EEC โอกาสทอง ที่เจ้าของธุรกิจไทย ไม่ควรมองข้ามในปี 2019
นับตั้งแต่ปลายปี 2561 เราได้เห็นสภาพเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัวลง ตลาดการเงินโลกมีความผันผวนสูง โดยมีปัจจัยสำคัญคือยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาที่มีสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไม่ค่อยคึกคัก ผลักดันให้ค่าเงินดอลลาห์สหรัฐอ่อนค่าลง อีกทั้งปัญหาด้านการค้ากับจีนที่ยืดเยื้อ ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่มายังการส่งออกของไทย นอกจากนี้ยังมีความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และความไม่แน่นอนทางการเมืองในแถบยุโรปซ้ำเข้าไปอีก
คำถามก็คือ ปีนี้เป็นปีหมูที่ดีหรือเปล่านะ
ความจริงก็คือ ความคึกคักก็ยังไม่กลับมาดี ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD)[1] ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วงปลายของการขยายตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจ (Late Economic Cycle) ขณะที่ระดับราคาน้ำมัน และค่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ภาคการผลิต (PMI) ก็อยู่ในขาลงมาตั้งแต่ปี 2561[2] ผนวกกับสถานการณ์ของจีนที่น่าหวั่นใจ ทั้งจากสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกาที่ไม่จบสิ้น ความพยายามที่จะปรับลดระดับหนี้ของประเทศลงจากระดับ 267% ของ GDP และสภาพตลาดหุ้นที่ราคาตกต่ำ ก็ทำให้ระดับความมั่งคั่งของคนจีนเริ่มมีปัญหา[3]
เศรษฐกิจโลกไม่ค่อยดี แล้วเศรษฐกิจไทยในปีนี้ล่ะ เป็นอย่างไร
สำหรับปี 2562 สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของธนาคารแห่งประเทศไทย เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการบริโภคภาคเอกชนที่ขยับตัวขึ้นตามรายได้ครัวเรือนที่ปรับดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น การลงทุนภาคเอกชนที่มีทีท่าขยายตัวตามการย้ายฐานการผลิตมายังไทย รวมไปถึงโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ นอกจากนี้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่น่าจะฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็มีแนวโน้มส่งผลให้การท่องเที่ยวของไทยเริ่มกลับมาแจ่มใสอีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่า ณ วินาทีนี้ ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยควรหันไปให้ความสนใจกับกลุ่มคนจีนที่มีการใช้จ่ายระดับกลางถึงสูง และกลุ่มที่เดินทางเองโดยไม่ใช้บริษัททัวร์[4]
อัตราการเติบโตของ GDP ในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 3.8% ลดลงจาก 4.0% ในปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักคือการบริโภคภาคเอกชนที่สูงขึ้น สำหรับ สำหรับการส่งออก คาดว่าจะขยายตัว 4.3%YoY ลดลงจาก 6.7%YoY ในปี 2561 เนื่องด้วยผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวโดยเฉพาะจีน การที่ไทยถูกสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) และผลกระทบจากสงครามการค้าของจีนกับสหรัฐอเมริกาที่ยืดเยื้อ ทั้งนี้การส่งออกของไทยในปีนี้มีตลาดรองรับที่สำคัญ คือ CLMV อาเซียน ญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ มีสินค้าส่งออกที่โดดเด่น คือ ยานยนต์และชิ้นส่วน, สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์, เครื่องจักร, สินค้าอาหาร และสินค้าจากการเกษตร[5]
แล้วโอกาสของคนทำธุรกิจอยู่ที่ไหนกันบ้าง
นอกเหนือจากเหล่าธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมโดดเด่นเพื่อการส่งออก (ซึ่งจะเสี่ยงเรื่องค่าเงิน) โอกาสหนึ่งที่สำคัญอยู่เพียงแค่เอื้อม นั่นคือ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) แผนยุทธศาสตร์ภายใต้ ไทยแลนด์ 4.0 อันเป็นโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่ต่อยอดจาก Eastern Seaboard ซึ่งมุ่งพัฒนาศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมไทยให้แข็งแกร่งและสามารถค้ำจุนเศรษฐกิจโดยรวมได้ในระยะยาว ผ่านการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูง
