ส่องไฮไลท์วงการสตาร์ทอัพไทยในปี 2020 - Forbes Thailand

ส่องไฮไลท์วงการสตาร์ทอัพไทยในปี 2020

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีการระบาดใหญ่ไปทั่วโลก ไม่เพียงส่งผล  กระทบต่อเศรษฐกิจ แต่ยังสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จนทำให้หลายธุรกิจบาดเจ็บจนทนผิดบาดแผล  ไม่ไหว ต้องขอโบกมือลาวงการไปตั้งหลัก แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่สามารถปรับตัวเพื่ออยู่รอดสามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสเพื่อเติบโตได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะแวดวงสตาร์ทอัพ จากข้อมูลของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ระบุว่า สถานการณ์โควิด 19    เป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มธุรกิจของวิสาหกิจเริ่มต้น      ที่มุ่งเป็นนักรบเศรษฐกิจรุ่นใหม่ เมื่อต้องเผชิญกับโจทย์ใหญ่สุดท้าทาย หลังจากถูกโควิด-19 เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศ ทำให้ต้องเร่งปรับเปลี่ยนวิธีคิดจากแนวทางเดิมๆ นำไปสู่การปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ทำให้เกิดความหลากหลายสาขาของวิสาหกิจเริ่มต้นที่พร้อมเชื่อมโยงและพัฒนาร่วมกันให้รอดพ้นสถานการณ์นี้ไปด้วยกันผ่านการสร้างโอกาสทางนวัตกรรมในรูปแบบใหม่ พิสูจน์ได้จากตัวเลขการเติบโตของธุรกิจใหม่ที่เกิดในช่วงวิกฤตและมาพร้อมวิถีใหม่          (New Normal) เกือบ 25 – 50% เป็นวิสาหกิจเริ่มต้นที่เกิดขึ้นใหม่สำรวจภาพรวมวิสาหกิจเริ่มต้น จากข้อมูลของศูนย์วิสาหกิจเริ่มต้นประเทศไทย โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ซึ่งมีหน้าที่พัฒนาและส่งเสริมระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นของประเทศไทย พบว่า 95 % ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ส่งผลให้มีการเลิกจ้างงานและผิดนัดชำระหนี้ ขณะเดียวกันความผันผวนในตลาด ทำให้ขาดกำลังซื้อจากผู้บริโภคบนช่องทางการขายแบบเดิม ส่งผลให้ธุรกิจไม่มีรายได้เข้ามากระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนและลดประสิทธิภาพในการระดมทุน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากการประชุมระดมความเห็นกับตัวแทนจากวิสาหกิจเริ่มต้นและหน่วยงานใน        ระบบนิเวศจำนวน 13 กลุ่ม ได้แก่
  1. สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA)
  2. สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (TTSA)
  3. สมาคมฟินเทค ประเทศไทย
  4. สมาคมการค้าเฮลท์เทคไทย
  5. สมาคมไทยบล็อคเชน
  6. สมาคมโปรเกรมเมอร์ไทย
  7. กลุ่มสตาร์ทอัพด้านการศึกษา
  8. 8. กลุ่มสตาร์ทอัพด้านดนตรี ศิลปะ และนันทนาการ
  9. กลุ่มสตาร์ทอัพด้านการเกษตร
  10. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (TCC)
  11. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI)
  12. สื่อด้านเทคโนโลยี
  13. หน่วยบ่มเพาะธุรกิจที่ได้รับการรับรอง
เร่งเครื่องช่วยวิสาหกิจเริ่มต้นพ้นวิกฤต จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กลายเป็นโจทย์เร่งด่วนที่ทำให้ NIA เดินหน้าช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่วิสาหกิจเริ่มต้น เสริมสภาพคล่องให้ตลาดใหม่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นรายใหม่เพื่อทดแทนวิสาหกิจเริ่มต้นรายเดิมที่ปิดกิจการไป ผ่าน 6 แนวทาง ดังนี้ 1. เพิ่มสภาพคล่องให้วิสาหกิจเริ่มต้นทุกระดับ ในรูปแบบการสนับสนุนเงินให้เปล่าจากภาครัฐ สนับสนุนสินเชื่อและดอกเบี้ยจากธนาคารภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการระดมทุนจาก Venture Capital หรือ Corporate Venture Capital รวมทั้งสามารถเข้าระดมทุนผ่านเครื่องมือในตลาดทุน 2. ฟื้นฟูตลาดและการพัฒนาตลาดใหม่ ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันทำให้รูปแบบธุรกิจหรือช่องทางการจัดจำหน่ายเดิมของวิสาหกิจเริ่มต้นไม่สามารถดำเนินการได้หรือไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการสนับสนุนเพื่อเชื่อมโยงผู้ผลิต ผู้บริโภค และวิสาหกิจเริ่มต้นไปสู่ช่องทางการตลาดแบบใหม่    พร้อมทั้งมีมาตรการสนับสนุนทางการคลังเพื่อกระตุ้นการบริโภคทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน และในส่วนของภาครัฐทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ได้จัดทำโครงการ Startup Marketplace ขึ้นเพื่อสนับสนุน Startup และช่วยประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และให้เข้าถึงบริการของสตาร์ทอัพให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้า เช่น B2B B2C 3.