เปิดเทรนด์การลงทุนในสหรัฐฯ เจาะลึกโอกาสและความท้าทาย - Forbes Thailand

เปิดเทรนด์การลงทุนในสหรัฐฯ เจาะลึกโอกาสและความท้าทาย

แม้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จะยังไม่คลี่คลาย แต่ก็มีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว หนึ่งในนั้น คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ที่สามารถฟื้นตัวและกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเต็มรูปแบบก่อนใคร จากการเอาจริงเอาจังของภาครัฐในการระดมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ประชาชนอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง บวกกับการผ่อนคลายนโยบายการเงินและการคลัง ทำให้ภาคการผลิตและบริการกลับมาเติบโตอีกครั้ง ทั้งนี้ ธนาคารยูโอบีคาดว่า หลังจากผ่านปีที่ยากลำบากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต้องมีการ      ล็อคดาวน์ในปี 2020 สหรัฐฯ จะยังคงครองอำนาจและขับเคลื่อนตลาดการเงินของโลกต่อไปในอีกหลายปี และแม้จะยังต้องรับมือกับการระบาดรอบใหม่ รวมไปถึงความกังวลเรื่องการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า แต่ในมุมมองของธนาคารยูโอบี คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวกลับมาเติบโตถึงร้อยละ 6 ในปี 2564 และมีอัตราการเติบโตในระดับปานกลางในปี 2565 ในแง่ของการลงทุน สำหรับนักลงทุนที่อยากกระจายพอร์ตฯ การลงทุน เพื่อบริหารความเสี่ยงและลดความผันผวนของพอร์ตฯ อาจจะตั้งคำถามว่า แล้วการลงทุนในสหรัฐฯ จะมีโอกาสหรือความท้าทายอะไรที่ต้องจับตาหรือให้ความสำคัญบ้างนั้น ยุทธชัย เตยะราชกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บุคคลธนกิจ ธนาคาร    ยูโอบี ประเทศไทย สรุปถึงทั้งปัจจัยที่เอื้อและกระทบกับแนวโน้มของเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้อย่างน่าสนใจ ดังนี้ สำหรับปัจจัยบวก ต้องยอมรับว่าความแข็งแกร่งของบริษัทสัญชาติอเมริกันที่เป็นผู้นำระดับโลกในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ มีบริษัทสัญชาติอเมริกันสูงถึงร้อยละ 73 บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมสุขภาพ (Healthcare) มีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 65 ของมูลค่าตลาดในอุตสาหกรรมนี้ เป็นแต้มต่อสำคัญของสหรัฐ บวกกับตลาดผู้บริโภคในสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีมูลค่าถึง 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจมากมาย ยังช่วยให้บริษัทในสหรัฐฯ สร้างรายได้ถึงร้อยละ 41.3 ของรายได้ของบริษัททั่วโลก ปัจจัยถัดมา คือ แต้มต่อจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการพัฒนา และมีสภาพคล่องมากที่สุด คิดมูลค่าเป็น ร้อยละ 41 ของหุ้นทั่วโลก และร้อยละ 40 ของตราสารหนี้ทั่วโลก นอกจากนี้ตลาดหุ้นในสหรัฐฯ ยังมีมูลค่าสูงถึงร้อยละ 46 ของตลาดหุ้นทั่วโลก ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ยังมีความพร้อมจากภาคธนาคาร บริษัทจัดการลงทุน และธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) ที่พร้อมให้การสนับสนุนทางด้านเงินทุนแก่บริษัทสตาร์ทอัพ และธุรกิจที่กำลังเติบโต ทำให้ตลาดสหรัฐฯ เป็นที่สนใจของบริษัทต่างประเทศจำนวนมาก อีกหนึ่งปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้ คือ สหรัฐฯ ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมที่แข็งแกร่ง จากดัชนีนวัตกรรมโลกปี 2020 สหรัฐฯ เป็น 1 ใน 3 ประเทศที่มีนวัตกรรมมากที่สุดในโลก เนื่องจากมีการขับเคลื่อนนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่อุตสาหกรรมการผลิตไปจนถึงการดูแลสุขภาพและการเงิน นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของสถาบันการวิจัยระดับโลกที่เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนการวิจัยในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และพลังงาน มีรายได้สูง จากการผลิตนวัตกรรมที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการคาดการณ์ที่ดี แต่ขึ้นชื่อว่าการลงทุนย่อมมีความเสี่ยงที่ต้องศึกษาและติดตามในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งอาจเป็นตัวแปรสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2564 ถ้าหากเกิดความล่าช้า บวกกับปัจจัยเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่กำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและคิดเป็นมากกว่าร้อยละ 83 ของไวรัสที่แพร่กระจายในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังต้องติดตามว่าสหรัฐฯ จะมีการใช้นโยบายกีดกันทางการค้า เช่น นโยบาย Buy American Act เนื่องจากภายใต้ข้อบังคับใหม่ ส่งผลให้การจัดซื้อของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ วัตถุดิบ และบริการต่างๆ ตั้งแต่รถยนต์ไปจนถึงวัสดุก่อสร้าง ต้องผลิตในสหรัฐฯ เท่านั้น แม้ว่าวัสดุนั้นจะมีราคาแพงกว่าก็ตาม เพื่อหวังช่วยธุรกิจและสร้างงานให้คนอเมริกันเพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่าผลเสียที่ตามมาจากการใช้นโยบายดังกล่าวคือ เป็นการจำกัดการแข่งขัน เพิ่มต้นทุนของผลิตภัณฑ์และบริการ และอาจส่งผลเสียต่อความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวของสหรัฐฯ จะเห็นว่าการลงทุนในสหรัฐฯ นั้น มีทั้งโอกาสและความท้าทายที่ซ่อนอยู่ เพื่อความไม่ประมาท ยูโอบี    มองว่า​นักลงทุนควรมุ่งเน้นการลงทุนไปในภาคอุตสาหกรรมที่โดดเด่น และใช้ความเชี่ยวชาญของผู้จัดการการลงทุนมืออาชีพ เพื่อระบุบริษัทที่มีคุณค่าภายในภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ ทั้งนี้ ยุทธชัย ทิ้งท้ายว่า นักลงทุนต้องไม่ลืมว่าหัวใจสำคัญของการสร้างพอร์ตการลงทุนที่ดี คือต้องมีความสมดุล มีการกระจายการลงทุนไปยังหลากหลายสินทรัพย์เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน และมีการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