เจาะลึกกลยุทธ์พิชิตเป้าหมาย "Together To Net Zero” ของ GC กับการเปิดเกมรุกครั้งสำคัญ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 - Forbes Thailand

เจาะลึกกลยุทธ์พิชิตเป้าหมาย "Together To Net Zero” ของ GC กับการเปิดเกมรุกครั้งสำคัญ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และ GC Group เดินเกมรุกครั้งสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ด้วยการประกาศแผนงานที่ชัดเจนในการก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนระดับสากล ด้วยการบรรลุเป้าหมาย "Together To Net Zero” หรือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GC
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GC กล่าวว่า GC ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) พร้อมกับบูรณาการหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาแบบยั่งยืน (SDGs) สำหรับก้าวต่อไปของ GC คือ การเป็น “Net Zero Company” ที่มีอัตราการเติบโตของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจที่ดีตั้งแต่กระบวนการผลิตใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายระยะกลาง คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลง 20% ภายในปี 2573 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 “แม้จะเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย แต่เราเชื่อว่า ด้วยความมุ่งมั่นและการมีกรอบการดำเนินงานที่ชัดเจนและ  เข้มข้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว​ ซึ่งสอดคล้องกับพันธสัญญา Paris Agreement จะทำให้ GC สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ ควบคู่ไปกับการส่งมอบผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำและโซลูชันที่หลายหลายให้แก่คู่ค้าและลูกค้าตลอดห่วงโซ่แห่งคุณค่า สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดปริมาณขยะจากพลาสติกที่ใช้แล้วควบคู่กันไปอย่างครบวงจร” กางแผนยุทธศาสตร์สู่ความยั่งยืนฉบับ GC สำหรับกรอบการดำเนินงานที่ GC วางไว้นั้น ประกอบด้วย 1. Efficiency-driven นำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตให้สามารถใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่าสูงสุด ทั้งในด้านการลดการใช้พลังงานและไอน้ำในกระบวนการผลิต ควบคู่ไปกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ และการลดใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างบูรณาการ พร้อมแสวงหาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำรูปแบบใหม่ เช่น พลังงานไฮโดรเจน เตาเผาพลังงานไฟฟ้าทดแทน เป็นต้น 2. Portfolio-driven GC มีแผนปรับโครงสร้างธุรกิจในระยะยาวสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ ด้วยการปรับกระบวนการบริหารจัดการพอร์ตโฟลิโอและทิศทางการลงทุนเข้าสู่กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่มูลค่าสูงที่มีดัชนีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (HVB) กลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ฐานชีวภาพ (Green Chemicals) และกลุ่มผลิตภัณฑ์รีไซเคิล (Recycled products) เพื่อให้เห็นภาพ ก่อนหน้านี้ GC ได้เข้าซื้อกิจการของ allnex ซึ่งไม่เพียงเป็นผู้นำระดับโลกในธุรกิจผลิตภัณฑ์ Coating Resins ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสารเคลือบและสารเติมแต่งสำหรับใช้กับวัสดุทุกประเภท และเป็นผู้นำในการนำเสนอโซลูชั่นการพัฒนาแอปพลิเคชันการเคลือบต่างๆ แต่ allnex ยังเป็นผู้บุกเบิกนวัตกรรมที่ยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรม Coating มานานกว่า 70 ปี และเป็นธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ เช่นเดียวกับ NatureWorks ผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของ GC เมื่อเร็วๆ นี้ เพิ่งประกาศจะสร้างโรงงานผลิตไบโอโพลีเมอร์แบบครบวงจรแห่งใหม่ในประเทศไทย ส่งผลให้ GC เป็นบริษัทเดียวในโลกที่ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและธุรกิจพลาสติกชีวภาพ รวมถึงการดำเนินโครงการบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วแบบครบวงจร 3. Compensation-driven  จัดหาและลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการชดเชยคาร์บอน เช่น การดักจับและกักเก็บคาร์บอนด้วยเทคโนโลยี Carbon Capture and Storage (CCS) และการชดเชยผ่านการดูดซับคาร์บอนจากธรรมชาติ เช่น การปลูกป่า ฟื้นฟูป่า เป็นต้น เปิดงบลงทุนเพื่อพิชิตเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว GC ได้จัดสรรเงินลงทุนเบื้องต้นไว้สำหรับลดหรือกำจัดก๊าซเรือนกระจกไว้ที่ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.67 แสนล้านบาท) โดยเบื้องต้นวางแผนจะลงทุนราว 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.3 หมื่นล้านบาท) ภายในปี 2573 นอกจากนี้ ยังได้ตั้งงบลงทุนอีก 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5.67 แสนล้านบาท) สำหรับปรับโครงสร้างธุรกิจ ดร.คงกระพัน ย้ำว่า เงินลงทุนเบื้องต้นดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันยังเชื่อว่า การที่ GC มีแผนที่ชัดเจนในการสร้างความสมดุลระหว่างกลยุทธ์การเติบโตทางธุรกิจและผลลัพธ์ที่ยั่งยืนนี้ ไม่เพียงตอกย้ำความมุ่งมั่นในการเป็น “เคมี...ที่เข้าถึงทุกความสุข” แต่ยังเป็นการพลิกวิกฤตโลกร้อนให้เป็นโอกาสของธุรกิจ สามารถพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพให้แก่ลูกค้าของเราที่มีอยู่ทั่วโลกได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้การประกาศจุดยืนครั้งนี้ จะเป็นก้าวที่สำคัญของ GC แต่การแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน เป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนในสังคม “เพื่อช่วยให้โลกของเราน่าอยู่มากขึ้น ซึ่งเราไม่สามารถทำคนเดียวได้ แต่ทุกคนต้องร่วมมือกัน เราเชื่อว่า เป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 จะสามารถสำเร็จลุล่วงได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และผู้บริโภค เราพร้อมที่จะร่วมมือกับพันธมิตรในระดับสากล และพร้อมที่จะสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยให้โลกของเราสามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero ไปด้วยกัน” ดร.คงกระพัน ทิ้งท้าย