สนับสนุนการดำเนินธุรกิจ ผ่านการสนับสนุนทางการคลังเพื่อกระตุ้นการบริโภคทั้งจากภาครัฐ      ภาคเอกชน และประชาชน สร้างมาตรการทางภาษีสนับสนุนการใช้งานสตาร์ทอัพไทย ช่วยเจรจากับผู้ให้บริการเรื่องการลดราคาในส่วนที่กระทบกับค่าใช้จ่ายของสตาร์ทอัพในช่วงนี้ ตลอดจนผลักดันกฎหมายเพื่อสนับสนุนการให้บริการของสตาร์ทอัพ 4.ส่งเสริมความรู้และการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นรายใหม่ เพื่อให้วิสาหกิจเริ่มต้นสามารถปรับตัวให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจนี้ได้ จำเป็นต้องเสริมองค์ความรู้การบริหารจัดการองค์กรในสภาวะวิกฤต      ทั้งการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ การบริหารบุคลากร รายได้ และต้นทุนการบริหารจัดการคู่ค้า นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพของวิสาหกิจเริ่มต้นรายใหม่เพื่อทดแทนวิสาหกิจเริ่มต้นที่ปิดกิจการไป 5.สนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถดำเนินธุรกิจได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับสร้างการรับรองสตาร์ทอัพไทยที่มีศักยภาพในลักษณะ Thailand National Startup Team เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนและการเป็นตัวเลือกในการพิจารณาของหน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งสร้างแนวทางให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ 6.เพิ่มศักยภาพของวิสาหกิจเริ่มต้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาแนวทางเฉพาะด้านให้สอดคล้องกับวิถีใหม่ เช่น วิสาหกิจเริ่มต้นด้านการศึกษา (EdTech) แนวทางการสอนออนไลน์ทั้งใช้ในการเรียนการสอน      การอบรมเพื่อ Re-skill และ Up-skill วิสาหกิจเริ่มต้นด้านสุขภาพ (Health Tech) การผลักดันกฎหมาย  เพื่อเร่งให้เกิดแนวทางใหม่ๆ เช่น ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ได้มาตรกรยอมรับอย่างรวดเร็วขึ้น วิสาหกิจเริ่มต้นกลุ่มสตาร์ทอัพ ด้านดนตรี ศิลปะ และนันทนาการ เร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้สื่อสร้างสรรค์ที่มีมูลค่าตลาดเติบโต ตลอดจนวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตรที่จะมาตอบโจทย์ความมั่นคงทางด้านอาหารของโลกและประเทศ นำผลิตภัณฑ์และบริการเข้าไปตอบโจทย์เชื่อมโยงกับตลาดได้ อีเว้นต์โลกนวัตกรรมเสมือนจริงครั้งแรกของไทย นอกจากจะช่วยวางแนวทางเพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจเริ่มต้น อีกหนึ่งไฮไลท์ของแวดวงสตาร์ทอัพในปีที่ผ่านมา ต้องยกให้งาน Startup Thailand x Innovation Thailand Expo 2020 ซึ่งเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญของเหล่าสตาร์ทอัพและนวัตกรรมชั้นนำของไทยที่เข้ามาร่วมกันแสดงศักยภาพด้านนวัตกรรมของประเทศ    ในการจัดงานในรูปแบบโลกนวัตกรรมเสมือนจริง “Virtual World” ครั้งแรกของประเทศ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศผ่านพ้นจากวิกฤติที่เกิดขึ้นทั่วโลก นับเป็นการเปิดมิติใหม่แห่งนวัตกรรมการจัดงานเสมือนจริงที่สมบูรณ์แบบที่ไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านนวัตกรรมที่แข็งแกร่งของประเทศไทย แต่ยังสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้เกิดขึ้น จากการรวมหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี บริษัทขนาดใหญ่ หน่วยงานรัฐ และสถาบันการศึกษาชั้นนำของไทยหรือระดับโลกมารวมกันในงานเดียว เพื่อร่วมพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศให้เข้มแข็งขึ้น ผลลัพธ์จากการจัดงานในครั้งนี้ นอกจากสร้างกระแสตื่นตัวเรื่องนวัตกรรมเพื่อรับมือภาวะวิกฤตในระดับโลกที่อาจจะมาในหลากหลายรูปแบบมากขึ้นในอนาคตแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบในมิติต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม อาทิ เกิดการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจและการลงทุนมากกว่า 15,000 ราย สร้างเม็ดเงินที่พร้อมลงทุน มูลค่ารวม 20,000 ล้านบาท เกิดการเข้าถึงสินค้าและบริการของ 200 สตาร์ทอัพผ่านตลาดสินค้าออนไลน์ กว่า 42,000 ครั้ง คาดว่าจะเกิดการจ้างงานด้านนวัตกรรมไม่น้อยกว่า 1,500 อัตรา        ที่สำคัญยังเกิดสินทรัพย์ใหม่ด้านข้อมูลจากการนำศาสตร์การวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลเชิงลึก      (Data Analytics) มาใช้ในงานเพื่อคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและสร้างโอกาสทางธุรกิจนวัตกรรม และเกิดการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูล (Data driven innovation) โดยก้าวต่อไปของงาน Startup Thailand x Innovation Thailand 2021 จะมุ่งโฟกัสไปที่ DeepTech Rising หรือ เทคโนโลยีขั้นสูงที่จะเข้ามาขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงโลกปีหน้า ทั้งหมดนี้คือไฮไลท์สำคัญในเชิงเศรษฐกิจของวงการสตาร์ทอัพในปีที่ผ่านมา ในบทความต่อไปจะไปติดตามทิศทางการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