โดยโอกาสทางธุรกิจอันดีมี 2 ส่วน ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน และด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของ EEC เป็นเม็ดเงินมูลค่า 988 พันล้านบาท การก่อสร้างเขตนิคมอุตสาหกรรม และการก่อสร้างโรงงาน โดยมีโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ได้แก่ ทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสนามบิน 3 แห่ง มูลค่า 220 พันล้านบาท, เมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 300 พันล้านบาท, ท่าเรือแหลมฉบังเฟสที่ 3 มูลค่า 110 พันล้านบาท และท่าเรือมาบตะพุดเฟสที่ 3 มูลค่า 55 พันล้านบาท[6]
ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ปัจจุบันมี 10 อุตสาหกรรม ซึ่งมีศักยภาพในการเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ประกอบด้วยกลุ่ม First S-Curve ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร, และ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และกลุ่ม New S-Curve ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์, อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมดิจิทัล นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่สามารถเติมเต็มพื้นที่โครงการ EEC ได้ เช่น อุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมแฟชั่น
ทั้งนี้ ในช่วงปี 2559 จนถึงเดือนกันยายน ปี 2561 ได้มีโครงการการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอไปแล้วเป็นมูลค่ารวม 913 พันล้านบาท และกรอบระยะเวลาในช่วงปี 2018-2023 การลงทุนผ่านบีโอไอในโครงการ EEC จะมีมูลค่ารวม 600 พันล้านบาท โดยคาดว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายและกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ จะมีรายได้ 1 ล้านล้านบาทและ 2.83 ล้านล้านบาท ตามลำดับ[7]
จากตัวเลขรายได้ ก็ถือว่าเป็นช่องทางที่น่าสนใจไม่น้อย สำหรับนักธุรกิจไทย ที่มองหาลู่ทางสร้างรายได้ในระยะยาว โดยเฉพาะนักธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพราะรัฐพร้อมส่งเสริมด้านภาระภาษีอย่างเต็มที่ ตัวอย่างเช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี และ ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50%[8]
คุณนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB กล่าวถึง EEC ว่า “สำหรับเศรษฐกิจไทยโดยรวม โครงการ EEC จะมีส่วนอย่างยิ่งในการยกระดับการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 จากข้อมูลการลงทุน เราจะเห็นได้ว่าโครงการ EEC ยังสามารถรองรับผู้ลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้เพิ่มอีกจำนวนมาก จากตัวเลขรายรับที่ผู้ลงทุนพึงได้เก็บเกี่ยวจากการลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ดิจิทัล และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งเจ้าของธุรกิจไทยมีศักยภาพสูง ประกอบกับช่องทางการรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เพิ่มขึ้นอันจะยกระดับศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก โอกาสทองที่พร้อมให้ผลตอบแทนในระยะยาวแก่นักธุรกิจไทยก็อยู่ไม่ไกล”
ข้อมูลและบทวิเคราะห์เศรษฐกิจดังกล่าว เป็นการต่อยอดจากสาระที่นำเสนอในงาน TMB The Economic Insight 2019 ‘เจาะลึกเศรษฐกิจไทยพร้อมตั้งรับ EEC ในยุคดิจิทัล’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ณ โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ เพื่อให้บริการด้านข้อมูลเชิงเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์แก่ลูกค้าธุรกิจของทีเอ็มบี
[1] องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-operation and Development)
[2] ที่มา: Bloomberg, PBOC, TradingEconomics, TMB Analytics
[3] ที่มา: Bloomberg, PBOC, TradingEconomics, TMB Analytics
[4] ที่มา: CEIC, TMB Analytics
[5] ที่มา: Worldbank, CEIC, TMB Analytics
[6] ที่มา: EECO, BOI, BOL, TMB Analytics
[7] ที่มา: EECO, BOI, BOL, TMB Analytics
[8] https://www.boi.go.th/un/Policy_EEC
TAGGED ON