COTTON USA™ ชู U.S. COTTON TRUST PROTOCOL หนุนผู้ประกอบการไทยเพิ่มมูลค่า และสร้างความมั่นใจลูกค้าทั่วโลก - Forbes Thailand

COTTON USA™ ชู U.S. COTTON TRUST PROTOCOL หนุนผู้ประกอบการไทยเพิ่มมูลค่า และสร้างความมั่นใจลูกค้าทั่วโลก

ไกรภพ แพ่งสภา
ไกรภพ แพ่งสภา ตัวแทน COTTON USA™ ในกลุ่มประเทศอาเซียน กล่าวว่า “คอตตอน ยูเอสเอ” (COTTON USA™) เป็นหน่วยงานไม่แสวงผลกำไร มีภารกิจส่งเสริมการใช้ใยฝ้าย และผลิตภัณฑ์จากฝ้ายสหรัฐอเมริกาในต่างประเทศ โดยทำงานร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานปั่นด้าย ผู้ผลิตสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่มแบรนด์ต่างๆ ผู้ค้าปลีก และสมาคมสิ่งทอครอบคลุมกว่า 50 ประเทศทั่วโลก “ทั่วโลก และทุกอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่อุตสาหกรรมฝ้ายยังขยายตัว โดยในปี เพาะปลูก 2562/2563 สหรัฐฯ เป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 3 ด้วยปริมาณการผลิตกว่า 4.3 ล้านตัน รองจากจีนที่ 5.9 ล้านตัน และอินเดียที่ 6.4 ล้านตัน ซึ่งสหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้ส่งออกฝ้ายอันดับ 1 ที่ 3.3 ล้านตัน เติบโต 4.67% โดยไทยนำเข้าฝ้ายสหรัฐฯ 80,000 ตัน หรือ 60% ของการนำเข้าฝ้ายทั้งหมด 133,000 ตัน และใน 4 เดือนแรกปี 2564 ไทยนำเข้าฝ้ายสหรัฐฯ 45,000 ตันจากทั้งหมด 117​,000 ตัน” ทั้งนี้ อุตสาหกรรมฝ้ายสหรัฐฯ ให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานด้านความยั่งยืน เพราะช่วยสร้างการเติบโตของอุตสาหกรรมที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2523 โดยผู้ปลูกฝ้ายสหรัฐฯ ที่มีอยู่กว่า 16,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นกิจการครอบครัว ต่างให้คำมั่นที่จะร่วมพัฒนาการปลูกฝ้ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมรุ่นต่อไป ตลอด 35 ปี การผลิตฝ้ายสหรัฐฯสามารถลดอัตราการใช้น้ำลง 79% ต่อเบลล์ (หน่วยของเส้นใยฝ้ายดิบที่ถูกอัดเป็นก้อน) ลดการใช้พลังงานลง 54% ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% ลดอัตราการใช้ที่ดินลง 42% ต่อเบลล์ ลดการกร่อนของดินลงได้ 37% ต่อเอเคอร์ และเพิ่มระดับคาร์บอนสะสมในดิน โดยเป้าหมายในปี 2568 จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พื้นที่ 13% ลดอัตราการสูญเสียดิน 50% ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 39% ลดการใช้พลังงานลง 15% เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ 18% และเพิ่มระดับคาร์บอนสะสมในดินให้สูงขึ้น 30% แนวทางของ U.S. Cotton Trust Protocolสอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของ UN เราตั้งเป้าผลิตฝ้ายอย่างยั่งยืนที่วัดค่า และพิสูจน์ยืนยันผลได้ พร้อมให้หลักเกณฑ์ในการตรวจวัด และขับเคลื่อนพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยจะทำงานผ่านระบบเครดิตที่จะเก็บข้อมูลที่สามารถตรวจสอบได้ของกระบวนการผลิตฝ้ายทั้งซัพพลายเชนตั้งแต่ไร่ฝ้ายจนถึงโรงงาน เครดิตนี้จะส่งผ่านจากโรงหีบฝ้ายไปถึงแบรนด์ และยังได้รับการตรวจสอบและยืนยันโดยผู้ตรวจสอบภายนอกที่เป็นอิสระอีกด้วย ปัจจุบันมีไลเซนซีเป็นสมาชิกจำนวน 443 โรงงานทั่วโลก โดยในไทยมีโรงงานเข้าร่วมแล้ว 14 แห่ง (ข้อมูลอัพเดท ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2564) COTTON USA™ ยังมี CCI Technical Team ทีมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้กับ ไลเซนซี โดยจะให้บริการคำแนะนำแก่ไลเซนซีด้วย COTTON USA SOLUTIONS™ ได้แก่ Mill Studies การวิจัยข้อมูลเชิงลึกทั้งทางเทคนิคและการเงิน Mill Exchange Program พื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายระหว่างโรงงาน Techinical Seminar ที่มีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ Mill Mastery Course หลักสูตรพัฒนาการปั่นด้าย และ 1:1 Mill Consult การให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว “Jiangsu Yueda Cotton Textile ไลเซนซีในจีนพบปัญหาคุณภาพเส้นด้าย ได้รับคำแนะนำผ่าน Virtual Mill Doctor จาก CCI Technical Team ซึ่งพบของเสียในโรงงานที่มีอัตราสูงมาก หลังจากแนะนำให้แก้ไขขั้นตอนการสางใย ปรับตั้งค่าเครื่องใหม่ ช่วยลดการสางเอาฝ้ายที่ดีติดไปกับขยะ ทำให้ผลิตด้ายคุณภาพดีขึ้นจากการลดของเสียและผลิตได้มากขึ้นอีกด้วย สามารถประหยัดเงินได้ถึง 1.6 ล้านเหรียญต่อปี” ไกรภพกล่าว
กำจร ชื่นชูจิตต์
กำจร ชื่นชูจิตต์ กรรมการบริหาร บริษัท โรงงานผ้าไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TTI ซึ่งก่อตั้งในปี 2513 ดำเนินธุรกิจสิ่งทอครบวงจร ทั้งปั่นด้าย ย้อมด้าย ทอผ้า พิมพ์ผ้า ย้อมผ้าและผลิตเครื่องนุ่งห่ม กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมสิ่งทอในปีที่ผ่านมาว่าสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีการล็อกดาวน์ทั่วโลก และเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค เช่น การ Work from home ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมแฟชั่น ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เนมหรือตลาดแมส โดยในครึ่งปีแรกของปีนี้ ภาพรวมอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น ยอดคำสั่งซื้อกลับมาสูงขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งแนวโน้มในครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรกจากแผนการฉีดวัคซีน บริษัทคาดว่า ผลการดำเนินงานจะเติบโต 10-15% จากปี 2563 ที่ลดลง 20-30% จากปี 2562 โดยสัดส่วนรายได้ 40% มาจากการส่งออก ซึ่งมีตลาดหลัก คือ สหรัฐฯ ยุโรป ตะวันออกกลางและเอเชีย และ 60% จากตลาดในประเทศ โดยครึ่งหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก "ปี 2563 เรานำเข้าฝ้ายสหรัฐฯ กว่า 1 หมื่นตัน ใช้เป็นวัตถุดิบมากกว่า 70% เพราะต้องการเลือกเส้นใยธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากแหล่งผลิตที่มีความน่าเชื่อถือในการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ทั้งวิธีการปลูกที่รักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย ใช้น้ำน้อย ใช้พื้นที่ทำการเกษตรน้อย การเก็บเกี่ยวเป็นระบบด้วยเครื่องจักร มีความสะอาด บริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งเจือปน ทำให้รักษาคุณภาพฝ้ายและความสม่ำเสมอของไฟเบอร์ได้ดี ซึ่งวัตถุดิบที่ดีทำให้การสูญเสียจากการผลิตเกิดขึ้นได้น้อยมาก" การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืนของ TTI ให้ความสำคัญในสามด้าน คือ โลก คน และผลกำไรที่ต้องดำเนินไปอย่างควบคู่กัน โดยนอกจากการเลือกวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว บริษัทมีการบำบัดน้ำเสียที่มาจากสารเคมีที่ใช้ย้อมผ้า ควบคู่กับการลดการใช้น้ำ โดยเลือกใช้สีเคมีที่ใช้น้ำน้อย อีกทั้งการจัดอบรมพนักงานให้ความรู้ทั้งเชิงลึกและหลากหลาย เพื่อเพิ่มศักยภาพและส่งเสริมให้ทำงานได้หลากหลาย สร้างการมีส่วนรวมของพนักงาน บริษัทยังได้ปลูกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม โดยให้ความรู้เรื่องการเลือกใช้สีเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้น้ำน้อย ใช้อุณหภูมิต่ำ สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด และในส่วนของผลกำไร บริษัทนำกำไรมาลงทุนเครื่องจักรใหม่ๆ เพื่อลดปริมาณการสูญเสียในกระบวนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพและประหยัดพลังงานมากขึ้น ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยได้ลงทุนติดตั้งแผง    โซลาร์เซลล์เป็นแหล่งพลังงานทดแทนภายในโรงงานอีกด้วย ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตกว่า 70,000 แกนต่อเดือน ในฐานะไลเซนซี บริษัทได้เป็นเจ้าภาพโรงปั่นด้ายประเทศไทยในโครงการ Mill Exchange Program ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตและโรงปั่นในต่างประเทศเยี่ยมชมและศึกษาภายในโรงงานของบริษัท ขณะเดียวกันบริษัทได้มีโอกาสชมโรงงานในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ตุรกี อินเดีย บังคลาเทศ และปากีสถาน "เรามีโอกาสได้พบลูกค้าต่างประเทศใหม่ๆ จากการออกบูธ Sourcing Fair และได้พบผู้ส่งออกฝ้ายและสร้างเครือข่ายกับผู้ประกอบการในแวดวงเดียวกันในงาน Sourcing Summit ซึ่ง COTTON USA™ ยังมีกิจกรรมอีกมากมายที่ช่วยสนับสนุนไลเซนซีทั่วโลก นอกเหนือจากเรื่องคุณภาพฝ้ายที่เป็นอันดับหนึ่ง"
อัมรินทร์ สัจจเทพ
อัมรินทร์ สัจจเทพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอตแลนติก มิลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงความเป็นมาของบริษัทว่า บริษัทดำเนินกิจการผลิตและส่งออกผ้ายีนส์มากว่า 20 ปี โดยขยายกิจการจากการนำเข้าผ้ายีนส์จากญี่ปุ่นและอิตาลีมาขายในไทยสมัยผู้ก่อตั้งรุ่นแรก ก่อนต่อยอดโดยทายาทรุ่น 3 สู่การทอผ้ายีนส์ในประเทศ โดยการซื้อโรงงานแอตแลนติก มิลส์ในปี 2542 และเริ่มเปิดดำเนินการผลิตในปี 2545 ที่จังหวัดสมุทรสาคร “ในปี 2557 เราได้ซื้อโรงงานอีกแห่งในจังหวัดสมุทรปราการและเปลี่ยนชื่อเป็นเอเอ็มซี สปินนิ่ง เน้นการผลิตเส้นด้ายทุกขนาด โดยนำเข้าฝ้ายจากสหรัฐฯราว 60% ของการนำเข้าฝ้ายทั้งหมด ซึ่งในปี 2563 ได้นำเข้าฝ้ายสหรัฐฯกว่า 3,500 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 30% โดยการผลิตเส้นด้ายเพื่อทำยีนส์ เราจะเน้นฝ้ายคุณภาพดี เพราะยีนส์ต้องการเส้นใยฝ้ายที่ยาวและนุ่ม” ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิตที่ 45,000 แกนหมุนปั่นด้ายต่อเดือน ส่วนใหญ่ผลิตด้ายเบอร์ใหญ่มีน้ำหนักรวม 3 ล้านปอนด์ ซึ่งขนาด 45,000 แกนสำหรับโรงงานด้ายเบอร์เล็กทั่วไปจะได้น้ำหนัก 1 ล้านปอนด์ คาดว่าปีนี้กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 85-90% จาก 70% ในปีที่แล้ว “จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผลการดำเนินงานในปี 2563 ลดลง 