BCAP เครือ ธ.กรุงเทพ ผนึก Pictet ไพรเวทแบงก์ระดับโลก เปิดการลงทุน Private Equity ชั้นแนวหน้า - Forbes Thailand

BCAP เครือ ธ.กรุงเทพ ผนึก Pictet ไพรเวทแบงก์ระดับโลก เปิดการลงทุน Private Equity ชั้นแนวหน้า

บางกอกแคปปิตอล หรือ BCAP บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ในเครือธนาคารกรุงเทพ จับมือ Pictet ไพรเวทแบงก์ระดับโลกจากสวิตเซอร์แลนด์ เปิดทางเลือกการลงทุน Private Equity แบบเอ็กซ์คลูซีฟผ่าน Private Fund เจาะกลุ่ม Ultra High Net Worth ไทย ชูจุดแข็งคอนเนคชั่นเข้าถึงกองทุน Private Equity คุณภาพดีจากทั่วโลก พร้อมโครงสร้างการลงทุนที่ กระจายการลงทุนทุกมิติ ภายใต้คอนเซ็ปท์ Fund of Funds

คุณเมธ์วดี ประเสริฐสินธนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน บางกอกแคปปิตอล หรือ BCAP ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า หลังจากที่ธนาคารกรุงเทพได้ประกาศความร่วมมือและการเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับ Pictet Group กลุ่มธุรกิจไพรเวทแบงกิ้งหรือที่ปรึกษาด้านการลงทุนและบริหารจัดการสินทรัพย์ชั้นนำระดับโลกจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปีที่ผ่านมา โดย Pictet ได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุนให้กับกองทุนที่บริหารโดย BCAP ในปีนี้ BCAP จับมือกับ Pictet อีกครั้ง เพื่อยกระดับบริการบริหารจัดการสินทรัพย์ สำหรับลูกค้า Ultra High Net Worth ด้วยโอกาสการลงทุนในกองทุน Private Equity ระดับแนวหน้าจากทั่วโลก “ธนาคารกรุงเทพ และบริษัทในเครือ รวมทั้ง BCAP ได้ทำงานร่วมกับ Pictet มาเกือบ 2 ปี โดยในปีที่ผ่านมามีการระดมทุนกองทุนที่มีบริษัทในเครือ Pictet เป็นที่ปรึกษาหรือบริหารการลงทุน รวมแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนของ BCAP ได้ออก 2 กองทุนในเดือนกันยายน 2564 ได้แก่ กองทุนเปิด BCAP Global Multi Asset Fund (BCAP-GMA) และกองทุนเปิด BCAP Global Multi Asset Plus (BCAP-GMA Plus) ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก มียอดจองเข้ามาเกือบ 7,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นโซลูชั่นให้กับลูกค้าในการวางแผนบริหารจัดการทรัพย์สินในระยะยาว เพราะมีทีมการลงทุนระดับโลกของ Pictet  คอยดูแลปรับพอร์ตการลงทุนให้” คุณเมธ์วดีกล่าว สำหรับ Private Equity ที่ BCAP จะแนะนำการลงทุนและเสนอผ่านบริการ BCAP Private Fund เป็นการลงทุนทางเลือกแบบเอ็กซ์คลูซีฟจากแพลตฟอร์มของ Pictet Alternative Advisors ถือเป็นโอกาสในการลงทุนที่น่าสนใจ เนื่องจาก Private Equity เป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่เป็นการลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในบางช่วงเวลาที่ลงทุน
ดร.ธนาวุฒิ พรโรจนางกูร
ดร.ธนาวุฒิ รองกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานบริหารการลงทุน บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน บางกอกแคปปิตอล หรือ BCAP กล่าวว่า การลงทุน Private Equity แบ่งเป็นการลงทุน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. การร่วมลงทุนในบริษัทที่เป็นธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น ต้องการเงินทุนและมีโอกาสเติบโตสูง สร้างผลกำไรแบบก้าวกระโดด และมีศักยภาพที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อธุรกิจพัฒนาเต็มที่แล้ว การลงทุนรูปแบบนี้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงมากแต่ก็มีความเสี่ยงที่ต้องบริหารให้ดี ซึ่งรูปแบบการลงทุนนี้เรียกอีกอย่างว่า Venture Capital 2. การลงทุนในธุรกิจที่กำลังเติบโตหรือขยายกิจการ (Growth) ซึ่งส่วนมากเป็นธุรกิจที่มีฐานลูกค้าและรายได้ชัดเจน มีฐานะทางการเงินมั่นคง แต่ต้องการเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อขยายกิจการ เพิ่มศักยภาพด้วยเป้าหมายที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพในไทย การลงทุนแบบนี้คือการเข้าซื้อหุ้นบริษัท 3-5 ปี ก่อน IPO 3. การลงทุนเพื่อนำธุรกิจออกจากตลาดหลักทรัพย์ เพื่อปรับองค์กรและดำเนินกลยุทธ์เพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ (Buyout) โดยผลกำไรในการลงทุนหุ้นเหล่านี้จะเกิดจากการนำหุ้นกลับเข้าตลาดหรือขายหุ้นให้ผู้ซื้อรายใหม่ในราคาที่สูงขึ้น ถือเป็นการลงทุนเพื่อปรับองค์กร รูปแบบธุรกิจหรือกลยุทธ์ โดยส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจที่เคยมีฐานะมั่นคง แต่กำลังประสบปัญหาในบางประเด็นที่ทำให้มูลค่ากิจการไม่เป็นไปตามศักยภาพสูงสุด “จุดเด่นของการลงทุนใน Private Equity คือ เป็นการลงทุนทางเลือกที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วไป เป็นการคาดหวังกำไรในระยะยาวแต่มีสภาพคล่องต่ำมาก ผู้ลงทุนต้องสามารถลงทุนระยะยาวเกิน 10 ปีขึ้นไป และควรลงทุนไปกับผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญใน Private Equity เนื่องจากต้องมีความเข้าใจและมีความสามารถในการช่วยเพิ่มมูลค่าธุรกิจที่เข้าไปลงทุน” ธนาวุฒิกล่าว นอกจากนี้ Private Equity เป็นการลงทุนที่นักลงทุนรายย่อยเข้าถึงได้ยาก เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ที่ลงทุนในกองทุน Private Equity คือ นักลงทุนสถาบัน ซึ่งล้วนเป็นนักลงทุนรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญของภาครัฐ กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ กองทุนพัฒนามหาวิทยาลัย บริษัทประกัน ธนาคารและสถาบันการเงิน และต้องลงทุนผ่านผู้จัดการกองทุนรายใหญ่ที่ไม่รับเงินลงทุนจากลูกค้ารายบุคคล ความท้าทายในการเข้าถึงการลงทุนประเภทนี้ คือที่มาของความร่วมมือระหว่าง BCAP และ Pictet Alternative Advisors ซึ่งเป็นส่วนธุรกิจบริหารการลงทุนทางเลือกของ Pictet ที่เชี่ยวชาญในการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดอย่าง Private Equity อสังหาริมทรัพย์ และ Hedge Fund ทั้งลงทุนตรงและลงทุนผ่านผู้จัดการที่ผ่านการคัดเลือก “Pictet ซึ่งดำเนินกิจการมายาวนานกว่า 200 ปี มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายกลยุทธ์ ด้วยประสบการณ์การลงทุน Private Equity มายาวนาน และมีเครือข่ายพาร์ทเนอร์ด้านการลงทุนจำนวนมาก โดยที่ผ่านมา 32 ปี สามารถสร้างผลตอบแทนก่อนหักค่าธรรมเนียม Internal Return Rate หรือ IRR ได้เฉลี่ยถึงปีละ 19.5% ซึ่งสูงกว่าการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ที่สร้างผลตอบแทนได้ปีละประมาณ 10% หรือหุ้นไทยที่สร้างผลตอบแทนที่ต่ำกว่าในช่วงเวลาเดียวกัน” นอกจากนี้ ภายใต้บรรยากาศการลงทุนโดยรวมทั่วโลกที่อยู่ในสภาวะเงินเฟ้อ การชะลอตัวของเงินที่อัดฉีดเข้ามาในระบบ ดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำแต่มีแนวโน้มจะสูงขึ้น และการลงทุนในหุ้นมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงจากราคาที่ปรับตัวขึ้นไปอยู่ในระดับสูง BCAP จึงนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนไทยในกลุ่ม Ultra High Net Worth ได้เข้าถึงสินทรัพย์ทางเลือกที่เข้าถึงได้ยาก แต่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้น่าสนใจ โดยจะเปิดตัวในเดือนมีนาคม 2565 นี้ ปัจจุบัน Pictet Alternative Advisors ซึ่งมีทีมผู้เชี่ยวชาญการลงทุนเกือบ 100 คน มีสินทรัพย์ทางเลือกที่อยู่ภายใต้การบริหาร (Asset Under Management) ประมาณ 32,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯและมีจุดแข็งสำคัญ คือ ความสัมพันธ์ระยะยาวกับผู้จัดการกองทุน Private Equity ชั้นนำทั่วโลกที่สามารถนำเงินลูกค้าไปลงทุนได้ แพลตฟอร์มการลงทุนเช่นนี้จึงช่วยให้ลูกค้าของ BCAP Private Fund เข้าถึงโอกาสการลงทุนกับ Private Equity Manager ชั้นนำทั่วโลก ซึ่งโดยปกติ จะไม่รับบริหารให้ลูกค้าบุคคลทั่วไป สำหรับโครงสร้างของ BCAP Private Fund ที่นำเสนอนี้ ทาง BCAP จะนำเงินลงทุนเริ่มต้นของลูกค้ามาลงทุนไว้ในกองทุน BCAP-GMA ที่บริหารภายใต้คำแนะนำของ Pictet และเมื่อกอง Private Equity ต้นทางในต่างประเทศมีบริษัทที่น่าสนใจที่จะเข้าทำดีลซื้อหุ้นและขอระดมทุน ผู้จัดการกองทุนของ BCAP จะทำการโยกเงินจากกองทุน BCAP-GMA ไปเข้าลงทุนในส่วนที่กองทุน Private Equity ต้นทางนั้นๆต้องการ ซึ่งสุดท้ายแล้ว ส่วนเงินต้นและกำไรจากการลงทุนใน Private Equity จะถูกนำกลับเข้ามาลงทุนต่อใน BCAP-GMA อย่างต่อเนื่อง โดยจะมีระยะเวลาการลงทุนรวม 12-15 ปี และคาดว่าตลอดเวลาการลงทุน บริษัทที่น่าสนใจให้เข้าทำดีลซื้อหุ้นประมาณ 600 บริษัท ครอบคลุมการลงทุน Private Equity ทั้ง 3 รูปแบบที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยมีการกระจายตัวทุกภูมิภาค และอุตสาหกรรม จึงทำให้บริการนี้เหมาะสำหรับการลงทุนหลักระยะยาว “บริการ BCAP Private Fund เพื่อการลงทุนใน Private Equity เป็นความร่วมมือระหว่าง BCAP และ Pictet เพื่อลงทุนใน Private Equity ระดับโลกที่กระจายความเสี่ยงอย่างแท้จริง เป็นบริการเอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะลูกค้าที่ผ่านการแนะนำบริการจากในเครือธนาคารกรุงเทพเท่านั้น” คุณเมธ์วดีกล่าว