งสมจากเบทาโกร แพสชั่นคือพลังสำคัญ “เรามีแพสชั่นต่อแอมเวย์สูงมาก แพสชั่นนี้มาจากคุณค่าของธุรกิจที่ทำให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยการลงมือทำอย่างต่อเนื่อง เรามีแพสชั่นในการสร้างคน เราไม่ชอบไปสานต่ออะไรที่ทำเสร็จแล้ว เราต้องการเป็น Achiever เพราะฉะนั้นแอมเวย์ถึงตอบโจทย์ ทุกครั้งที่มีนักธุรกิจใหม่เข้ามาร่วมเครือข่าย พวกเขาเหมือนแก้วน้ำที่ว่างเปล่า เราต้องค่อยๆเติมเต็ม สร้างคุณค่าให้เขาเห็น จนกล้าที่จะก้าวผ่านความท้าทายไปสู่การเปลี่ยนแปลงตัวเอง เรามีคติประจำใจคือ Maximum Effort Overcome All Challenges ความพยายามสูงสุดก้าวข้ามอุปสรรคได้ทุกอย่าง” มาถึงวันนี้เธอยอมรับอย่างภาคภูมิใจว่า หากวันนั้นไม่ตัดสินใจรับนัดจากสายโทรศัพท์ที่โทรผิดเข้ามา​ เธอคงเกษียณจากการทำงานมาตั้งแต่อายุ 60 ปี จนถึงตอนนี้ผ่านมา 13 ปี เธอก็ไม่รู้ว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร “ไม่รู้ว่าจะตายไปหรือยัง” อรอนงค์กล่าวอย่างติดตลก เพราะเราเป็นพวกแอคทีฟ ชอบเดินทาง ทุกวันนี้ชีวิตมีความสุขมาก ทำงานที่ตอบโจทย์แพสชั่นของเราได้ แถมยังมีเวลาได้เดินทางตลอด ทั้งไปทำงานและไปเที่ยว มองย้อนกลับไป แอมเวย์ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดในชีวิต 31 ปีที่อยู่กับแอมเวย์ ถือว่านานมาก นานกว่าเบทาโกรอีก ถามถึงเป้าหมายชีวิตจากนี้ อรอนงค์อธิบายให้เห็นภาพตามว่า ถ้าดูจากทฤษฎีความต้องการของมาสโลว์ ตอนนี้ชีวิตเราก็มาถึงยอดของสามเหลี่ยม เพราะเรามีความมั่นคงทั้งการเงิน ทีมเวิร์ก ครอบครัว มีความปลอดภัย ตอนนี้เรากำลังทำเพื่อสังคม ในฐานะที่เราเป็นคนของโลก อรอนงค์ยังทิ้งท้ายเพื่อให้กำลังใจคนมีฝันที่ชีวิตกำลังเดินมาถึงทางแยก แต่ยังไม่กล้าที่จะเปลี่ยนไปสู่เส้นทางที่อาจจะนำพาไปสู่ความสำเร็จ “ชีวิตมนุษย์เรามีปลายทางเดียวกัน แต่ระยะเวลาในชีวิตคนเราอาจไม่เท่ากัน ซึ่งเราควบคุมไม่ได้ สิ่งเดียวที่เราคุมได้คือ เราอยากมีชีวิตแบบไหน แล้วสร้างตำนานชีวิตที่ดีที่สุดในแบบของเรา”  

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ FB : ชีวิตสร้างตามใจชอบ https://www.facebook.com/CreateLifePassionate/ #DARETOCHANGE #ชีวิตสร้างตามใจชอบ