10% อย่างไรก็ตามธุรกิจกลับมาฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 จากแรงซื้อของสหรัฐฯ ที่กลับมาสูงและต่อเนื่องถึงปี 2564 ทำให้ผลการดำเนินงานในปีนี้  น่าจะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับที่เคยทำไว้สูงสุดใน 4-5 ปีก่อน โดยบริษัทคาดว่าจะเติบโต 30% โดยตลาดส่งออกมีสัดส่วน 80% ซึ่งครึ่งหนึ่งมาจากสหรัฐฯ” อัมรินทร์ในฐานะเจเนอเรชั่นที่ 3 ของบริษัท กล่าว สำหรับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน บริษัทให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง โดยยึดเป้าหมายตามองค์การสหประชาชาติ ซึ่งในด้านคน บริษัทได้นำ 10% จากผลกำไรกลับมาให้พนักงาน ซึ่งหลายคนอยู่กับบริษัทมานานกว่า 20-30 ปี นอกจากนี้ บริษัทยังได้ร่วมกับ Fibertrace ทำบล็อกเชนที่จะทำให้สามารถสแกนเสื้อผ้าที่ซื้อมา เพื่อดูข้อมูลเส้นทางของวัตถุดิบได้ เรียกว่า Traceability หรือการตรวจสอบย้อนหลังกลับไปถึงต้นตอของวัตถุดิบและแหล่งที่มา ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องความยั่งยืนด้านโลก บริษัทได้ลดการใช้น้ำ นำน้ำมาหมุนเวียนใช้ใหม่ บำบัดน้ำให้สะอาด ใช้วัตถุดิบที่ยั่งยืน ใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยคาร์บอน ใช้วัสดุที่รีไซเคิลได้ และผลักดันการผลิตสินค้ารีไซเคิลจากวัสดุที่ผ่านการบริโภค รวมทั้งเลือกใช้เส้นใยธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งฝ้ายสหรัฐฯ มีแนวทางด้านความยั่งยืน ทั้งการลดใช้น้ำ ลดการใช้ยาฆ่าแมลง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่วนความยั่งยืนด้านผลกำไร บริษัทนำกำไรมาช่วยเหลือผู้ยากไร้ ซึ่งเห็นผลชัดเจนในช่วงโควิด-19 เนื่องจากมีหลายคนที่ต้องตกงาน นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนสร้างโรงเรียนในเพื่อชุมชนใน 5-10 ปีข้างหน้าหรือนำเงินไปสนับสนุนโรงเรียนที่ลูกหลานของพนักงานและคนในชุมชนเรียนอยู่ "การเข้าร่วมเป็นไลเซนซี COTTON USA™ ตั้งแต่ปี 2557 ทำให้บริษัทได้ร่วมกิจกรรมมากมาย เช่น Sourcing Fair ที่ฮ่องกง Mill Exchange Program ที่ได้ชมโรงงานปั่นเส้นด้ายในไทย เวียดนามและอินโดนีเซีย Bespoke Sourcing ที่เปิดให้แบรนด์ชมโรงงาน เป็นการสร้างความสัมพันธ์และเปิดโอกาสทางธุรกิจ โดยบริษัทยังได้ใช้ Engineered Fiber Selection หรือ EFS ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ระบบจัดการฝ้ายในโรงงานที่พัฒนาโดย Cotton Incorporated อีกด้วย"
ธนัท ศิริเกียรติสูง
ธนัท ศิริเกียรติสูง ผู้ช่วยผู้จัดการโรงงาน บริษัท โรงงานส่งเสริมไทยอุตสาหกรรม จำกัด หรือ TID ผู้ผลิตสิ่งทอ เส้นด้ายและผ้าผืน ซึ่งดำเนินธุรกิจมาแล้วกว่า 60 ปี โดยเน้นผลิตด้ายทั้งแบบฝ้าย 100% และด้ายผสม ผ้าทอดิบแบบฝ้าย 100% ผ้าทอดิบฝ้ายผสมโพลีเอสเตอร์ ผ้าทอดิบฝ้ายผสมเรยอน และโพลีเอสเตอร์ 100% กล่าวว่า บริษัทได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในปีที่ผ่านมาจากยอดคำสั่งซื้อที่ลดลงในช่วงล็อกดาวน์ ซึ่งทำให้กำลังการผลิตลดเหลือ 50% จาก 80% ของกำลังการผลิตแกนหมุนปั่นด้ายทั้งหมด 80,000 แกนต่อเดือน “ตลาดในประเทศที่มีสัดส่วน 65% ชะลอตัวทั้งในช่วงการระบาดระลอกแรกและระลอกล่าสุด ส่วนตลาด  ส่งออกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นจนถึงระดับปกติ คาดว่าในปีนี้บริษัทจะมีอัตราเติบโต 15-20% จากปี 2563 ที่หดตัวไป 30% จากปี 2562 ซึ่งต้องจับตาดูสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลังอย่างใกล้ชิด” สถานการณ์โควิด-19 ทำให้บริษัทปรับเปลี่ยนแผนงานอย่างฉับไวในทุกสัปดาห์ ทั้งการสื่อสารภายใน การปรับลดกำลังการผลิต ซึ่งต่อมาทำให้พบปัญหาขาดแคลนแรงงานหลังจากตลาดส่งออกฟื้นตัวและบริษัทไม่สามารถรับแรงงานใหม่เข้ามาได้ทันทีเนื่องจากมีความเสี่ยงในช่วงการแพร่ระบาด ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานจำนวน 600 คน จาก 680 คน TID เป็นไลเซนซีของ COTTON USA™ มากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งสร้างความมั่นใจให้กับบริษัทที่ได้ซื้อวัตถุดิบคุณภาพที่ผ่านการตรวจสอบ ได้ตามคุณภาพที่คาดไว้ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าว่าได้ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพในกระบวนการผลิต ที่สำคัญการเป็นไลเซนซียังมีกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้และสร้างเครือข่ายทางธุรกิจกับผู้ประกอบการในวงการปั่นด้ายและสิ่งทอ "เมื่อปี 2562 ผมได้มีโอกาสร่วมกิจกรรม Orientation Tour ที่สหรัฐอเมริกา ได้เห็นต้นตอการผลิตฝ้าย กระบวนการผลิต การควบคุมการผลิตและการตรวจสอบคุณภาพ ทำให้มีความมั่นใจในฝ้ายสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น และยังได้มีโอกาสพบกับผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันจากหลายประเทศ ได้เห็นมุมมองและปัญหาที่แต่ละประเทศหรือแต่ละโรงงานแตกต่างกันไป ถือเป็นโอกาสได้เรียนรู้มากขึ้น" นอกจากนี้ COTTON USA™ ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนทั้งในเรื่องแรงงานและทรัพยากร โดยในช่วงต้นปีบริษัทได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก U.S. Cotton Trust Protocol เนื่องจากสามารถตรวจสอบและมั่นใจได้ว่าฝ้ายจากสหรัฐฯ นั้นมาจากแหล่งเพาะปลูก และกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน "เรื่องความยั่งยืน บริษัทได้ให้ความสำคัญกับคนเป็นอันดับแรก เราพัฒนาบุคลากรโดยใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพของพนักงาน ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรที่ทันสมัยมากขึ้น ใช้ซอฟต์แวร์ดึงข้อมูลและรวบรวมข้อมูลเพื่อวิเคราะห์และช่วยการตัดสินใจและพัฒนาสินค้า" ด้านความยั่งยืนของโลก บริษัทเริ่มนำโซลาร์ พาวเวอร์ขนาด 1 เมกะวัตต์มาใช้ที่โรงงานตั้งแต่ปี 2562 และยังได้พัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น สินค้าที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติที่มาจากการปลูกแบบออร์แกนิค เส้นใยสังเคราะห์จากพลาสติกรีไซเคิล และยังเลือกใช้เส้นใยธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างฝ้ายสหรัฐฯ โดยในปี 2563 ได้นำเข้าฝ้ายสหรัฐฯ กว่า 1,200 ตัน "การเลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพเป็นส่วนสำคัญในการผลิตสินค้าที่ดีให้กับลูกค้า และส่งผลตอบแทนเป็นกำไรที่ดีขึ้นกลับมา ซึ่งบริการจาก CCI Technical Team ยังช่วยให้คำแนะนำในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้น เป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับผลกำไร"