บสย. ผ่าแนวคิด “ค้ำทุกเคส” สินเชื่อฟื้นฟู 100,000 ล้านบาท 23 ธนาคารหนุนสินเชื่อ ดันยอดค้ำฯทะลุ 35,000 ล้านบาท
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ผ่าแนวคิด “ค้ำทุกเคส” สินเชื่อฟื้นฟู เยียวยาผู้ประกอบธุรกิจ ฝ่าวิกฤตโควิด -19 มาตรการรัฐจัดหนัก กระทรวงการคลัง ธนาคาร แห่งประเทศไทย บสย. และ 23 ธนาคารร่วมโครงการคึกคัก ดันยอดค้ำฯทะลุกว่า 35,000 ล้านบาท มั่นใจเฟสแรก 100,000 ล้านบาท ตามเป้าปีนี้
นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟู เติมทุน ต้นทุนต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจ เป็นไปในทิศทางที่ดี ยอดอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องกว่า 35,000 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบธุรกิจได้สินเชื่อแล้ว กว่า 10,000 ราย โดยมี 23 ธนาคารพันธมิตร ระดมปล่อยสินเชื่อ ดอกเบี้ยต่ำ ภาคธุรกิจ คาดวงเงินค้ำประกันสินเชื่อเฟสแรก 100,000 ล้านบาท เต็มวงเงินภายในปีนี้ ตามเป้าหมายธนาคารแห่งประเทศไทย
จุดเด่นของโครงการ คือการวางแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่าง กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย บสย. และธนาคารพันธมิตร บนแพลตฟอร์มออนไลน์ อำนวยความสะดวกและเพิ่มความรวดเร็วในการขอสินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อ ผู้ประกอบธุรกิจสามารถขอสินเชื่อผ่านธนาคารที่ร่วมโครงการ มีธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้อนุมัติวงเงินสินเชื่อ และ บสย. เป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อ “ค้ำทุกเคส” เพื่อเป็นหลักประกันให้ผู้ขอสินเชื่อและธนาคารมั่นใจ
“กระบวนการทำงานที่กระชับฉับไวบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องการสินเชื่อสามารถ เข้าพบธนาคารเพื่อให้ธนาคารประเมินและพิจารณาคุณสมบัติ จากนั้นธนาคารจะส่งต่อข้อมูลไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาอนุมัติวงเงิน ใช้เวลาในการอนุมัติไม่เกิน 3 วัน และส่งกลับไปให้ธนาคารเพื่อทำเรื่องเอกสารให้เรียบร้อย หลังจากนั้นก็จะส่งมาให้ บสย. ดำเนินการต่ออีกไม่เกิน 3 วัน โดยปัจจุบันสามารถอนุมัติได้ภายใน 1 วัน ถ้าเอกสารครบถ้วน”
สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ประกอบการ SMEs ไทยทุกกลุ่มที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ และที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ประมาณ 3 ล้านราย โดยเฉพาะรายเล็กๆ ซึ่งเป็นกลุ่มฐานรากสำคัญที่ช่วยผลักดันการเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีการจ้างงานกว่า 10 ล้านราย กำลังขาดเงินทุนหมุนเวียน โดยกลุ่มที่เห็นผลกระทบชัดเจนที่สุดก็คือ ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง อาทิ ที่พัก โรงแรม ก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง รับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจร้านอาหาร, ร้านค้า, ร้านขายของที่ระลึก และกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มเล็กๆ อีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน อาทิ ธุรกิจค้าปลีก ซื้อมาขายไป ค้าขายออนไลน์ อีกกว่า 2 ล้านราย
โครงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟู ได้รับวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 250,000 ล้านบาท โดยธนาคาร แห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งเป้าเฟสแรกวงเงิน 100,000 ล้านบาท เป็นโครงการที่สร้างความเชื่อมั่นให้ธนาคารกล้าปล่อยกู้มากขึ้น ด้วยการออกแบบการชดเชยความเสียหาย (max claim) สูงถึง 40% จากปกติอยู่ที่ 25-35% เพื่อช่วยธุรกิจ และสร้างความมั่นใจให้ธนาคารที่ได้ออกแบบอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อต่ำ ซึ่งใน 2 ปีแรกจะคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี และเฉลี่ยไม่เกิน 5% ในช่วง 5 ปี แต่จะได้รับการยกเว้นดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก จะมีเพียงค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.75% เท่านั้น ขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทยไม่อนุญาตให้มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมใดๆ ทั้งสิ้น
โครงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูยังช่วยปลดล็อกการทำงานของ บสย. ที่เคยทำงานแต่กับเอสเอ็มอีรายเล็กๆ โดยขยายฐานลูกค้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรม ที่พักต่างๆ โดยผู้ประกอบการที่มีสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อธนาคาร สามารถขอสินเชื่อฟื้นฟูได้สูงสุด 30% หรือ 150 ล้านบาท และสามารถกู้สูงสุดได้ถึง 3 ธนาคาร หรือรวมแล้ว 450 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นวงเงินค้ำประกันที่มากที่สุดที่ บสย. เคยค้ำประกันมา ส่วนผู้ที่ไม่เคยขอสินเชื่อมาก่อนสามารถขอสินเชื่อรวมได้สูงสุด 20 ล้านบาท
นอกจากโครงการค้ำประกันสินเชื่อฟื่นฟู วงเงิน 100,000 ล้านบาท บสย. ยังมีโครงการค้ำประกันสินเชื่ออื่นๆ อาทิ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs สร้างชาติ (PGS 9) ซึ่งมีวงเงินค้ำประกันถึง 150,000 ล้านบาท ปัจจุบันค้ำประกันให้ผู้ประกอบธุรกิจไปแล้ว 50,000 ล้านบาท ยังมีวงเงินเหลืออยู่ 100,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม อยากให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องการสินเชื่อ เข้ามาใช้โครงการสินเชื่อฟิ้นฟูก่อน เพราะต้นทุนต่ำและเงื่อนไขผ่อนปรนมาก โดยบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท สามารถขอสินเชื่อฟื้นฟูได้ ซึ่งภายใต้เงื่อนไขโครงการนี้ สามารถขอสินเชื่อได้ 30% แต่ถ้าเป็นผู้ประกอบการรายเล็กก็จะได้วงเงินน้อย ในส่วนที่ไม่เข้าเงื่อนไขสินเชื่อฟื้นฟู ผู้ประกอบธุรกิจ หรือผู้ประกอบการ SMEs สามารถขอใช้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 9 ได้
นับตั้งแต่ปี 2563 ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 บสย. ได้ช่วยผู้ประกอบธุรกิจ และกลุ่ม ผู้ประกอบการ SMEs ค้ำประกันสินเชื่อแล้วกว่า 1.4 แสนล้านบาท โดยในปี 2564 ช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อค้ำประกันไปแล้วกว่า 80,000 ล้านบาท รวมการอนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อแล้วกว่า 220,000 ล้านบาท ส่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 8.8 แสนล้านบาท ซึ่งสามารถรักษาธุรกิจไม่ให้ต้องปิด และช่วย ไม่ให้คนตกงาน
นอกจากบทบาท “ค้ำประกันสินเชื่อ” บสย. ยังได้ยกระดับการให้บริการผ่าน “ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs” หรือ บสย.F.A. Center เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ตั้งอยู่ที่ชั้น 1 อาคารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) ภายใต้แนวคิด ศูนย์กลางองค์ความรู้ทางการเงิน การเข้าถึงสินเชื่อและแหล่งทุน ความรู้ด้านการตลาด การปรับโครงสร้างหนี้ การวิเคราะห์ธุรกิจ การเรียนรู้การจัดทำบัญชีธุรกิจ โดยผู้เชี่ยวชาญทางการเงินที่มีประสบการณ์สูง ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง และที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศแข็งแรงขึ้น ให้บริการฟรี และยังมีบริการออนไลน์ด้วยผ่านทาง LINE @doctor.tcg”
TAGGED ON