แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ “ผู้หญิงข้ามเพศพันล้าน” แห่ง JKN อาณาจักรคอนเทนต์ระดับโลก - Forbes Thailand

แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ “ผู้หญิงข้ามเพศพันล้าน” แห่ง JKN อาณาจักรคอนเทนต์ระดับโลก

จากแรงกดดันที่ถาโถมเข้าใส่เพราะการเป็นผู้หญิงข้ามเพศ แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ เลือกที่จะมุ่งมั่นเดินหน้าลบคำสบประมาท พลิกพลังลบให้เป็นพลังผลักดัน สร้าง JKN อาณาจักรธุรกิจลิขสิทธิ์คอนเทนต์ให้เติบใหญ่ ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ กลางปี 2562 ร่วม 5 พัน-ล้านบาท พร้อมมุ่งสู่การเป็น “global company” อย่างภาคภูมิ การแข่งขันอันเข้มข้นในธุรกิจทีวีดิจิทัลเมืองไทยที่ชิงไหวชิงพริบกันที่ “คอนเทนต์” คือน่านน้ำอันกว้างใหญ่ที่ แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ JKN มองเห็นโอกาสก่อนใคร จึงคว้าลิขสิทธิ์คอนเทนต์อย่างซีรีส์ ภาพยนตร์ สารคดี ข่าว ฯลฯ จากบรรดาซูเปอร์แบรนด์ทั่วโลกมาไว้ในครอบครอง ทำให้รายได้รวมของ JKN ทะยานต่อเนื่องโดยเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ถึง 46% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2557-2561 พร้อมคาดการณ์รายได้รวมปีนี้ไว้ที่กว่า 1.6 พัน-ล้านบาท
แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน)
ในโลกธุรกิจที่ขับเคี่ยวด้วยวิสัยทัศน์และการลงมือทำ แอน จักรพงษ์ คือหนึ่งในผู้ที่ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตกระทั่งเป็นบริษัทมหาชน ซีอีโอหญิงแกร่งแห่ง JKN ยกความดีความชอบให้กับการเป็นผู้หญิงข้ามเพศที่มอบความสามารถหลากหลายด้านให้เธอ ทั้งเซนส์การคัดเลือกคอนเทนต์ ไปจนถึงความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคนานัปการ ส่งให้ แอน จักรพงษ์ ขึ้นชั้นเป็น “ผู้หญิงข้ามเพศพันล้าน” คนแรกของเอเชีย ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (มูลค่าหุ้นในบริษัทต่างๆ และทรัพย์สินส่วนตัว) ราว 4.5 พันล้านบาท หรือราว 146.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ข้ามขวากหนาม           แอน จักรพงษ์ ถูกเพื่อนๆล้อเลียนและถูกกดดันจากสังคมตั้งแต่เด็กเพราะไม่เหมือนคนอื่นตรงที่เป็นผู้หญิงซึ่งเกิดผิดร่าง แอน จักรพงษ์ ซึ่งเรียนโรงเรียนชายล้วนจึงต้องเรียนให้เก่งเพื่อเป็นเกราะป้องกัน และฝึกฝนตัวเองจนเป็น public speaker ขึ้นพูดบนเวทีและไปโต้วาที รวมทั้งเป็นกัปตันโรงเรียน “สิ่งเหล่านี้ทำให้คนเห็นเราแล้ว respect ซึ่งก็มาจาก success ที่เราสร้างขึ้น” เธอบอก พอขึ้นชั้นมัธยมปลาย แอน จักรพงษ์ ก็ขอพ่อไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย พร้อมตั้งใจทำงานหาเงินเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว เธอทำงานพาร์ทไทม์ในปั๊มน้ำมันย่าน Rose Bay ใน Sydney หนักเอาเบาสู้ทุกอย่าง ทั้งช่วยจัดของ, เช็กสต็อก, ขัดห้องน้ำ เก็บออมจนสามารถซื้อรถได้คันหนึ่ง หลังเรียนจบปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์จาก Bond University แอน จักรพงษ์ ก็กลับมาช่วยพ่อดูแลธุรกิจร้านวิดีโอ ช่วงนั้นเธอดูสารคดี Walking with Dinosaurs ทางช่อง BBC จึงซื้อลิขสิทธิ์มาปั๊มแผ่นซีดี ปรากฏว่าขายในร้านวิดีโอไม่ได้เลย กระทั่งไปเจอรายการขายสินค้าของทีวีไดเร็คทางโทรทัศน์ จึงขอจำหน่ายผ่านช่องทางดังกล่าว เธอตัดสินใจไม่ผิดเพราะขายได้ถึง 1 ล้านแผ่น กำเงินเก็บก้อนใหญ่ได้ถึง 10 ล้านบาท เมื่อพอจะคาดการณ์ธุรกิจได้แล้ว แอน จักรพงษ์ จึงซื้อลิขสิทธิ์รายการและซีรีส์ดังของต่างประเทศมาเพิ่ม มีลูกค้าเป็นสถานีโทรทัศน์หลายช่อง ต่อมา ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรม-มี่ จำกัด (มหาชน) เห็นความสามารถของแอน จักรพงษ์ จึงชวนมาเปิดบริษัทและตั้งชื่อช่องโทรทัศน์ว่า JKN หลายปีของการสู้งานหนัก แอน จักรพงษ์ ไม่เคยเปิดเผยตัวตนว่าเป็นผู้หญิงข้ามเพศ เพราะคิดเสมอว่า “ต้องเป็นลูกชายของแม่เพราะมีธุรกิจครอบครัว เราต้องทำหน้าที่ก่อนสิทธิของตัวเองให้ได้” จนอายุ 35 ปี เธอก็ตัดสินใจบอกความจริงกับผู้เป็นแม่ แต่กลับกลายเป็นการนำน้ำตาและความเจ็บปวดมาให้ทั้งคู่ “ถึงแม้เราเกิดผิดร่าง แต่เราไม่ได้ทำผิด หลายเดือนผ่านไปเราเก็บของออกจากบ้านเลย แล้วมาเอาที่ดินตรงนี้ (ศาลายา) ตอนนั้นบอกตัวเองว่าจะไม่กลับไปอีก แล้วจะพิสูจน์ให้เห็นว่าทำได้” JKN คอนเทนต์พันล้าน ด้วยความมุ่งมั่นว่าผู้หญิงข้ามเพศก็ประสบความสำเร็จได้ไม่แพ้ใคร แอน จักรพงษ์ เข้าพบ ไพบูลย์ เพื่อขอซื้อบริษัทและแบรนด์ JKN มาดำเนินการ พร้อมตั้งเป้าว่าจะสร้างให้เป็นบริษัทมหาชนให้ได้ เธอก่อตั้ง “เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย” (เดิมคือ บริษัท เอสทีจีซีพี จำกัด) ขึ้นในปี 2556 และนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้สำเร็จในปี 2559 โดยแอน จักรพงษ์ได้เชิญแม่ที่ยอมรับในตัวเธอได้แล้ว มาเป็นผู้สั่นกระดิ่งในวันซื้อขายหุ้น JKN ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นวันแรก ท่ามกลางความยินดีของทุกคน “เราเป็นแรงบันดาลใจให้หลายคน และทำให้คนที่คิดว่า เป็นตุ๊ดเป็นผู้หญิงข้ามเพศแล้วไม่เจริญ เราพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าคุณคิดผิด เราเป็น representative ของคนที่ถูก bully แต่เราเปลี่ยนแรงกดดันให้เป็นแรงผลักดัน และเราทำได้สำเร็จ” JKN ดำเนินธุรกิจ 3 กลุ่ม คือ ธุรกิจให้บริการและจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ที่ครอบคลุมทั้งในไทยและเอเชีย ธุรกิจให้บริการเวลาเพื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์สินค้าทางสถานีโทรทัศน์ระบบผ่านดาวเทียมและสถานีโทรทัศน์ระบบดิจิทัล และ ธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประเภท home entertainment ซึ่งธุรกิจแรกสร้างรายได้รวมให้ JKN มากสุดราว 85-90% แอน จักรพงษ์ วาง JKN ให้เป็น “The Global Content Management and Distribution Company” เซ็น exclusive deal กับซูเปอร์แบรนด์ทั่วโลก เพื่อเป็น exclusive distributor หรือ sole distributor ธุรกิจของ JKN จึงไม่ใช่การซื้อมาขายไป แต่เป็นการจัดจำหน่ายให้ทั้งหมด โดยวางอยู่บนความเชื่อมั่นและไว้ใจ ลิขสิทธิ์คอนเทนต์ของ JKN มี 8 ประเภท ที่ได้รับความนิยมจากตลาดมากสุดคือ Asian Fantasy ซึ่งเป็นซีรีส์ ละคร และภาพยนตร์จากประเทศในเอเชีย เช่น เกาหลี ซึ่งมีซีรีส์อย่าง จูมง มหาบุรุษกู้บัลลังก์, ทงอี-จอมนางคู่บัลลังก์ หรือ อินเดีย ที่มีซีรีส์เด่น เช่น หนุมาน สงครามมหาเทพ, พระพิฆเนศ มหาเทพไอยรา