บีโอไอ หนุนสตาร์ทอัพไทย ส่งเสริมกิจการวิจัยและสุขภาพ - Forbes Thailand

บีโอไอ หนุนสตาร์ทอัพไทย ส่งเสริมกิจการวิจัยและสุขภาพ

ตลอดหลายปีที่ผ่านมากระแสการดูแลสุขภาพได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในสังคมทั่วทุกมุมโลก ส่งผลให้เกิดธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพอย่างมากมาย และเมื่อโลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น เกิดเป็นเทรนด์ new normal หรือความปกติใหม่ และ    ส่งผลให้ธุรกิจด้านสุขภาพขยายตัวและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ได้ขับเคลื่อนการให้การส่งเสริมการลงทุนที่ตอบรับกับนโยบายของรัฐบาลในการสร้างให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน โดยกำหนดให้อุตสาหกรรมทางการแพทย์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และผลักดันการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสุขภาพ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยให้การส่งเสริมแก่บริษัทตั้งแต่ระดับสตาร์ทอัพจนถึงรายใหญ่ หนึ่งในสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จจากการลงทุนด้านนี้และได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ คือ บริษัทในเครือ BIOMT ที่บริหารโดย ปอย - ตรีชฎา เพชรรัตน์ นักแสดงที่ปัจจุบันได้ผันตัวเองสู่การเป็นนักวิจัยด้านพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล ปี 2563 บริษัทในเครือ BIOMT ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการแพทย์  จากบีโอไอ 2 โครงการ โดยโครงการแรก คือ บริษัท ไบโอฟาร์มาเทค จำกัด ได้รับการส่งเสริมฯ ในกิจการวิจัยและพัฒนา และโครงการที่สอง คือ บริษัท ไบโอฟาร์มา แปซิฟิก จำกัด ได้รับการส่งเสริมฯ ในกิจการผลิตอาหารทางการแพทย์ หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยทิศทางการลงทุนนี้สอดคล้องกับที่บีโอไอให้การส่งเสริมในเรื่องการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับประเทศด้านเทคโนโลยีชีวภาพ จุดเด่นของ BIOMT คือ การเปิดโอกาสให้นักวิจัยไทยได้ใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในการสร้างผลงานที่จับต้องได้ นอกจากนี้ BIOMT มีข้อได้เปรียบด้านสถานที่ตั้งที่อยู่ใจกลางเมือง ใกล้สถาบันการศึกษาที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของนักวิจัยในการเข้ามาถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้ได้เป็นอย่างดี สำหรับบริษัท ไบโอฟาร์มาเทค จำกัด ประกอบกิจการด้านการวิจัยและพัฒนาประยุกต์ (APPLIED RESEARCH) ใน 3 ด้าน คือ 1. การวิจัยทางคลินิก โดยการพัฒนารูปแบบการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบแม่นยำและจำเพาะ โดยอาศัยข้อมูลทางพันธุกรรมหรือข้อมูลในระดับโมเลกุลมาใช้ในการตรวจวินิจฉัยและนำไปสู่การเลือกรูปแบบการรักษาที่ตรงจุด หรือที่เรียกว่า Precision Medicine 2. การวิจัยเคมี เป็นการศึกษาพันธะเคมีของยารักษาโรค ลักษณะโครงสร้างของยา ผลดีและผลเสียของยา เพื่อให้ได้ยาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และ 3. การทดสอบเชื้อ โดยศึกษาเชื้อจุลินทรีย์โพรไบโอติก แบคทีเรียต่างๆ เพื่อการศึกษาจุลินทรีย์สายพันธุ์คนไทย ซึ่งทั้งสามด้านมีความเกี่ยวเนื่องกันและกัน ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัย และหากการวิจัยบรรลุผลสำเร็จจะช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ป่วยมะเร็งมีทางเลือกในการรักษาที่แม่นยำและตรงจุด ช่วยลดความเสี่ยงจากผลข้างเคียงในการรักษาแบบเดิมๆ ด้านบริษัท ไบโอฟาร์มา แปซิฟิก จำกัด ทำหน้าที่รับผลิตเครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และยา    ในระดับแล็บสเกลที่คำนึงถึงระดับโปรดักชั่นสเกล โดยนำองค์ความรู้ที่เกิดจากการศึกษาวิจัยจากบริษัท    ไบโอฟาร์มาเทค มาประยุกต์ใช้กับบริษัท ไบโอฟาร์มา แปซิฟิก ปัจจุบันลูกค้าของบริษัทได้ว่าจ้างให้ทำการวิจัยพัฒนารวมถึงทดสอบผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพมากถึง 95% การได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอทำให้บริษัทในเครือ BIOMT ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพน้องใหม่ได้รับแต้มต่อ  ในการลงทุนจากสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ได้รับ เช่น สิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับหุ้นส่วน คณาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงเหล่านักวิทยาศาสตร์ที่เป็นทีมงานของบริษัทในการร่วมสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ได้เป็นอย่างดี การให้การส่งเสริมฯ บริษัทในเครือ BIOMT ในกิจการวิจัยและพัฒนา และกิจการผลิตอาหารทางการแพทย์ หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นหนึ่งตัวอย่างสำคัญที่ย้ำให้เห็นว่าบีโอไอให้ความสำคัญกับการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อสร้างฐานที่แข็งแกร่งให้สตาร์ทอัพในการขับเคลื่อนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพให้กับประเทศได้อย่างแท้จริง