จุดกระแสซีรีส์อินเดียในไทยให้คึกคัก นอกจากนี้ ยังมี Hollywood Hit ภาพยนตร์และซีรีส์จากอเมริกา เช่น ซีรีส์กลุ่ม CSI, The Walking Dead Season 1-5 รวมถึง I-Magic The Project สารคดีสัตว์โลก, ธรรมชาติ, เชิงประวัติศาสตร์, บุคคลสำคัญระดับโลก เป็นต้น จากนั้นนำมาจัดจำหน่ายในแพลตฟอร์ม เช่น ทีวีดิจิทัล, ทีวีระบบดาวเทียมเคเบิล ฯลฯ “Content is King” เราคือบริษัทที่มาเหนือเมฆ เรามอบคอนเทนต์ให้กับทุกมีเดียแพลตฟอร์ม ยกตัวอย่างทีวีดิจิทัล การประมูลได้ช่องมาเป็นแค่โลจิสติกส์ ถ้าไม่มีคอนเทนต์ก็ไม่มีคนดู ตอนนั้น JKN ออกมาพูดเลยว่าเราอยู่ตรงนี้ เราพร้อมเสิร์ฟให้คุณถึง 8 ประเภทคอนเทนต์” แผนต่อไปของ JKN นั้น ซีอีโอหญิงแกร่งเผยว่า จะรุกคอนเทนต์ด้านข่าวการเงินและธุรกิจโลกภายใต้แบรนด์ JKN-CNBC ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง JKN กับ CNBC Asia เริ่มออกอากาศทางช่อง GMM25 ไปเมื่อเดือนกรกฎาคมนี้ รวมทั้งเน้นงานโปรดักชั่นผลิตซีรีส์และภาพยนตร์ ทั้งในรูปแบบลงทุนเองและร่วมทุน ขณะนี้มีซีรีส์สยามรามเกียรติ์ที่กำลังผลิตร่วมกับ Fox India นอกจากนี้ ยังตั้งเป้านำลิขสิทธิ์ละคร และซีรีส์ชื่อดังของไทยไปจำหน่ายในต่างประเทศด้วย “เวลาเลือกคอนเทนต์ ให้เลือกด้วยหัวใจอย่าใช้สมอง เราขายยาเสพติดทางสายตา ดังนั้นต้องรู้ว่าสิ่งที่จะทำให้คนติดได้คือ emotion การเป็นผู้หญิงข้ามเพศที่มีส่วนประกอบอย่างลงตัวระหว่างความเป็นหญิงและชายทำให้เราเหมาะกับธุรกิจนี้” ส่งต่อความสุขแบบ JKN นอกจาก JKN Gallery Salaya ที่ แอน จักรพงษ์ ทุ่มทุนหลายร้อยล้านบาท เนรมิตที่ดินว่างเปล่าย่านสามพราน จ.นครปฐม ให้เป็นอาคารสำนักงานใหญ่ ภายในตกแต่งอย่างสวยงามด้วยผลงานศิลปะชิ้นเยี่ยมจากทั่วโลกที่แอน จักรพงษ์สะสม ทั้งภาพวาดจากการร่ายแปรงของ Pablo Picasso และงานประติมากรรมชั้นยอดจากอินเดียแล้ว เธอยังมีแผนสร้างคอมมูนิตีมอลล์ “The River King” มูลค่ากว่า 2.5 พันล้านบาท บนพื้นที่ 15 ไร่ ติด JKN Gallery Salaya  อีกด้วย แอน จักรพงษ์ มุ่งหมายให้ที่นี่เป็นเมืองแห่งความบันเทิง มีโรงละคร สถานที่จัดนิทรรศการ และร้านค้าต่างๆ ที่ตกแต่งโดยได้แรงบันดาลใจจากป่าหิมพานต์ ซึ่งเป็นจุดกำเนิดจินตนาการเนื้อหาซีรีส์หลายเรื่อง เป็นการส่งมอบความสุขให้ทุกคนสัมผัสได้อย่างแท้จริง หัวเรือใหญ่แห่ง JKN ไม่ลืมช่วยเหลือสังคม เธอก่อตั้งมูลนิธิข้ามเพศบันดาลใจ หรือ LIFT Foundation ขึ้นในปี 2561 เป็นมูลนิธิไม่แสวงหาผลกำไรที่เชื่อในความเท่าเทียมทางเพศมอบทุนการศึกษาแก่บุคคลข้ามเพศ เพราะเธอเชื่อมั่นว่าการศึกษาสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนได้ “อยากส่งต่อแรงบันดาลใจถึงทุกคนว่าอย่ากลัว เปลี่ยนแรงกดดันให้เป็นแรงผลักดัน เดินหน้าพิสูจน์ตัวเองดีกว่ามานั่งประชดประชัน ไม่ต้องเถียงกลับ เครียด หรือคิดฆ่าตัวตาย ล้มได้แต่ต้องลุก สู้อย่างสุดหัวใจ วันหนึ่งความสำเร็จของเราจะซัดสาดคำสบประมาทเหล่านั้นออกไปเหมือนคลื่นสึนามิ” ชีวิตของ แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ผู้ก่อตั้ง JKN คือบทพิสูจน์ว่าการเป็น “ผู้หญิงข้ามเพศพันล้าน” ไม่ใช่คำเรียกขานที่ได้มาโดยง่าย แต่เป็นส่วนผสมอันกลมกล่อมระหว่างความมุ่งมั่น การมีวิสัยทัศน์ รวมถึงมันสมองและสองมือที่ส่งให้เธอประสบความสำเร็จเช่นทุกวันนี้